พักหัวใจไว้สักวัน


คิดได้เท่านี้

   ๒ วันที่ผ่านมา ผมได้หยุดพักทุกอย่างไว้ที่ทำงาน แต่ไม่ลืมโครงการใหม่ที่สานต่อความคิดเก่า ปัญหาของนักศึกษาที่ผ่านมาคือ เงินที่ต้องกู้ยืมเพื่อศึกษาเล่าเรียน บางคนก็ให้น่าเวทนายิ่งนักเมื่อเงินกู้ยืมนั้นมิได้เป็นเพื่อการศึกษาหากแต่เป็นไปเพื่อสนองตอบความต้องการในตน ขณะที่บางคนก็พยายามเหลือเกินที่จะเรียนหนังสือให้คุ้มกับเงินที่กู้ยืมมา บางครั้งให้ผมคิดว่า เราสอนให้เขาเป็นหนี้เป็นสินตั้งแต่ตอนนี้เชียวหรือ "อิณํ ทุกฺขํ โลเก การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก" มีวิธีการอื่นไหมที่สามารถจะให้เขาไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการศึกษาในระบบ ในโลกของการเปลี่ยนแปลงและค่านิยมของพวกมากลากไป เราปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่เรียนหนังสือ และการเลือกที่จะเรียนก็ต้องเรียนในสิ่งที่สามารถจะนำไปแลกเป็นเงินตราเพื่อนำไปแลกเป็นสิ่งของเครื่องใช้อำนวยความสะดวกในลำดับถัดจากนั้นอีก คนที่กู้ยืมก็ต้องไปปลดหนี้ปลดสินเมื่อทำงาน เป็นเรื่องที่ดีหากนี้คือการสร้างวินัยให้กับคน แต่มันจะไม่ดีเลยถ้ามีความรู้สึกกดดัน โดยเฉพาะคนที่มีความรับผิดชอบสูง เขาจะรู้สึกกดดันกับความจำเป็นที่เขาต้องกู้ยืมเรียนหนังสือ คนที่ไม่รู้สึกกดดันคือคนที่ไม่มีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบอะไรกับเงินกู้ยืม ขณะเรียนเราน่าจะมีวิธีการอะไรสักอย่างที่จะเพิ่มเงินเพื่อการเรียนและหาประสบการณ์ที่ดี ในศาสนาพุทธ หลวงปู่ หลวงพ่อ หลวงตาที่มีวิชาความรู้ดีๆ เพื่อชีวิตนั้นมีอยู่ และความรู้เหล่านั้นอยู่ในหนังสือ ถ้าเราถอดความรู้ออกมา (เฉพาะที่อ่านแล้วให้รู้สึกกินใจ) รวมเป็น ๑ หน้าสั้นๆ หลายหน้ารวมกันก็เป็น ๑ เล่ม หลวงพ่อต่างๆ ไม่เคยจดลิขสิทธิ์หรือหวงความรู้ โรงพิมพ์จำนวนมากหาช่องว่างตรงนี้ทำมาหากินร่ำรวยกันก็เยอะ แต่สิ่งที่คิด คิดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเยาวชน เก็บสาระจากหนังสือธรรมะทุกวัน วันละหน้าโดยไม่ลืมว่าใครเป็นคนคิด พูด เขียน นำสิ่งนี้เป็นรวมเป็นหนึ่งเล่ม หาเงินมาพิมพ์ออกจำหน่าย น่าจะพอบรรเทาค่าเล่าเรียนได้บ้างกระมัง ภายใต้ชื่อหนังสือว่า "ธรรมะหน้าเดียว" แต่เราไม่เคยจับธุรกิจ สิ่งที่คิดก็คิดได้แค่นี้ คงต้องล้มลุกคลุกคลานน่าดู วันพุธ ผมจะให้ความคิดแก่นักศึกษาเหล่านั้น

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะหน้าเดียว
หมายเลขบันทึก: 66456เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2006 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์พุทธทาสเห็นว่า การศึกษาเป็นหมาหางด้วน

ประสบการณ์ในการศึกษาของผม ได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะการคิดในเชิงระบบค่อนข้างมาก     และได้เอามาใช้ในการทำงาน สำหรับตัวเนื้อหาความรู้เหลือน้อยมาก เพราะไม่ได้ใช้

การคิดเชิงระบบทำให้เข้าใจความเชื่อมโยงได้ง่ายและเร็ว เป็นเครื่องมือรับรู้ เรียนรู้ที่ดี แต่ไม่มีเป้าหมาย ทิศทางโดยตัวมันเอง จึงเป็นหมาหางด้วน

ถ้าต้องกู้เงินมาเรียน ก็ต้องคิดเรื่องการคืนทุนโดยเร็ว ต้องรีบหางานทำ
ถ้าตอนเรียนใช้เงินกู้อย่างไม่รู้คุณค่า เมื่อจบออกมา ก็จะหาเงินโดยไม่มองคุณค่าของงาน

กลไกทางสังคม จะเพียงพอต่อการรับมือกับการศึกษาหมาหางด้วนได้อย่างไร?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท