BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

๒. สมภารเจ้าวัด : ความหมาย


สมภารเจ้าวัด
๒. สมภารเจ้าวัด : ความหมาย

 คำว่า สมภาร ก็คือ เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นสิ่งที่ในสังคมไทยใครๆ ก็รู้เรื่องนี้ เมื่อผู้เขียนแรกบวช พระครูหมึกท่านเจ้าอาวาสวัดกระดังงา เคยบอกว่า คำว่า สมภาร เป็นภาษาบาลีซึ่งเรียกอีกอย่างว่า สัมภาระ นั่นเอง ความหมายก็คือ ของหนัก นั่นคือ ต้องรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ภายในวัด

 ต่อมา ผู้เขียนเรียนบาลีและได้มาเป็นครูสอนบาลีตามลำดับ และก่อนจะเขียนเรื่องนี้ก็ลองค้นคว้าคัมภีร์หลายๆ เล่ม ก็ยังไม่เคยเจอคำว่า สมภาร ที่บ่งชี้ความหมายว่าคือ เจ้าวัด หรือ เจ้าอาวาส ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า คำว่า สมภาร เป็นคำที่โบราณาจารย์ของไทยนำมาใช้เรียกเจ้าวัดหรือเจ้าอาวาสในภาษาไทย ด้วยว่าบรรดาเรื่องโบราณบางอย่างก็หาหลักฐานยาก วิธีการที่ง่ายกว่าการหาหลักฐานก็คือคาดคะเนไปตามบางสิ่งที่มีอยู่ ดังนั้น ผู้เขียนจะค้นหาความหมายของสมภารตามแก่นของคำบาลีที่มีปรากฏอยู่ พร้อมทั้งบอกเล่าตามที่พอจะนึกได้คิดได้ขณะนี้ 

สมภาร หรือ สัมภาระ มาจากรากศัพท์คือ

ภรฺ และมี สํ เป็นอุปสัคบทหน้า (สํ+ภรฺ)               

 สํ             แปลว่า                   พร้อม , กับ , ดี,               

ภรฺ           แปลว่า                   เลี้ยงดู , ดูแล, รองรับ                          

เมื่อนำมาผสมกัน สํ + ภรฺ = สมภาร , สัมภาระ

 ตามรูปศัพท์เบื้องต้น สมภาร ควรจะแปลว่า ผู้เลี้ยงดูพร้อมสรรพ ผู้รองรับทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ ผู้ดูแลให้ดียิ่งขึ้น

ถ้าถือความตามนัยนี้ หน้าที่ของเจ้าอาวาสหรือสมภารเจ้าวัดก็จะตรงตามความหมายที่พวกเราชาวไทยพุทธเข้าใจกันมา ซึ่งสมภารเจ้าวัดตามความหมายนี้ ทุกข์สมภารเจ้าวัด  คงจะหนักมากจริงๆ ลองมาพิจารณาดูกันสักเล็กน้อย

ผู้เลี้ยงดูพร้อมสรรพ นั่นคือ สมภารเจ้าวัดจะต้องจัดแจงให้ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในวัดซึ่งได้แก่ พระเณรลูกวัด ตลอดเด็กวัดหรือคนแก่(อยู่ในวัด) นอกจากจะจัดหาเรื่องที่อยู่อาศัยและให้มีกินไม่อดอยากแล้ว ก็ต้องจัดแจงให้มีงานทำหรือให้ศึกษาเล่าเรียนตามสมควร ในกรณีนี้ ท่านพระครูวิสุทธิโมลี อตีตเจ้าอาวาสวัดเลียบสงขลา กล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งบรรดาพระเถระและญาติโยมชาวบ่อยางในสมัยนั้นคงจะจำกันได้ ท่านพระครูฯ สมภารเจ้าวัดของวัดเลียบ มีลูกศิษย์เยอะแยะ นอกจากพระเณรที่มาเรียนบาลีแล้ว เฉพาะเด็กวัดที่มาอยู่กับท่านพระครูฯ มีประมาณยี่สิบคน ท่านพระครูฯ ต้องบิณฑบาตสองรอบเพื่อเลี้ยงดูบรรดาเด็กวัดเหล่านี้มิให้อดอยาก เมื่อถึงเวลากินข้าว ใครไม่มากินข้าวท่านพระครูฯ ก็จะไล่ออกจากวัด (นั่นคือ น้ำใจของท่าน) การทำหน้าที่สมภารเจ้าวัดของท่านพระครูฯ ในการเลี้ยงดูเด็กวัด กลายเป็นตำนานสมภารเจ้าวัดไปแล้วในขณะนี้ การทำหน้าที่สมภารเจ้าวัดในฐานะผู้เลี้ยงดูพร้อมสรรพของท่านพระครูฯ วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า น่าจะสะท้อนให้เห็น ทุกข์สมภารเจ้าวัด ได้เป็นอย่างดี

ผู้รองรับทุกสิ่งทุกอย่าง  นั่นคือ เป็นที่รองรับหลายสิ่งหลายอย่างที่ประแดประดังเข้ามา ดังเคยได้ยินสมภารหลายๆ วัดบ่นกันว่า ไอไหรๆ ก็มาลงที่หัวสมภารทั้งเพ ประเด็นนี้ถ้าจะเล่าก็มีเรื่องราวมากมาย เช่น วัดหนึ่งจัดงาน ผู้เขียนไปร่วมงานทำบุญ ท่านเจ้าอาวาสก็ดีใจที่ผู้เขียนไปเยี่ยม พอคุยกันได้สองสามคำก็มีโยมมาบอกว่าขาดช้อน เจ้าอาวาสก็ต้องสั่งใครบางคนให้มาเอากุญแจไปเปิดห้องเก็บของเพื่อเอาช้อนสำรองไปใช้ก่อน เสร็จแล้วท่านสมภารก็บ่นกับผู้เขียนว่า ผมสั่งไปแล้วว่าให้ไปบอกคุณ... เพราะให้แกจัดการเรื่องนี้ แต่เขาก็ไม่ไป มาบอกผม  บ้านเราก็อย่างนี้แหละ ไอไหรๆ ถ้าไม่ไปที่สมภาร เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะได้เรื่อง ...  ยังคุยไม่ทันจบ โยมอีกคนก็มาบ่นว่า ท่านๆ พวกบ้านตีนเอาแกงไปครึ่งหม้อ...  ผู้เขียนรู้สึกว่าคุยไม่สนุกแล้วก็เลยเลี่ยงออกมาเดินเล่นภายในวัด สังคมวัดนั้น เมื่อมีปัญหาอะไรก็ตามที่แก้ไม่ได้ มักจะไปถึงสมภารเจ้าวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมาขี้ แมวตาย ต้นไม้หัก หรือคนบ้ามานอนพักอยู่ที่ศาลา ซึ่งสมภารเจ้าวัดจะต้องรับรู้และจัดการอยู่ทุกๆ วัน อีกอย่างก็คือ เรื่องชาวบ้านที่นำมาบอกเล่า มาเสนอความเห็น มาอวดโอ้ มาฟ้อง หรือมาบ่นให้สมภารเจ้าวัดฟัง เช่นลูกสาวของบ้านนั้นหนีตามตำรวจจราจรไปแล้วผมว่ากำแพงวัดที่จะทาสีใหม่ ใช้สีฟ้าอ่อนๆ ดีกว่า สีขาวสกปรกง่ายเจ้าเอียดหลานบ่าวที่ท่านตั้งชื่อให้มันสอบเอ็นฯได้วิศวะฯ ท่านจะให้ไหรมันมั้งเมื่อคืนผมเห็นพวกไอ้ลอย เข้ามาลักพร้าว อ๋อ ! เห็นแบกกล้วยไปเครือหนึ่งด้วยฉานว่าจะเลิกกับพ่อน้องโจ้แล้ว เค้าไม่ค่อยกลับบ้านเลย เบี้ยก็ไม่ค่อยให้ อยู่แต่บ้านเมียน้อย                                ฯลฯการที่เจ้าอาวาสต้องรองรับเรื่องราวต่างๆ ทั้งภายในวัดและนอกวัดอยู่ทุกๆ วัน เช่นนี้ พอจะกล่าวได้ว่า สมภารคือผู้รองรับทุกสิ่งทุกอย่าง 

ผู้ดูแลให้ดียิ่งขึ้น สำหรับความหมายนี้ การดูแลพระเณรและศิษย์วัดมิให้อดอยาก ผู้เขียนได้ปรารภไว้บ้างแล้วในเบื้องต้น จะขอยกตัวอย่างเรื่องการดูแลวัตถุทั้งหลายบรรดามีของวัด ตั้งต้นแต่สิ่งใหญ่ๆ เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา กำแพง ต้นไม้ รวมทั้งอาณาบริเวณ ตลอดถึงสิ่งของเครื่องใช้ประจำวัดต่างๆ เช่น เสื่อสาด โต๊ะ เตียง ตั้ง ตู้ เก้าอี้ หม้อ จาน ช้อน ค้อน ขวาน เลื่อย รถยนต์ และบางวัดอาจพ่วงเอาสิ่งที่เป็นสมบัติของวัดอื่นๆ ด้วย เช่น ตลาด บ้านเช่า ท่าทราย ท่าเรือ เหมืองหิน รังนก มูลค้างคาว ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเจ้าอาวาสหรือเจ้าวัดสามารถดูแลนำพาหรือกระทำให้ดียิ่งขึ้นแล้ว จึงจะได้ชื่อว่า สมภาร ในความหมายว่า ผู้ดูแลให้ดียิ่งขึ้น 

นัยกลับกัน ถ้าเจ้าอาวาสรูปใดทำให้สิ่งเหล่านี้เสื่อมโทรมเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ก็น่าจะได้ชื่อว่า ทุพภาร ในความหมายว่า ผู้ดูแลให้เลวลง เพราะมิใช่สมภารตามความหมายที่ว่าผู้ทำให้ดีขึ้นนั่นเอง ขอแทรกนิทานของผู้เขียนซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เริ่มเรื่องว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนที่ผู้เขียนพักอาศัยอยู่ที่วัดทองเพลง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เพื่อนของผู้เขียนมาเยี่ยมที่วัดแล้วก็ปรารภว่า วัดนี้ผมเคยมาเที่ยวในสมัยก่อน มีแต่กองขยะ สกปรก คล้ายๆ สลัมเลย เดี่ยวนี้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ต่อมา ผู้เขียนไปเยี่ยมวัดที่เพื่อนของผู้เขียนพักอาศัยอยู่ เขาก็เปรียบเทียบทำนองขำๆ ให้ผู้เขียนฟังว่า คุณรู้ไหม โยมวัดผมพูดว่า สมภารวัดผมเก่ง มีความสามารถทำวัดให้เป็นสลัมได้ ซึ่งผมมาคิดว่าต่างจากวัดคุณที่สมภารทำสลัมให้เป็นวัดตามความเห็นของเพื่อนผู้เขียน จะเห็นความแตกต่างเชิงเปรียบเทียบคือ การทำวัดให้เป็นสลัม และ การทำสลัมให้เป็นวัด นัยของความแตกต่างทำนองนี้ จะต้องจินตนาการถึงพื้นที่ตั้งของวัดกับชุมชนแวดล้อม ดังตัวอย่างของวัดทองเพลง ในสมัยก่อนเป็นวัดอยู่กลางสวน เมื่อความเจริญคืบคลานเข้ามาก็มีการถมที่สร้างอาคารพาณิชย์ ชุมชนรอบๆ วัดก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว วัดซึ่งมีสภาพอยู่กลางสวนก็ค่อยๆ แปรสภาพมาอยู่กลางชุมชนแออัด เมื่อรอบๆ วัดมีการถ่มที่สูงขึ้น ที่วัดก็ต่ำลง หลังจากฝนตก ขยะต่างๆ และสิ่งสกปรกอื่นๆ ก็มาพักอยู่ภายในวัด นั่นคือ ปัญหาของวัดที่อยู่รอบนอกของเขตเมืองที่กำลังจะกลายเป็นเมือง ดังนั้น ถ้าสมภารเจ้าวัดไม่เอาใจใส่เท่าที่ควรก็อาจทำให้วัดเดิมกลายเป็นสลัม นัยตรงข้าม ถ้าวัดตกอยู่ในสภาพสลัมหรือกึ่งสลัมก็เป็นหน้าที่ของสมภารเจ้าวัดจะต้องพัฒนาให้ดีขึ้น นั่นคือ การทำสลัมให้เป็นวัดจะเห็นได้ว่า ความหมายของสมภารว่า ผู้ดูแลให้ดีขึ้น เฉพาะการทำสลัมให้เป็นวัดก็มิใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เลย 

ความหมาย สมภาร ตามคำแปลจากภาษาบาลีที่ผู้เขียนพรรณนามาทั้งหมดนั้น เป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น เพราะผู้เขียนบอกไว้เบื้องต้นแล้วว่า คำว่า สมภาร ในภาษาบาลีมิได้หมายถึงเจ้าวัดหรือเจ้าอาวาส ฉะนั้น เราก็ลองไปดูว่าความหมายที่ใช้ในวรรณคดีบาลีจริงๆ นั้น ใช้คำว่า สมภาร ในความหมายใดบ้าง

หนังสือปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ หน้าที่ ๘๐๓ ท่านอธิบายไว้ว่า

สมฺภาโร                 เครื่องเต็มพร้อม, เครื่องอุดหนุน, เครื่องปรุง, อุปกรณ์  

หน้าที่ ๕๗๗ ท่านอธิบายไว้ว่า               

ภาโร                       ภาระ, หนัก, หาบ, แบก                

 คัมภีร์อภิธานวรรณนา ฉบับแปลโดยพระมหาสมปอง มุทิโต ในหน้าที่ ๑๐๒๔ ท่านอธิบายไว้ว่า               

 ปริกฺขาร ศัพท์ปุงลิงค์ มีอรรถ ๓ อย่าง คือ ...(๒) สัมภาระ เครื่องใช้สอย..

หน้าที่ ๖๐๓ ท่านอธิบายไว้ว่า     

 ภาระ (ภร ธารณโปสเนสุ+ณ) ภาระ, หาบ, ชื่อหน่วยมาตราชั่ง เท่ากับ ๒๐ ตุลา... 

จะเห็นได้ว่าความหมายไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ สัมภาระ หรือ สมภาร หมายถึง เครื่องใช้ หรืออุปกรณ์ ส่วนคำว่า ภาระ นั้น ท่านหมายถึง หาบ ของหนัก และเป็นชื่อของหน่วยมาตราชั่งโบราณอนึ่ง ผู้เขียนในฐานะเป็นครูบาลีก็ยืนยันได้ว่า สมภารหรือสัมภาระ นอกจากจะแปลว่า เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ หรือของหนัก ได้แล้ว บางครั้งก็ยังแปลว่า องค์ประกอบ ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อถือเอาตามความหมายที่ใช้กันในวรรณคดีบาลี สมภารเจ้าวัด ก็น่าจะหมายถึง อุปกรณ์ของวัด เครื่องใช้สอยอย่างหนึ่งของวัด หรือองค์ประกอบ(ที่สำคัญ)ของวัด ซึ่งจะต้องรองรับวัดไว้ หรือเหมือนกับว่า แบกวัด ไว้ นั่นเอง นั่นคือ สมภารเจ้าวัดเป็นของหนักเพราะแบกวัดเอาไว้

เมื่ออธิบายทำนองนี้ ผู้เขียนคิดว่าสอดคล้องกับความเห็นเดิมที่ท่านพระครูหมึก อดีตเจ้าอาวาสวัดกระดังงา ได้เคยอธิบายไว้ ดังนั้น จะขอยุติความหมายของคำว่า สมภาร ไว้เพียงแค่นี้ เพื่อความครบถ้วนของคำที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจะอธิบายคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกเล็กน้อย เริ่มต้นด้วย คำว่า เจ้าวัด ซึ่งคำว่า เจ้า คือผู้เป็นใหญ่ หรือผู้ครอบครอง ส่วนคำว่า วัด เป็นคำใช้เรียก
ศาสนสถานหรือสถานที่ทางศาสนา ดังนั้น คำว่า
เจ้าวัด ก็คือ ผู้เป็นใหญ่ในวัด หรือ ผู้ครอบครองวัด ดังนี้ก็ได้

ในคำว่า เจ้าอาวาส นั้น อาวาส แปลว่า ที่อยู่ ในที่นี้หมายถึงที่อยู่ของนักบวชซึ่งได้แก่พระสงฆ์สามเณร ก็คือวัดนั้นเอง ดังนั้น เจ้าอาวาสหรือเจ้าวัด เป็นคำใช้แทนกันได้ ซึ่งตามสำนวนไทยบางครั้ง เรามักเรียกย้ำว่า สมภารเจ้าวัดบ้าง สมภารเจ้าอาวาสบ้าง อนึ่ง สมภารเจ้าวัดนี้ ในสมัยพุทธกาลยังไม่ชัดเจน เพราะความเป็นอยู่และความเป็นไปของพระศาสนาในสมัยโน้นกับสมัยนี้แตกต่างกัน แต่ลักษณะของความเป็นสมภารเจ้าวัดนี้คงจะมีมาแล้ว ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ว่า

 อาวาสิกธรรม คือ ธรรมของภิกษุผู้อยู่ประจำวัด แปลถือความมาใช้ให้เหมาะสมกับปัจจุบันว่า คุณสมบัติของเจ้าอาวาส

เมื่อถือเอาตามความเห็นนี้ คำว่า อาวาสิโก ก็หมายถึงเจ้าอาวาสหรือสมภารเจ้าวัด และอีกคำหนึ่งที่ผู้เขียนเคยเจอก็คือคำว่า เนวาสิโก ก็หมายถึงเจ้าอาวาสหรือสมภารเจ้าวัดได้เช่นเดียวกัน

ถามว่า สมภารเจ้าวัดมีคุณสมบัติอย่างไร ? ประเด็นนี้ จะขยายความในหัวข้อต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #สมภาร#เจ้าอาวาส
หมายเลขบันทึก: 67079เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

  ได้อ่านบันทึกของพระคุณเจ้าแล้ว ได้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับตัวเองมาก ผมเป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางด้านภาษาบาลี สันสกฤต เลย และไม่มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้ แต่อยากจะรู้ความหมายของชื่อ ว่ามีความหมายหรือไม่ อย่างไร  จึงอยากใคร่ขอความกรุณาจากพระคุณเจ้าด้วยครับ 

กราบขอบพระคุณ พระคุณเจ้าเป็นอย่างสูง

สมพร

  1.  ปุณภงค์

2. ภิงควัต  หรือ  ภิงควัฒ

คุณสมพร

ยินดี จ้า

1. ปุณภงค์ แปลไม่ถูก ถ้าจะเดา ก็พอได้

ปุณ คือ บุญ.. ภงค์ มาจาก ภช แปลว่า คบ... รวมความ น่าจะแปลว่า ผู้คบหาสิ่งที่เป็นบุญ ?

2. ภิงควัต ก็แปลไม่ถูก ถ้าจะเดา ก็พอได้

ภิงค แปลว่า แตก หรือ หลากหลาย ...วัต หรือ วัฒ มาจาก วัตต แปลว่า เป็นไป หรือ เจริญ... รวมความ น่าจะแปลว่า ผู้เจริญในหลายๆ ด้าน ?

ถ้าเป็นบาลี จะมีรูปแบบการซ้อนตัวที่แน่นอน ซึ่งหลวงพี่เห็นก็จะรู้ แต่ถ้าเป็นสันสกฤตหลวงพี่ไม่ค่อยรู้ ได้แต่เพียงบางคำหรือบางศัพท์เท่านั้น ...และเมื่อมาเป็นชื่อแบบไทยๆ คนตั้ง เค้าอาจ ตัดต่อแต่งเติม เพิ่มขึ้นอีก ...

สรุปว่า ต้องไปถามคนตั้ง ครับ 5 5 5

เจริญพร

 

ขอบพระคุณพระคุณเจ้าเป็นอย่างสูงครับ ที่ช่วยไขข้อข้องใจให้ผม

สมพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

หนูมีเรื่องอยากถาม 

อยากทราบว่าวัด มีหน้าที่อะไร

หน้าที่ของพระ

หน้าที่ของสามเณร

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

 คือว่าดิฉันเห็นพระคุณเจ้าอ้างถึงหนังสืออภิธานวรรณนา

ของพระมหาสมปองค่ะ  

 ดิฉันพยายามหาหนังสือเล่มนี้มานานมากแล้วจริงๆค่ะ  

พยายามหาจากร้านหนังสือแถวท่าพระจันทร์ก็ไม่มีแล้ว

หาจากห้องสมุดมหาลัยเพื่อไปถ่ายเอกสาร  ห้องสมุดก็

ไม่มีหนังสือเล่มนี้ค่ะ  อยากกราบขอความเมตตาจาก

พระคุณเจ้าช่วยแนะนำได้มั้ยคะว่าจะหาหนังสือเล่มน

ี้ได้จากที่ไหนบ้างค่ะ 

  หรือจะขอยืมจากที่ไหนไปถ่ายเอกสารได้บ้างคะ

กราบขอบคุณอย่างสูงค่ะ 

จิตสิริ 

 

 

 

ไม่มีรูป
จิตสิิริ

คัมภีร์อภิธานวรรณนา หนา ๑๒๖๖ หน้า ปกแข็ง แปลและเรียบเรียงโดย พระมหาสมปอง มุทิโต ...

ตามที่ทราบมา หนังสือเล่มนี้ ไม่วางขายทั่วไป แต่แจกฟรีสำหรับนักศึกษาบาลีชั้นสูง หรืออาจารย์ที่สอนบาลี... มิใช่แจกทั่วไป และต้องไปขอด้วยตัวเอง...

อาตมาก็ไปขอท่านอาจารย์มหาสมปองมาด้วยตัวเอง.. (อันที่จริงจะบอกว่าไปแลกมาก็ได้ แต่หนังสือที่อาตมาเอาไปถวายท่านเล่มนิดเดียว......)

ท่านอาจารย์มหาสมปองพักอยู่ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ คณะ ๒๕ ... คุณโยมเข้าไปเยี่ยมท่านสักครั้ง คิดว่าคงจะไม่ผิดหวัง....

เจริญพร 

ทำไมจึงเรียกเจ้าอาวาสว่าสมภาร

ไม่มีรูป ศิล

 

  • ลองอ่านอีกเที่ยว ถ้ายังหาคำตอบไม่ได้ ก็ลองอ่านอีกเที่ยว อีกเที่ยว และอีกเที่ยว...
  • หรือไม่ต้องอ่านก็ได้ แค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป...

เจริญพร

 

ผมหาคำว่า เจ้าอาวาส ที่เป็นภาษาบาลี อยู่ตั้งนาน เพิ่งจะอ่านเจอ

ขอบพระคุณท่านมากเลยขอรับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท