สัมภาษณ์รับนิสิต "ครูวิทยาศาสตร์" ๒๕๖๒


หน้าที่อันภูมิใจยิ่งอย่างหนึ่งในบทบาทการเป็นอาจารย์ คือ การเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรสร้างครูวิทยาศาสตร์ เมื่อวาน (๑๓ มิ.ย. ๖๒) มีโอกาสได้ไปร่วมเป็นกรรมการสัมภาษณ์รับนิสิตที่ต้องการจะมาเรียนเป็นครูวิทยาศาสตร์ทั่วไป ในหลักสูตร กศ.บ. วิทยศาสตร์ทั่วไป เราตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบเจตคติเบื้องต้น ทักษะความถนัด และความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูวิทยาศาตร์หลายคำถาม ส่วนใหญ่เป็นคำถามที่ควรเก็บไว้แลกเปลี่ยนเฉพาะอาจารย์สัมภาษณ์ด้วยกัน แต่ก็มี ๒-๓ คำถาม ที่อยากจะแบ่งปันและชี้ให้เห็นบางอย่างที่น่าสนใจ  ดังนี้ครับ  

ถามเพื่อฝังเป้าหมายไว้ในใจก่อนเข้าเรียน 

เราต้องการจะตั้งคำถามนี้ไว้ในลักษณะ BAR ก่อนมาเรียน (หากเขาผ่านการคัดเลือก) ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว ถูกหรือผิด และแน่นอนว่า เราไม่ได้เอามาคิดพิจารณาเป็นคะแนนได้ตกอะไร แต่ต้องการจะฝังไว้ในใจเขา เพราะตลอด ๔ ปีต่อไปนี้เขาจะต้องฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ....มี ๒ คำถาม โดยตามต่อกันทันที ได้แก่ 

  • ครูที่ดีมีลักษณะอย่างไร ให้บอกโดยเรียงตามลำดับความสำคัญมา ๓ ประการ  
  • ครูวิทยาศาสตร์ที่ดี ต้องมีคุณลักษณะอย่างไร แตกต่างจากครูที่ดีสาขาอื่นอย่างไร 

สำหรับคำถามแรก นักเรียนส่วนใหญ่จะตอบทันทีว่า ครูที่ดีต้องเอาใจใส่นักเรียน ต้องรู้จักนักเรียน มีความรู้ดีในเรื่องที่จะสอน สามารถสอนให้นักเรียนเข้าใจได้ และเป็นแบบอย่างที่ดี  ส่วนคำถามที่ ๒ ส่วนใหญ่จะตอบว่า ต้องมีเหตุผล ไม่มีใครที่อธิบายความแตกต่างระหว่างครูวิทย์ฯ กับครูสาขาอื่นอย่างไร แต่ถ้าซักลึกต่อไป จะได้คำตอบว่า ต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์ดีกว่า 

ถามเพื่อตรวจสอบทักษะกระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ 

ทักษะพื้นฐานที่สำคัญของผู้ที่ควรเป็นครูคือ สามารถอธิบายได้ดีในเรื่องที่ตนเองมีความรู้ ส่วนหัวใจสำคัญของการเป็นครูวิทยาศาสตร์คือการเป็นผู้มี "จิตวิทยาศาสตร์" ผู้ที่มีจิตวิทยาศาสตร์คือมีทักษะกระบวนการและกระทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ (ผมเคยเขียนเสนอไว้ที่นี่)  การถามในขั้นตอนนี้จึงเป็นคล้าย ๆ กึ่งสัมภาษณ์นักเรียนไปด้วย ... ผมตีความจากคำตอบของนักเรียนส่วนใหญ่  ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้ 

  • นักเรียนไม่ค่อยได้เรียนแลป (ปฏิบัติการ) หรือทดลองในระดับมัธยมศึกษา ยกเว้นนักเรียนที่มาจากโปรแกรมพิเศษ ห้องเรียนพิเศษ หรือโรงเรียนที่เน้นไปทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ...  ผมเสนอว่า ต่อไปการคัดเลือกคนมาเรียนครูวิทยาศาสตร์ อาจมีการสอบภาคปฏิบัติ ก่อนจะมาสัมภาษณ์  เช่น รอบแรกข้อเขียน รอบสองทำแลป รอบสามสัมภาษณ์  ทำแบบนี้จะเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ 
  • เมื่อให้นักเรียนอธิบาย นักเรียนจะถ่ายทอดความรู้จำออกมาทันที  ทำได้ดี แต่เมื่อให้ตอบกระบวนการหรือวิธีการ การอธิบายจะไม่ค่อยดีนัก และเมือถามถึงเป้าหมายหรือการนำเอาองค์ความรู้นั้นไปใช้ จะตอบไม่ค่อยได้ ... ข้อนี้ก็สะท้อนชัดเจนว่า เราจะต้องพัฒนาการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อผลิตครูที่จะไปผลิตครูต่อไป 

ผมเข้าใจว่า กระบวนการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัยนั่นเอง ที่เป็นกลไกสำคัญส่งผลต่อวิธีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ถ้ามีแต่สอบข้อเขียน ทดสอบเน้นไปทางรู้จำและทำโจทษ์ในกระดาษแบบปัจจุบัน การัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ก็จะค่อย ๆ หายไป นักเรียนก็จะหวังแต่จะไปโรงเรียนติว เตรียมตัวสอบ ดังที่เห็นและเป็นอยู่ ... เด็กบ้านนอกคอกนา พ่อแม่ไม่มีปัญญาส่งไปติวหรือห้องเรียนพิเศษ ก็จะลดหมดโอกาสไปในระบบนี้  หรือไม่พ่อแม่ก็ต้องก่อหนี้เกินตัวเพื่อส่งลูกสู้ .... 

ขอจบห้วน ๆ แบบนี้ล่ะครับ 

หมายเลขบันทึก: 662060เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2019 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2019 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท