นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๙: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๒


นิสิตคนที่ ๒ ของการนิเทศวันนี้ ออกแบบการสอนเรื่อง "ระบบหมุนเวียนเลือด"  ผมพบว่าหนังสือที่ สสวท. ทำไว้นั้นดีมาก ๆ  แล้ว ทั้งด้านการอธิบายสาระสำคัญ กิจกรรม และแบบนำฝึก และนักเรียนก็มีหนังสือแบบนี้เพียงพอต่อการเรียนทุกคนได้อย่างสบาย จึงเป็นการง่ายสำหรับครูมากขึ้นสำหรับการออกแบบให้ง่าย โดยใช้สื่อที่มีอยู่แล้วเหล่านั้น

นิสิตออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ที่น่าจะเรียกว่า แบบ Jigsaw (จิ๊กซอว์)  ๓ กลุ่ม โดยเตรียมเนื้อหาและเอกสารขึ้น ๓ ชุด ๆ ละ ๑ หัวเรื่อง แบ่งนักเรียนเป็น ๓ กลุ่มด้วยการนับ ให้แต่ละคนศึกษาตามเอกสารที่กำหนดให้ แล้วกลับไปอธิบายให้เพื่อนฟังในกลุ่ม โดยใช้เทคนิคให้ช่วยกันทำแผนผังความคิด (Mind Mapping) ลงในกระดาษปลู๊ฟ ก่อนจะจบด้วยการนำเสนอ

  • ชอบมากที่สุดคือ  "พลัง" พลังในการสอนที่พุ่งออกมาจากภายใน (เหมือนผมจะเขียนเวอร์ไป แต่ผมสัมผัสได้) ผ่านออกมาทางท่วงทำนองพูด น้ำเสียงที่ดังฟังชัด ท่าทางประกอบการพูด ยกไม้ยกมือเป็นจังหวะกับเสียงสูงต่ำ ดัง ค่อย .... เป็นพลังที่สามารถดึงึความสนใจให้นักเรียนตั้งใจฟัง และมีส่วนร่วมกับเธอจนจบชั้นเรียนทีเดียว  

  •  "ทำไมต้องใช้กระดาษปลู๊ฟ"  ทำไมไม่ใช้กระดาษ A4 นิสิตต้องตอบคำถามนี้ให้ได้  กระดาษปลู๊ฟมีขนาดใหญ่ จึงมีกลไกในตัวในการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมสมองของคนในกลุ่มได้หลายคน
  • อย่างไรก็ดี พื้นที่กระดาษแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ขนาดรูปหรือตัวอักษรต้องใหญ่ไปด้วย ทำให้สัดส่วนพื้นที่ไม่ต่างจาก A4 มากนัก ดังนั้น หน้าที่อีกอย่างของมันคือ การนำเสนอให้คนอื่นรู้ได้ชัด แต่ก็ต้องคัดเอาเฉพาะคำสำคัญมาแสดง  และต้องการผู้อธิบาย... กระดาษปลู๊ฟ จึงเอื้อต่อการอภิปรายด้วย 
  • ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการการแลกเปลี่ยนหรือระดมสมอง และไม่ต้องการให้อภิปรายกัน กระดาษปลู๊ฟจะไม่ได้ทำหน้าที่ของมันเท่าที่ควร

  • การออกแบบการสอนที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหว ย่อมสร้างความสนุกได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ฝากไว้คิดและพิจารณาคือ ...
    • จงรักษาสมดุลระหว่างความสุขจากการเรียนรู้และความสุขจากความสนุกสนาน 
    • จงรักษาสมดุลระหว่างความท้าทาย แข่งขัน กับการแบ่งปัน ช่วยเหลือ ทำงานกันเป็นทีม 
  • ความจริง องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พัฒนามามากแล้ว หากเป๋น เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ครูวิทยาศาสตร์จะต้องพยายามมากกว่านี้ หาสื่อ ออกแบบกิจกรรม นำวิธีต่าง ๆ มาอธิบาย ...  แต่สมัยนี้ ครูวิทยาศาสตร์ที่รู้สึกว่าตนเองต้องเตรียมมาก สอนยาก รู้สึกว่าลำบากมาก  ผมมีความเห็นว่า ครูวิทยาศาสตร์เหล่านั้นสอนผิดวิธี ไม่ได้เอาสิ่งที่พัฒนามาแล้วอย่างดีมาใช้  ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์คน ก็คือเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีไอซีที ที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว  ... เช่น ถ้าจะสอนเรื่องระบบหมุนเวียนเลือด ก็แค่ใช้คลิปวีดีโอต่าง ๆ  ที่มีให้เลือกเต็มยูทูป  

  • สิ่งที่ครูวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทำได้ก็คือ สืบค้น เลือกสื่อที่เหมาะสม นำมาจัดการ ให้อยู่ในรูปที่เหมาะต่อนักเรียนไทยในแต่ละชั้นที่เราสอนที่สุด  เช่น ดาวน์โหลด ตัดต่อ ใส่เสียงบรรยาย ฯลฯ หรือแม้แต่ใช้ในการใช้ประกอบการอธิบายก็ได้  .... (ปัญหาคือภาษาอังกฤษ แต่จำเป็น เป็นเรื่องสำคัญที่ครูวิทย์จะต้องใช้ภาษาอังกฤษได้)
พยายามจะเขียนข้อสะท้อนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ให้นิสิตจำได้ว่าเราเคยคุยอะไรกัน จะได้มาดูกันในการนิเทศครั้งที่ ๒  


  • ครูวิทยาศาสตร์ คือ ครูผู้มุ่งปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์และฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน 
  • การออกแบบกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน ต้องแม่นยำไปเชื่อมโยงไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังได้  ...  ไม่ใช่หวังเพียงความ "สนใจ" แต่ต้องทำให้นักเรียนเกิดความ "สงสัย" ใคร่อยากรู้คำตอบด้วย 
  • รักษาสมดุลระหว่างความสุขจากการเรียนรู้และความสุขจากความสนุกสนาน  
  • ให้ความสำคัญและเวลากับการสะท้อนการเรียนรู้ของนักเรียน (Learning Reflection)
  • สอนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ควรจะง่าย ทันสมัย และไปถึงขั้นนำไปใช้  ... ส่วนการสอนให้เกิดทักษะ ต้องเป็นภาระของครูที่ต้องฝึกฝนตนเองมาก ๆ 
เชียร์ครับ สู้ต่อไป เพื่อประเทศไทยของเรา 


หมายเลขบันทึก: 662284เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2019 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2019 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์-เท่าที่ดูการประเมินผลการฝึกสอนนี่ทำได้ดีมากเกือบทุกข้อเลยนะครับ-ฝึกสนามจริงแบบนี้แล้วทำให้น้องๆ ได้ประสบการณ์ตรงมากมายเลยนะครับ-สุดยอดจริงๆ คร้าบ!!!!

ทำให้นึกย้อนอดีตไปเมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเลยจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท