คำนิยม หนังสือ The Facilitator


คำนิยม

หนังสือ The Facilitator

วิจารณ์ พานิช

ประธานมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม

..................

ผมเริ่มรู้จักบทบาท facilitator อย่างแท้จริงเมื่อปี ๒๕๔๕ เมื่อเริ่มจับงาน จัดการความรู้ (KM – Knowledge Management)    และได้เสนอให้ใช้คำไทยว่า “คุณอำนวย” เพื่อใช้ถ้อยคำเป็นเครื่องเตือนสติว่า ต้องไม่แสดงบท “คุณอำนาจ”   ในขณะนี้ วงการเรียนรู้จากการทำงานไทย เรียก facilitator ด้วยคำใดคำหนึ่งใน ๕ คำนี้คือ เรียกทับศัพท์เต็มว่า facilitator, คุณ fa, fa, วิทยากรกระบวนการ, และ “คุณอำนวย”   โดยมีความหมายว่า เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดการเรียนรู้แนวราบ ในลักษณะของการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ หรือจากการทำงาน   เน้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับลึก หรือระดับตีความ ผ่านการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)   ที่ท่านผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เรียกว่า PL – Participatory Learning  

 ท่านผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ทั้งสองท่านจึงรู้จัก และทำหน้าที่ facilitator ก่อนผมรู้จัก    เพราะท่านได้ทำหน้าที่ facilitator ในวงเรียนรู้หลากหลายบริบท หลากหลายเป้าหมายมากว่า ๒๐ ปี    ผ่านประสบการณ์ความสำเร็จใหญ่น้อย และความไม่สำเร็จมาอย่างโชกโชน    การกลั่นความรู้จากประสบการณ์เหล่านั้นออกเผยแพร่เป็นหนังสือ The Facilitator เล่มนี้จึงมีคุณค่ายิ่ง  

นอกจากตีความสกัดความรู้และทักษะการทำหน้าที่ facilitator แล้ว    ท่านผู้เขียนยังทบทวนความรู้สมัยใหม่ว่าด้วยการเรียนรู้ไว้อย่างครบถ้วน   และนำเสนอให้เข้าใจได้ง่าย    เพื่อโยงเข้าสู่การทำความเข้าใจความรู้และทักษะที่ facilitator พึงมี    เพื่อทำหน้าที่อำนวยการเรียนรู้แบบ PL   ที่ facilitator มีหน้าที่ดำเนินการให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกสนานมีชีวิตชีวา เกิดมิตรภาพ และเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง   

ในสายตาของผม ถือได้ว่าท่านผู้เขียนทั้งสองเป็น “Fa มืออาชีพ”    ที่ไม่เพียงมีประสบการณ์สูงเท่านั้น    ยังขวนขวายค้นคว้าสูงด้วย    และยิ่งกว่านั้น ยังมีความสามารถ “ถอด” หรือ “กลั่น” ความรู้ความเข้าใจ ผสมผสานประสบการณ์ของตน กับความรู้เชิงทฤษฎี ถ่ายทอดออกมาเสนอในหนังสือ เล่มนี้อย่างน่าอ่าน น่าใช้เป็นคู่มือการทำงานเป็น facilitator คุณภาพสูง

ผมขอเสนอว่า คนกลุ่มหนึ่งที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้คือครู อาจารย์ ซึ่งทั้งประเทศมีอยู่ราวๆ ๖ แสนคน    เพราะการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องไม่มุ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์เหมือนอย่างในศตวรรษที่ ๒๐ อีกต่อไป    ครูต้องเปลี่ยนมาทำหน้าที่ facilitator, coach, mentor   หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะต่อครูอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง   โดยเฉพาะบทหลังๆ ที่ภาคปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การออกแบบกิจกรรมในบทที่ ๕ ไปจนถึงบทสุดท้าย การถอดบทเรียนของผู้เขียนเอง    เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องการพัฒนาตนเองเป็น facilitator ขั้นเทพ

ยิ่งนับวัน กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนางาน พัฒนาคน และพัฒนาองค์กร ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้น    เพราะโลก สังคม และงาน เปลี่ยนแปลงเร็ว ในลักษณะ VUCA ตามที่ผู้เขียนระบุ    และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ร้อยละ ๙๐ ของการเรียนรู้นั้น ต้องเป็นการเรียนรู้จากการทำงาน    ในโมเดลการเรียนรู้ที่เรียกว่า โมเดล 70 : 20 : 10   คือร้อยละ ๗๐ ของการเรียนรู้มาจากการเรียนรู้ร่วมกันภายในหน่วยงาน    ร้อยละ ๒๐ ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปฏิบัติงานทำนองเดียวกันในองค์กรอื่นหรือหน่วยงานอื่น    เพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่เรียนจากการเข้ารับการฝึกอบรม    ตามแนวทางนี้ องค์กรทุกองค์กรมีความจำเป็นต้องมี facilitator ในจำนวนที่เหมาะสม สำหรับทำหน้าที่กระตุ้น และจัดกระบวนการเรียนรู้ตามที่อธิบายในหนังสือเล่มนี้    โดยที่น่าจะมีคนในระดับหน้างานและหัวหน้างานระดับกลางจำนวนหนึ่ง มีทักษะการเป็น facilitator ด้วย    สำหรับทำให้การเรียนรู้ส่วนร้อยละ ๙๐ มีความเข้มแข็งและก่อคุณประโยชน์ต่อผลประกอบการขององค์กร  ต่อการเรียนรู้และปรับตัวขององค์กร  และต่อความเจริญก้าวหน้าของพนักงาน

ยิ่งกว่านั้น ผมยังเชื่อว่า ผู้บริหารระดับสูงทุกคนควรมีทักษะการเป็น facilitator   และใช้ทักษะนั้นเป็น ในโอกาสที่เหมาะสม    ซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานได้อย่างน่าพิศวง 

ผมขออนุญาตเพิ่มเติมว่า facilitator ขั้นเทพ พึงอำนวยการเรียนรู้ให้เป็นวงจรการเรียนรู้แบบเปิด (open learning loop)    คือระมัดระวังไม่ปล่อยให้กระบวนการ PL เป็น closed-loop learning    ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติของกลุ่มผู้มาร่วมกระบวนการเท่านั้น    ควรหาทางเปิดรับความรู้จากภายนอกกลุ่มหรือทีมงานด้วย          

ในฐานะผู้อาวุโส ที่รักและปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ผมขอขอบคุณคุณปรารถนา หาญเมธี และอาจารย์จริยา วิไลวรรณ แทนประชาชนพลเมืองไทย    ที่ท่านทั้งสองใช้ความอุตสาหะวิริยะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น เป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๓ (third edition) ออกเผยแพร่แก่สังคมไทย    ก่อคุณประโยชน์ยิ่งต่อการเป็นสังคมเรียนรู้    ขอให้ท่านทั้งสองและผู้เกี่ยวข้องในการผลิตหนังสือเล่มนี้ จงได้รับผลบุญจากกิจกรรมที่เป็นกุศลนี้ ทั่วหน้ากัน

วิจารณ์ พานิช

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒             

หมายเลขบันทึก: 661967เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2019 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2019 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท