TEP Forum 2019 : 1. การเรียนรู้ที่แท้ ไม่ใช่ในห้องเรียนเท่านั้น


วันที่ ๘ - ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒  มีการประชุม TEP Forum 2019 ในหัวข้อ “ภาพใหม่การศึกษาไทย : New Education Landscape” ที่ห้องประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก    มีผู้เข้าประชุมราวๆ ๑ พันคน

TEP ย่อมาจาก Thailand Education Partnership    ชื่อไทยว่า ภาคีเพื่อการศึกษาไทย    เน้นความเป็นภาคีที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีอำนาจสั่งการ

TEP Forum ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ ๒   ปีที่แล้วผมเล่าเรื่อง TEP Forum 1 ไว้ที่ ()   และเล่าการประชุมหารือในกลุ่มภาคีของ TEP ที่ ()    

ติดตามกิจกรรมนี้ใน FB ได้ที่ ()

ที่จริงผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับชื่อการประชุม   ตรง “ภาพใหม่”    เพราะที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนั้นควรเน้น “กิจกรรม” หรือการลงมือทำของฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการช่วยกันยกระดับ ความเท่าเทียม คุณภาพ และประสิทธิภาพ (EQE – Equity, Quality, Efficiency) ของการศึกษาไทย       

ผมไปร่วมงานเพียงวันแรก ด้วยข้อจำกัดด้านครอบครัว    และด้านวัย  ที่ล่วงเลยวัยห้าว วัยลุยงานไปแล้ว    แต่แค่เพียงวันเดียวก็ได้เรียนรู้มากมาย    และทำให้ผมมีความหวัง ว่าคนไทยจะช่วยกันเปลี่ยนโฉม (transform) ระบบการศึกษาไทยได้แน่    ในลักษณะของการเปลี่ยนลึกเข้าไปในระดับ mindset ของสังคมไทย     

ไปร่วมงาน ๑ วันเต็ม ผมกลับมา “เคี้ยวเอื้อง” ได้อีกหลายวัน (หากมีเวลา) วันนี้ขอเคี้ยวเอื้องเรื่องบทบาทของครอบครัว     ที่กระตุกความคิดโดยคุณมิรา ชัยมหาวงศ์ ผู้เป็นแม่ของลูก ๒ คน ชายหญิง    ว่าพ่อแม่ต้องร่วมสร้าง “ความฉลาด” ให้แก่ลูก   

คุณมิราเลือกแนวทางสุดโต่ง คือให้ลูกสองคนชายหญิงเรียนแบบ โฮมสคูล    โดยพาลูกออกเรียนรู้ในโลกกว้าง จากชีวิตจริง    ให้ลูกผู้เกิดมาและเติบโตในสังคมเมือง ได้ออกไปเรียนรู้ในชนบทป่าเขา     และผมตีความว่า คุณมิราทำหน้าที่เอื้อต่อการพัฒนาสมองของลูก    ช่วยให้ลูกทั้งสองได้พัฒนาการเชื่อมโยงใยประสาทในสมองของตน ได้อย่างทรงพลัง

เพราะลูกชายและลูกสาวของคุณมิราได้เรียนรู้จากสัมผัสของตนเอง ตีความจากประสบการณ์จริง สร้างความรู้ใส่ตน ด้วยตนเอง     ไม่ใช่จากการรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปจากผู้อื่น    การเรียนรู้จากสัมผัสตรง จะให้ความตื่นเต้น ตื่นตัว เร้าอารมณ์ จะจำได้ไม่มีวันลืม อย่างที่เรียกว่า “ประทับใจ”    เช่น เมื่อลูกชายดมขี้ช้าง (ดูรูป)   

แต่การไปสัมผัสประสบการณ์ตรงจะให้ผลการเรียนรู้ที่ตื้น หากเด็กไม่ได้รับ scaffolding, coaching, หรือ           facilitation ที่ดี    เพื่อโยงเข้าสู่ความหมายที่ลึกและเชื่อมโยงของสิ่งที่ได้สัมผัส    โดยการชวนตั้งคำถาม  แล้วแนะวิธีให้เด็กหาคำตอบเอง    เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวและไกลตัว    ท่านผู้อ่านลองจินตนาการดูนะครับ ว่าพ่อแม่ ครู หรือผู้ใหญ่ ที่พาเด็กเข้าป่าไปสัมผัสขี้ช้าง     จะตั้งคำถามให้เด็กเรียนครบ ๘ หน่วยสาระได้อย่างไร   

คุณสำเริง เชยชื่นจิตร แห่งจังหวัดพิจิตร ไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม    แต่เตรียมเอกสารมาให้ผมโดยเฉพาะ เรื่อง  “ชาวนาน้อยกับการศึกษายุคที่ ๓”   เล่าเรื่องราวสั้นๆ ว่าต้องการพัฒนา co-learning space ของเด็ก โดยเชื่อมพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน โรงเรียน และพื้นที่สาธารณะ   ในพื้นที่ ๖ อำเภอของจังหวัดพิจิตร  และ ๑ พื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ()    อยากได้รับการสนับสนุน    ผมเอาเอกสารมาทำความเข้าใจต่อที่บ้าน     ทำให้ได้เห็นว่า ในท่ามกลางความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทย    คนไทยได้ลุกขึ้นมาช่วยกันยกระดับการเรียนรู้ของเยาวชนไทยอย่างไรบ้าง     ในหลากหลายบริบท หลากหลายวิธีการ

ช่วยให้ผมได้อ่านระหว่างบรรทัด    ว่าคนไทยทั่วไปมีมุมมองต่อสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา” อย่างไร    และ “การศึกษา” ได้เป็นเวทีเอื้อต่อการแสดงออกของบุคคล กลุ่ม และองค์กร อย่างไร    ไปถึงตัวเด็กแค่ไหน อย่างไร  

“ไปถึงตัวเด็กแค่ไหน อย่างไร” เป็นเรื่องซับซ้อนมาก    ในมิติหนึ่งของความซับซ้อน เป็นเรื่องของ “กิเลสของผู้ใหญ่บังตัวเด็ก”    คือ ผู้ใหญ่ที่มาร่วมกันพัฒนาเด็ก เผลอทำเพื่อตัวเอง มากกว่าทำเพื่อเด็ก    กล่าวแรงๆ ว่า อาศัยเด็กบังหน้า ทำเพื่อความเด่นดัง หรือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของตัวเด็ก     ผมคิดว่า ระบบการศึกษาไทยติดหล่มนี้ลึกมาก    และผมหมั่นเตือนตนเอง ให้มีสติตรวจสอบตนเอง ว่าตัวเองตกหล่มนี้หรือไม่  

กลับมาที่คุณสำเริง เชยชื่นจิตร เอกสารที่ผมได้รับมาบอกว่า โครงการชาวนาน้อย ดำเนินการอย่างเป็นระบบมาก () และดำเนินการมาต่อเนื่อง ๕ ปี    ระบุเป้าหมายการเป็น co-learning space ชัดเจนมาก    ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ที่น่ายกย่อง    และน่าเข้าไปสนับสนุน    โดยที่สนับสนุนได้หลากหลายแบบ    การสนับสนุนที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ เข้าไปทำความรู้จักกิจกรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น    และช่วยประเมินผลกระทบว่าเด็กได้อะไร ไม่ได้อะไรบ้าง    หากจะให้เด็กได้มากกว่านี้ ควรปรับวิธีดำเนินการอย่างไร  

โครงการชาวนาน้อย ที่คุณสำเริงทำ เป็นบทบาทของภาคประชาชน ประชาสังคม    ต่อการเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่

ใคร่ครวญสะท้อนคิดมาถึงตรงนี้    ผมก็นึกออก ว่ากิจกรรมที่ TEP Partner ควรดำเนินการไปสู่ TEP Forum 3 ในปีหน้าคืออะไร   

คือ Inter-TEP-Forum KM ครับ 

ทำโดยมีทีม ไป “จับภาพ” กิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน   ที่ดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย   นำมาเผยแพร่ในวงกว้าง    รวมทั้งนำมาให้ คณะที่ปรึกษา ช่วยแนะนำว่า น่าจะพัฒนากิจกรรมนั้นๆ ให้ก่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กให้ทรงพลังยิ่งขึ้นได้อย่างไร

สมมติฐานที่ยืนยันใน TEP Forum 2 คือ    ในสังคมไทยมี Change Agent มากมายหลากหลายกลุ่ม    ที่ดำเนินการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ให้แก่เด็ก    หากมีการเชื่อมและเสริมพลังให้แก่ Change Agents เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพพลเมืองไทยในอนาคตอย่างมหาศาล    และ Inter-TEP-Forum KM คือเครื่องมือหนึ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการ       

ภาคีของ TEP จะประชุมกันทุกเดือน ที่มูลนิธิสดศรีฯ    ผมจึงส่งบันทึกนี้ให้แก่คุณชลลดา แห่งมูลนิธิสดศรี    และคุณเปาแห่งมูลนิธิสยามกัมมาจล    ให้นำข้อเสนอนี้เข้าที่ประชุม TEP ด้วย     น่าจะต้องการงบประมาณราวๆ ปีละ ๑๐ ล้านบาท เพื่อทำงานนี้   

วิจารณ์ พานิช

๙ มิ.ย. ๖๒

1 เจ็ดทิศทางหลักเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงการศึกษา

2 คุณมิรา ชัยมหาวงศ์

3 ห้องเรียน ของลูกคุณมิรา

4 บทเรียน ที่จะจำไม่รู้ลืม

หมายเลขบันทึก: 663086เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2019 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2019 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สำเริง เชยชื่นจิตร

ขอบพระคุณ คุณหมอวิจารณ์มากครับ ที่นำเรื่องราวของCo Learning Space เล็กๆของชาวนาน้อย ที่ยังคงทำงานตามแนวทางการเชื่อมประสานการเรียนรู้ร่วมกันของเรามาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เรากำลังปรับภูมิทัศน์สพื้นที่เชื่อมประสานการเรียนรู้ร่วมกันทั้งที่บ้านดิน และที่ทุ่งนาด้วยครับ และกำลังผลิตคอนเท้นท์ด้านสื่อวีดีโอเพื่อเชื่อมโยงกับโลกออนไลน์ให้ได้มากขึ้น ในยุคโควิดสิ่งที่เราคิดเราทำมาได้ทำให้เห็นผลหลายอย่างที่ชัดเจนมากขึ้น ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท