สู่การศึกษาคุณภาพสูง ๗. เตรียมผู้เรียน



บันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูงนี้ ตีความจากรายงานของธนาคารโลก ชื่อ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise (1)    ที่มีการค้นคว้ามาก และเขียนอย่างประณีต   เป็นเอกสารด้านการศึกษาที่มีประโยชน์ยิ่ง    ผมเขียนบันทึกชุดนี้เสนอต่อคนไทยทั้งมวล ให้ร่วมกันหาทางนำมาประยุกต์ใช้ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

บันทึกที่ ๗ นี้ ตีความจาก Part III : Innovations and evidence for learning  ส่วน Spotlight 4 Learning about learning    และ Chapter 5  : There is no learning without prepared, motivated learners    ซึ่งอยู่ในรายงานหน้า ๑๐๗ – ๑๓๐  

จะให้มีการศึกษาคุณภาพสูง ต้องมีการเตรียมผู้เรียน ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยก่อนเข้าโรงเรียน    กิจกรรมเตรียมผู้เรียนนี้ต้องเอาใจใส่มากที่สุดในกลุ่มพ่อแม่ยากจน    เป้าหมายคือให้เด็กได้รับโภชนาการดี    ได้รับการกระตุ้นจากการเลี้ยงดู   และได้รับการดูแลกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกต้อง ในช่วงเด็กเล็กหรือวัยก่อนเข้าโรงเรียน    โดยมีหลักฐานว่า การสอนหนังสือหรือวิชาการในวัยนี้ก่อผลเสียมากกว่าผลดี   

รายงานระบุปัจจัยสำคัญที่สุด ๓ ประการในการยกระดับการเรียนรู้ คือ

  • ให้เด็กได้มีพัฒนาการของเด็กเล็กเต็มศักยภาพ ทั้งด้านความคิด (cognitive) และด้านสังคมและอารมณ์ (non-cognitive)    โดยเอาใจใส่เรื่อง โภชนาการ, การเลี้ยงดู, การกระตุ้น, และโอกาสเรียนรู้
  • ให้เด็กได้ไปโรงเรียน   โดยรัฐจัดให้พ่อแม่มีค่าใช้จ่ายน้อยถึงไม่มีเลย    และสร้างแรงจูงใจต่อการเรียน
  • ให้มีระบบช่วยเหลือพิเศษ (remediation) แก่เด็กที่เรียนช้า

  

ทำความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ และหลักการดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้

ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้สองด้านกำลังพัฒนาคู่กันไป    ได้แก่ความรู้เรื่องกลไกการเรียนรู้ของสมอง (cognitive neuroscience)    กับความรู้เรื่องวิกฤติการเรียนรู้ (learning crisis) หรือเข้าโรงเรียนแต่ไม่เกิดการเรียนรู้    หากนำสองเรื่องนี้มาสังเคราะห์ประเด็นเรียนรู้เข้าด้วยกัน    จะเกิดความเข้าใจ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” (political economy) ว่าด้วยการนำความรู้สู่การปฏิบัติ หรือว่าด้วยการจัดการ ช่องว่างระหว่างการรู้กับการปฏิบัติ (know – do gap) ในเรื่องการศึกษา  

พัฒนาการของความรู้ว่าด้วยกลไกการเรียนรู้ของสมอง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้าน การจัดการเรียนการสอน  การพัฒนาครู  และการใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้    รัฐบาลของประเทศต่างๆ เร่งหาทางพัฒนาสามประเด็นหลักนี้ เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    จำนวนโปรแกรมการพัฒนานี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก ๑๙ โครงการทั่วโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓   เป็น ๒๙๙ โปรแกรมในปี ๒๕๕๙   มีการศึกษาประเมินผลกระทบของโปรแกรมเหล่านี้ออกเผยแพร่มากมาย   

คำถามคือ จะเอาความรู้เหล่านี้มาใช้อย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน    หรือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการเรียนรู้  ได้อย่างไร  

คำตอบคือ อย่าลอกเลียนวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี ในประเทศอื่น หรือในบริบทอื่น  เอามาใช้แบบก๊อปปี้วิธีการ    เพราะโอกาสล้มเหลวจะสูงมาก  

คำแนะนำในรายงานคือ ให้อ่านรายงานผลการประเมินโครงการนั้นๆ แล้วตั้งคำถามว่า รายงานนั้นบอกหลักการ(principle) อะไร ที่นำไปใช้ได้ผล    วิธีทำความเข้าใจอาจใช้ทฤษฎีหรือโมเดลเข้าไปจับ    เช่นเขาแนะนำ “โมเดลพฤติกรรมมนุษย์”  (model of human behavior)    ซึ่งมี ๒ ขั้นตอนคือ  (๑) การสังเคราะห์ผลของหลายรายงาน จากหลายโปรแกรมที่เกิดผลดี    เพื่อหารูปแบบ (pattern) ที่ตรงกันในทุกโปรแกรมหรือหลายโปรแกรม  (๒) เอาทฤษฎีเข้าไปจับ (ในที่นี้คือทฤษฎีพฤติกรรมมนุษย์) เพื่ออธิบายว่า ทำไมบางวิธีการจึงให้ผลดี  แต่บางวิธีการล้มเหลว  

รายงานเตือนว่า เรื่องการเรียนรู้ของผู้เรียนมี “ตัวละคร” มากกว่าที่เราคิด    คือไม่ใช่แค่นักเรียนกับครู    ยังมีตัวละครอื่นๆ อีกมากมาย ที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน    ดังแสดงในรูป S4.2 ในรายงาน    และคัดลอกมาแสดงข้างล่าง

เขาแนะนำให้คำนึงถึงบริบทของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ ในการตีความผลการประเมินการเรียนรู้ในแต่ละโปรแกรมด้วย    และเมื่อคำนึงถึงพฤติกรรมมนุษย์ ก็ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการโกงด้วย    พฤติกรรมนี้มีอยู่ดาษดื่นในกิจกรรมต่างๆ ของระบบการศึกษาไทย  

ลงทุนในเด็กเล็ก เป็นการเตรียมผู้เรียนในโรงเรียน

 การลงทุนต่อเด็กเล็ก เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงยิ่งกว่าการลงทุนในช่วงที่เด็กเข้าโรงเรียน    โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ครอบครัวยากจน    ซึ่งต้องดำเนินการร่วมกันโดยหลายวงการ    คือวงการสุขภาพ  วงการพัฒนามนุษย์  วงการศึกษา  และวงการอื่นๆ    หากทารกในครรภ์และเด็กเล็ก ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอในด้านโภชนาการ  การเลี้ยงดู และกระตุ้น การได้เล่นและฝึกสังคมกับเพื่อนๆ และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น   ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานพัฒนาการเด็ก    ก็เท่ากับเด็กได้ผ่านวัยนี้ไปโดยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาพื้นฐานที่แข็งแรง สำหรับการเรียนรู้ตอนเข้าโรงเรียน    โดยที่พื้นฐานเหล่านี้ส่วนใหญ่พัฒนาก่อนอายุครบ ๓ ขวบ

มองในภาพรวมของประเทศ    การดำเนินการของภาครัฐเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก ต้องเน้นที่เด็กในครอบครัวยากจน    ซึ่งเด็กอาจต้องเผชิญสภาพปัญหาสารพัดเรื่อง ที่ปิดกั้นพัฒนาการเด็ก    หรือทำลายศักยภาพของเด็ก    ซึ่งหลายส่วนอาจเกิดจากปัญหาในครอบครัว    ทำให้เด็กขาดอาหาร  ได้รับการกระตุ้นน้อย  หรือขาดความรักความเอาใจใส่    อาจมีบาดแผลทางใจหรือทางอารมณ์ที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว  เป็นต้น

วิธีดำเนินการของภาครัฐที่ดีที่สุดคือจัดให้บริการศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ    โดยต้องตระหนักว่า ศูนย์เด็กเล็กที่ไร้คุณภาพ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดูแลเด็ก) อาจเป็นโทษต่อเด็ก มากกว่าเป็นคุณ    และเด็กที่จะได้รับประโยชน์จากการจัดการดูแลพัฒนาการเด็กเล็กมากที่สุดคือเด็กจากครอบครัวยากจน หรือครอบครัวยากลำบาก   

การจัดการศูนย์เด็กเล็กแบบเน้นกฎระเบียบ และจัดการเรียนรู้อย่างจริงจัง  จะก่อผลร้ายทั้งต่อการพัฒนาทักษะการคิดและเรียนรู้ ทักษะทางสังคมและอารมณ์ รวมทั้งทำลายความใฝ่รู้    เพราะในวัยนี้เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการสำรวจ การเล่น และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น    โดยเป้าหมายของการพัฒนาพื้นฐานของเด็กวัยนี้ได้แก่ ความมั่นคงทางอารมณ์  ความอยากรู้อยากเห็น ภาษา และการกำกับตัวเอง   

กิจกรรมของศูนย์เด็กเล็กนอกจากมีเป้าหมายพัฒนาเด็กแล้ว ยังต้องพัฒนาพัฒนาครูเด็กเล็กด้วย    ให้มีทักษะในการจัดห้องเรียนให้ส่งเสริมสัญชาตญาณอยากรู้อยากเห็นของเด็ก    ควรมีบริการ โค้ชชิ่งแก่ครูเด็กเล็กอย่างสม่ำเสมอ   

เพื่อให้การพัฒนาเด็กเล็กดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง  มีทรัพยากรสนับสนุนอย่างจริงจัง    ระบบดูแลพัฒนาเด็กเล็กควรบูรณาการอยู่ในระบบการศึกษา     น่าภูมิใจที่ระบบของประเทศไทยกำลังก้าวหน้าไปในทางนี้    หากได้มีการพัฒนาคุณภาพของครูเด็กเล็ก  และให้ค่าตอบแทนสูงแก่ครูเด็กเล็กที่ได้พิสูจน์ผลงานเป็นที่ประจักษ์    ก็จะช่วยให้การปูพื้นฐานเด็กไทย เข้าสู่การศึกษาที่ให้ผลลัพธ์การเรียนรู้สูง      

เด็กไปโรงเรียน ไม่ได้หมายความว่าเด็กได้เรียนรู้เสมอไป

มีผลการวิจัยบอกชัดเจน ว่าการได้เข้าโรงเรียน ดีกว่าไม่ได้เข้าโรงเรียนอย่างแน่นอน    แต่ผลการเรียนรู้ของนักเรียนในประเทศต่างๆ แตกต่างกันมาก    รวมทั้งในชั้นเรียนเดียวกัน เด็กก็ได้เรียนรู้ต่างกันมาก ดังกล่าวแล้ว    

เพื่อให้เด็กเอาใจใส่การเรียน  ต้องมีวิธีสร้างแรงจูงใจ    ซึ่งมีหลากหลายวิธีการหรือปัจจัยได้แก่

  • มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการมีทักษะด้านต่างๆ สูง (ซึ่งได้จากการเรียน) ส่งผลต่อการเรียนต่อหรือการได้งานดีๆ ทำ    ซึ่งหมายความว่า ทั้งโอกาสเรียนต่อ และโอกาสได้งานดีๆ ขึ้นกับความสามารถ ไม่ใช่เส้นสาย
  • ให้รางวัล หรือทุนเล่าเรียน แก่นักเรียนที่ยากจนและมีผลการเรียนดีในระดับหนึ่ง  
  • สื่อสารผลงานของชิ้นงานที่ครูมอบหมาย ให้พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กรับทราบเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ    มีผลการวิจัยชี้ชัดว่า ช่วยนักเรียนเพิ่มความตั้งใจเรียน และมีผลการเรียนรู้ดีขึ้น    ดีกว่าการรายงานผลการเรียนของแต่ละเทอม  

การเรียนรู้ของเด็ก ไม่ได้เกิดเฉพาะที่โรงเรียนเท่านั้น    ชุมชนต้องจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้แก่เด็กในชุมชนด้วย   เพื่อช่วยให้การเรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตจริง    และเพื่อฝึกฝนจิตสาธารณะผ่านการเรียนผ่านบริการชุมชน (service learning)    เรื่องนี้ประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพสูง มีการจัดจัดกิจกรรมให้เด็กได้ทำและเรียนรู้เข้มข้นมาก    ผมเรียกกิจกรรมนี้ว่า ขบวนการเพื่อการเรียนรู้ สองในสาม    โดยยกตัวอย่างการดำเนินการในประเทศฟินแลนด์ ()

คุณค่าของ “การศึกษาเสริม”

ในรายงานเรียกการศึกษาส่วนนี้ว่า remedial education   ซึ่งหมายถึงการจัดการเรียนรู้เสริมให้แก่เด็กที่เรียนไม่ทันนั่นเอง    ผมได้เขียนเรื่องการจัดการเรียนรู้เสริมในระบบการศึกษาของฟินแลนด์ ที่เขาเรียกว่า “การศึกษาพิเศษ” (special education) ที่ ()     

รายงานนี้เสนอแนวทางจัดการศึกษาเสริม ๓ รูปแบบ แก่ผู้เรียนใน ๓ สถานะ ได้แก่

  • ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนที่เรียนอ่อนหลุดออกจากระบบการศึกษา    ทำได้สองรูปแบบ คือ  (๑) สอนเสริมแก่นักเรียนที่เรียนอ่อน เน้นการพัฒนาทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้  (๒) จัดการประเมินนักเรียนตั้งแต่กลางเทอม เพื่อจัดการสอนเสริมแก่นักเรียนที่เรียนอ่อน   
  • เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ออกไปแล้ว กลับเข้าเรียนใหม่เพื่อเสริมทักษะที่ต้องการ    ภาษาอังกฤษเรียกว่า second-chance program   โดยจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่าง เน้นเพื่อเข้าสู่การฝึกอบรมเพื่อการทำงาน และได้รับประกาศนียบัตรเทียบเท่า    ประสบการณ์การจัดการโปรแกรมทำนองนี้บอกว่า    ทักษะสำคัญที่พึงจัดการฝึกฝนเพื่อปูพื้นฐานให้ได้งานดี คือ ทักษะการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว  
  • การศึกษาเสริมที่จัดให้แก่ผู้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษา    แต่มีความยากลำบากในการเรียน    จัดโดยสถาบันอุดมศึกษา    ในสหรัฐอเมริกา ร้อยละ ๔๒ ของนักศึกษาในหลักสูตรอนุปริญญา ๒ ปี เข้าเรียนรายวิชาเสริมทักษะ   ตัวเลขนี้เป็นร้อยละ ๒๐ สำหรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญา ๔ ปี    ประมาณว่าใช้งบประมาณปีละระหว่าง ๑ - ๗ พันล้านดอลล่าร์    มี ๓ รูปแบบที่น่าจะได้ผลดีคือ
  • - ช่วยพัฒนาอย่างเร็ว (accelerated remediation)    เป็นวิธีการที่ปรับจากวิธีการช่วยเหลือแบบเดิมที่พบว่าไม่ได้ผล  ยังมีนักศึกษาออกจากการเรียนมากอย่างเดิม    วิธีเดิมจัดวิชาเรียนเสริมทุกเทอมไปเรื่อยๆ    วิธีการใหม่มี ๓ รูปแบบ คือ  (๑) รายวิชาเสริมที่เรียนจบอย่างรวดเร็ว  (๒) รายวิชาที่จัดเป็นโมดุล ให้นักศึกษาเรียนตามอัตราเร็วของแต่ละคน  (๓) ช่วยจัดการเรียนเสริมที่ช่วยให้นักศึกษาเข้าเรียนตามปกติอย่างรวดเร็ว     มีหลักฐานว่าวิธีการใหม่นี้ช่วยให้นักศึกษาเรียนจนจบการศึกษาตามหลักสูตรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
  • - สอนเชื่อมกับบริบท (contextualized instruction)    เป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้ระดับพื้นฐาน (foundational skills) ไปพร้อมกับการฝึกทักษะอาชีพ    นักศึกษาได้ฝึกตีความสาระวิชาตามบริบทของงานตามอาชีพที่ตนจะเข้าสู่    มีตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จ จัดโดยรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ชื่อ I-BEST (Integrated Basic Education and Skills Training)
  • - กิจกรรมช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเข้มข้น (intensive student support)   เป็นกิจกรรมเพื่อป้องกันนักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา     ซึ่งอาจทำโดย การติวอย่างเข้มข้น,   การให้คำแนะนำส่วนตัวอย่างเข้มข้น,   การฝึกวิธีเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จ,   นอกจากนี้ยังมีวิธีการใหม่ที่เขาเรียกว่า self-directed technology model ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นการเรียนด้วยตนเองโดยใช้เทคโนโลยีไอทีช่วย        

วิจารณ์ พานิช

๒๒ มิ.ย. ๖๒

ห้อง ๗๓๑๓  โรงแรม เดอะ ริเวอร์รี   เชียงราย


หมายเลขบันทึก: 667800เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2019 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2019 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท