มายาคติเรื่องคนไทยมาจากไหน



วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ผมมีบุญ ได้เข้าร่วมฟังปราชญ์เขาคุยกันเรื่อง บรรพบุรุษของคนไทยมาจากไหน ที่บ้านของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา   

การประชุมในวันนี้ เกิดจากลูกยุของผม ในวงสี่สหายเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ () ว่างานวิจัยเรื่อง สังคมและวัฒนธรรมไทโบราณจากการอ่านคัมภีร์โบราณ “ปู่รู้ทั่ว” และการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทยเปรียบเทียบ ที่ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ กำลังทำให้แก่ สกว. น่าจะได้บรรจุหลักฐานด้านพันธุศาสตร์ไว้ด้วย    และนักวิจัยยักษ์ใหญ่สองท่านในการศึกษาหลักฐานทางพันธุกรรม เชื่อมโยงกับการตอบคำถามแหล่งกำเนิดคนไทย คือ ศ. ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กับ ศ. พญ. พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล    ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ จึงจัดการประชุมเล็กๆ ขึ้นที่บ้านท่าน    โดยเชิญยักษ์ใหญ่ทั้งสองมานำเสนอหลักฐานทางพันธุกรรม

ที่จริง มีการเชิญ รศ. ดร. ดาวรุ่ง กังวานพงศ์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มช. ด้วย และท่านรับปากแล้ว แต่พอใกล้วันงาน บิดาผู้ชราติดเตียงอายุใกล้หนึ่งศตวรรษของท่าน คือ ศ. นพ. ตะวันกังวานพงศ์ อดีตอธิการบดี มช. ป่วย     เราจึงพลาดโอกาสฟังความเห็นของท่าน    แต่ก็ได้รับรู้ว่า ทีม รศ. ดร. ดาวรุ่ง ก็ได้ทำงานวิจัย ดีเอ็นเอ โบราณ ของไทยไว้มาก    ผลิตบัณฑิตปริญญาเอกออกมาทำงานนี้ต่อเนื่อง เช่น จตุพล คำปวนสาย, วิภู กุตะนันท์

ก่อนการประชุมหลายวัน ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ ส่งเอกสารบทความก่อนตีพิมพ์ เรื่อง ปัญหาเรื่องบรรพบุรุษของคนไทยมาจากไหน กับพลวัตของชาตินิยมไทย เขียนโดย ศ. ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ ความหนา ๒๓ หน้า มาให้อ่าน    อ่านแล้วประเทืองปัญญาสุดๆ    และทำให้ผมสรุปว่า    วาทกรรมเรื่องรากเหง้าของคนไทยโดนมายาคติทางการเมืองบดบัง     ทำให้เราโดนม่านหมอกมายาคติครอบงำ     

ในวันประชุมสนุกมาก    ศ. ดร. เสมอชัย เป็นคนที่ รอบรู้ และอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายได้เก่งมาก    และ ศ. พญ. พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ ก็มีข้อมูลมาก รวมทั้งยังทำงานวิจัยเรื่อง ดีเอ็นเอ โบราณอย่างต่อเนื่อง    ผมได้เรียนรู้ความก้าวหน้าของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ดีเอ็นเอ ต่อการวิจัยด้านมานุษยวิทยา    ที่ช่วยให้มี genetic evidence สำหรับนำมาตีความปะติดปะต่อ ตอบคำถามยากๆ ยาวๆ (คือยาวเป็นพันเป็นหมื่นปี)  

ที่ผมสนุกมากคือ ผมได้เรียนรู้วิธีคิดตีความหลักฐานที่ได้จาก ดีเอ็นเอ จากโครงกระดูกโบราณ อายุ ๒ – ๔ พันปี    เอามาหาค่าระยะห่างทางพันธุกรรม (genetic distance)  ว่าต้องทำโดยใช้สมมติฐาน ที่มีความแม่นยำในระดับร้อยละ ๖๐  

การศึกษาหลักฐานทางพันธุกรรมเพื่อตอบโจทย์ว่าคนไทยมาจากไหน    มี ๓ ระลอก   ระลอกแรก ศ. ดร. เสมอชัยศึกษาจาก hemoglobin polymorphism ที่ Prof. Donald Rucknagel และคณะของ ศ. พญ. สุภา ณ นคร และประเวศ วะสี ศึกษาไว้ในช่วงราวๆ พ.ศ. ๒๕๑๐ (เสมอชัย พูลสุวรรณ, “วิวัฒนาการของฮีโมโกลบิน อี และ เบต้าธาลัสซีมีย กับปัญหาเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทย”, สารศิริราช ๔๔ (๖) (๒๕๓๕): ๔๕๖ – ๔๖๙; ๔๔ (๗) (๒๕๓๕): ๕๔๒-๕๑.)    ระลอกที่สอง ทำโดย ศ. ดร. เสมอชัย และ ศ. พญ. พัชรีย์ โดยศึกษา mitochondrial DNA   ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2008 (Patcharee Lertrit, Samerchai Poolsuwan, Rachanie Thosarat, Thitima Sanpachudayan, Hathaichanoke Boonyarit, Chatchai Chinpaisal and Bhoom Sukitipat, “The genetic history of Southeast Asian populations as revealed by ancient and modern human mitochondrial DNA analysis”. American Journal of Physical Anthropology, 137 (4) (2998):425-40.)    ทั้งสองระลอกให้ผลตรงกันว่า พันธุกรรมของคนไทยปัจจุบัน ใกล้ชิดคนจีนทางตอนใต้ของประเทศจีน มากกว่าคนเขมร    และคนในสุสานแหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าวและเนินอุโลกในจังหวัดนครราชสีมา ไม่ใช่บรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบัน   

หลักฐานความแตกต่างทางพันธุกรรมของคนไทยปัจจุบันซึ่งมีน้อย บ่งชี้ ว่า คนไทยเป็นกลุ่มชนที่ย้ายมาใหม่    ต่างจากคนกลุ่มมอญเขมรซึ่งพันธุกรรมแตกต่างกันมากกว่า บ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่บริเวณนี้มานาน    แล้วคนไทยย้ายเข้ามาตอนราวๆ คริสตศตวรรษที่ ๑๓    โดยที่น่าจะอพยพมาจากตอนใต้ของประเทศจีน    เป็นกลุ่มคนระลอกสุดท้ายที่อพยพมาจากตอนใต้ของประเทศจีน สู่ดินแดนอุษาคเนย์         

ผลงานวิจัยระลอกที่ ๓ ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๖๑ นี่เอง  โดยตีพิมพ์ในวารสาร Science เสียด้วย    มี ๒ รายงานคือ Hugh McColl, Fernando Racimo, Lasse Vinner, et al., “The prehistoric people of Soetheast Asia”. Science 361 (6397) (06 July 2018): 88-92 (DOI: 10.1126/science.aat3628)  และ Mark Lipson, Olivia Cheronet, Swapan Mallick, et al., “Ancient genomes document multiple waves of migration in Southeast Asian prehistory”, Science 361 (6397) (06 July 2018): 92-95 (DOI: 10.1126/science.aat3188).   ศึกษาดีเอ็นเอแบบ whole genome data    สรุปได้ตรงกับผลงานของ ศ. ดร. เสมอชัย และ ศ. พญ. พัชรีย์ ว่าคนโบราณในหลุมศพ ไม่ใช่บรรพบุรุษของคนไทยในอุษาคเนย์ปัจจุบัน

มายาคติอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องอาณาจักน่านเจ้า  ที่เคยมีนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นอาณาจักรไทโบราณ    หลักฐานตีตกไปแล้วว่าคนในอาณาจักรน่านเจ้าเป็นชนเผ่าโลโล ไม่ใช่คนไท   และคนเหล่านั้นไม่ได้อพยพลงมาทางใต้   

มายาคติรุนแรงที่สุดมาจากความพยายามใช้ประวัติศาสตร์และโบราณคดีสร้างความคิดเชิงชาตินิยมของไทย    ทั้งสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาถึงมาลานำไทย    และชาตินิยมปัจจุบันยุค “คนไทยอยู่ที่นี่” นำโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ    

วิจารณ์ พานิช

๓ พ.ค. ๖๒

1 บรรยากาศในที่ประชุม

2 ถ่ายอีกมุมหนึ่ง

3 ศ. ดร. เสมอชัย และ ศ. พญ. พัชรีย์

หมายเลขบันทึก: 661856เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2019 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2019 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

It read like stories of ‘native purging’ by invaders (“…พันธุกรรมของคนไทยปัจจุบัน ใกล้ชิดคนจีนทางตอนใต้ของประเทศจีน มากกว่าคนเขมร และคนในสุสานแหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าวและเนินอุโลกในจังหวัดนครราชสีมา ไม่ใช่บรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบัน…).

And “…คนไทยเป็นกลุ่มชนที่ย้ายมาใหม่ ต่างจากคนกลุ่มมอญเขมรซึ่งพันธุกรรมแตกต่างกันมากกว่า บ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่บริเวณนี้มานาน แล้วคนไทยย้ายเข้ามาตอนราวๆ คริสตศตวรรษที่ ๑๓ โดยที่น่าจะอพยพมาจากตอนใต้ของประเทศจีน…” would pose issues with “Sukhothai Kingdom in the 13th century” (especially with later ‘Chinese Diplomatic Convoy to the Kingdom’ - though history of the period is -claimed- theorized ).

Looking at the mountainous terrains of South China, we would wonder how the children and the aged travelled when migrating southward - in comparison to modern migrations (by boats, by modern transport networks, …) by mostly young families. This “… แล้วคนไทยย้ายเข้ามาตอนราวๆ คริสตศตวรรษที่ ๑๓ โดยที่น่าจะอพยพมาจากตอนใต้ของประเทศจีน…” needs detailed explanations. Why did they come further south than Yunan (where many tribes have settled) across very isolated and rugged terrains? Perhaps ‘gradual’ migration (by young adventurers or explorers) into already existing towns and ‘countries’ (of native? occupants) would make a reasonable scenario. Perhaps DNA invasions had been occurring long before the 13th century. Incidentally, it would be of interest to look at DNA of Indian stock (as Hindu influence was strong during the period. We would expect to see some ‘similarities’ to Hindu stock as well as Chinese stock.

Thank you for reading this far ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท