บ่อสวก-บ้านน้ำเกี๋ยน-บ้านเก็ต: บทเรียนการท่องเที่ยวชุมชน จ.น่าน


ในการสร้างแบรนด์ชุมชนเพื่อให้มีผลกับการท่องเที่ยวและสินค้า OTOP นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเริ่มต้นค้นหาเสน่ห์ของชุมชน ว่าชุมชนมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงทุนความรู้ ทุนประวัติศาสตร์ หรือทุนวัฒนธรรมของชุมชน อย่างเช่น บ้านน้ำเกี๋ยน ชุมชนที่มีชื่อเสียงจากการมีทุนความรู้ด้านสมุนไพร จนในวันนี้สามารถแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรมเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรรูปแบบต่างๆ และได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP มีสินค้าที่ได้ OTOP 5 ดาวถึง 5 ผลิตภัณฑ์

บ่อสวก-บ้านน้ำเกี๋ยน-บ้านเก็ต: บทเรียนการท่องเที่ยวชุมชน จ.น่าน


                                                                                                 อรรถการ สัตยพาณิชย์

             ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561  ผมได้ไปเป็นกรรมการตัดสินการประกวดชุมชนท่องเที่ยวเมืองรองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย ททท. ได้คัดเลือกชุมชนเกรด A ทั่วประเทศ 10 ชุมชน มาประชันความพร้อมในด้านการจัดการท่องเที่ยว และในระหว่างการลงพื้นที่ก็มีการถ่ายทำสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน นำมาออกอากาศในรายการชุมชนชวนเที่ยว ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ควบคู่กันไปด้วย

    ทริปที่ผมได้ไปเยี่ยมชมเป็น 3 ชุมชนในจังหวัดน่าน ประกอบด้วย ชุมชนบ่อสวก อยู่ที่ อ.เมืองน่าน ชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง ส่วนอีกชุมชนหนึ่งอยู่ที่อำเภอปัวคือ ชุมชนบ้านเก็ต ทั้ง 3 ชุมชนเรียกว่ามีจุดขายเป็นของตัวเอง และสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาในการสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวชุมชนและผลิตภัณฑ์ OTOP ได้

        ในการสร้างแบรนด์ชุมชนเพื่อให้มีผลกับการท่องเที่ยวและสินค้า OTOP นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเริ่มต้นค้นหาเสน่ห์ของชุมชน ว่าชุมชนมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงทุนความรู้ ทุนประวัติศาสตร์ หรือทุนวัฒนธรรมของชุมชน  

            อย่างเช่น บ้านน้ำเกี๋ยน ชุมชนที่มีชื่อเสียงจากการมีทุนความรู้ด้านสมุนไพร จนในวันนี้สามารถแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรมเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรรูปแบบต่างๆ และได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP มีสินค้าที่ได้ OTOP 5 ดาวถึง 5 ผลิตภัณฑ์

            ส่วนบ่อสวกเป็นแหล่งเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาโบราณ เป็นทุนประวัติศาสตร์ที่ชุมชนนำมาต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และนำมาทำเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ปั้นเครื่องปั้นดินเผา ขณะที่บ้านเก็ตมีจุดขายเป็นแหล่งผ้าทอที่สืบสานทุนวัฒนธรรมของชาวไทยลื้อ 

https://www.youtube.com/watch?v=0ATAgfdnyT4

                                                                                     Cr: รายการชุมชนชวนเที่ยว



            เมื่อชุมชนค้นพบเสน่ห์ของตนเองแล้ว ก็ต้องนำเสน่ห์ที่มีมาสร้างเป็นจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ และนำมาพัฒนาให้มีความโดดเด่นจนกลุ่มเป้าหมายจดจำได้ ซึ่งการสร้างจุดขายเพื่อนำมาสร้างแบรนด์ชุมชนก็ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะบางแห่งความสำเร็จเกิดขึ้นจากการโปรโมทผ่านตัวบุคคล เช่น ปราชญ์ชุมชนที่มีฝีมือด้านศิลปหัตถกรรม หรือมีความสามารถในด้านต่างๆ

            อย่างในกรณีของบ้านเก็ต ชื่อเสียงของชุมชนส่วนหนึ่งเกิดจากฝีมือผ้าทอไทลื้อของป้าหลอม (นางศดานันท์ เนตรทิพย์) ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถในการทอผ้า ป้าหลอมจึงเป็นจุดดึงดูดใจอย่างหนึ่งให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปหาซื้อผ้าทอที่บ้านเก็ต และเมื่อได้ไปสัมผัสกับวิถีชีวิตในชุมชน ได้เห็นท้องไร่ท้องนาที่เขียวขจี มีศิลปวัฒนธรรมไทลื้อที่โดดเด่น รวมทั้งมีโฮมสเตย์ที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ก็ทำให้แบรนด์ชุมชนบ้านเก็ตเริ่มมีการพูดถึงกันในฐานะชุมชนท่องเที่ยวแบบ Slow Life ที่แวดล้อมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ชุมชนก็ต้องมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างเช่น ชุมชนบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ก็มีการคิดค้นสูตรข้าวผัดที่ใช้พืชสมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบ แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจกับความแปลกใหม่ของเมนูอาหารที่เกิดขึ้น และในขณะเดียวกันก็ทำให้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข่า ปลูกตะไคร้ในชุมชนสามารถมีตลาดรองรับ

            กล่าวได้ว่ายุคนี้สมัยนี้ชุมชนจะขายแค่สินค้า OTOP อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้การท่องเที่ยวชุมชนมาเป็นหัวรถจักรในการดึงคนให้ไปใช้ชีวิตในชุมชนนานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสไปพักค้างในโฮมสเตย์ และก่อนกลับก็ซื้อสินค้า OTOP กลับไปฝากคนที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นหลักคิดเดียวกับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่รัฐบาลต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรม และหากทำได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนมีการขับเคลื่อนได้มากกว่าการขายสินค้า OTOP เพียงอย่างเดียว....

หมายเลขบันทึก: 662053เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2019 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2019 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท