ชีวิตที่พอเพียง 3169. ภาคีเพื่อการศึกษาไทย



  วันที่ 2 เมษายน 2561  ผมไปร่วมประชุม ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP - Thailand Education Partnership) ครั้งที่ 1 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์   โดยคณะกรรมการชุดนี้มี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน  นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ (ในฐานะตัวบุคคล ไม่ใช่ในตำแหน่งรัฐมนตรี) เป็นรองประธาน

   ภาคีนี้มีพันธกิจ 2 อย่าง

    (1) สร้างเครือข่ายและพื้นที่การทำงานร่วม (Network & Platform) สำหรับองค์กร หน่วยงาน บุคคล ที่พัฒนาการศึกษา  เพื่อให้เกิดการสานพลังพัฒนาการศึกษาไทยอย่างเป็นขบวนการ

    (2) เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม (social paradigm movement)   เพื่อนำไปสู่การมีเป้าหมายร่วม    และการนำแนวคิดใหม่ไปใช้ในระบบการศึกษา  


ท่านนายกฯ อานันท์ เล่าเรื่องชีวิตของตนเอง  ที่คุณพ่อเป็นครู  เคยเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ    แต่ไม่เคยสอนลูก   รับฟังลูก   เวลาลูกขอคำปรึกษาก็แนะนำวิธีคิด ให้ตัดสินใจเอง    คำพูดที่ยิ่งใหญ่ของท่านในวันนี้คือ “กระทรวงศึกษาต้องไม่เป็นเจ้าของการศึกษา   ไม่เป็นเจ้าของ โรงเรียน   เจ้าของคือผู้ปกครอง  นักเรียน  และพื้นที่”    

ต้องยึดถือว่าความแตกต่างเป็นกำลัง (diversity is strength)    

ภาคีเพื่อการศึกษาไทย  ต้องเน้นการลงมือทำ เพื่อให้เด็กไทยคิดเป็น  กล้าทำ  กล้าเผชิญความล้มเหลว ไม่ท้อเมื่อเผชิญความล้มเหลว     อย่าสร้างเด็กให้เป็นแบบเดียวกันหมด (stereotype)  


คุณมีชัย วีระไวทยะ  เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุน partnership school  ให้เอกชนบริหารโรงเรียนรัฐ    ให้มีโรงเรียนเตรียมอนาคต   โรงเรียนเตรียมพยาบาล  ฯลฯ    กระทรวงศึกษาธิการเปิดโอกาสให้เอกชนบริหาร  ลดภาษี 2 เท่า    ตนร่วมกับ ศ. ดร. เทียนฉาย ยกร่าง พ.ร.บ.    ผมกระซิบบอกคุณมีชัยว่า น่าจะใช้ชื่อไทยว่า โรงเรียนร่วมราษฎร์รัฐ  

การประชุมวันนี้ เป็นการขอความเห็นจากที่ประชุมใน ๓ ประเด็น คือ  (๑) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภาคีเพื่อการศึกษาไทย  (๒) เวทีภาคีเพื่อการศึกษาไทย ๕ - ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ Thai PBS   และ (๓) แนวทางการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา  


ที่จริงการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทยเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายกลุ่มผู้ก่อการดี ตัวอย่างเช่น Area-Based Education ใน ๑๕ จังหวัด ดำเนินการโดย สสค. และ สกว., เครือข่ายโรงเรียนบันดาลใจ,    ซึ่งหมายความว่า ๒๐ ภาคีก่อตั้ง ภาคีเพื่อการศึกษาไทย  มีกิจกรรมที่ต่างก็ดำเนินการขับเคลื่อนอยู่แล้ว    การมารวมตัวกันก็เพื่อให้เกิดการรวมพลัง และเปิดให้ภาคีอื่นๆ เข้ามาร่วม   ให้มากและหลากหลายขึ้น    โดยมีเป้าหมายหลัก ๒ ประเด็น  (๑) เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ขนาดใหญ่  (๒) เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง   

จากการเสวนาในที่ประชุม ยุติได้ชัดเจนว่า TEP เน้นขับเคลื่อนการเปลี่ยนค่านิยมว่าด้วยการศึกษา ของคนไทย  


โดยที่ท่านนายกอานันท์ชี้ว่า ภาคีเพื่อการศึกษาไทย ควรเน้นรูปธรรมของการดำเนินการ    อย่าหลงวนเวียนอยู่ที่นามธรรมหรือทฤษฎี    และเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องให้เป็น “วิวัฒนาการ” (evolution)    ไม่ใช่ revolution   ซึ่งหมายความว่าต้องใช้เวลา    และไม่ใช่เป็นการสร้างระบบ แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการที่ระบบที่ดีจะก่อตัวขึ้น  


นพ. ธีระเกียรติ ออกความเห็นว่า “ระบบการศึกษา” ไม่มี    มีแต่กฎหมายการศึกษา เพื่อเอื้อพื้นที่ให้เกิดวิวัฒนาการของการศึกษา      


ผมเห็นด้วยกับผู้ให้ความเห็นหลายท่านว่า    นอกจากยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยทั้งแผงแล้ว    ยังควรเน้นลดความเหลื่อมล้ำด้านผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของเด็กต่างกลุ่ม ต่างบริบท          


เวทีภาคีเพื่อการศึกษาไทย

ทพ. กฤษดา เรืองอารีรัชต์ เป็นผู้เสนอ   มีหัวข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๗ ประการ

  • เปลี่ยนการศึกษาในพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
  • เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นที่สร้างแรงบันดาลใจ
  • เปลี่ยนครูให้เป็นผู้ค้นหาและส่งเสริมศักยภาพของเด็ก  
  • เปลี่ยนนักเรียนให้สามารค้นพบศักยภาพและเป้าหมายของตนเอง
  • เปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นผู้หนุนเสริมกำลังใจ
  • เปลี่ยนระบบพัฒนาเด็กปฐมวัย
  • เปลี่ยนเขตการศึกษาเป็นพื้นที่สร้างนวัตกรรม

๗ ประเด็นนี้คือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา    และผมเชื่อว่า สังคมไทยเรามี “สะเก็ด” การดำเนินการดีๆ อยู่แล้ว    หากนำมา “จัดการความรู้” จะสามารถต่อยอดขยายผลได้อีกมากมาย  

ผู้ที่ให้ความเห็นเรื่องนี้อย่างมียุทธวิธีที่สุดในสายตาของผมคือ นพ. สุภกร บัวสาย  ที่เสนอให้เชิญทีมมาจากจังหวัด  มาร่วมประชุม   หลังการประชุมเขาจะได้กลับไปดำเนินการได้จริงจัง   เพราะสมาชิกทีมเกิดแรงบันดาลใจและเกิดความเข้าใจร่วมกัน   

ท่านนายกฯ อานันท์ แนะนำให้ชวนสื่อมวลชนเข้าร่วมให้มากๆ เพื่อนำไปเผยแพร่    เป็นการสื่อสารเรื่องดีๆ แทนที่ “มลพิษทางสื่อ” (คำของท่านเอง)

ทีมงานจัดการประชุมขอให้ นพ. ธีระเกียรติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  แจ้งให้ผู้บริหารในกระทรวงเข้าร่วม    หลังจาก นพ. ธีระเกียรติท้วงว่าทำไมไม่มีระบุเชิญผู้บริหารในกระทรวงฯ เข้าร่วม   

 

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผู้นำเสนอเรื่องนี้คือ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ    นี่คือ sandbox ด้านการจัดการพื้นที่การศึกษาแบบใหม่   ซึ่งจากการต่อรองอย่างเข้มข้นกระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบ ๑ จังหวัด คือระยอง    แต่ TEP ขอเพิ่มศรีสะเกษ ด้วย  

 

ผมนั่งฟังอย่างตั้งใจอยู่ตลอดเวลา ๓ ชั่วโมงเต็ม    หลังจากกลับมาที่บ้าน ก็ AAR กับตนเองว่า “พื้นที่การศึกษาของประเทศวุ่นวายจริงหนอ”    “พื้นที่” ในที่นี้หมายถึง space    “พื้นที่การศึกษา” หมายถึง education space ของประเทศ    เป็นพื้นที่จอแจวุ่นวาย   แถมยังเป็น “พื้นที่แห่งผลประโยชน์”  

ผมตีความว่า กรรมการของ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย บางท่านเรียนและทำงานด้านการศึกษาทางเลือกมาตลอดชีวิต    เป็นเวลากว่าสี่สิบปี    ท่านจึงมีมุมมองว่า ที่ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย จะทำนั้น    เขาทำกันมานานแล้ว    มีเรื่องราวความสำเร็จที่เป็นตัวอย่างได้    กิจกรรมของ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย จึงควรเข้าไปทำให้เรื่องราวดีๆ เหล่านั้นมีที่ยืนในระบบการศึกษา

ท่านที่มาจากสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า ก็เน้นให้สร้างแรงงานคุณภาพที่ตนต้องการ    ดีที่ท่านนายกฯ อานันท์ คอยเตือนสติ ว่าเป้าหมายการศึกษาต้องหลากหลาย    ไม่ใช่สร้างหุ่นยนตร์

ท่านที่มาจากโรงเรียนเอกชน (อ. เพชรชุดา เกษประยูร) ก็ได้ชี้ว่า  ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาอำนาจรัฐด้านการศึกษาได้ดำเนินการลดบทบาทของโรงเรียนเอกชน   พร้อมๆ กับขยายงบประมาณของรัฐด้านการศึกษาขึ้น ๒.๕ เท่า     จากปีละ ๒ แสนล้าน เป็น ๕ แสนล้าน    และยังกำลังทำลายโรงเรียนเอกชนอย่างต่อเนื่อง     เวลานี้โรงเรียนเอกชนสายสามัญดูแลนักเรียนประมาณ ๒.๒ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒๒ ของทั้งประเทศ    หากรวมสายอาชีวะอีก ๓ แสนคน ก็เป็น ๒.๕ ล้านคน  

เวทีนี้ สำหรับผม เป็นเวทีประเทืองปัญญา ที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นที่ลึกซึ้งมาก    หลายเรื่องผมไม่รู้มาก่อนเลย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้แก่สังคมไทยสมัยรัฐบาลอานันท์ ๑ และ ๒   คือเปลี่ยนประเทศไทยจากแหล่งประกอบรถยนต์ เป็นแหล่งผลิต    เปลี่ยนระบบเชื้อเพลิงรถยนต์จากน้ำมันเติมสารตะกั่ว เป็นไร้สารตะกั่ว   

นพ. ธีระเกียรติ เตือนว่า ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอังกฤษที่ท่านทำงานอยู่ การเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารโรงเรียน การบริหารการศึกษา มีผลทำให้ผู้บริหารรวยขึ้น    แต่คุณภาพการศึกษามักต่ำลง    สภาพนี้เกิดขึ้นชัดเจนในประเทศไทย

ส่วนหนึ่งผมตีความว่า เกิดจากการบริหารระบบแบบที่ปราศจากการวิจัยเชิงระบบ เชิงนโยบาย สำหรับเอามาปรับประเด็นที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน    ระบบการศึกษา (และระบบอื่นๆ) ต้องการการจัดการระบบแบบ evidence-based    การวิจัยแบบ evidence synthesis ด้านระบบการศึกษาจึงจำเป็นยิ่งสำหรับประเทศไทย    และภาคีของ TEP  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สกว. ควรพิจารณาส่งเสริม   โดยมีตัวแบบอยู่ที่ระบบสุขภาพ ที่ สวรส., IHPP, และ HITAP      

Systems evolution ที่เป็น man-made ต้องการ evidence for decision-making   ไม่ใช่ตัดสินใจแบบใช้สามัญสำนึกอย่างที่นิยมทำกันในสังคมไทย

วิจารณ์ พานิช

๓ เม.ย. ๖๑


1 บรรยากาศในห้องประชุม

2 ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 647023เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท