ย้อนกลับไปวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ครอบครัวของเราเต็มไปด้วยแขกเหรื่อและความอบอุ่นจากการจัดพิธี “อาบเหลิน” หรืออาบเดือนตามแบบประเพณีชาวไทใหญ่
พิธีอาบเดือนนี้ จะจัดเพื่อเป็นศิริมงคลกับทารกเมื่อเด็กทารกอายุครบหนึ่งเดือน เสมือนเป็นการต้อนรับสมาชิกตัวน้อยของครอบครัวและชุมชนไทใหญ่ โดยถ้าเป็นเด็กผู้ชายอาจจะจัดก่อนได้เล็กน้อย ส่วนเด็กผู้หญิงอาจจะเลยกำหนดไปได้เล็กน้อย แต่ชาวไทใหญ่บางคนก็ถือต่างออกไป
สำหรับ “เจ้าออมสิน” จะครบหนึ่งเดือนวันที่ 20 พ.ย. แต่ 20 พ.ย. เป็นวันจันทร์ ญาติๆฝ่ายผมอยู่เชียงใหม่และลำพูนไม่สะดวกจะมาเพราะเป็นวันทำงาน เราก็เลยเลือกจัดวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ย. แทน
เย็นวันที่ 18 พ.ย. ออมสินก็ถูกจับโกนผมเกลี้ยงเตรียมตัวไว้ ตกค่ำ บรรดาญาติๆพี่น้องไทใหญ่ก็จะมาช่วยเตรียมอาหารไว้เลี้ยงแขก เราเลือกทำ “ข้าวเส้น” หรือขนมจีนน้ำเงี้ยวตามสมัยนิยมแบบไทใหญ่เพราะประหยัดและเรียบง่ายดี
พอเช้าวันรุ่งขึ้น
(19
พ.ย.) วันนี้ ภรรยาผมตื่นแต่เช้ามืด
ไปช่วยกันกับญาติๆอุ่นอาหารเตรียมไว้รอแขก พอถึงประมาณเจ็ดโมงเช้า
ก็พาเจ้าออมสินตัวน้อยไปอาบน้ำในอ่าง
วันนี้พิเศษหน่อยคือในวันอาบเหลินจะมีดอกไม้ ไบไม้ที่เป็นมงคล
และเหรียญเงิน ทองรูปพรรณ แช่ไว้ในน้ำ นัยยะเพื่อส่งเสริมมงคลแก้เด็ก
และระหว่างที่อาบน้ำนั้น
ผู้ใหญ่ที่ช่วยกันอาบก็จะกล่าวอวยพรให้หนูน้อยไปพร้อมๆกันด้วยครับ
ก่อนนอาบน้ำ เจ้าออมสินก็ยังสลึมสลืออยู่ พอลงน้ำก็ร้องโยเยพักนึง
คงจะหนาว
แต่พออาบเสร็จเอาผ้าห่มตัวแล้วก็เงียบ.....หลับยาว
อาบน้ำเสร็จ
เจ้าชายตัวน้อยก็แต่งองค์ทรงเครื่องมานอนรอให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทยอยกันมาผูกข้อมือ
กล่าวอวยพร สายสิญณ์นี้ทางฝ่ายเจ้าภาพจัดเตรียมไว้ให้
แขกที่มาก็ส่วนใหญ่จะเตรียมเงินมาด้วยมาผูกกับสายสิญณ์
แล้วนำมามัดวนรอบข้อมือของทารก
สำหรับวันอาบเหลินของออมสินนี้ คนเฒ่าคนแก่ในหย่อมบ้านมาร่วมทำพิธีกันประมาณยี่สิบกว่าคนครับ ใครผูกข้อมือเสร็จ ก็ไปรับประทานขนมจีนที่จัดไว้ แล้วก็มีน้ำชา จะอยู่นั่งคุยกันกี่ชั่วโมงก็ตามสบาย ตามอัทธยาศัย แต่ส่วนใหญ่ไม่เกินสิบโมงเช้า แขกก็กลับหมดแล้ว
คุณปู่คุณย่าของออมสินขับรถจากลำพูนมาร่วมงานตอนสิบโมงกว่า ก็มามัดมือและมอบเงินให้ออมสินเหมือนกัน ส่วนคุณอากับแฟนจากเชียงใหม่มาถึงช่วงบ่าย เอารถเข็นคันงามมาเป็นของขวัญด้วย
ออมสินไม่มีอะไรฝากคุณปู่ แต่กับคุณอา ออมสินฝากรอยสีเหลืองอ๋อยไว้ที่ชายเสื้อของคุณอา ให้เอากลับไปซักที่บ้านนะครับ :-)
ขอแสดงความยินดี กับ อาบเหลิน ของหนูออมสินด้วย
ช่วงนั้นวุ่นวายกับทัวร์กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบกับไม่ทราบเลยไม่ได้ไปร่วม แต่ขอชมผ่านบันทึกครับพี่ยอด
ตอบคุณจตุพรว่า ผมเองก็ไม่ทันได้แจ้งคุณจตุพรนะครับเรื่องพิธีนี้ ส่วนใหญ่เราเชิญแต่คนแก่นะครับ สำหรับคุณจตุพรต้องรออีกยี่สิบกว่าปี ผมถึงจะเชิญมาอาบเหลินหลานผมได้ ไม่ต้องรีบแก่นะครับ :-)
ส่วนคุณแจ๊ค คำว่า "เหลิน" อ่านเป็นคำควบกล้ำมี ห นำ เหมือน "Learn" นะครับ แต่มี "ห" นำ
ภาษาไทยกลางเมื่อออกเสียงเป็นไทใหญ่ หลายคำมักจะแปลงตัว "ด" เป็น "หล" เช่น :
ดาว ไทใหญ่ จะใช้คำว่า "หลาว"
เดือน ไทใหญ่ ว่า "เหลิน"
ดอย ไทใหญ่ว่า "หลอย"
เอ็นดู ไทใหญ่ว่า "อีหลู"
ว่างๆมาเที่ยวปางมะผ้านะครับ มาเรียนภาษากับเด็กๆไทใหญ่ สนุกมาก
ฉันเองก็แสดงความดีใจด้วยนะค่ะ
แล้วก็อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับคนไทใหญ่ด้วยค่ะ
คน ไทใหญ่เป็นคนต่างด้าวรึเปล่าค่ะ
เค้ามีสิทธิเท่าคนไทยไมค่ะ
และเค้าสามารถมีบัตรประชาชนได้ไม
ฉันเองมีแฟนเป็นคนไทใหญ่ค่ะ แต่เค้าเค้ามาอยู่เมื่อไทยตั้งแต่เกิด แล้วพ่อและแม่ของเค้าก็เสียชีวิตเค้าไม่มีพี่น้อง เค้าอยู่คนเดี่ยวมาดดยลำพังจนถึงตอนนี้ค่ะ ฉันคบกับเค้าได้ 1 ปีแล้วแต่ก็เพิ่งมารู้ค่ะ แต่ฉันไม่ได้รังเกียจเค้านะค่ะ แต่ฉันอยากมีความรู้เกี่ยวกับตัวเค้าบ้างค่ะ เลยอยากให้คนที่มีความรู้ช่วยให้ข้อมูลอะไรก้ได้เกี่ยวกับสิทธิของไทใหญ่หน่วยนะค่ะ
ช่วยตอบโดยด่วนนะค่ะ ที่ tet_nongsom88teenoy@hotmail.com
ปลาบปลื้มแทนคุณพ่อครับ...
ประเพณีดี ๆ เหล่านี้สมควรจะอนุรักษ์และเผยแพร่ครับ...
ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าประเพณีที่ผมไม่เคยรู้...
ขอบคุณครับ...
ยินหลีหนำๆอ่อ
พิธีอาบเดือนของหมุ่เฮาชาวไทใหญ่น่านับถือจริงๆค่ะ
อยากทราบว่าพืชมงคลที่ใช้ในการอาบเหลินเด็ก..จำเป็นต้องมีอะไรบ้างค่ะ...บอกเป็นภาษาไทยใหญ่และภาษาไทยได้ไหมค่ะ???รบกนหน่อยค่ะ.อยากทราบจิงๆ