อ่านหนังสือ #ชีวิตของประเทศ# บันทึกเสียงเพื่อคนตาบอด5


    อาจารย์วิษณุ เครืองาม ได้เขียนเรื่องไพร่และทาส ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ในหนังสือ "ชีวิตของประเทศ" ให้เข้าใจได้ง่าย โดยใช้ตัวละครสำคัญ คือหมอชั้นเป็นผู้อธิบายสอนลูกชายคือใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีใจความว่า

ชายไทยทุกคนอายุ 9 ปีก็จัดว่าเป็นไพร่ แล้วเมื่อถึงอายุ 18 ปีถ้าไม่พิการบ้าใบ้ และสูงจากตีนถึงไหล่วัดได้ 2 ศอกคืบเป็นอย่างน้อย ต้องไปสักเลก ต้องเข้าทำราชการ หรืออาจไปอยู่กับขุนนางอื่น ไพร่อาจมาจากผู้ที่สืกจากพระ หรือทาสที่เป็นไทและมูลนายที่ทำผิดแล้วถูกถอดก็ได้ ไพร่เหล่านี้เรียกว่า "ไพร่สม" นายหน้าที่เกณฑ์คนมาสักเลก และขุนนางผู้เป็นนายเรียกว่า "มูลนาย" ทำนองฝึกหัดราชการ พออายุ 20 ปีจึงจะโอนไปขึ้นตรงต่อแผ่นดินหรือกรมกองส่วนกลางเรียกว่า "ไพร่หลวง" สมัยกรุงเก่าไพร่หลวงก็มีพันธะต้องไปเข้าเวรทำราชการตามกรมกอง 1 เดือน ออกเวร 1 เดือน สลับกันไปทั้งปี เรียกว่า "เข้าเดือน ออกเดือน" เท่ากับทำงานปีละ 6 เดือน มาแผ่นดินนี้(ร.1) จึงเปลี่ยนเป็น "เข้าเดือน ออก 2 เดือน" แปลว่าทำงานปีละ 4 เดือน ระหว่างเข้าเวรหรือเข้าเดือนต้องทำงานหลวงเช่นก่อสร้างซ่อมแซมวัด วัง ป้อม ค่าย คู ขุดคลอง ทำถนนและอื่นๆ สุดแต่หลวงจะใช้ โดยต้องนำเสบียงอาหารและหาเครื่องมือในการทำงานไปเอง ระหว่างนั้นจะต้องกินอยู่หลับนอนในกรม กอง เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะอนุญาตให้เข้าไปให้เเช้าไปเย็นกลับ ส่วนขุนนางผู้ใหญ่ผู้เป็นนายที่ได้รับมอบหมาย ให้กำกับดูแลไพร่หลวงแทน ทางราชการเรียกว่ามูลนายเช่นกัน มูลนายของไพร่สมและไพร่หลวงต้องให้ความคุ้มครองป้องกันไพร่ให้อยู่ในระเบียบวินัยและรอดพ้นจากการถูกข่มเหง กฏนี้เรียกว่าขนบไพร่ คนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นขุนนางจะทำตัวเป็นมูลนายมีไพร่ในสังกัดไม่ได้ อย่างมากก็มีทาสไว้ปรนนิบัติรับใช้ เมื่อออกเวรแล้วไพร่หลวงสามารถกลับไปอยู่บ้านหรือเดินทางไปไหนมาไหนได้ ทำมาหากินได้ ยามใดที่บ้านเมืองมีศึก จะถูกเกณฑ์ไปราชการสงคราม หากไปราชการฝ่ายเหนือก็ขึ้นกับเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก หากไปราชการฝ่ายใต้ขึ้นกับเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีสมุหพระกลาโหม

สำหรับทาส ถ้าพ่อเป็นทาสแม่เป็นทาสสมสู่อยู่กินกัน ลูกออกมาเป็นลูกทาสเต็มตัว ถ้าพ่อเป็นทาสแม่เป็นไทลูกก็เป็นทาสอยู่ดี เรียกว่า "ทาสในเรือนเบี้ย" ทาสจึงมีทั้งลูกทาส ทาสเชลยศึกได้มาแต่สงคราม แต่พวกขายตัวลงเป็นทาส ลางทีเป็นไทอยู่ดีๆ ทำมาหากินฝืดเคือง พ่อแม่ก็เอาลูกไปขายเป็นทาส ผัวแพ้พนันฤาไม่มีเงินล้างหนี้ ก็พาเมียไปขายเป็นทาส ลางทีนายก็ขายทาสตนแก่คนอื่น หรือตัวเองเป็นไพร่แต่อยากได้เงินก็ยอมขายตัวเป็นทาส จักได้เงินทองไว้ใช้และมีนายคุ้มครอง พวกนี้เรียกว่า "ทาสสินไถ่" แต่นายเขาก็ใช้สมค่าเงิน ส่วนราษฎรชาวเมืองทั่วไปแม้มิได้เป็นทาส แต่ก็เป็นไพร่กันถ้วนหน้า ทั้งหญิงและชาย แต่ไพร่ชายมีภาระมากกว่าไพร่หญิง เพราะต้องถูกสักเลกและมีมูลนายฤาสังกัด คนเป็นมูลนาย ถือว่าเป็นเจ้าใหญ่นายโต ถ้ามีศักดินาสูง สามารถเข้าเฝ้าได้ ห้ามผู้ใดดูหมิ่นเจรจาหยาบช้าด่าทอ มูลนายนั้นเวลามีคดีความก็ไม่ต้องไปพบขุนศาลตระลาการ ไม่ต้องว่าคดีเอง มีเสมียนทนายความว่าต่างแก้ต่างให้ แม้นมีลูกก็ไม่ต้องถูกกักเป็นไพร่และเข้าทำงานหลวงถวายตัวได้

ปู่ของหมอชั้นไม่เคยเป็นขุนหลวง พระน้ำพระยา แต่เป็นหมอหลวงจึงได้อาญาสิทธิ์ถือตะพดแดงมีหนังสือคุ้มศักดิ์ฤาตราภูมิคุ้มห้าม หมอชั้นเป็นลูกหมอหลวงมีวิชาจึงเป็นลูกหมู่ พลอยได้หนังสือคุ้มครองรอดมาได้ไม่ถูกสักข้อมือ เวรกรรมที่ใหม่เกิดมาเป็นลูกหมอเชลยศักดิ์ จึงไม่ได้รับการยกเว้น ถึงกำหนดอายุ 18 ปีจะต้องไปสักข้อมือ ไม่ได้ขายไปเป็นทาส แต่ให้ไปเป็นไพร่สม พออายุ 20 ปีก็โอนไปเป็นไพร่หลวงจนอายุ 70 ปี ไพร่ไม่ใช่ทาส เพราะมีโอกาสดีกว่าทาส ใครจะเฆี่ยนตีก็ไม่ได้ ไพร่เป็นไทแก่ตัว เพลาออกเวรก็มาอยู่กับลูกกับเมียทำมาค้าขาย เปิดโรงยารักษาคนเจ็บได้ ดีซะอีกจะได้ใกล้ชิดผู้ใหญ่มีมูลนายคุ้มครองดีกว่าหลักลอย

หน้าที่ไพร่นั้นหนักอยู่ก็แต่ว่าต้องรับใช้มูลนายทำงานให้ตามที่นายว่าขานวานใช้ ยามไม่มีศึกสงครามอาจถูกเกณฑ์เข้าทำงานหลวง เข้าเดือนออกเดือน หรือเข้าเดือนออก 2 เดือน 3 เดือนต่อปี ตามแต่กฎหมายจะว่า โดยมากเขาให้ทำงานสร้างวัด สร้างป้อม สร้างพลับพลาศาลาโถง ตามไปคล้องช้าง ตามผู้ร้าย ขุดคลอง เช้าไปเย็นกลับ เตรียมสำรับคับค้อนจอบเสียม เครื่องมือทำงานแลเสบียงกรังไปเอง แต่เวลาผ่านด่านผ่านขนอน ของพวกนี้บอกว่า เอาไปทำงานให้มูลนาย ก็ไม่ต้องเสียภาษีอากร ถ้าหากใหม่เร่งหัดวิชาหมอไว้ ไปอยู่กับมูลนายจะได้ทำงานหมอยารักษาโรคได้ ไปราชการทัพเขาจะได้ไม่เอาไปทำงานกุลี ขุดคลองฤาแบกหาม

ไพร่อีกชนิดหนึ่งเรียกว่าไพร่ส่วย ได้แก่คนที่ไม่อาจไปทำราชการเป็นไพร่สมหรือไพร่หลวงได้ จะต้องส่งข้าวของ เงินทองให้ทางราชการแทน 1 ตำลึง 2 บาทเพื่อทางราชการจะได้นำไปว่าจ้างคนอื่นต่ออีกทอดหนึ่ง

โดยสรุปไพร่ไม่ใช่ทาส เป็นอิสระเสรีชนนี่เอง มีศักดินาเช่นราษฎรทั่วไปคือ 10-25 ไร่ ส่วนทาสมีศักดินา 5 ไร่ ไพร่เป็นวิธีเกณฑ์แรงงานหรือการเข้ารับราชการอย่างหนึ่งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยราชการไม่ต้องเสียค่าจ้าง ผู้เป็นไพร่จะต้องถูกสักที่ปลายแขนใกล้ข้อมือด้วยหมึก เพื่อบอกสังกัดว่าเป็นไพร่ชนิดใด ขึ้นกับใคร เรียกว่า "สักเลก" แล้วใช้เหล็กแหลมแทงไปตามลายหมึก บางทีก็สักลายพิเศษตามร่างกาย ให้รู้แต่ไกลว่าสังกัดมูลนายคนใดและมีการทำทะเบียนคุมไว้ กรมที่คุมทะเบียนเรียกว่า "กรมพระสุรัสวดี" ถ้าเปลี่ยนสังกัดหรือขึ้นแผ่นดินใหม่จะมีการสักเลกใหม่ การมีไพร่สม ทำให้เจ้านายและขุนนางมีไพร่ในสังกัดอยู่มาก และเป็นช่องทางให้สะสมกำลังของตนได้ ดังนั้นจึงมีระเบียบว่าเมื่อไพร่สมมีอายุได้ 20 ปี ถือว่าได้ฝึกหัดราชการกับมูลนายพอควรแล้ว ต้องผ่องถ่ายไปเป็นไพร่หลวงสังกัดกรมกอง มีมูลนายตามตำแหน่งปกครอง เพื่อให้แผ่นดินได้ใช้สอยบ้าง มิฉะนั้นทุกคนก็คิดจะยึดโยงอยู่กับมูลนายเดิม ทางการก็จะขาดกำลังพลที่ภักดีต่อแผ่นดิน แต่ถึงอย่างไรไพร่สมและไพร่หลวงที่อยู่กับมูลนาย จะมีความผูกพันกับมูลนายผู้เป็นเจ้าพระเดชนายพระคุณอยู่ดี ยิ่งถ้ามูลนายเลี้ยงดูดี ปกครองด้วยความเป็นธรรม ไพร่เหล่านี้แทบจะยอมตายถวายชีวิตให้ทีเดียว บารมีของมูลนายจึงวัดจากการที่ไพร่ไม่ขอย้ายหนีสังกัดกรมกองและมูลนาย อย่างที่เรียกว่า "ตามใจไพร่สมัคร"

หมายเลขบันทึก: 670586เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท