Wildlife Cybercrime


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ
 

Cyber Criminologist


 

อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม หรือ Green Criminology คือ อาชญากรรมที่เกิดจากการทำลายหรือฉกฉวยผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Crimes against the environment) เป็นกระแสความสนใจของประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ตลอดมา

แต่ในไม่ถึงปีที่ผ่านมาปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ นักอาชญาวิทยากลุ่มหนึ่งเรียกว่า “Wildlife Cybercrime”ภัยคุกคามจากโลกออนไลน์ไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“Wildlife Cybercrime” กลายเป็นอาชญากรรมไซเบอร์แบบใหม่ที่ผมสนใจติดตามศึกษา และมีแนวโน้มว่าการก่ออาชญากรรมประเภทนี้ด้วยเทคโนโลยีไซเบอร์ช่วยให้การก่ออาชญากรรมประเภทนี้สะดวกง่ายดายขึ้น และยากต่อการสืบสวนจับกุมตลอดจนดำเนินคดี ซ้ำร้ายส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรุนแรงอย่างรวดเร็ว ผมจะเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

 

Wildlife Cyber crime คือ การลักลอบขายสินค้าที่ได้จากสัตว์สงวนบนโซเชียลมีเดีย Facebook ตลอดจนสั่งออกนอกประเทศทั้งตัว ตั้งแต่สัตว์ตัวเล็กๆ ไปจนช้างตัวใหญ่ และได้วิวัฒนาการขั้นสูงไปอีกด้วยการก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมผ่าน Dark web จ่ายเงินด้วย Crypto currency อีกทั้งมีรายงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์และหน่วยงานอื่นๆ ได้พูดถึงสถานการณ์ในประเทศไทยเช่นกัน

TRAFFIC เป็นองค์กร NGO ที่เฝ้าระวังเครือข่ายการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธ์พืชระดับโลก โดยมีสำนักงานอยู่ที่ มาเลเซีย เมื่อเดือน กันยายน ปี 2561 ได้ตีพิมพ์รายงานเรื่อง TRADING FACES A Rapid Assessment on the use of Facebook to Trade wildlife in Thailand โดยทำการวิจัยเฉพาะเจาะจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย พบว่า

ตั้งแต่ กรกฎาคม ปี 2559 ได้มีการค้าสัตว์ป่าผ่าน Facebook จาก 12 กลุ่มใน Facebook มีสัตว์ที่ยังมีชีวิตจำนวน 1,521 ตัว อย่างน้อย 200 species จากการเฝ้าติดตามเพียงในช่วง 23 วันทุก 30 นาที พบว่ามีการโพสต์ขายสัตว์ป่า โดยรวมทั้งหมด 765 ครั้ง กล่าวได้ว่ามีการโพสต์ขายสัตว์ป่าเฉลี่ย 33 ครั้งต่อวันหรือเกือบทุกๆ 2 ชั่วโมง

จำนวนสมาชิกของแต่ละกลุ่ม Facebook ยังเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2559 สมาชิกต่อกลุ่มมีจำนวนประมาณ 27,503 คน ได้เพิ่มสูงจนถึง 68,000 คน ในปี 2561

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถูกเสนอขายเป็นสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็นจำนวน 516 ตัว แต่จำนวนชนิดพันธุ์ที่ถูกเสนอขายมากที่สุดคือชนิดพันธุ์สัตว์ปีก แต่หากแยกประเภทพบว่านางอาย หรือ ลิงลม (Nycticebus coucang) ถูกพบเสนอขายมากที่สุดถึง 139 ตัว ตามด้วยเต่าซูลคาต้า หรือ เต่าเดือยแอฟริกัน (Centrochelys sulcate) จำนวน 115 ตัว

บางกลุ่มใน Facebook นำเสนอความหลากหลาย บางกลุ่มค้างาช้าง บางกลุ่มเสนอขายชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอื่นๆ เช่น ฟันและหนังเสือ (Panthera tigris) อุ้งตีนหมีควาย (Ursus thibetanus) เกล็ดตัวลิ่นหรือตัวนิ่ม และปะการัง เป็นต้น

มากกว่าครึ่งของชนิดพันธุ์ที่ถูกเสนอขายได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทย แต่สัตว์บางชนิดไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย  สัตว์ที่มีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในการบันทึกติดตามนี้ได้รับการประเมินโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) โดยพบสองชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หรือมีความเสี่ยงสูงมากที่จะสูญพันธุ์ในขณะนี้ (Critically Endangered) ซึ่งก็คือ นกชนหิน (Rhinoplax vigil) และ จระเข้น้ำจืดชนิดพันธุ์ไทย จระเข้สยาม จระเข้บึง หรือจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) ที่ได้รับการบันทึกติดตาม ทั้งสองชนิดพันธุ์นี้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทยและอยู่ในบัญชี 1 (Appendix I) บนอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (อนุสัญญาไซเตส) อย่างไรก็ตาม ระหว่างช่วงเวลา 5 สัปดาห์ของการประเมิน พบเพียงนกชนหินหนึ่งตัวเท่านั้นที่ถูกเสนอขาย ซึ่งเป็นนกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งนี้ถูกคุกคามอย่างหนักจากการล่าเพื่อการค้าอยู่เป็นทุนเดิม การคุกคามเพิ่มเติมใดๆ แม้เป็นเพียงจำนวนน้อยก็ส่งผลมหาศาลต่อการอยู่รอดของนกชนิดพันธุ์นี้ในป่าธรรมชาติได้

 

การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายบน Facebook ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างมากมาย ยังไม่มีข้อมูลการค้าใน Dark web ซึ่งผมพบเพียงรายงานในโลกออนไลน์ และเว็บไซต์ตำรวจสากล คราวหน้าจะเอามาขยายความ

และในเดือนเมษายน 2560 รัฐบาลไทยได้ก่อตั้งหน่วยงานเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมสัตว์ป่าออนไลน์โดยเฉพาะ ในนาม “เหยี่ยวดง” ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กรมอุทยานฯ) หน่วยงานนี้มีอำนาจที่จะตรวจค้น ตรวจยึด และจับกุมผู้ใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับการครอบครองและการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย ควรจะมีหน่วยงานอื่นภาครัฐด้านการสื่อสารให้ความสนใจร่วมมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

ส่วน Facebook เองได้เข้าร่วมกับ พันธมิตรนานาชาติเพื่อการหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ (Global Coalition to End Wildlife Trafficking Online) และไทยควรจะมีท่าทีเข้าร่วมภารกิจดังกล่าวเช่นกัน

 

 

“พะยูน” กำลังถูกกล่าวถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ ผมไม่ได้โหนกระแส แต่ว่าผมลองมองโลกในแง่ร้ายผ่านสายตานักอาชญากรรมไซเบอร์ ที่ผมได้ติดตามสังเกตเห็นสองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันในบ้านเรา นั่นคือ ลูกพะยูนหลงฝูงที่เราเห็นตามข่าว กับ อีกปรากฏการณ์ที่พี่เฝ้าติดตามคือ Wildlife Cybercrime

แล้วลูกพะยูนเกี่ยวอะไรกับ Wildlife Cybercrime ล่ะ?

 

 

"น้ำตาดุหยง" สุดยอดน้ำยามหาเสน่ห์"

หากกล่าวถึงน้ำมันพราย หลายคนคงรู้สรรพคุณเป็นอย่างดี แต่ "น้ำตาดุหยง" คงมีแต่ชาวใต้หลายท่านที่รู้สรรพคุณผ่านความเชื่อท้องถิ่นว่าไม่ต่างจากน้ำมันพราย ป้ายใส่ให้รักให้หลง

"น้ำตาดุหยง" นั้นก็คือ น้ำตาพะยูน นั่นเอง โดยการจะได้น้ำตาดุหยงมาก็ด้วยการตีทรมาน โดยเฉพาะการเฆี่ยนลูกให้แม่ดู  

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่มีภัยกับใครในโลกใจดีเหมือนหน้าตา ลูกพะยูนนั้นธรรมชาติของเขาจะติดแม่ตลอดเวลาไม่มีทางพลัดหลง เราไม่สามารถจินตนาการว่าลูกหนีไปเที่ยวไกลแล้วหลงแม่ได้ ต้องมีคนจับแยก โดยเฉพาะการขังแม่ไว้แล้วเอาลูกไปทิ้งไกลๆ ให้แม่คิดถึงจนร้องไห้ทุกวันเวลา ดูจะเป็นวิธีที่พบว่าได้น้ำตาพะยูนมากที่สุด

 

 

พะยูน เป็นสัตว์ที่ทำให้นักเดินเรือในยุคกลาง เชื่อว่าคือนางเงือก เนื่องจากแม่พะยูนเวลาให้นมลูกมักจะกอดอยู่กับอกและตั้งฉากกับทะเลทำให้แลเห็นในระยะไกลคล้ายผู้หญิงอยู่ในน้ำ พะยูน มีชื่อเรียกในภาษายาวีและอูลักลาโว้ยว่า “ดุหยง” อันมีความหมายว่า หญิงสาวหรือผู้หญิงแห่งท้องทะเล

 

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_133995

ภาพที่เห็นบาดแผลลูกพะยูนหลงฝูงทั้งหลาย ผมเริ่มไม่เชื่อว่าเขาไปติดแหหรือว่ายไปโดยอะไรบาดเจ็บมาทั้งตัว มันหลายแผลเกินไปคล้ายกับถูกเฆี่ยนตีอย่างที่ตำนานว่ามามากกว่า มันเป็นฝีมือมนุษย์ชัดๆ ปรากฏการณ์ทั้งสองสอดคล้องกับน้ำตา ดุหยง ยามหาเสน่ห์ ที่วางขายออนไลน์ดาษดื่นทั่วไปราคาประมาณ 700-800 บาทต่อขวด ไปจนหลักพัน

 

 

 

แต่ตลาดใหญ่ของ น้ำตาดุหยง นี้คือบรรดาอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมรับสักยันต์มหาเสน่ห์ด้วยน้ำตาดุหยง ความต้องการน้ำตาดุหยงไม่ใช่เรื่องสร้างกระแสให้สอดคล้อง แต่เป็นเรื่องจริงที่ผมได้ค้นคว้าตรวจสอบมาหลายวัน หากประเมินด้วยสายตาจากปริมาณที่วางขายหรือร้านสักต่างๆ เทียบกับพะยูนที่มีเพียงหลักร้อยตัว มีความเป็นไปได้สูงที่สอดคล้องกันกับการพบลูกพะยูนที่หลงฝูงในช่วงนี้

 

 

ล่าสุดเมื่อ วันที่ 16 ก.ค.นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พล.ร.ต.นันทพล มาลารัตน์ ผบ.ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาค 3 นายสมควร ขันเงิน รอง ผวจ.กระบี่ นายสมโภช โชติชูช่วง รอง ผวจ.กระบี่ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต นายอำเภอทั้ง 4 อำเภอของ จ.กระบี่ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม และ อ.เกาะลันตา ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานสำคัญทั้ง ทสจ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งใน จ.กระบี่ จนท.ฝ่ายปกครอง 4 อำเภอ ที่อยู่แนวชายฝั่ง จนท.ฝ่ายความมั่นคง กองทัพเรือภาค 3 และตัวแทนนักอนุรักษ์ จัดขึ้นที่ห้องประขุมอ่าวลึก ชั้น 3 ศาลากลาง จ.กระบี่

ทั้งนี้ระหว่างการประชุม นายสมโภช โชติชูช่วง รอง ผวจ.กระบี่ เปิดเผยข้อมูลต่อที่ประชุมว่า จากการสืบหาข้อมูลในทางลับ พบว่ามีกลุ่มคนที่มีความเชื่อเรื่องการครอบครองอวัยวะของพะยูนจริง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวต่างชาติ ที่เชื่อว่าเขี้ยวพะยูน น้ำตาพะยูน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำตาดุหยง รวมถึงไขมัน ที่นำไปทำเป็นยาเสน่ห์ และมีการซื้อขายกันในราคาที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเขี้ยวพะยูน มีการซื้อขายในราคาหลักแสนบาท จึงอยากให้ทุกหน่วยงานยอมรับความเป็นจริง และสกัดกั้นขบวนการเหล่านี้ ส่วนกลุ่มคนที่ลักลอบล่าจะเป็นใคร คงไม่สามารถระบุได้

(ที่มาข่าว https://www.thairath.co.th/news/local/south/1616086)

ครั้งหนึ่ง นิสิต ป.โท อาชญาวิทยา ยกมือถามผมว่า "แล้วชาวบ้านจะเข้าถึงความจริงได้อย่างไร? ก็เขายังเชื่อว่าน้ำตาดุหยงเป็นยามหาเสน่ห์อยู่" เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ผมตอบไปงว่า อันที่จริงแล้วความจริงคือ "หลักฐาน" (Object) ส่วนความเชื่อนั้นเป็น "วาทกรรม" (Subject) หรือความจริงที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา ศุนย์ fake news ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิธีวิทยา โครงสร้างนิยมหรือ หลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) และนำมาอธิบายอย่างศิลปะ 

 

ต่อมาผมมานั่งคิดภายหลังว่า ประชาชนที่รักของเราเมื่อทราบข่าวมีน้ำผุดข้างส้วมและรัฐบาลกำลังหาทางพยายามห้ามพวกเขาไปดื่มหรือนำน้ำนั้นมาบูชา เราต้องมีแคมเปญที่ดึงดูดเขาอันมีพลังมากพอ

 

"หลักฐานที่ผมว่า อาทิเช่น"

ผมคิดแคมเปญหนึ่งขึ้นมา อยากขออาสาทำลายความเชื่อเรื่องน้ำตาดุหยงให้หมดไปเสีย ด้วยวิธีการเชิญน้อง เฌอปราง มาร่วมกิจกรรมไลฟ์โชว์ ผมจะล่อซื้อน้ำตาดุหยงมา แล้วป้ายน้ำตาดุหยงใส่น้อง เฌอปราง ให้ชาวไทยได้ดู ถ้าไม่ได้ผลก็ได้เลิกเชื่อกันเสียที แต่ถ้าได้ผลก็....จะทำให้เห็นว่า ความรักนั้นไม่มีคุณค่าใด หากเราใช้เล่ห์เพทุบายได้ตัวได้ใจนางมา เพราะใครที่ไม่ได้รักที่ตัวตนของคุณ คุณก็ไม่มีค่าอันใด

 

อ้างอิง

 

หมายเลขบันทึก: 663215เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2019 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2021 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บาปกรรมหนอ คนเราใจร้ายกันอะไรขนาดนี้

ชอบบทความของผู้เขียนมากค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท