สู่การศึกษาคุณภาพสูง ๙. สนับสนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์



บันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูงนี้ ตีความจากรายงานของธนาคารโลก ชื่อ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise (1)    ที่มีการค้นคว้ามาก และเขียนอย่างประณีต   เป็นเอกสารด้านการศึกษาที่มีประโยชน์ยิ่ง    ผมเขียนบันทึกชุดนี้เสนอต่อคนไทยทั้งมวล ให้ร่วมกันหาทางนำมาประยุกต์ใช้ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

บันทึกที่ ๙ นี้ ตีความจาก Part III : Innovations and evidence for learning   Chapter 7  : Everything else should strengthen the teacher-learner interaction ซึ่งอยู่ในรายงานหน้า ๑๔๕ – ๑๕๓  

การเรียนรู้คุณภาพสูงเกิดจากปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับศิษย์    การสนับสนุนด้านวัสดุเสริมการเรียนรู้ และการสนับสนุนอื่นๆ ต้องเพื่อให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น    ไม่ใช่สนับสนุนสิ่งที่เข้าไปทดแทนครู

การจัดสรรทรัพยากรการศึกษาให้แก่โรงเรียน ในหลายกรณีทำร้ายการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่าให้ผลดี    อธิบายได้ด้วย โมเดลพฤติกรรมมนุษย์ (models of human behavior)    และสรุปได้เป็นหลักการ ๓ ประการคือ   

  • ทรัพยากรนำเข้า (รวมทั้งเทคโนโลยี) ต้องจัดสรรเพื่อให้เข้าไปหนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์    ไม่ใช่เพื่อให้ไปทดแทนครู    โดยมีเป้าหมายที่การเรียนรู้ของนักเรียน
  • หากจะจัดสรรระบบไอซีทีให้    ต้องให้มั่นใจว่าเป็นระบบที่ใช้การได้ดีในสภาพปัจจุบันของโรงเรียน   
  • ระบบการจัดการในโรงเรียน และระบบการกำกับดูแลเหนือจากชั้นโรงเรียน  รวมทั้งระบบการสนับสนุนโดยชุมชน  ต้องเข้าไปหนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน   

  

เทคโนโลยีช่วยเพิ่มการเรียนรู้เฉพาะต่อเมื่อช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน

มีเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้สารพัดชนิด    ที่น่าสนใจคือข้อมูลการนำเทคโนโลยีไปใช้ทางการศึกษาราวๆ ร้อยละ ๗๐ ไม่ก่อผลที่ต้องการ    และในกรณีที่เทคโนโลยีอยู่ในรูปของ hardware  ก่อผลร้ายมากกว่าก่อผลดี    คือก่อผลร้ายราวๆ ร้อยละ ๒๕  ก่อผลดีราวๆ ร้อยละ ๕ เท่านั้น (รูปที่ ๗.๑ หน้า ๑๔๖)   

ในกรณีที่เทคโนโลยีอยู่ในรูป software    ผลดีคือช่วยให้นักเรียนเรียนตามอัตราเร็วที่เหมาะแก่ตนเอง    รวมทั้งช่วยปรับบทเรียนให้เหมาะสมต่อพื้นความรู้ของนักเรียนแต่ละคน    มีกรณีตัวอย่าง มณฑล Qinghai  ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน    ทดลองใช้ game-based CAL (computer-assisted learning) สอนภาษา    พบว่านอกจากได้ผลที่ต้องการแล้ว  ยังช่วยยกระดับการเรียนรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ด้วย   

การใช้ประโยชน์ ไอซีที ต้องไม่ใช่คิดตื้นๆ อยู่ที่การจัดคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนใช้     ต้องไปให้ถึงประโยชน์ในด้านการประเมินและติดตามผลการเรียนรู้    ตั้งแต่ระดับบุคคล ไปถึงระดับระบบของประเทศ     ต้องไปให้ถึงการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยให้การเรียนรู้เกิดง่ายขึ้น (CAL – Computer-Assisted Learning)  รวมทั้ง online learning platform   ซึ่งมี platform ให้ใช้มากมายหลากหลาย เช่น Google Classroom, Blackboard, Education Connection ของประเทศบราซิล   และผมขอเพิ่ม ClassStart ของ ดร. จันทวรรณ และ ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ ด้วย    ช่วยการสื่อสารระหว่างนักเรียนและผู้ปกครองกับครูในเรื่องการบ้าน   รวมทั้งช่วยจัดเอกสารให้ครูและพ่อแม่ใช้ร่วมกันออกแบบชุดกิจกรรม ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเด็กตามวัย          

Online learning platform อาจใช้เสริมแก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนครู    ในการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน   

ประเด็นที่พึงตระหนักคือ  คนในวงการศึกษาอย่าแตกตื่นกับกระแส disruptive technology    มีหลักฐานชัดเจนว่า แวดวงการศึกษาจะได้รับผลกระทบน้อยมากจาก disruptive technology    กล่าวใหม่ว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์มีคุณค่าเหนือเทคโนโลยีทั้งปวง    และเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมครู มีผลดีกว่าเทคโนโลยีเพื่อทดแทนครู    

ในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่นสงคราม  ความไม่สงบ  หรือโรคระบาด  เทคโนโลยีอาจเป็นช่องทางเดียวที่นักเรียนใช้เชื่อมต่อกับการศึกษาตามปกติ       

          

มาตรการอื่นๆ อาจช่วยดึงเด็กมาโรงเรียน แต่จะเพิ่มการเรียนรู้ต่อเมื่อมีการพุ่งเป้าไปที่การเรียน

มาตรการ หรือโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา เช่นการจัดให้มีโรงเรียนใกล้บ้าน  การมีห้องสุขาที่สะอาด  อาหารกลางวัน  วัสดุช่วยการเรียนรู้  ตำราเรียน  คอมพิวเตอร์  ฯลฯ   หากมองเผินๆ น่าจะมีผลดีต่อนักเรียน    แต่มีผลการวิจัยมากมาย ที่สรุปได้ว่า ผลดีต่อนักเรียนที่แท้จริงคือ เกิดการเรียนรู้เพิ่มและผลลัพธ์การเรียนรู้สูงขึ้น    จะเกิดผลลัพธ์ดังกล่าวได้ มาตรการสนับสนุนเหล่านั้นต้องเข้าไปเพิ่มการเรียนรู้ของนักเรียน    มีตัวอย่างโครงการอาหารกลางวันที่ประเทศเคนยา, เบอร์คินาฟาโซ, และเปรู มีผลให้นักเรียนมาโรงเรียนเพิ่มขึ้น    แต่วิธีจัดการอาหารกลางวันที่เคนยาและเปรูทำให้การจัดอาหารกลางวันเบียดเวลาเรียนให้น้อยลงไป ผลลัพธ์ต่อการเรียนรู้จึงไม่ชัดเจน   

การจัดซื้อหนังสือ หรือคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียน ก็อาจเอาไปวางไว้โดยไม่มีกระบวนการจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์    เสียเงินโดยไม่ก่อผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน      

      

พลังการจัดการของโรงเรียน และพลังของชุมชน

โรงเรียนที่มีการจัดการดี นักเรียนมีผลการเรียนดี    เป็นที่รู้กันว่า ภาวะผู้นำในโรงเรียนมีผลต่อการเรียนรู้สูงมาก    ภาวะผู้นำที่ได้ผลหมายถึงครูใหญ่หรือผู้อำนวยการโรงเรียนที่คอยเอาใจใส่ช่วยครูแก้ปัญหา  รวมทั้งช่วยให้คำแนะนำด้านการสอน    (น่าเสียดายที่วงการศึกษาไทยไม่คาดหวังหน้าที่นี้ของผู้อำนวยการโรงเรียน)    ผู้อำนวยการที่ดี ต้องร่วมกับครูกำหนดเป้าหมายและลำดับความสำคัญของงานเพื่อบรรลุผลการเรียนรู้ที่สูง    ภาวะผู้นำที่ได้ผล จะช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์   

มีหลักฐานว่าประเทศที่คุณภาพของการจัดการโรงเรียนสูง คุณภาพของการศึกษา (การเรียนรู้) ก็สูงตามไปด้วย     ไม่ว่าประเทศใด คุณภาพของการจัดการโรงเรียนมีความแตกต่างกันระหว่างโรงเรียน    แต่ในประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูง เช่นฟินแลนด์  สิงคโปร์ ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนมีน้อยมาก   

มีรายงานผลการฝึกทักษะสำคัญ ๓ ด้านแก่ครูใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้ผลยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนอย่างชัดเจน   ทักษะดังกล่าวได้แก่  (๑) วิธีให้ feedback แก่ครูในเรื่องแผนการสอน  (๒) วิธีให้การสนับสนุนครูในเรื่องการประเมินผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ และให้ feedback ต่อแผนปฏิบัติเพื่อยกระดับผลการเรียน  และ (๓) เข้าสังเกตการสอนในชั้นเรียนและให้ feedback เพื่อให้ครูพัฒนาวิธีการสอนของตน  

ในประเทศ มาดากัสการ์ การดำเนินการทำความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของผู้อำนวยการเขตการศึกษา  ครูใหญ่ และครู    ตามด้วยโค้ชชิ่ง และการให้คำแนะนำ    มีผลให้ผลการเรียนดีขึ้น 

ในรายงานไม่ได้เอ่ยถึงกิจกรรม PLC (Professional Learning Community)     ผมจึงขอเพิ่มเติมว่า กิจกรรม PLC ที่พุ่งเป้ายกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    นอกจากมีผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว  ยังก่อผลดีต่อการเรียนรู้ของครู (และผู้บริหารโรงเรียน) ด้วย    

ในหลายประเทศ มีการกระจายอำนาจการบริหารให้แก่โรงเรียนและชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ เรียกว่าระบบ “การจัดการโดยยึดโรงเรียนเป็นฐาน” (school-based management)   มีผลเอื้อต่อการแก้ปัญหาสองประการคือ  (๑) ให้อำนาจแก่ผู้นำของโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียน  ได้แสดงความต้องการโดยตรงต่อครูและตัวแทนของโรงเรียน    ส่งผลให้ครูเอาใจใส่ความต้องการของนักเรียนมากขึ้น    ต่างจากสภาพที่ครูอยู่ใต้การบริหารของกระทรวงศึกษาธิการที่อยู่ห่างไกล    ไม่รู้สภาพความเป็นจริงในโรงเรียน   (๒) โรงเรียนและชุมชนมีข้อมูล ช่วยให้รู้ความต้องการของโรงเรียน  และมีช่องทางเข้าสู่ทรัพยากรเพื่อการนั้น   จึงสามารถดำเนินการเพื่อบรรลุความต้องการได้ดีกว่า

แต่ การจัดการโดยยึดโรงเรียนเป็นฐานจะนำสู่การยกระดับการเรียนรู้ ต่อเมื่อชุมชนมีขีดความสามารถในการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด    ผลการวิจัยในนักเรียน ๑ ล้านคน ใน ๔๒ ประเทศ ได้ข้อสรุปว่า    ระบบการจัดการโดยยึดโรงเรียนเป็นฐาน ให้ผลยกระดับการเรียนรู้ในประเทศรายได้สูง    แต่ก่อผลลบในประเทศรายได้ต่ำ     มีผลการวิจัยในประเทศแกมเบีย ว่าระบบนี้มีผลยกระดับการเรียนรู้ในโรงเรียนที่พ่อแม่นักเรียนมีการศึกษาสูง    ดังนั้น หากจะใช้ระบบนี้ ต้องดำเนินการเป็นมาตรการระยะยาว มีกระบวนการให้ชุมชนได้เรียนรู้บทบาทที่เหมาะสมของชุมชน ต่อการจัดการโรงเรียน เพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูง  

การติดตามประเมินผลโดยชุมชน (community monitoring) จะมีส่วนช่วยยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนได้ต่อเมื่อ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในชั้นเรียน    และผู้ปกครองและชุมชนต้องมีความสามารถทำให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนรับผิดรับชอบ (accountable) ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   

รูปแบบหนึ่งของระบบการจัดการโดยยึดโรงเรียนเป็นฐาน คือการจัดสรรงบประมาณไปที่โรงเรียนโดยตรง (school grant program)    มีผลการวิจัยสรุปว่า ระบบงบประมาณอย่างเดียวไม่มีผลยกระดับการเรียนรู้    แต่ระบบงบประมาณร่วมกับการให้แรงจูงใจต่อครู มีผลยกระดับการเรียนรู้    และระบบงบประมาณร่วมกับการฝึกอบรมให้ผู้ปกครองนักเรียนรู้วิธีทำหน้าที่สนับสนุนโรงเรียน ก็มีผลยกระดับการเรียนรู้   

สรุปได้ว่า ระบบจัดสรรงบประมาณโดยตรงต่อโรงเรียน ต้องควบคู่ไปกับมาตรการยกระดับความสามารถของคณะกรรมการโรงเรียนและชุมชน ให้เข้าไปสนับสนุนและกำกับการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน  จึงจะมีผลยกระดับการเรียนรู้   

หลักการพื้นฐานคือ  การสนับสนุนโรงเรียน ไม่ว่าโดยการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นวัตถุ  หรือที่เป็นอำนาจการตัดสินใจ   จะก่อผลดีต่อการเรียนรู้ ต่อเมื่อการสนับสนุนนั้น มีผลยกระดับปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน       

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ค. ๖๒

บนเครื่องบินไทยสมายส์ จากกรุงเทพไปเชียงใหม่  


หมายเลขบันทึก: 668996เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2019 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2019 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท