7 ข้อดีของการ "ฟังเพลง" ตอน "ออกกำลังกาย"


ข้อดีของการฟังเพลงตอนออกกำลังกาย

1.ช่วยให้คุณออกกำลังกายได้หนักขึ้น

    หากออกกำลังกายแล้วรู้สึกเบื่อ หรือออกกำลังกายได้แป๊บเดียวก็เหนื่อย ให้คุณลองสร้างเพลย์ลิสต์เพลงสำหรับออกกำลังกายเอาไว้และเปิดฟังตอนออกกำลังกายครั้งต่อไปดู เพราะมีผลการวิจัยระบุว่า ผู้ที่ฟังเพลงตอนออกกำลังกายสามารถออกกำลังกายได้หนักขึ้น อีกทั้งการฟังเพลงยังช่วยให้สามารถออกกำลังกายซ้ำๆ หรือออกกำลังกายประเภทฝึกความอึดหรือฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้หนักและนานขึ้น โดยที่คุณรู้สึกเหนื่อยช้าลงด้วย
    2. ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า อาสาสมัครที่ฟังเพลงตอนออกกำลังกายมีระดับของเซโรโทนิน  (Serotonin) หรือสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ “ฮอร์โมนรู้สึกดี” สูงขึ้น จึงทำให้ออกกำลังกายแล้วรู้สึกอารมณ์ดี

    3. ทำให้จิตใจสงบ

    เพลงที่มีจังหวะ หรือช่วงความเร็วคงที่ อยู่ที่ 80-115 ครั้งต่อนาที (BPM) เช่น เพลงบัลลาด เพลงคลาสิก สามารถช่วยให้หัวใจคุณเต้นช้าลง และช่วยลดความวิตกกังวลก่อนลงสนาม ออกกำลังกายแบบความเข้มข้นสูง หรือเล่นกีฬาต่างๆ ได้ ไม่ใช่แค่จังหวะดนตรี แต่เนื้อเพลงและความรู้สึกที่คุณมีต่อเพลงนั้นๆ ก็สามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายและรู้สึกสงบได้เช่นกัน

    4. ช่วยให้ร่างกายทำงานประสานกันมากขึ้น

    เสียงเพลงไม่ได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายเฉพาะตอนที่คุณเต้นเท่านั้น ไม่ว่าจะออกกำลังกายประเภทใด หากคุณฟังเพลงไปด้วย จะช่วยให้ร่างกายของคุณเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นจังหวะ และทำงานประสานกันได้ดีมากขึ้น จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การฟังเพลงตอนออกกำลังกายช่วยเพิ่มคลื่นไฟฟ้าในสมองส่วนที่ควบคุมให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างสัมพันธ์กัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเสียงเพลงถึงช่วยให้คุณทำท่าในคลาสแอโรบิก หรือ HIIT ตามผู้ฝึกสอนได้ง่ายขึ้น

    5. ฟังเพลงตอนออกกำลังกาย... เวิร์กเอาท์ได้สนุกกว่า

    หากใครเคยเข้าคลาสออกกำลังกายที่มีเพลงประกอบเร้าใจ เช่น คลาสปั่นจักรยาน ก็คงจะทราบดีว่า การฟังเพลงสามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของคุณจากการออกกำลังกายสุดโหด ช่วยให้คุณออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น และสนุกขึ้นแค่ไหน จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวน 34 คนพบว่า การฟังเพลงตอนออกกำลังกายช่วยให้คุณออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสนุกสนานกว่าการดูคลิปแบบไม่ฟังเสียงเสียอีก

    6. ช่วยลดโอกาสบาดเจ็บ

    งานศึกษาวิจัยในอาสาสมัครที่ไม่ได้เป็นนักวิ่งอาชีพจำนวน 26 คนพบว่า การฟังเพลงที่มีจังหวะในช่วง 130-200 ครั้งต่อนาที (BPM) จะทำให้นักวิ่งเร่งและชะลอฝีเท้าไปตามจังหวะเพลง แต่หากเลือกเพลงที่มีจังหวะเร็วขึ้นเป็นช่วง 160-180 ครั้งต่อนาที (BPM) การวิ่งแต่ละก้าวจะสั้นลง จึงช่วยลดแรงกด และแรงกระแทก รวมไปถึงช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

    7. ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

    งานวิจัยในอาสาสมัคร 60 คนพบว่า การฟังเพลงช้าหลังจากออกกำลังกายเสร็จ สามารถช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจ และระดับความดันโลหิตลดลง ทั้งยังทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วกว่าการฟังเพลงเร็ว หรือการนั่งพักในที่เงียบๆ นอกจากนี้การเลือกเพลงที่เหมาะสมยังช่วยผ่อนคลายความเครียด และลดผลกระทบจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย





    หมายเลขบันทึก: 663212เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2019 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2019 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (1)

    ดีค่ะ ผ่อนคลาย ได้ประโยชน์และเพลิดเพลินไปพร้อม ๆ กัน

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท