อ่านหนังสือ #ชีวิตของประเทศ# บันทึกเสียงเพื่อคนตาบอด4


   อ่านหนังสือ "ชีวิตของประเทศ" ของอาจารย์วิษณุ เครืองาม มาถึงตอนกลางสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ได้เห็นบทบาทของหมอชั้น กับ ใหม่(ลูกชาย)และแก้ว ตัวละครสำคัญ เป็นตัวเดินเรื่องให้สนุกมากขึ้น มีบุคคลสำคัญที่กล่าวถึงเพิ่มเติม เช่น เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด เจ้าฟ้าชายทับ(ต่อมาคือ ร.3) คุณชายดิศ เป็นต้น

มีคำว่า "เจ้าครอก"พูดกันบ่อยๆ ที่ข้าทาสบริวารในสังกัดและคนอื่นๆที่เคารพนับถือเรียกขานเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าหรือพระราชโอรส ธิดา เหมือนยอมตนเป็นข้าในกรม

ช่วงนี้แม้กรุงเทพฯทยอยสร้างเสร็จเป็นส่วนใหญ่แล้ว สงครามกับพม่าเริ่มซาลง(แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ ) แต่ภารกิจของ ร.1 ที่ต้องฟื้นฟูปรับปรุงแก้ปัญหายังมีมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขุนนางเดิมที่ผิดหวังในยศในตำแหน่ง เริ่มสุมหัวก่อหวอดกัน เช่น กลุ่มของพระอมาตยานุชิต เป็นต้น รวมทั้งพวกทหาร ขุนนางที่แยกกลุ่มเจ้านายที่ตนเองสังกัด สร้างข่าวลือ และกระแสต่างๆให้เจ้านายบาดหมางกัน ลุกลามไปใหญ่โต เช่นกรณีวังหน้ากับวังหลวง เป็นต้น ต้องอาศัยญาติผู้ใหญ่เข้ามาไกล่เกลี่ย อาศัยความเป็นพี่น้องร่วมอุทรที่เติบโตมาด้วยกันผ่านศึกเหนือเสือใต้กันมาจึงยุติปัญหานี้ได้

เรื่องราวที่ผมอยากให้ติดตามอ่านเอง เพราะเล่าเท่าไรก็คงไม่ลึกซึ้งกินใจเท่ากับที่ผู้เขียนบรรยายไว้ที่เห็นภาพชัดเจนมากๆ ท่านช่างมีความรู้ลึกและแตกฉานในหลายแขนง สามารถนำเกร็ด เรื่องราวต่างๆมาเล่าบูรณาการให้เห็นภาพปะติดปะต่อกันชัดเจนมาก โดยดำเนินเรื่องไปตามเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ท่านใช้ภาษาธรรมดา ไม่จาบจ้วงืแต่กินใจ ชวนให้รักชาติและชวนติดตามยิ่งนัก เช่น ท่านเขียนถึงความผูกพันกันของเครือญาติและเพื่อนฝูงที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่แตกกิ่งแตกแขนงออกไปที่ตัดสัมพันธ์กันอย่างไรก็ไม่ขาด บางท่านก็ทยอยจากไป บางคู่อภิเษกกันไปก็มี เช่น เจ้าฟ้าชายฉิม กับเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด เป็นต้น

นอกจากนี้ก็มีการพูดถึงเรื่องธรรมเนียมของบ้านเมือง เช่นไพร่หลวง ไพร่สม ไพร่ส่วย และทาส ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยที่หมอชั้นสอนใหม่(ลูกชาย)อย่างละเอียดลออ โดยมีเทคนิคการสอนการอบรมที่แยบยล ตลอดจนเรื่องที่ไปที่มาของวัดต่างๆ เช่น วัดบพิธภิมุข วัดปทุมวนาราม เรื่องการแต่งกายของผู้คน การโกนจุก การทำดอกไม้สด การปรุงอาหาร(เช่นที่มาของห่อหมกปลาช่อน) การทำขนมต่างๆ โดยเฉพาะฝีมือปรุงอาหารและทำขนมของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด จนทำให้เจ้าฟ้าชายฉิม(ต่อมาคือ ร.2)ติดอกติดใจจนไปไม่รอด และมาแต่งกาพย์ห่อโคลงชมเครื่องกับข้าวคาวหวาน ให้เราได้อ่านกัน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 670585เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท