บทวิเคราะห์การสื่อสารการเมืองและกลวิธีใช้ Social Media ในการเลือกตั้ง 62


ปรเมศวร์ กุมารบุญ

Cyber Criminology


บทนำ

   บทความนี้ใช้วิธีการรวบรวมข้อวิเคราะห์จากบทความต่างๆ ตามที่อ้างอิงแนบท้าย และการได้รับข้อมูลจากนักยุทธศาสตร์ภาพลักษณ์พรรคการเมืองหลายท่าน มาปะติดปะต่อกับหลักคิดทางวิชาการสื่อสารการเมือง เพื่อสรุปให้เห็นภาพชัดเจนเฉพาะประเด็นกลยุทธ์การสื่อสารภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองต่อสังคมให้ชนะการเลือกตั้ง และได้สืบหาข้อมูลพร้อมตั้งข้อสมมุติกระบวนการทำงานของพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จด้วยกลวิธี (Tactics) การใช้ Social Media มานำเสนอให้เห็นภาพ

1. การสื่อสารการเมืองในกระบวนทัศน์เก่า (Old Paradigm)

         ในอดีตสื่อ (Media) เป็นเสาหลักสำคัญในระบอบประชาธิปไตย โดยทำหน้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างพรรคการเมืองและประชาชน สื่อจะทำหน้าที่ ตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ วิเคราะห์ ย่อยนโยบาย และนำเสนอตัวตนพรรคการเมืองให้ประชาชนได้รับทราบ ขณะเดียวกันสื่อก็จะนำเรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนเรียกร้องผ่านทางสื่อไปถึงพรรคการเมือง รวมทั้งเป็นตัวแทนในการตั้งคำถามต่างๆ โดยมีจรรยาบรรณของสื่อกำกับทิศทางการนำเสนอเนื้อหาข่าวสาร (Content) ไม่ให้บิดเบือนเกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ    

รูปที่ 1 การสื่อสารการเมืองในกระบวนทัศน์เก่า (Old Paradigm)


           แต่ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารการเมือง ทำให้พรรคการเมืองสื่อสารกับประชาชนในสังคมได้โดยตรง และข่าวสารที่ผลิตจากสื่อมวลชนกลับได้ความนิยมลดลงจากประชาชนในสังคม ซึ่งข่าวสารที่ผลิตโดยพรรคการเมืองเป็นการสื่อสารที่กระจายในทุกรูปแบบโดยมีกฎหมายการเลือกตั้งกำกับไว้ แต่สื่อสังคมออนไลน์อื่นที่นำเสนอข่าวสารพรรคการเมืองหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่พรรคการเมืองสนับสนุนอยู่เบื้องหลังไม่มีจรรยาบรรณของสื่อมวลชนมากำกับไว้ชัดเจนอย่างเช่นในอดีต ย่อมส่งผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบต่อสังคมอย่างแน่นอน สิ่งนี้คือเป้าหมายของบทความวิชาการนี้ที่จะชี้ให้สังคมทราบ

2. เหตุผลหลักในการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง 62

       เหตุผลดังกล่าวนี้ ไม่ได้เกิดจากการวิจัยตามระเบียบวิธี แต่ผู้เขียนใช้วิธีการเข้าใกล้ความจริงให้มากที่สุดด้วยการสอบถามจากบุคคลใกล้ชิดจำนวนมาก เช่น เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน แม่ค้า นักธุรกิจ แต่ความแตกต่างหลายชนชั้นมีเหตุผลแตกต่างกัน ผู้เขียนมุ่งไปที่เสียงส่วนใหญ่ ตีความจากบริบทที่ค้นคว้าติดตามความเคลื่อนไหวมานำเสนอ เป็นเพียงการคาดเดาเพื่อประกอบการพิจารณาเป็นเบื้องต้น

    รูปที่ 2 ภาพตาชั่งคาดเดาเหตุผลประชาชนส่วนใหญ่ในการเลือกผู้แทนราษฎร 2562


       ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ “เลือกพรรค” โดยใช้ความชอบหรือให้ “คุณค่าทางอารมณ์” (Emotional Value) จากการรับรู้ (Perception) ผ่านเนื้อหาต่างๆ ที่พวกเขาได้รับมา มากกว่าจะสนใจเหตุผลหรือนโยบายหรือข้อเท็จจริงต่างๆ (Functional Value) หรือแม้แต่อยากรู้จักตัวผู้สมัคร สส. ในเขตของตนว่ามีใครบ้าง และเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วจากการสุ่มสอบถามคนในหลายพื้นที่ว่า “ทราบหรือไม่ สส. เขตบ้านท่านชื่ออะไร?” ผู้เขียนยังไม่พบคนที่ตอบถูก (สุ่มประมาณเพียงสิบคน)

               ธรรมชาติการตัดสินใจเลือกของมนุษย์จะคำนึงถึงคุณค่า (Value) สองประการ คือ คุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Value) และคุณค่าในการใช้งาน (Functional Value) ไม่ว่าจะการตัดสินใจเลือกสินค้าหรือเลือกคนทำงานหรือเลือกแฟนหรือการตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฎร

               แต่ธรรมชาติมนุษย์นั้น จะให้คุณค่าทางอารมณ์หรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (Subject) หรือความรู้สึก สูงกว่าคุณค่าในการใช้งานหรือสิ่งที่จับต้องได้ (Object) หรือเหตุผล เช่น รถยนต์ขนาดเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพการใช้งานเหมือนกัน จะแพงต่างกันที่การออกแบบ ภาพเขียนมีราคาแพงกว่าภาพถ่ายในทิวทัศน์เดียวกัน เข็มขัดวัสดุเดียวกันใช้งานได้เหมือนกันแต่แพงกว่ากันที่แบรนด์ เป็นต้น

               สิ่งที่ชี้ชัดว่ามนุษย์ หากต้องเลือกระหว่าง คุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Value) และคุณค่าในการใช้งาน (Functional Value) มนุษย์จะเลือกอะไร? นั่นคือ ความรักหรือความชอบ ต่อให้มีเหตุผลมาแย้งว่าไม่ดีอย่างไร ถ้ารักแล้วมนุษย์จะเลือก หรือถ้าชอบอะไรมากพอแล้วมนุษย์จะเลือก

               ในอุดมคติ (Ideal) แท้จริงแล้ว มนุษย์ต้องการทั้งคุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Value) และคุณค่าในการใช้งาน (Functional Value) สูงสุด เช่น เราจะเห็นว่า แม้การประกวดนางงามหลังจากผู้ชมและกรรมการชื่นชมสาวสวยที่สุดมาตลอดให้คุณค่าทางอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ แต่ขั้นสุดท้ายจะให้คุณค่าในการตอบคำถามอย่างมาก นั่นเพราะมนุษย์ต้องการคนสวยและฉลาดด้วย

               พรรคการเมืองหรือนักการเมืองก็เช่นกัน ประชาชนต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถทำงานได้ดี (Functional Value) และมีภาพลักษณ์ดีที่ทำให้พวกเขาพึงพอใจ (Emotional Value)

                 แต่คุณค่าการใช้งาน (Functional Value) นั้นน่าสนใจตรงมิใช่จะมองในมิติการเป็น นักบริหาร หรือการพัฒนาประเทศเพียงเท่านั้น ขึ้นอยู่กับบริบท (Context) ขณะยุคสมัยนั้นประชาชนต้องการเห็นอัตลักษณ์หรือตัวตนของผู้แทนที่จะให้มาทำหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร เช่น เป็นนักบริหาร เป็นผู้ต่อสู้กับเผด็จการ เป็นผู้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เป็นผู้ต่อสู้กับทุนสามานย์ เป็นผู้ปกป้องสถาบัน ผู้เป็นกาวใจแผ่นดิน เป็นผู้แก้ไขความยากไร้ เป็นต้น

    รูปที่ 3 การออกแบบภาพลักษณ์ทางการเมือง (Perception Design)


               เมื่อวิเคราะห์ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ “เลือกพรรค” ก็มากำหนดอัตลักษณ์หรือตัวตนของพรรคที่กลุ่มเป้าหมายต้องการจะเห็น มาใช้ในการสร้าง Content นำเสนอเพื่อหาเสียง

              เมื่อทราบว่าอัตลักษณ์หรือตัวตนของพรรคการเมืองที่กลุ่มเป้าหมายต้องการจะเห็นเป็นอย่างไร ก็ต้องทำวิจัยค้นหาภาพลักษณ์ของพรรคตน ที่สังคมมองอยู่ในขณะนั้นว่าอยู่ในตำแหน่งใด เป็นบวกเป็นลบอย่างไร ห่างไกลจากภาพลักษณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการมากแค่ไหน จากนั้นวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนภาพลักษณ์ตน (Shift Positioning) ด้วยการผลิตเนื้อหาหรือสร้างเรื่องราวให้บรรลุถึงเป้าหมายตามรูปที่ 3 หรือไปสู่ตำแหน่งเป้าหมายที่จุด D ภาพลักษณ์ในอุดมคติของพรรคการเมือง (Positioning) ที่ต้องการ

    รูปที่ 4 การขับเคลื่อนภาพลักษณ์ทางการเมืองด้วยข่าวสาร


             จากรูปที่ 4 อัตลักษณ์หรือตัวตนของพรรคการเมืองเปรียบเสมือนวัตถุทรงกลมมีมวล ถูกผลักไปสู่การรับรู้ของประชาชนว่ามีภาพลักษณ์บวกหรือลบด้วยปริมาณข้อมูลข่าวสาร (Content/Discourse)

             หากพรรคการเมืองใดมีปริมาณข้อมูลข่าวสารเรื่องดีจำนวนมาก ปริมาณข่าวสารนั้นจะผลักภาพลักษณ์พรรคการเมืองนั้นให้กลิ้งเคลื่อนไปในด้านบวก

               แต่หากพรรคการเมืองใดมีปริมาณข้อมูลข่าวสารเรื่องไม่ดีจำนวนมาก ปริมาณข่าวสารนั้นจะเป็นแรงผลักภาพลักษณ์พรรคการเมืองนั้นให้กลิ้งไปในด้านลบ

             ดังนั้นเมื่อกลับไปพิจารณารูปที่ 3 การออกแบบอัตลักษณ์หรือตัวตนของพรรคการเมืองสู่การรับรู้ของประชาชน (Perception Design) สามารถกระทำได้ โดยการโยนเนื้อหาเรื่องราว (Contents) ต่างๆ ในแต่ละแกนทั้งคุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Value) และคุณค่าในการใช้งาน (Functional Value) ปริมาณมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนภาพลักษณ์ไปสู่ตำแหน่งเป้าหมายที่จุด D

               ในแกนนอน สร้างเนื้อหาเรื่องราว (Contents) ที่ดูมีบุคลิกภาพที่ดี ทันสมัย จิตใจดี มีอุดมการณ์ ถูกใจกลุ่มเป้าหมายจำนวนมหาศาลจนเกิดแรงขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของพรรคไปสู่เป้าหมาย คุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Value) ที่ดีที่สุด

               ในแกนตั้ง สร้างเนื้อหาเรื่องราว (Contents) ที่ดูเก่ง มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ เข้าใจสถานการณ์ประเทศ นานาชาติ ถูกใจกลุ่มเป้าหมายจำนวนมหาศาลจนเกิดแรงขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของพรรคไปสู่เป้าหมาย คุณค่าทางอารมณ์ (Functional Value) ที่ดีที่สุด ภาพลักษณ์สองด้านจะลากเส้นมาบรรจบพอดีที่จุด D ในอุดมคติ

    3. อัตลักษณ์ (Identity) ของพรรคการเมืองคือเรื่องใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

                  การเลือกตั้ง 62 กล่าวได้ว่าประชาชนไม่ได้สนใจนโยบายหรือข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ต้องการเห็นความเจริญทางเศรษฐกิจ ข้อสังเกตคือนโยบายประชานิยมไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใด

               หากประชาชนตัดสินใจเลือกที่ “ความชอบ” หรือให้คุณค่าทางอารมณ์อัตลักษณ์ของพรรคการเมืองมีน้ำหนักกว่าคุณค่าเชิงเหตุผลทางนโยบาย ดังนั้นสิ่งที่เขารู้ได้หมายจำ (Perception) ถึงพรรคการเมืองที่เขาจะเลือกคือ “อัตลักษณ์” (Identity) อยู่ที่ว่าพรรคใดจะมีอัตลักษณ์ตรงใจที่คนไทยส่วนใหญ่อยากเห็นก็จะเป็นผู้ชนะหากกล่าวเป็นภาษาการตลาดก็คือ Brand Positioning ตรงใจผู้บริโภคนั่นเอง

    รูปที่ 5 อัตลักษณ์ (Identity) พรรคการเมืองตัวตนที่แตกต่างกัน


               ความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์พรรคการเมืองมีหลายรูปแบบ การรู้ได้หมายจำของประชาชนหลับตาแล้วมองพรรคเห็นตัวตนพรรคอย่างไร มองพรรคเห็นตัวบุคคลที่ชูขึ้นมาเป็นใคร มองพรรคมองเห็นกลุ่มคนหรือท้องถิ่นเป็นใคร อาทิเช่น ประชาธิปัตย์นึกถึงสถาบันการเมืองเก่าแก่ในระบอบประชาธิปไตย นึกถึงเพื่อไทยคิดถึงทักษิณ นึกถึงพลังประชารัฐคิดถึงพลเอกประยุทธ์ นึกถึงเสรีรวมไทยคิดถึงพลตำรวจเอกเสรีพิสุทธ์ นึกถึงอนาคตใหม่คิดถึง ธนาธรหรือภาพคนรุ่นใหม่ นึกถึงชาติไทยพัฒนาเป็น Brand old fashion เป็นต้น

                 หากจะกล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกพรรค จะขอตั้งข้อสมมุติว่าพฤติกรรมการเลือกของประชาชนนึกถึงอัตลักษณ์ที่เป็นคำบรรยายสั้นที่สุด ชัดที่สุดเมื่อนึกถึงพรรคนั้น แล้วบริบทสังคมที่เกิดขึ้นขณะนั้นพวกเขามองว่าประเทศต้องการอัตลักษณ์พรรคแบบใดมาตอบโจทย์ตรงใจพวกเขา

    4. สงครามอัตลักษณ์

               ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อแปดปีก่อนกล่าวได้ว่า เลือกฝั่งเอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณ กลายเป็นการแบ่งแยกอัตลักษณ์ เสื้อเหลือง และเสื้อแดง โดยอัตลักษณ์ของประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองประชาธิปไตยเก่าแก่ แต่อาจจะไม่ได้มีเหตุผลเพียงที่จะถูกใจคนจำนวนมากให้เลือก แต่ผู้เขียนเชื่อได้ว่าคนจำนวนมากกลุ่มหนึ่งเลือกประชาธิปัตย์เพราะไม่เอาทักษิณ เพราะประชาธิปัตย์มีอัตลักษณ์ต่อต้านทักษิณ เป็นต้น

               สงครามอัตลักษณ์เลือกตั้ง 62 ถูกเปลี่ยนมาเป็นฝั่ง “ประชาธิปไตยกับเผด็จการ” ประชาชนส่วนหนึ่งที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อเลือกตั้งครั้งล่าสุดพวกเขามีอายุเพียงสิบกว่าขวบไม่เคยรับรู้อดีต รับรู้เพียงเนื้อหาอันอัดอั้นบีบคั้นในปัจจุบันที่เกิดจากการสร้าง Content ปริมาณมากในสื่อออนไลน์ และเมื่อมองอัตลักษณ์บุคลิกนายกพลเอกประยุทธ์ อาจจะน่าเบื่อสำหรับพวกเขาจริง มีภาพทหารที่มาจากรัฐประหารจริงชัดเจน ไม่มีภาพการแสดงวิสัยทัศน์ที่โดนใจ ไม่มีภาพของความทันสมัย คนรุ่นใหม่จึงต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

    รูปที่ 6 การต่อสู้ด้วยอัตลักษณ์ (Identity) ของพรรคการเมือง 2562


               ฝ่ายสร้างอัตลักษณ์เป็นประชาธิปไตยจึงมีตัวตนชัดขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งผลิตเนื้อหาออกมายิ่งถูกต้อง ยิ่งชอบธรรม ประกอบกับการรู้จักการใช้เครื่องมือสื่อสาร รู้จักการสร้างเครือข่าย และมีงบประมาณจำนวนมาก

               ข้อสังเกต แม้อัตลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับระบอบทักษิณและพรรคเพื่อไทยมาตลอด แต่เมื่อมีพรรคพลังประชารัฐและพลเอกประยุทธ์เป็นอัตลักษณ์ที่ต่อต้านระบอบทักษิณชัดเจนกว่า และเมื่อครั้งนี้ประชาธิปัตย์ประกาศไม่เอาพลเอกประยุทธ์คะแนนของประชาธิปัตย์จำนวนมากจึงเทมาทางพลังประชารัฐ

              แต่เมื่อสงครามอัตลักษณ์กลายเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ” หรือในเบื้องลึกกล่าวได้ว่า “เอาพลเอกประยุทธ์หรือไม่เอาพลเอกประยุทธ์” จากการเลือกตั้งครั้งก่อนที่เอาหรือไม่เอาทักษิณ

                กลยุทธ์การสร้างอัตลักษณ์ “ฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ” เป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดมาก และเล่นได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้ในการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ สังคม หรือการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนแต่อย่างใด


    5. กลยุทธ์เชิงลึกในการชิงมวลชน

              แฟร์ดีน็อง เดอ โซซูร์ นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสที่ยิ่งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และแนวคิดของเขามีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อกลยุทธ์ชั้นสูงในการแย่งชิงมวลทางการเมืองการปกครอง

    รูปที่ 7 แฟร์ดีน็อง เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure)


                โซซูร์ กล่าวว่า “มนุษย์ถูกกำกับความคิด และพฤติกรรมตามข้อมูลข่าวสาร” มนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง แต่มนุษย์คือผลของการถูกสรรพสิ่งรอบด้านกระทำให้เป็น จากข้อมูลข่าวสาร

               โซซูร์ ได้วางรากฐานวิชาที่เรียกว่า สัญวิทยา (semiology) ไว้โดยเริ่มจากการนำภาษาศาสตร์ (linguistics) มาประยุกต์ใช้เพื่อศึกษาบทบาทของสัญญะที่มีต่อสังคม

              การกำเนิดของสัญศาสตร์ (semiotics) สัมพันธ์กับพัฒนาการของปรัชญาโครงสร้างนิยม (structuralism) ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดของโซซูร์ เช่นกัน โครงสร้างนิยม เป็นวีธีการวิเคราะห์เพื่อศึกษา และเปิดเผยโครงสร้างเบื้องหลังเปลือกนอกอันล้ำลึก (appearance) ของปรากฏการณ์

               ต่อมา ศ.ดร.มิแชล ฟูโก นักประวัติศาสตร์ความคิด และนักทฤษฎีสังคม ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ของการศึกษาศาสตร์ว่าด้วยมนุษย์ จากการก่อตัวทางวาทกรรมและความสัมพันธ์ของถ้อยแถลงอันเป็นวิธีการสร้างความรู้แบบโบราณคดี ร่วมกับการสืบสาวปฏิบัติการที่เป็นวาทกรรมและปฏิบัติการที่ไม่ใช่วาทกรรม ตลอดจนกระบวนการผลิตสร้างความรู้ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจในรูปแบบวงศาวิทยา ทำให้เขามองเห็นตัวตนของมนุษย์ซึ่งไม่ได้เป็นองค์ประธานของทุกสรรพสิ่งอีกต่อไป แท้จริงแล้ว ความเป็นมนุษย์กลับมีแต่ความไม่ต่อเนื่อง การไม่ลงรอย และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้ตัวตนของมนุษย์มีรูปลักษณะที่หลากหลายเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปตามสภาวการณ์ทางสังคมและสำนึกของตัวตน


    รูปที่ 8 มิแชล ฟูโก (Michel Foucault)

                  มนุษย์มองความจริงแล้วสร้างวาทกรรม (Discourse) บอกตัวเองว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้คืออะไร แต่ละคนจึงมองความจริงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาของแต่ละคน แต่ความจริง (Truth) แท้จริงตรวจสอบได้ด้วยหลักฐาน (Evidence) เช่น หลักฐานว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่ของเราคือ DNA แต่มนุษย์เราไม่เคยพาพ่อแม่ไปตรวจ DNA กันเลย แต่ที่เราเชื่อว่าพวกเขา คือพ่อคือแม่ของเรา เพราะบริบท (Context) ที่เขาเลี้ยงดูเรามา ปฏิบัติต่อเรามา เอื้ออาทร ให้ความรักความอบอุ่นมา สิ่งเหล่านี้เราสร้างวาทกรรม (Discourse) ครอบความจริงบอกตัวเองว่าพวกเขาคือพ่อคือแม่ของเรา

                ปรัชญาโครงสร้างนิยม (structuralism) สังคมนั้นเป็นโครงสร้างค้ำอยู่ด้วยเสาแห่งเหตุผลที่มีความชอบธรรมด้วยวาทกรรมของผู้ครองอำนาจรัฐหรือนักการเมือง (Elite People) พวกเขาดำรงอยู่ได้ตราบเมื่อมีเหตุผลที่ชอบธรรมเพียงพอที่ประชาชนในสังคมยอมรับ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามเกิดมีผู้ย้อนแย้งอำนาจรัฐ (Counter-Elite) นำเสนอเหตุผลด้วยวาทกรรมที่ชอบธรรมกว่า เสาเหตุผลแห่งความชอบธรรมนั้นจะทลายลงผู้ครองอำนาจรัฐ (Elite) จะตกลงมา และผู้ย้อนแย้งอำนาจรัฐ (Counter-Elite) จะขึ้นมาปกครองแทน

    รูปที่ 9 ปรัชญาโครงสร้างนิยม (structuralism) และ Elite Theory


               ยกตัวอย่างเช่น วาทกรรมยุคทักษิณ “ทุกพรรคโกงเหมือนกันหมด แต่เราพัฒนาบ้านเมืองมากกว่า” เมื่อผู้ย้อนแย้งอำนาจรัฐ (Counter-Elite) ออกมาล้มวาทกรรมมากขึ้นเสาค้ำโครงสร้างสังคมของผู้ปกครองพังลงการครองความเป็นใหญ่เปลี่ยนมือ

               การต่อสู้ด้วยวาทกรรมมีมากมาย ในอดีต อริสโตเติล ผู้คิดระบอบประชาธิปไตย ได้ห้ามพ่อค้ายุ่งเกี่ยวการเมืองโดยเด็ดขาด แต่ปัจจุบันการสร้างวาทกรรมกลายเป็น “นักธุรกิจคือนักบริหาร” ถูกใจประชาชน

          รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ค้ำอยู่ด้วยเสาวาทกรรมแห่งเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า บ้านเมืองสงบหยุดไทยฆ่าไทยเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หากผู้ย้อนแย้งอำนาจรัฐ (Counter-Elite) ต้องการออกมาล้มเสาวาทกรรมด้วยการสร้างวาทกรรมใหม่ เช่น “ทหารไม่มีวิสัยทัศน์” หรือหากเกิดการกระทำที่ไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมายหรือนิตรัฐ นิติธรรมมากยิ่งขึ้น ย่อมถูกโค่นล้มได้เช่นกัน

             ผู้ย้อนแย้งอำนาจรัฐ (Counter-Elite) ต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการคือ มีความสามารถในการผลิตวาทกรรม (Discourse Maker) และมีความสามารถในการปลุกระดมมวลชน (Incite)

               การออกมาปล่อยวาทกรรมเพื่อล้มเหตุผลอันชอบธรรมของผู้ครองอำนาจรัฐ จะกลายเป็นคนสำคัญทางการเมืองทันที ประชาชนจะมองเขาถูกยกระดับเท่าผู้ครองอำนาจรัฐ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่พรรคใดโจมตีพลเอกประยุทธ์แล้วจะเติบโตเร็ว และทุกคนจะหาโอกาสแจ้งเกิดด้วยการต่อว่าพลเอกประยุทธ์

    รูปที่ 10 คุณสมบัติผู้ย้อนแย้งอำนาจรัฐ (Counter-Elite)


              ผู้ย้อนแย้งอำนาจรัฐ (Counter-Elite) คือ ผู้ที่จะได้ดิบได้ดีทางการเมือง หากเราสังเกต นปช. กับ กปปส. เป็นผู้ย้อนแย้งอำนาจรัฐ (Counter-Elite) เมื่อผู้ครองอำนาจรัฐถูกโค่นล้มลง พวกเขาจะกลายเป็นกลุ่มผู้ปกครองได้ดิบได้ดีในรัฐบาลหรือเป็นรัฐมนตรี

    6. ชนิดของเนื้อหา (Type of Content)

               ชนิดของเนื้อหา (Type of Content) เมื่อทราบกลไกสังคม และกลยุทธ์ในการชิงมวลชนผ่านภาษาแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการสร้างเนื้อหาเรื่องราวในการขับเคลื่อนภาพลักษณ์ไปพร้อมกับการแย่งชิงมวลชน ซึ่งต้องแม่นยำในการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างชนิดของเนื้อหา (Type of Content) ในรูปแบบ ข้อความ ภาพนิ่ง และวิดีโอ

               ชนิดของเนื้อหา (Type of Content) ยอดนิยมของคนไทย คือ “คนทะเลาะกัน” เพราะรากเหง้าเราคือ “ไทยมุง” มีความวุ่นวายไม่สงบเกิดขึ้นเราจะรีบไปมุง ในสื่อออนไลน์การโพสต์ทะเลาะกันหรือด่ากันรุนแรง บ้างก็ว่าคนไทยจะรอดูว่าจะตอบอย่างไร จะด่ากลับหรือไม่

    รูปที่ 11 การประเมินเนื้อหาที่คนไทยนิยมจากความนิยมมากไปน้อย

               ตัวอย่างเช่น ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่มี Content จำนวนมากโจมตีเผด็จการ พวกเขาขยับจากคนธรรมดาขึ้นมาเป็น Counter-Elite ทันทีได้รับความนิยมจำนวนมาก เอ๋ ปารีณา ต่อว่าช่ออย่างหยาบคาย ไทยมุงด้วยการแชร์คลิปโด่งดังในข้ามคืน หากช่อซึ่งเป็น Counter-Elite แล้วต่อปากต่อคำคืน จะยิ่งช่วยยกสถานะเอ๋ขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองด้วยทันที

               ดังนั้นจะเห็นปรากฏการณ์ได้ว่า การจะเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองไม่ใช่แค่การโจมตีผู้ครองอำนาจรัฐเท่านั้น แต่เกิดจากการโจมตี Counter-Elite ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งกลยุทธ์ในไทยต้องใช้คือ ถ้อยคำที่รุนแรง “คนทะเลาะกัน” ตามการประเมินเนื้อหาที่คนไทยนิยม

            สิ่งนี้คือความแตกต่างของไทยกับสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ รัฐให้เวลาออกอากาศโทรทัศน์พรรคละสองชั่วโมงนำเสนอนโยบาย และดีเบตกัน เนื้อหาของเขาแข่งขันที่นโยบาย และการชี้ปัญหาของประเทศจะต้องแก้ไขอย่างไร ประชาชนที่นั่งฟังจดเลคเชอร์และซักถาม เป็น Content ด้านความรู้ การล้มเสาวาทกรรมเกิดขึ้นด้วยเนื้อหานโยบายพัฒนาบ้านเมืองของพรรคใดที่มีเหตุผลถูกต้องชอบธรรมมากกว่ากัน

    รูปที่ 12 ความบ่อยในการใช้สื่อคือกุญแจความสำเร็จ


                เมื่อกำหนดอัตลักษณ์ และรูปแบบวาทกรรมในการสร้าง Content แล้ว ขั้นสุดท้ายคือ “การใช้สื่อ” รูปแบบของสื่อในปัจจุบันเปลี่ยนไปคือสื่อสังคมออนไลน์ที่แม้แต่บางพรรคและรัฐก็ตามกำกับดูแลไม่ทัน

                จากอดีตนอกจากสื่อมวลชนหลักแล้ว สื่อหาเสียงมีเพียง ป้าย แผ่นพับ รถหาเสียง ซึ่งอยู่ตามวิถีทางสัญจรของประชาชน แต่ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์บุกเข้าไปถึง โต๊ะกินข้าว บนเตียงนอน และห้องน้ำของประชาชน ผ่านโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์

                การกำหนดอัตลักษณ์ และรูปแบบวาทกรรม ในการสร้าง Content จะสำเร็จขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมาย “ได้ยินบ่อยแค่ไหน” หรือ ทฤษฎี Repeat to believe สามารถเปลี่ยนทัศนคติคนให้เห็นผิดเป็นชอบได้ เปลี่ยนคนที่ไม่ชอบเราให้ชอบเราได้ เปลี่ยนความเชื่อเรื่องดีงามเป็นเชื่อในสิ่งที่ชั่วร้ายได้ ด้วยการส่งข่าวสารสู่ผู้นั้นบ่อยๆ จนกว่าจะเปลี่ยน ขึ้นอยู่แค่ว่าแต่ละคนต้องได้รับปริมาณครั้งบ่อยแค่ไหน

                ดังนั้นข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และเงินในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งการใช้เงินจำนวนมากในการขับเคลื่อนเนื้อหาของพรรคตนด้วยสื่อสังคมออนไลน์มีความซับซ้อนซ่อนกลเกินกว่ากฎหมายจะไล่ตามได้ทันมากมายหลายวิธี

    7. พื้นที่สื่อในการหาเสียงเปลี่ยนไป

               เครื่องมือสื่อสารถึงประชาชน ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดคือการสร้าง “ความบ่อย” ได้มากแค่ไหน หรือความถี่ในการสร้างการรับรู้ที่จะทำให้เกิดการรู้ได้หมายจำเมื่อนึกถึงพรรคไปตามทิศทางที่กำหนด

               วิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ป้ายหาเสียง แผ่นพับ แตกต่างกับสื่อออนไลน์ตรงการเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งต้นทุน Cost per View ถูกกว่า และสิ่งสำคัญที่สุดของ Facebook คือ สามารถเลือกพื้นที่ (Location target) ในเขตที่ต้องการหาเสียงได้เฉพาะเจาะจง รวมไปถึงการกำหนดกลุ่มเป้าหมายทั้ง อายุ การศึกษา อาชีพ ความชอบ และ Algorithm ของ facebook ยังช่วยนำเสนอเนื้อหาที่คาดว่าคนเหล่านั้นจะสนใจมาให้ดูด้วย และเมื่อกดเข้ามาดูหรือกดติดตาม AI ของ Facebook จะส่งเนื้อหาใหม่ๆ เข้าสู่ผู้ที่เริ่มสนใจทันที

               แต่สื่อออนไลน์เป็นเพียงเครื่องมือ (Tool) จะต้องมีกลวิธี (Tactic) ในการใช้งานให้ประสบความสำเร็จสูงที่สุดมาประกอบการหาเสียงอีกด้วย และด้วยช่องว่างของกฎหมายที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางการกำกับดูแลได้ ปฏิบัติการสงครามจิตวิทยา (Psychological cyber warfare) จึงถูกแอบนำมาใช้ในการโน้มน้าวชักจูงประชาชนให้คล้อยตาม สร้างภาพตนให้ดีขึ้น และลดภาพลักษณ์ฝั่งตรงข้ามให้แย่ลง ตลอดจนบิดเบือนข้อเท็จจริงมากมายนับเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยที่ควรในโยบายให้ข้อเท็จจริงแล้วประชาชนตัดสินใจโดยอิสระ

    8. ตัวอย่าง กลวิธี (Tactics) ในการปฏิบัติการบริหารสื่อออนไลน์ในการหาเสียง

               ตัวอย่าง กลวิธี (Tactics) ในการปฏิบัติการบริหารสื่อออนไลน์ที่ยกมานำเสนอนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากความจริง แต่เกิดจากการประเมินปะติดปะต่อข้อมูลข่าวลือที่ได้ยินมา จากบทวิเคราะห์ในบทความต่างๆ จากการตรวจดูร่องรอยการแพร่ข้อมูลของพรรคการเมืองบางพรรค

               กุญแจความสำเร็จที่ผู้เขียนเห็นมา คือ การเริ่มสร้าง Fandom ตัวปลอม (Fake account) ขึ้นมาจำนวนหนึ่งแล้วทำหน้าที่ เชียร์ แชร์ และคอยปกป้อง

               Fandom มาจาก Fan club + Kingdom เป็นรูปแบบของสาวกศิลปินเกาหลีที่สร้างเครือข่ายแฟนคลับอย่างเหนียวแน่นผ่านสื่อออนไลน์ ศิลปินจะถูกเทิดทูน และห้ามใครต่อว่า พวกเขาจะเข้ามาปกป้องเมื่อถูกตำหนิ

               เมื่อกำหนดอัตลักษณ์ของพรรคแล้ว โยนให้ Fandom ตัวปลอมกระจายในสื่อออนไลน์ พวกนี้จะมีเป็นหมื่นบัญชี และแต่ละบัญชีจะแอดเฟรนด์ 5,000 คน มีอิทธิพลต่อการโน้มน้าวชักจูง และปกป้องนักการเมืองที่พวกเขาสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของ Fandom ตัวจริงในกาลต่อมา

               Fandom ตัวปลอมและตัวจริง เป็นสิ่งสำคัญในการ Shift Positioning ของพรรค เพราะการทุ่มสื่อโฆษณาปานใด ก็ไม่เท่าการบอกต่อการยอมรับของคนรอบข้าง ก่อนมนุษย์จะตัดสินเลือกอะไรว่า ชอบ ไม่ชอบ จะขอความเห็นคนรอบข้างก่อนเสมอ และเป็นเรื่องยากที่จะกล้าปฏิเสธเห็นต่างคนรอบข้าง

    รูปที่ 13 กลวิธี (Tactics) ในการสร้าง Fake Fandom ปฏิบัติการบริหารสื่อออนไลน์ในการหาเสียง


              การ Shift Positioning ของพรรคต่อมาก็ผลิต Content เข้าหากลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) โดยใช้ Fandom ในกลุ่มเป้าหมายค่อยๆ จุดกระแส

               นอกจากทำ Content ใส่กลุ่มเป้าหมายเพียงด้านเดียว ยังต้องทำ Research ค้นหาสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายอยากได้ยิน ประกอบกับมีทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลนำผลวิจัยมาเปรียบเทียบเป็นบวกหรือลบกับภาพลักษณ์ รวมทั้งเฝ้าดูการเคลื่อนไหวและควบคุมปริมาณข้อมูลให้มีการเคลื่อนไหวหรือแชร์ให้ถึงแสนครั้งต่อวัน

                  ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาปรับกลยุทธ์สร้างอัตลักษณ์ใหม่ (Strategic Adjustment) เช่น แต่เดิมอาจจะปลุกกระแสแก้ ม.112 เปลี่ยนมาเป็นเรียกร้องประชาธิปไตย และต้องเพิ่มปริมาณเนื้อหาหรือการแชร์หรือการเจาะเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจะโยนลง Feedback control ปรับอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ Fandom ตัวจริงจะเป็นตัวบอกว่าการปรับอัตลักษณ์มาถูกทาง ปัจจุบันเขามี Fandom มากกว่า 20,000 ในการปกป้อง แก้ต่าง เชียร์ และแชร์ กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง

                      นอกจากนั้นยังใช้กลยุทธ์ของโดนัล ทรัมป์ ทำลายภาพลักษณ์ ฮิลารี ด้วยข่าวลวงที่เรียกว่า Fraudulent Content นอกจากยกภาพลักษณ์ตัวเองให้สูงขึ้น ต้องลดภาพลักษณ์คู่แข่งด้วย

                    ปัจจุบันรัฐรู้จักแค่ Fake news แต่ข่าวปลอมนั้นมีสองรูปแบบคือ Misinformation คือ ตั้งใจนำเสนอข่าวที่ถูกแต่เนื้อหาผิดโดยไม่ตั้งใจ อีกแบบคือ Disinformation คือ การบิดเบือนหรือหาให้เข้าใจผิด

                           ส่วน Fraudulent Content คือการให้ข่าวปลอมหรือจริงที่ให้ร้ายผู้อื่น ทำลายภาพลักษณ์ผู้อื่น ลดความน่าเชื่อถือ และทำให้ถูกเกลียดชัง

    9. Voter journey

               การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการส่งข่าวสารหรือเนื้อหาของพรรคการเมืองไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยใช้สื่อออนไลน์นั้นแม้จะตรงกลุ่ม แต่ยังไม่ใช่กุญแจความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ได้นำประสบการณ์หาเสียง และหลักการตลาดออนไลน์มาประกอบการวิเคราะห์ดังนี้

               เมื่อเราสร้าง Content หาเสียงที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่คิดว่าถูกใจทั้งคุณค่าทางอารมณ์ และคุณค่าในการใช้งานเข้าหากลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) จำนวนมากแล้ว นั่นคือการทุ่มเงินที่ซื้อสื่อผ่านตากลุ่มเป้าหมาย สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ติดตามคือจำนวนการ Click ดู เมื่อกลุ่มเป้าหมายดูแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาที่ Impression มากน้อยเพียงใดบางคนอาจจะดูหลายรอบ พฤติกรรมเหล่านั้นเป็น Feedback control ที่เราจะนำมาปรับใช้ต่อไป

    รูปที่ 14 สิ่งสำคัญที่สุดในการขายของออนไลน์และการหาเสียงคือ Conversion Rate


               สิ่งสำคัญที่สุดในการขายของออนไลน์และการหาเสียงคือ Conversion Rate เมื่อเรามีคนสนใจมีปฏิสัมพันธ์บ่อยขึ้นแล้วมี Engagement คอยเชียร์ คอยคอมเม้นต์ คอยแชร์ มีส่วนร่วม แต่สุดท้ายร้อยละของคนเหล่านั้นที่จะซื้อสินค้าหรือเลือกเรามากน้อยเพียงใด นั่น คือตัวชี้วัดความสำเร็จ

               จากรูปที่ 14Voter Journey ในอุดมคติควรจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กล่าวคือ จำนวนคนที่ Vote กับจำนวนกลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) ควรจะเป็นทั้งหมด แต่ในความจริงฐานจะค่อยๆ แคบลงมาเป็นปิรามิดกลับหัว

               อาทิเช่น แม่ค้าออนไลน์ขายเสื้อผ้าบางคนอาจจะมี Engagement ในกลุ่มเป้าหมายสูง แต่เป็นผู้ชายเข้ามาชมความงาม แต่ไม่ได้มาซื้อ ทำให้ Conversion rate ต่ำ เป็นต้น

               ประสบการณ์ผู้เขียนใช้ Facebook หาเสียงได้ผลในการสร้างการรู้จัก แต่ไม่ได้ผลในการได้รับคะแนนเลือก เพราะอัตลักษฯพรรคไม่ตรงใจประชาชน ผู้เขียนเริ่มต้นจากศูนย์ไม่มีพื้นฐานใดทางการเมือง แต่มีคนรู้จักในพื้นที่มากขึ้นไปไหนมีคนทัก มีคนกดไลค์ คนแชร์ มีคนที่ไม่รู้จักมา Engagement ส่งข้อความมาสอบถามพูดคุย บ้างก็ชื่นชม บ้างก็ตำหนิ และมียอด Impression แสนกว่า มียอดการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเกือบแสนคน มีคนในพื้นที่ติดตามหมื่นกว่าคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งแสนเก้าหมื่นคน

               ดังนั้น Voter Journey ของผู้เขียนเป็นปิรามิดกลับหัวโดยสมบูรณ์ ขณะที่ผู้ลงสมัครจากพรรคที่มี Tactic ในการใช้สื่อออนไลน์มีคะแนนท่วมท้นสองหมื่นกว่าคะแนน โดยท่านผู้นั้นไม่เคยลงพื้นที่หาเสียงแต่อย่างใด ตัวท่านนั้นเองก็มีเพื่อนใน Facebook เพียง 5 คน จึงทำให้ผู้เขียนจำใจสรุปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนเลือกพรรคที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนเพียงแค่ว่า “เอาฝั่งเผด็จการหรือฝั่งประชาธิปไตย” ขณะที่เรานำเสนอนโยบายดีๆ ชวนคุยเรื่องสร้างสรรค์ประชาชนไม่สนใจฟัง

    8. การเมืองไทยเข้าสู่ยุคการตลาดนำการเมือง

               จากการสังเกตปรากฏการณ์การเลือกตั้ง 62 ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการดำเนินกลยุทธ์การตลาดเต็มรูปแบบ มิใช่การนำเสนอนโยบายดังที่ควรจะเป็นตามระบอบประชาธิปไตย และเชื่อว่าในอนาคตก็จะเป็นเช่นนี้ เพราะประชาชนให้คุณค่าทางอารมณ์หรือความชอบมากขึ้นตามธรรมชาตินั่นเอง  เหตุผลหรือนโยบายแท้จริงถูกนำมาใช้ประกอบ “ความชอบ” ในอัตลักษณ์เท่านั้นเอง

               เราเลือกทางอ้อม เลือกจากความชอบ เช่น อยากฟังความรู้จากคนเป็นอาจารย์แม้เด็กอนุบาลพูดเรื่องเดียวกัน เราเชื่อว่านักธุรกิจมีวิสัยทัศน์กว่าแม้จะไม่นำข้าวออกขายต่างประเทศนำเงินตราเข้ามา เราคิดว่าทหารไม่มีวิสัยทัศน์ทั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจดีกว่ามีแผนพัฒนาบ้านเมืองในระยะยาว

               การเลือกตั้งครั้งนี้มีการสร้างแบรนด์ มีการทำวิจัยกลุ่มเป้าหมาย การวางแผนใช้สื่อ การกำหนดกลวิธีใช้สื่อออนไลน์ปฏิบัติการจิตวิทยา การออกแบบการรับรู้ภาพลักษณ์พรรค และขับเคลื่อนภาพลักษณ์ไปสู่เป้าหมาย

    10. ข้อเสนอความคิดเห็น

               ผู้เขียนเห็นว่าการใช้สื่อออนไลน์กำหนดตัวตนหรืออัตลักษณ์ (Identity) ให้ชัดเจนในการรู้ได้หมายจำเมื่อประชาชนนึกถึงพรรคมีข้อเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมมากมาย

    รูปที่ 14 รูปแบบของเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่างกัน


                รูปแบบของเนื้อหามีอิทธิพลต่อทัศนคติของคนในสังคมต่างกัน พรรคการเมืองควรถูกกำหนดให้ใช้เทคนิคการหาเสียงได้เพียงการนำเสนอตัวตนอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ (Inform) ไม่ควรสร้าง Content ประเภทโน้มน้าวจิตใจที่เรียกว่าการโฆษณาชวนเชื่อให้คล้อยตามที่เรียกว่า Propaganda ซึ่งเป็นที่นิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ และแม้ปัจจุบันได้ยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ไปแล้ว แต่การโฆษณาชวนเชื่อเป็น "การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ผิดกฎหมายไทยในอดีต ซึ่งแท้จริงแล้วรากเหง้าของเจตนารมณ์การห้ามการโฆษณาชวนเชื่อนั้นตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยที่ต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ประชาชน และช่วยกนค้นหาทางเลือกที่โปร่งใสชัดเจนต่อการพัฒนาประเทศอย่างบริสุทธิ์ชอบธรรม

               การกำหนดเป้าหมายอัตลักษณ์ของพรรคการเมืองให้ชัด การสร้าง Identity สู่ตำแหน่งภาพลักษณ์เป้าหมายที่สังคมยังต้องการด้วยการผลิตเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อโครงสร้างสังคมไทยอย่างมาก

                 เนื้อหาข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ที่จะสร้างสรรค์พัฒนาประเทศหรือจะจมปลักอยู่บนความขัดแย้งเมื่อเห็นโอกาสจากกลยุทธ์ “ไทยมุง” และ “Counter-Elite” ใครจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลง ในทุกวันเราจะเฝ้าคอยดูข่าวเพียงว่าจะมีเรื่องขัดแย้งอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ใครจะถูกโจมตี ใครจะโจมตีใคร

                 อีกทั้งการเข้าถึงผู้มีอำนาจออกกฎหมายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะยอมเห็นพ้องต้องกันในการออกกฎหมายกำกับเนื้อหาดังที่บรรยายมานี้ย่อมมีผู้ได้เปรียบเสียบเปรียบแม้เห็นว่าถูกต้องชอบธรรม อีกทั้งการนำเสนอเหตุผลทางวิชาการที่อธิบายการเข้าถึงความจริงค่อนข้างยากลำบาก

                     บทความนี้จึงทำหน้าที่เพียงขมวดปมทั้งหมดมาย่อยให้อ่านเข้าใจง่ายต่อสถานการณ์สื่อสังคมออนไลน์กับการเมืองไทยมาเพียงเท่านี้

    อ้างอิง

    1. 1. https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/jan_mar_12/pdf/aw015.pdf   
    2. 2. https://www.marketingoops.com/reports/media-stat/content-and-social-media-strategy-thailand-general-election-2019/
    3. 3. https://positioningmag.com/13851  
    4. 4. https://www.brandbuffet.in.th/2018/11/content-marketing-political-strategic-for-new-voter/  
    5. 5. http://psreview.soc.ku.ac.th/wp-content/uploads/2018/02/4.2.7.pdf  
    6. 6. https://voicetv.co.th/read/B1IFcwwKz  
    7. 7. https://positioningmag.com/1214460 
    8. 8. https://www.tci-thaijo.org/index.php/buacademicreview/article/view/80957
    9. 9. https://contentmarketinginstitute.com/2018/09/influencer-marketing-fraud/
    10. 10. https://www.gotoknow.org/posts/661719
    หมายเลขบันทึก: 668993เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2019 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2019 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท