สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๑๐. สร้างเจตคติเชิงบวก



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๑๐. สร้างเจตคติเชิงบวก  นี้เป็นบันทึกที่ ๓ใน ๔ บันทึกภายใต้ชุดความคิดบวก(positivity mindset)    ตีความจาก Chapter 8 :  Build Positive Attitudes     

เป้าหมายของเจตคติเชิงบวกในที่นี้ เป็นเจตคติต่อผู้อื่น ไม่ใช่ต่อตัวเอง     โดยใช้เครื่องมือ ๓ ชิ้นคือ  (๑) สร้างความรู้สึกกตัญญูรู้คุณ  (๒) ทำงานบริการสังคม และทำกิจกรรมที่แสดงความเมตตากรุณา  (๓) มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และกำกับตนเอง

สร้างความรู้จักกตัญญูรู้คุณ

มีผลงานวิจัยในเด็กวัยแรกรุ่นในสหรัฐอเมริกา ว่าการฝึกความรู้จักกตัญญูรู้คุณ ช่วยให้ระดับการมองโลกแง่ดีที่ตนเองประเมิน (self-reported optimism) สูงขึ้น  ความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น  และลดความคิดด้านลบ    และข้อค้นพบที่มีน้ำหนักที่สุดคือ ความพึงพอใจต่อประสบการณ์ที่โรงเรียนเพิ่มขึ้น  

มีผลงานวิจัยบอกว่า การฝึกความรู้จักกตัญญูรู้คุณ ช่วยสร้างการเชื่อมต่อใยประสาท ที่ช่วยปกป้องความเครียดและความคิดเชิงลบ   

ความมีกตัญญูรู้คุณ เป็นทั้งเรื่องส่วนบุคคล และเรื่องทางสังคม    เมื่อเราแสดงความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อคนที่เราคบ ความสัมพันธ์จะแน่นแฟ้นขึ้น   

เนื่องจากนักเรียนมักยังไม่มีทักษะนี้ กุศโลบายง่ายๆ คือจัดให้นักเรียนแต่ละคนมี “บัญชีคลังอารมณ์” (emotional bank account)  ซึ่งมีรายการต่อไปนี้  

  • ทำความดีและมีคนเห็น
  • ได้รับการสนับสนุนในความพยายามหรือกลยุทธ
  • ได้รับคำชมในเรื่องเจตคติ
  • ช่วยเหลือผู้อื่น
  • ได้รับความชื่นชมในการช่วยเหลือ
  • มีความสำเร็จในการพัฒนางาน
  • เฉลิมฉลองชัยชนะของชั้นเรียน

ให้นักเรียนแต่ละคนลงบัญชีฝากธนาคาร    เพื่อจะได้มีสติระลึกถึงความกตัญญูรู้คุณ   โดยเริ่มที่ครูทำเป็นตัวอย่าง    ครูแชร์ความรู้สึกขอบคุณที่ตนสุขภาพดี  มีครอบครัวดี  มีงานดี  มีเพื่อนดี  อากาศดี ฯลฯ    หลักการคือ เด็กๆ ต้องการให้ผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่าง   

เขาแนะนำหลักการ (ที่ได้จากงานวิจัย) ในการพัฒนาความกตัญญูรู้คุณ ดังนี้

  • ให้เป็นเรื่องของบุคคล    เขาแนะนำว่าการโฟกัสความกตัญญูรู้คุณไปยังบุคคล ให้ผลต่อการพัฒนาจิตใจสูงกว่าโฟกัสไปที่สิ่งของ  
  • เริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย    ทำโดยเขียนบันทึกส่วนตัว หรือบันทึกของชั้นเรียน    กำหนดเป้าหมายเชิงบวก เชิงรู้คุณ
  • เน้นความลึกมากกว่าความกว้าง    โฟกัสที่เรื่องเดียว เพ่งพินิจลงรายละเอียด    ให้ผลดีกว่าทำหลายๆ เรื่อง
  • ใช้จินตนาการ    จินตนาการและใคร่ครวญสะท้อนคิด ว่าชีวิตของตนจะเป็นอย่างไร หากไม่มีเหตุการณ์บางอย่างที่ก่อผลดี  
  • ใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อเรื่องดีๆ ทุกสัปดาห์    มีผลงานวิจัยบอกว่า การเขียนบันทึกสะท้อนคิดเชิงรู้คุณรายสัปดาห์  ให้ผลดีกว่าเขียนทุกวัน    เขาอธิบายว่า การทำทุกวันอาจก่อความเคยชิน

หลังจากนักเรียนคุ้นกับการแชร์ความรู้สึกรู้คุณทุกวัน   ผสมผสานวิธีการโดยใช้ ๕ แนวทางต่อไปนี้

  1. 1. แชร์กับเพื่อนคู่หูคนหนึ่ง  
  2. 2. เขียนบันทึก
  3. 3. เริ่มจากเล็ก    เริ่มจากแชร์เรื่องเล็กๆ
  4. 4. แชร์ในวง    แชร์ในวงเล็กๆ    หลังจากแต่ละคนพูด  สมาชิกของวงคนอื่นๆ กล่าวขอบคุณ
  5. 5. ทำโปสเตอร์  โดยร่วมกันทำกับเพื่อนหรือทีมเล็กๆ ติดไว้ในห้อง    หรืออาจทำเป็นโปสเตอร์ที่เพิ่มเติมภายหลังได้    ผู้ร่วมทำทุกคนลงชื่อในโปสเตอร์ 

ให้นักเรียนทำกิจกรรมนี้วันละ ๕ - ๗ นาที    ๓ ครั้งต่อสัปดาห์    เป็นเวลา ๒ - ๖ เดือน    โดยค่อยๆ เพิ่มความซับซ้อนหรือความท้าทาย เพื่อไม่ให้นักเรียนเบื่อ  

ทำงานบริการสังคม และทำกิจกรรมที่แสดงความเมตตากรุณา

มีผลงานวิจัยยืนยันว่า การกระทำที่แสดงความมีเมตตากรุณา ที่ทำทุกวัน มีผลสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อชีวิตของผู้ให้และผู้รับ    ผู้ให้รู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้น    โครงการสร้างบุคลิกที่ดีให้แก่เด็ก มีกลยุทธง่ายๆ ในการทำให้เด็กมีเป้าหมายเป็นผู้ให้ (net giver) มากกว่าเป็นผู้รับ (net taker)   

ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า ความสุขจะพุ่งสูงมาก เมื่อมีการกระทำเพื่อผู้อื่น ๓ - ๕ ครั้งต่อวัน    สูงกว่าทำวันละครั้งทุกวัน    เขาจึงแนะนำให้มี ๑ วันในสัปดาห์ ที่นักเรียนได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือแสดงความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นอย่างเข้มข้น  

      งานบริการสังคม

             การทำงานบริการสังคม เป็นการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น    นักเรียนจะสนใจทำเพราะตนเอง (๑) รู้สึกดี   (๒) รู้สึกว่าตนมีความสามารถ  (๓) รู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น 

             ครูสามารถหาข่าวหรือข้อมูลจากแหล่งที่หลากหลาย  สำหรับนำมาคิดกิจกรรมให้นักเรียนทำ    เช่น 

  • ข่าวท้องถิ่น หรือระดับประเทศ    หากิจกรรมที่มีอยู่แล้ว และเมื่อทำแล้วมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
  • กิจกรรมของสวนสาธารณะ ชายหาด หรือแม่น้ำลำธาร    เพื่อจัดการด้านสภาพแวดล้อม  รวมทั้งจัดการด้านบริการผู้มาพักผ่อน
  • สถานดูแลคนชรา  หรือผู้ป่วยเรื้อรัง    อาจให้นักเรียนช่วยทำความสะอาดสถานที่  ทำความสะอาดร่างกาย  หรือทำหน้าที่คล้าย care giver  
  • กิจกรรมช่วงเทศกาล   เช่นช่วงเทศกาลปีใหม่  เทศกาลสงกรานต์  นักเรียนอาจทำงานอาสาด้านช่วยเหลือผู้เดินทาง  ช่วยเหลือด้านการจราจร  ด้านช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ  หรือช่วยบริการในสถานที่ท่องเที่ยว 

              ครูควรศึกษาแนวทางของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ซึ่งผมได้เขียนบันทึกไว้ที่  https://www.gotoknow.org/posts/tags/ฉือจี้    ซึ่งหลักการสำคัญคือ ผู้ให้ต้องขอบคุณผู้รับ    และต้องทำกิจกรรมที่แสดงเมตตากรุณาต่อผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ ตามที่ตั้งปณิธานไว้    และมีการจดบันทึก    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า ในบันทึกควรบันทึกการสะท้อนคิดความรู้สึกของตน    

      ทำกิจกรรมที่แสดงความมีเมตตากรุณา

            มีผลการวิจัยบอกว่า การให้นักเรียนประถม ทำกิจกรรมที่แสดงความเมตตา ๓ ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา ๔ สัปดาห์ มีผลให้เพื่อนยอมรับนักเรียนผู้นั้นมากขึ้น  และมีผลสะท้อนต่อเนื่อง ทำให้นักเรียนผู้นั้นมีความประพฤติดีขึ้น   

            ในนักเรียนชั้นมัธยม พบว่าการให้นักเรียนทำกิจกรรมที่แสดงความเมตตาทุกวัน  ทำให้นักเรียนมีความประพฤติดีขึ้น  และผลการเรียนดีขึ้น

            การให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่แสดงความเมตตาเป็นเรื่องง่าย    ทำได้โดยให้ทำกิจกรรมสองอย่างนี้ 

            สามมนตรา

                เป็นมนตราถ้อยคำ ๓ คำคือ ให้เกียรติหรือเคารพ (respect)  เห็นพ้อง (agree)  และชื่นชม (appreciate)     โดยมีตัวอย่างการใช้มนตราของครู  เมื่อนักเรียนเริ่มโต้แย้งกัน

  • ครูแทรกแซงโดยกล่าวคำว่า “ครูเคารพสิทธิในการความคิดเห็นที่แตกต่างกันของนักเรียน ...”
  • และอาจกล่าวต่อว่า “ครูเห็นพ้องกับการมีแนวความคิด ...”
  • ในตอนท้ายครูอาจกล่าวว่า “ครูชื่นชมที่นักเรียนทำงานนี้อย่างจริงจัง  การเอาความคิดเห็นที่แตกต่างมาตีความ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ เป็นสิ่งมีค่ายิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียน”  

          จะสังเกตว่า ถ้อยคำสามคำนี้ ช่วยสร้างบรรยากาศของการรับฟัง และเข้าใจความคิดของผู้อื่น    เพราะครูแสดงท่าทีรับฟัง 

          รายการกิจกรรมเอื้อเฟื้อ

                ครูส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละคนจัดทำรายการกิจกรรมที่แสดงความเอื้อเฟื้อ ที่ตนตั้งใจจะทำ    เอาไว้เตือนใจ  ตัวอย่างเช่น

  • ระหว่างรอคิว ให้เพื่อนที่รีบร้อนได้ลัดคิวก่อน
  • แบ่งปันอาหาร ขนม ภาพยนตร์ หรือเพลง
  • ช่วยเพื่อนซ่อมของ
  • ช่วยเพื่อนทำการบ้าน
  • ช่วยยื่นทิชชูให้เพื่อน เมื่อเพื่อนจาม

                ส่งเสริมให้นักเรียนเล่าเรื่องราวของการแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อ    ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้นักเรียนมีความสุข  ยังจะสร้างวัฒนธรรมของโรงเรียน ที่สมาชิกมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน ในระยะยาว

พัฒนาความรับผิดชอบต่อตนเอง และกำกับตนเอง

นี่คือการฝึกนักเรียนให้เป็นคนไม่ดูดาย    เมื่อเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ และตนอยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ ก็ไม่ดูดาย ไม่หลีกเลี่ยง    มีคำกล่าวว่า ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต ไม่ได้ขึ้นกับว่าต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อตัวเรา    แต่ขึ้นกับตัวเราทำอะไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น   ซึ่งเป็นคำพูดที่ส่งเสริมให้ผู้คนสร้างตัวจากการกระทำของตนเอง    ไม่รอโชคช่วย  

ต่อไปนี้เป็นเครื่องมือ ๕ ชิ้น ที่ช่วยให้นักเรียนฝึกเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง

     กำกับสมองของตนเอง

            ฝึกนักเรียนให้มีทักษะต่อไปนี้

  • ทักษะลดความเครียด (มีรายละอียดในตอนที่ ๑๘)
  • ทักษะเลี่ยงความยั่วยวน  (เหความสนใจ  เลี่ยงไปให้ห่าง   รู้จักปฏิเสธ) 
  • วิธีจัดการความรู้สึกไม่พอใจ (ระบายกับเพื่อนสนิท  ออกกำลังกาย  เขียนระบายความรู้สึก  หรือใคร่ครวญสะท้อนคิดหาทางรอมชอม)
  • วิธีจัดการคำแนะนำป้อนกลับเชิงลบ   โดยฝึกให้เขียนบอกความรู้สึก  และฝึกพูดขอคำแนะนำว่าควรปรับปรุงอย่างไร   ซึ่งเป็นทักษะแปรลบเป็นบวก 
  • วิธีทำกิจกรรม “คุยกับตัวเองเชิงสร้างสรรค์” (constructive self-talk)    โดยครูทำเป็นตัวอย่าง    และมอบการบ้านรายสัปดาห์ให้ทำเป็นคู่ร่วมกับเพื่อน    ตัวอย่างข้อเขียน เช่น “ฉันเรียนตก   จะต้องเร่งให้ทันเพื่อน   จะต้องเริ่มเปลี่ยนนิสัยตั้งแต่เดี๋ยวนี้”  “ฉันลืมทำการบ้าน   ฉันควรจดไว้   ต่อไปนี้ฉันจะจดสิ่งที่ต้องทำไว้กันลืม”  “วันนี้ฉันทะเลาะกับเพื่อนในเรื่องไม่เป็นเรื่อง โดยฉันเป็นผู้ก่อ   ต่อไปฉันจะมีสติ ไม่แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวต่อผู้อื่น”  

การกำกับสมองของตนเอง อาจทำได้โดยผ่านการกำกับตนอง (self-regulation)     โดยให้นักเรียนฝึกทักษะต่อไปนี้   

  • ไม่หุนหันพลันแล่น
  • มองคนอื่นในแง่ดี
  • สังเกตนานๆ
  • เรียนจากข้อผิดพลาด
  • ทำตามที่ผู้ใหญ่ขอร้อง  อย่างเหมาะสม
  • รอคอยสิ่งที่ดีกว่า
  • จัดการความเครียด
  • จัดการความคิดลบของตนเอง
  • อดกลั้น ไม่โกรธง่าย
  • คิดก่อนทำ
  • ทำความเข้าใจสถานการณ์

     เรียนจากตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริง

             ครูแชร์ตัวอย่างจากเรื่องจริง หนังสือ หรือคำคม กับนักเรียน    ให้นักเรียนได้ตระหนักว่า การพัฒนาความรับผิดชอบต่อตนเอง กำกับตนเอง เป็นทักษะชีวิต    ที่ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต

      สร้างกรอบความคิดเชิงบวก

            ฝึกทักษะให้นักเรียนเปลี่ยนจากกรอบความคิดลบเป็นความคิดบวก    เช่น แทนที่จะคิดว่า “ชีวิตบัดซบ”  เปลี่ยนเป็นคิดว่า  “วันนี้เป็นวันซวย”   แทนที่จะคิดว่า “ฉันมันโง่”  เปลี่ยนเป็น “ฉันตอบข้อทดสอบนี้ได้ไม่ดี”   ครูควรสอนนักเรียนให้ไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องร้ายๆ 

       จัดการความคิดเชิงลบอย่างสร้างสรรค์

            ครูจัดทำโปสเตอร์ “สิ่งที่ควรทำห้าขั้นตอน เมื่อทำงานไม่สำเร็จ” ติดไว้ในห้องเรียน   ดังนี้  (๑) หายใจยาวๆ  (๒) บอกตัวเองว่า “ฉันทำได้”  (๓) เขียนรายการ ๓ อย่าง ที่จะทำต่างจากเดิม  (๔) ลองทำวิธีที่เลือกว่าดีที่สุดใน ๓ ทางเลือก  (๕) ประเมินผล แล้วเดินหน้าต่อ หรือย้อนกลับไปที่ขั้นตอนที่ (๑)

            จงอย่าตำหนินักเรียน เพราะเด็กจะไม่ได้เรียนรู้   อย่าบอกเด็กว่าให้ (หรือห้าม) ทำโน่นทำนี่    ให้แนะนำวิธีแสดงพฤติกรรม   เช่นแนะนำนักเรียนที่กำลังสับสนหรือไม่พอใจ ให้พูดว่า “ผม (หรือหนู) ขอโทษที่ทำผิดพลาด  แต่ผมไม่รู้ว่าจะทำในแนวทางอื่นได้อย่างไร   กรุณาช่วยแนะนำ    กรุณาบอกวิธีการที่ถูกต้อง    อย่าเพียงบอกว่าที่ผมทำนั้นผิด”      

       เลือกการต่อสู้

             สอนนักเรียนว่า อย่าทะเลาะ หรือโต้แย้งกับคนที่กำลังโกรธ    โดยครูทำเป็นตัวอย่าง  เมื่อศิษย์เกเรบางคนอาละวาด ครูพูดว่า “ครูเคารพข้อคิดเห็นของเธอ และชื่นชมที่เธอมีความคิดของตัวเอง    ที่พูดมานี้ครูไม่รู้สึกว่าตัวเธอพูด    และครูต้องหาทางทำความเข้าใจ    เราหาเวลาคุยกันทีหลังจะดีกว่า    เพื่อให้การเรียนรู้ของเพื่อนๆ ในชั้นเดินต่อได้”    คำแนะนำคือ ให้หายใจเอาความคิดดีๆ ความคิดเชิงบวก เข้าไป    และหายใจเอาความเครียดออกไป    พึงมีสติว่า ครูและนักเรียนที่เหลือมีสิ่งที่สำคัญกว่ารออยู่

 วิจารณ์ พานิช

๒๐ เม.ย. ๖๒



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท