ชีวิตที่พอเพียง 3536. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๕) เผชิญอาการหลงผิด



ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ() () (๓)  (๔)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆกัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น          

คราวนี้ขอเล่าอาการหลงผิด(delusion)    ที่เข้าใจว่ามีผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเดือดร้อนมาก   อย่างที่ผมและครอบครัวกำลังเผชิญอยู่   

เย็นวันที่๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผมกลับมาจากขอนแก่น   เธอบอกว่ามีเงินก้อนใหญ่ในธนาคารก้อนหนึ่งครบกำหนดจะโอนให้ผม    ตกลงกับลูกสาวที่ช่วยดูแลการเงินเรียบร้อย    ตกค่ำเธอบอกว่า จะโอนให้ครึ่งเดียว    กลัวผมจะเอาไปใช้จ่ายไม่สมควร    เช้ามืดวันที่ ๗เธอบอกว่าเงินที่ว่าจะโอนให้นั้น ตัดสินใจไม่โอนให้แล้ว เพราะเพื่อนสนิทของเธอ (ผู้หญิง) บอกว่าเพื่อนอีกคนหนึ่ง (ผู้ชาย) เล่าว่าผมเอาผู้หญิงไปฝากทำงาน    แต่เขารับไม่ได้เพราะไม่มีงานให้ทำ     เธอบอกว่าเธอเสียใจมากที่ผมปันใจให้หญิงอื่น(แก่ๆ ขนาดนี้เพิ่งมาปันใจ)

เย็นวันที่๑๒ สิงหาคม หลังกลับมาจากชุมพร   เธออาละวาดใหญ่โต ว่าผมเตรียมซื้อของเอาไปให้กิ๊ก    ต้องการไล่ผมออกจากบ้านเพราะเธอไม่เชื่อใจผมอีกแล้ว   เธอทนไม่ได้ที่ผมไปมีหญิงอื่น   จนผมต้องโทรศัพท์ไปหาเพื่อนที่เธอบอกว่าผมเอากิ๊กไปฝากงาน    ให้เธอพูดกับเขาเอง    หลังจากนั้นเธอก็เย็นลง   

เอามาเล่าเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความอ่อนแอของสมองคนเป็นโรคสมองเสื่อม   ที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างจินตนาการกับความจริง    ที่ทางวิชาการเรียกว่าอาการหวาดระแวงเกินเหตุ    ที่จะทำให้คนใกล้ชิดเจ็บปวดมาก (ในหัวใจ)หากไม่เข้าใจธรรมชาติของอาการโรค   สำหรับผม โชคดีที่เหตุการณ์นี้เกิดตามหลังเรื่อง “ความฝัน”ที่เล่าไว้ในบันทึกที่แล้ว  (๓)     และเรื่อง networkneuroscience (4)          

เรื่องความหลงผิด(delusion) ของสาวน้อยก่อความวุ่นวายในชีวิตของผมไม่น้อย    ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมเธอแสดงอาการเป็นระยะๆ    หนึ่งวันดีสองวันหลง    ดังตัวอย่างคำพูดต่อไปนี้    “จะหย่าแล้วทนไม่ได้กับคนหลายใจ”    “ไปอังกฤษ พา ...ไปด้วยใช่ไหม”    “จะไล่พี่วิจารณ์ออกจากบ้านเพราะนี่เป็นบ้านตุ๋น”     และถ้อยคำแรงๆอีกมากมาย  

พร้อมกันนี้เธออ้วนขึ้นมาก  เพราะกินทั้งวัน    และนอนเก่งขึ้น  เดินช้าลง  พูดช้าลงและนึกคำไม่ออกบ่อยขึ้น   ผมสงสัยว่าอัตราการระบายน้ำไขสันหลังอาจช้าไป    ทำให้โรค NPH รุนแรงขึ้นกว่าช่วงก่อนไปติดตามผลเมื่อวันที่๒๘ พฤษภาคม   

 ลูกสาวไปค้นในเว็บและแปลส่งมาให้ดังนี้

ต้องอ่านเจอเรื่อง delusion จากเว็บ portal ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นน่าสนใจดีเลยแปลมาให้อ่านค่ะ 

______

อาการหลงผิด (妄想 delusion) จากสมองเสื่อม (1)

อาการหลงผิดส่วนมากเกิดจากความทุกข์จากอาการสมองเสื่อมและความไม่พอใจต่อคนรอบข้างประกอบกัน

 และในบางครั้งยังมีความรู้สึกลึกๆ ซ่อนอยู่ด้วยมากมาย เช่น ความกังวลถึงอาการสมองเสื่อมและการแก่ชรา ความรู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องใช้ชีวิตคนเดียว ความเศร้าจากการที่ไม่ได้รับความเคารพนับถือ 

 อาการหลงผิด สำหรับผู้ป่วยเองมีนัยยะของการประท้วงต่อสภาพเหล่านั้น หรืออาจเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

ผู้ป่วยจึงพยายามเรียกร้องไปยังคนใกล้ชิด และมักจะทึกทักโดยไม่รู้ตัว ว่าคนใกล้ชิดเป็น “คนทำผิด” 

นี่เป็นเรื่องลำบากใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ดูแลหรือญาติ อาจจะคิดไปว่า”เขาเกลียดฉันถึงพูดอย่างนี้”

 แต่อาการหลงผิดเกิดจากผู้ป่วยคิดไปเองโดยไม่รู้ตัว เป็นการยกตัวเองไว้เป็น “ผู้ถูกกระทำ” ซึ่งเป็นตำแหน่งปลอดภัย แล้วพยายามสุดกำลังเพื่อเรียกร้อง ไม่ได้ทำไปเพราะความเกลียดชัง

_____

อาการหลงผิดว่าภรรยาหรือสามีมีกิ๊กหรือมีชู้

อาการหลงผิดประเภทนี้แม้จะเป็นการเรียกร้องที่ไม่เป็นจริง แต่ส่วนมากมักจะมีรายละเอียดที่ดูสมจริงมากทีเดียว เช่น เมียนอกใจมีอะไรกับลูกเขย กางเกงในเปื้อนที่อยู่ในตะกร้าผ้าเป็นหลักฐาน ไร้ยางอายสิ้นดี

อาการหลงผิดประเภทนี้มักมีที่มาจากความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่มั่นใจอย่างรุนแรง หรือในบางครั้งเกิดจากความรู้สึกเศร้าที่สูญเสียบทบาท ไม่สามารถช่วยเหลือใครได้ รู้สึกว่าตนไม่มีค่า 

กรณีสามีสงสัยว่าภรรยาเป็นชู้กับลูกเขย อาจเป็นเพราะภรรยาที่เคยปรึกษาหารือกับตนทุกเรื่อง ช่วงหลังกลับหันไปปรึกษาลูกเขยแทน ที่จริงแล้วอาจเป็นการพูดคุยเรื่องการดูแลสามี แต่เจ้าตัวรู้สึกไปเองว่าเป็นการนอกใจ

______

ที่มา 

https://kaigo.homes.co.jp/manual/dementia/symptom/higai/

______

อาการหลงผิด (妄想 delusion) จากสมองเสื่อม (2)

หลักการรับมือ

-รับฟังโดยไม่ปฏิเสธ

หลักสำคัญคือถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริงก็อย่าปฏิเสธ ให้รับฟัง  ทุกครั้งที่ถูกปฏิเสธและต้องเรียกร้องซ้ำๆ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกถูกทำร้าย โกรธ เศร้า ทุกข์ใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ซึ่งจะทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ยิ่งสับสน ยิ่งเรียกร้องด้วยความเชื่อมั่นในเรื่องที่หลงผิดมากขึ้น เมื่อคิดว่าคนนี้ไม่ยอมเชื่อก็จะหันไปเรียกร้องกับคนอื่นไม่เลือกหน้า  

ถึงแม้คุณจะเป็นผู้ร้ายในเรื่องที่ผู้ป่วยหลงผิด ก็อย่าเพิ่งปฏิเสธ ค่อยๆ ให้ความเห็นใจ รับฟัง บ่อยครั้งที่แค่รับฟังอย่างเห็นอกเห็นใจก็ทำให้ผู้ป่วยหายหลงผิดได้

-ให้ความสนใจจุดยืนและความรู้สึกของผู้ป่วย

อีกทางหนึ่ง ผู้ดูแลก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเรื่องที่หลงผิด ไม่ต้องพยายามหาทางแก้ไขเรื่องนั้นในทางรูปธรรม

อาการหลงผิดในโรคสมองเสื่อมนั้น ส่วนมากเนื้อหาที่ผู้ป่วยเรียกร้องไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เช่น “อยากให้รับฟังเรื่องทีกังวลใจ” “อยากให้เข้าใจว่ารู้สึกอย่างไร” “อยากให้ให้ความสำคัญในฐานะคนคนหนึ่ง” เป็นสารที่สำคัญกว่า

นั่นก็คือ สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการไม่ใช่การยอมรับหรือเห็นด้วยกับเหตุการณ์นั้น หรือคำแนะนำเป็นรูปธรรม แต่คือความเข้าใจในสภาพที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และการรับสารจากความรู้สึกนั้นๆ

-อย่ารับมือคนเดียว

การหลงผิดโดยเฉพาะกรณีที่ผู้ดูแลกลายเป็นเป้าเสียเอง การรับมือเพียงลำพังจะทำให้เหนื่อยใจเป็นอย่างยิ่ง หากเป็นไปได้ควรมีคนรับฟังและให้คำปรึกษา

ผู้ดูแลอาจกลัวหรือไม่สบายใจ ว่าคนที่รับฟังอาจจะยิ่งกล่าวโทษ หรือยอมแพ้ว่าถึงจะมีใครรับฟังก็แก้ไขไม่ได้ง่ายๆ

แต่การปกป้องจิตใจและร่างกายของผู้ดูแล ต้องมาก่อนการจะแก้ไขอะไรกับผู้ป่วย

ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปปรึกษาหน่วยงานหรือบุคคลที่เชื่อถือได้ ให้มีคนที่เข้าใจในสถานการณ์คอยช่วยเหลืออีกทอดหนึ่ง

______

ที่มา 

https://kaigo.homes.co.jp/manual/dementia/symptom/higai/

มุทิตา พานิช

เพราะในช่วงต้นเดือนกันยายน เธออาละวาดเรื่องที่เธอคิดว่าผมจะพากิ๊กไปลอนดอน    เธอว่าผมพากิ๊กไปทำวีซ่า   ซื้อตั๋วเครื่องบินให้กิ๊ก    ลูกสาวกับผมจึงชวนเธอไปลอนดอนพร้อมกับผม  ในช่วงที่ผมจะไปประชุมด้านการศึกษาโดยไประหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๖ กันยายน ๒๕๖๒   เธอตกลงไป โดยต้องไปดูแล    เราต้องรีบดำเนินการไปขอวีซ่าแบบด่วนค่าธรรมเนียมสูงลิ่ว คนละ ๔๐๐ เหรียญ   และเสียค่าห้องพิเศษในการทำวีซ่าอีกคนละเกือบ ๔ พันบาท    เมื่อรู้ว่าได้วีซ่าแน่แล้วต้องก็จัดการจองตั๋วเครื่องบินอีกคนละเกือบห้าหมื่นบาท    ผมลงทุนสร้างหลักฐานให้เธอเห็นว่าเรื่องการพากิ๊กไปลอนดอนนั้น   เป็นจินตนาการของเธอที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีความจริง     ผมเฝ้าบอกเธอว่าเรื่องกิ๊กมันอยู่ในสมองเธอเท่านั้น ไม่มีตัวตนจริง   

ในที่สุด ราวๆ กลางเดือนกันยายนผมก็สรุปกับตนเองได้ว่า    ผมเข้าใจผิดเรื่อง “อาการหลงผิด”    ผมหลงคิดว่า จะหาทางแก้ไขอาการนี้ได้ โดยทำให้เธอเห็นหลักฐานว่ากิ๊กที่เธอจินตนาการนั้นไม่มีตัวตน   นั่นคือความเข้าใจที่ผิดพลาด   เพราะอยู่บนฐานของการคิดแบบมีเหตุผล มีข้อมูลหลักฐานรองรับ   

ผมได้ตะหนักชัดว่าคนที่มีอาการหลงผิดนั้น   มีความคิดอยู่บนคนละฐาน   คืออยู่บนฐานจินตนาการบวกกับความเชื่อ    เธอเชื่อฝังใจแล้ว (ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒) ว่าผมมีกิ๊ก   ไม่มีทางลบล้างความเชื่อนี้ออกจากสมองของเธอได้   

วิธีแก้คือ หาทางให้เธออารมณ์ดี     ได้ออกจากบ้านไปไหนๆ กับผมบ่อยๆ     ให้เธอรู้สึกปลอดภัยว่าจะมีผมอยู่เคียงข้างไม่ทอดทิ้ง   

ข้อดีคือ อาการหลงผิดมันมาเป็นพักๆ  และอยู่ไม่นาน    ที่สั้นมากๆ ก็ราวๆ ๑๐ นาที     ที่ยาวก็อาจเป็นชั่วโมง    ผมทดลองหาวิธีรับมือโดยไม่ถือเป็นอารมณ์  บอกกับตัวเองว่าต้องฝึกตัวเองให้อยู่กับความหลงผิดของสาวน้อยไปตลอดชีวิต    โดยไม่โดนความหลงผิดของเธอทำร้าย    เหมือนกับที่ผมเคยฝึกตัวเองหลายๆเรื่องในอดีต เพื่อให้ชีวิตสมรสราบรื่น   

๑๘ กันยายน ๒๕๖๒ 

ผศ. ดร. นพ. ศรัณย์ นันทอารีนัดไปติดตามผลการปรับความเร็วของการไหลของน้ำหล่อสมองผ่านท่อสายยางไปลงช่องท้องเมื่อวันที่๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒    ผมเรียนท่านว่าอาการดีขึ้นทั้งการพูดและการเดิน   ท่านบอกว่า คนไข้คนอื่นๆ ก็เป็นเช่นนี้   คือเมื่อปรับให้น้ำหล่อสมองไหลออกเร็วขึ้น อาการก็ดีขึ้น     แต่สิ่งที่หมอกลัวคือ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองได้ ในอัตราร้อยละ ๘   ท่านจึงสั่งให้ไปนัดตรวจ CT สมอง    แล้วเอาผลไปให้ท่านดู   หากทุกอย่างเรียบร้อย ก็คงอัตราไหลของน้ำหล่อสมองไว้อย่างเดิม    และนัดติดตามผลทุกๆ ๑ - ๒ ปี

มิ้วกับเอิ๊กไปช่วยนัดทำ CT ได้ ๙ น. วันที่ ๓๐กันยายน    โดยต้องไปเจาะเลือดตรวจ creatinineก่อน เวลา ๖.๓๐ น.   แล้วไปหา อ. หมอศรัณย์วันที่ ๙ ตุลาคม  

๓๐ กันยายน ๒๕๖๒

สาวน้อยต้องตื่นตั้งแต่๔.๓๐ น. เพื่อออกจากบ้าน ๕.๓๐ น. ไปเจาะเลือดเวลา ๖.๓๐ น.    หลังกลับมาจากลอนดอนเมื่อวันที่ ๒๗สาวน้อยนอนมากกว่าปกติ    ตื่นสายมากเช่นบางวันถึง ๘ น. 

เมื่อไปถึงศิริราชเราไปที่หน่วยเจาะเลือดที่อยู่กับหน่วยล้างไตตึกหอพักพยาบาลตามปกติ  ไปถึง ๖.๐๐ น. แต่พบว่ายังไม่เปิด    จะเปิด ๗.๐๐ น.   เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องไปเจาะที่ตึกผู้ป่วยนอกชั้น๑    เมื่อไปถึงผมก็ตกใจ เพราะเวลา ๖ น.แต่คนไปรอเจาะเลือกแน่นขนัด และพลุกพล่านมาก   ต้องไปสอดบัตรประชาชนเพื่อรับหลักฐานจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลาง    แล้วไปเข้าคิวยื่นใบสั่งเพื่อรับคิวให้บริการเราได้คิว 7338   บัตรบอกให้ไปนั่งรอที่หน้าช่อง 102/1    เพื่อรับใบสั่งคืน    แล้วไปที่ช่อง 104 เพื่อจ่ายเงินค่าบริการซึ่งกรณีนี้คือค่าเจาะเลือดดูระดับ creatinine อย่างเดียว    ค่าบริการ ๕๕ บาท เบิกได้ ๔๐ บาท    ต้องจ่ายเอง ๑๕ บาท    แล้วไปรอที่หน้าห้อง 108 เพื่อรอคิวเจาะเลือด   ทุกจุดบริการเร็วและมีจอ LCD บอกหมายเลขที่เรียกเข้ารับบริการชัดเจน   และมีเจ้าหน้าที่ยืนหน้าห้องคอยให้คำแนะนำหรือตอบคำถาม    เวลา ๗.๐๐ น.สาวน้อยก็ได้รับการเจาะเลือดเรียบร้อย 

ผมตามคุณหมีโชเฟอร์ประจำตัวให้เอารถมารับ พาไปนั่งพักที่ โอพีดี รพ. ปิยะมหาราชการุณย์    ที่โอ่อ่ากว้างขวางสงบเงียบมีที่นั่งแสนสบาย    แถมมีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน    กล่าวได้ว่าเป็นคนละโลกกับโอพีดีโรงพยาบาลศิริราชที่เพิ่งผ่านมาหยกๆ    เรากินซาลาเปาที่ซื้อมาจากร้าน เซเว่นข้างบ้าน    เวลา ๘.๔๕ น. เจ้าหน้าที่หน่วยซีที ก็โทรศัพท์มายืนยันว่าเราไปตรวจแน่นะ  รอจนเวลานัดกับคุณหมีให้มารับ ๙.๐๐ น.  พาไปส่งใกล้อาคารเฉลิมพระเกียรติ เพื่อไปยังหน่วย CTที่ตั้งอยู่ชั้น ๑   ขึ้นลิฟท์ไปหนึ่งชั้น    ไปนั่งรอไม่นานก็เข้าไปตรวจ    ไม่ถึง ๑๐ นาทีเจ้าหน้าที่ก็เรียกผมให้เอาเกสารไปจ่ายเงิน   ในเอกสารระบุว่าผลตรวจเลือด creatinine 1.05   eGFR 52.08   ค่าบริการ ๔,๔๐๐ บาท  เบิกได้ ๓,๑๐๐ บาท    จ่ายเอง ๑,๓๐๐บาท   

โปรดสังเกตว่าในระบบประกันสุขภาพของกรมบัญชีกลาง ค่าตรวจต่างๆ เบิกไม่ได้เต็ม    วันนี้ค่าตรวจ ๔,๔๕๕ บาท เบิกได้ ๓,๑๔๐ บาท  คิดเป็นร้อยละ ๗๐   ซึ่งผมคิดว่าเหมาะสมแล้ว                

    กลับถึงบ้าน เวลา ๑๐.๓๐ น.   สาวน้อยนอนสลบไสล    ผมตีความว่า การไปโรงพยาบาล ในสภาพวุ่นวายจอแจเร่งรีบทำให้ก่อความเครียดในสมอง   คนสมองเสื่อมไม่มีแรงยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรับมือ  จึงหมดแรง

   ตอนบ่ายถึงค่ำผมไปประชุมฝากให้ต้องช่วยดูแลแม่   ระหว่างนั่งประชุมตอน ๑๘ น. สาวน้อยให้ต้องโทรศัพท์ไปหา   เพราะเกรงว่าผมจะไปหากิ๊ก   ต้องบอกว่าผมประชุมอยู่ก็ไม่เชื่อ   ผมกลับถึงบ้านเวลาสองทุ่ม พบว่าเธออารมณ์ดี    ไม่เอ่ยเรื่องก๊กเลย

วันอังคารที่๑ ตุลาคม ผมอยู่บ้านทั้งวัน   ตอนเช้าเธอกล่าวขอบคุณที่ผมดูแลเธออย่างดี   บันทึกไว้เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการดูแลคนสมองเสื่อม    

 วิจารณ์พานิช

๑ ต.ค. ๖๒


 

 

หมายเลขบันทึก: 669985เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2019 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2019 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท