บัณฑร อ่อนดำ จุดประกายขบวนการประชาชน


บัณฑร อ่อนดำ ผู้ยืนหยัดจุดประกายสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน ก้าวพ้น “Process” มุ่งสู่ “Movement”โดย สมพงษ์ พัดปุย

อ.บัณฑร กับงานสลัมประมาณ ๒๕๒๔ (สามสิบแปดปีที่ผ่านมา) ขณะที่ทำงานอยู่ที่มูลนิธิดวงประทีป หมู่บ้านพัฒนาในสลัมคลองเตย ผมได้ยินชื่อ “บัณฑร อ่อนดำ” จากคุณสุเทพ ดิลกลาภมรกต อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิดวงประทีป คุณสุเทพเคยเรียนที่คณะสังคมวิทยาธรรมศาสตร์ ซึ่ง อ.บัณฑร ได้สอนอยู่ และได้สัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนร่วมงาน ( POP - People Organization for Power) โดยการประสานงานของ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ และ อ.บัณฑร อ่อนดำ กลุ่ม POP ทำงานอยู่ในสลัมที่กรุงเทพโดยเน้นการอบรมพัฒนาผู้นำชุมชนตามแนวความคิดเอ็นจีโอ.ประเทศฟิลิปินส์ ถัดจากการอบรมคือจัดตั้งองค์กรชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาการไล่ที่ชุมชน บุคลากรที่ทำงานกับชุมชนเรียกว่านักจัดตั้งชุมชน (Community Organizer) สมาชิกกลุ่มที่รู้จักกันดีทำงานในชนบท คือ นายบำรุง คะโยธาในช่วงเวลาเดียวกันผมในบทบาทมูลนิธิดวงประทีปได้ร่วมกับ เอ็นจีโอ.กลุ่มแรก ๆ ของกรุงเทพจัดตั้ง “กลุ่มศึกษาปัญหาสลัม” แกนประสานงานรุ่นแรก ๆ ได้แก่ นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ นายสมควร แก่นจันทร์ นายสิน สื่อสวน (องค์กรเรด บาร์นา - นอรเวย์) และได้ประสานงานกับคุณสมสุข บุญญะบัญชา ซึ่งขณะนั้นทำงานอยที่ศูนย์วิขาการ การเคหะแห่งชาติ กลุ่มศึกษาปัญหาสลัมได้ประสานงานกับเอ็นจีโอ.ในเครือข่ายรวมได้เจ็ดองค์กร มีพื้นที่ทำงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพแต่ก็มีขยายงานไปหัวเมืองต่างจังหวัดด้วย ผมได้คิดคำขวัญการทำงานในขณะนั้น คือ “บริการน้ำไฟ ไม่ไล่ที่ มีทะเบียนบ้าน คือความต้องการของสลัม” และเป็นแนวทางยีนข้อเสนอต่อพรรคการเมืองเมื่อมีเลือกตั้ง พวกเราซึ่งมีผู้นำชุมชนมาร่วมด้วย เช่น นายสังวาลย์ บุญส่ง จากชุมชนบ่อนไก่ ทีมงานได้พบกับ อ.บัณฑร อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเมื่อมีการประชุมเอ็นจีโอด้านสลัม ซึ่งสมัยนั้นมีการประชุมกันบ่อยมากทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยและการประชุมองค์กรเป็นทางการ บรรยากาศขณะนี้เรียกได้ว่าขบวนเอ็นจีโอสลัมกำลังขาขี้น ผลงานเรื่องหนึ่งคือ การคัดค้านการไล่รื้อชุมชนคลองบางอ้อ เขตพระโขนง เป็นที่มาของการก่อตั้ง “เครือข่ายสลัมสี่ภาค” กลุ่มศึกษาปัญหาสลัมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนเอ็นจีโอ ประเทศไทยซึ่งมีงานอยู่ทุกสาขา กลุ่มสำคัญได้แก่ กลุ่มสลัม สิทธิมนุษยชน การพัฒนาเด็ก งานพัฒนาชนบท ซึ่ง อ.บัณฑร ได้รับความเชื่อถือจากทุกกลุ่ม ประสานได้กับทุกฝ่ายในงานด้านงานสลัม อ.บัณฑร ให้ความสำคัญสองเรื่อง คือ การพัฒนาความคิดแกนนำ และการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งตรงกันกับความคิดของกลุ่มศึกษาปัญหาสลัม แต่กลุ่มศึกษาปัญหาสลัม ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน รวมถึงการสงเคราะห์ด้วย ขณะนั้นที่มาของรายได้ เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่เป็นเงินอุดหนุนจากองค์กรแม่ในต่างประเทศ มีบางองค์กรที่รายได้มาจากเงินบริจาค เช่น มูลนิธิดวงประทีป รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายให้เงินอุดหนุนแก่เอ็นจีโอ.และเริ่มมองเอ็นจีโอ.ไปในทางลบเนื่องจากเคลื่อนไหวคัดค้านภาครัฐ

สนับสนุนการต่อสู้ไล่ที่คลองเตย ในปี ๒๕๒๕ อ.บัณฑร ได้เข้าสนับสนุนชาวสลัมในเหตุการณ์สำคัญ ๆ คือ การต่อสู้ของสลัมคลองเตยที่ถูกการท่าเรือไล่รื้อจากชุมชนหมู่บ้านพัฒนา ล็อก๑๒ (บริเวณที่เป็นทางเข้าการท่าเรือด้านถนนอาจณรงค์ในปัจจุบัน) หมู่บ้านพัฒนามีประชากรประมาณ ๗๕๐ หลังคาเรือน ถูกไล่รื้อมาก่อนหน้านี้ในปี ๒๕๑๕ จากบริเวณล็อก ๑๒ ถนนอาจณรงค์ และจัดแบ่งแปลงให้อยู่เป็นสัดส่วน มูลนิธิดวงประทีปซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านพัฒนามีบทาทเป็นแกนนำสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้าน แกนนำคลองเตยได้พบกับ อ.บัณฑร หลายครั้งเพื่อขอคำปรึกษาในกระบวนการต่อสู้ไล่ที่กับการท่าเรือ
อ.บัณฑร ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ต่อสู้ของขบวนสลัมประเทศฟิลิปินส์ ในหลายเรื่อง เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์การกระทำจากภาครัฐ การปลูกความคิดให้ผู้นำชาวบ้านกล้าต่อสู้ มีการทำสถานการณ์สมมุตินำเชื่อกมารัดเอวแกนนำล้อมกลุ่มมวลชนไว้ไม่ให้ถูกตำรวจหิ้วออกไปเพื่อทำลายกำแพงมนุษย์เมื่อเผชิญคอมมานโดสลายม๊อป อ.บัณฑร ได้เรียบเรียงให้เห็นกระลวนการสามขั้นตอน คือ ขั้นแรกคือการปลุกสำนึกและการจัดตั้งชุมชน ขั้นสองนำพามวลชนทำกิจกรรมพัฒนาเรียกว่า “กระบวนการ”(Process) และขั้นขยายผลคือการสร้างขบวนการประชาชนต่อสู้ต่อเนื่องเรียกว่า “ขบวนการ” (Movement)
ในปี ๒๕๒๘ การต่อสู้ของชาวหมู่บ้านพัฒนาประสบความสำเร็จ เพราะการท่าเรือยอมให้ชาวบ้านโยกย้ายชุมชนถอยเข้าไปสร้างชุมชนใหม่ชื่อว่า “ชุมชนพัฒนาเจ็ดสิบไร่” โดยมีธีลงนามร่วมระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ และผู้แทนกองทัพ กำหนดทำสัญญาเช่ากับการท่าเรือเป็นเวลา ๒๐ ปี จัดที่ดินให้ชุมชนละ ๑๕ ตารางวา ประมาณพันแปลงเศษ รวมที่ดิน ๗๐ ไร่ นับเป็นตัวอย่างชุมชนแรกที่อยู่อย่างถูกกฎหมายโดยการรับรองจาเจ้าของที่ดินคือการท่าเรือแห่งประเทศไทย คณะกรรมการชุมชนหมู่บ้านพัฒนาเจ็ดสิบไร่ได้รับแนวคิดของอาจารย์บัณฑร มาเป็นการพัฒนากลุ่มในชุมชนใหม่ด้วยความสำเร็จของชุมชนพัฒนาเจ็ดสิบไร่ ดังกล่าวเนื่องมาจากปัจจัยบวก ๓ ประการ ได้แก่ หนึ่ง- ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนโดยมีมูลนิธิดวงประทีปเป็นแกนนำ สอง -การสนับสนุนจากขบวนเอ็นจีโอและนักวิชาการสายก้าวหน้า มักพบปะกันบ่อยที่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สาม- เหตุภายนอกที่สำคัญคือบทบาทของการเคหะแห่งชาติ โดยนายดำรง ลัทพิพัฒน์ ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหา คือ แนวทาง “แบ่งปัน” (Land Sharing) แนวความคิดดังกล่าวเกิดจากเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ ได้แก่ สมสุข บัญญะบัญชา นายนิพนธ์ กลิ่นวิชิต และบุคคลภายนอกที่เข้าไปอบรมหลักสูตรวิชาการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ เช่น ประภาภัทร นิยม

พ.ศ.๒๕๓๕ จากการสนับสนุนของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผมได้แยกออกมาตั้งเป็นเอ็นดีโอ.ขนาดเล็กชื่อ “สถาบันการพัฒนาพื้นฐาน” มีสำนักงานอยู่ในชุมชนพัฒนาเจ็ดสิบไร่ ห่างออกไปจากมูลนิธิดวงประที่ปประมาณ ๓๐๐ เมตร งานสำคัญคือ การสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนสลัมโดยให้นำหนักอยู่ที่คลองเตย สร้างขบวนประชาชนต่อต้านยาเสพติด และโครงสิ่งแวดล้อมเมือง องค์การสหประชาชาติ (LIFE – UNDP)

เป็นหัวขบวนประชาชนต้านยาเสพติด ผมได้ร่วมงานกับ อ.บัณฑร อีกครั้งหนึ่งใน “มูลนิธิภูมิพลังแผ่นดิน” องค์การเอกชนประสานงานกับสำนักงาน ป.ป.ส. เนื้อหางานคือการสร้างขบวนประชาชนต่อต้านยาเสพติด นับเป็นโอกาสเดียวในขณะนั้นที่จะรวมพลังสร้างบทบาทประชาชน เพราะหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๔ มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง โอกาสขับเคลื่อนงานสะท้องปัญหาชาวบ้านของเอ็นจีโอ.ลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการประชานิยมและต่อตรงถึงชาวบ้าน เราหวังกันว่าโดยผ่านกลไก ป.ป.ส.จะสร้างชบวนประชาชนแก้ปัญหายาเสพติดและเป็นการฟื้นฐานะภาคประชาชน

แนวคิดการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้าเป็นพลังต่อต้านยาเสพติดของสำนักงาน ป.ป.ส. เริ่มในปี พ.ศ.๒๕๓๖ สมัย พล.ต.ต.สุวิทย์ ยอดมณี เป็นเลขาธิการ ป.ป.ส.(ต่อจาก พล.ท.ท.เภา สารสิน) โดยครั้งนั้นได้มีการสัมมนา ป.ป.ส.กับ เอ็นจีโอ.ที่ไร่หวานสนิทรีสอร์ท จังหวัดสระบุรี ที่ประชุมสรุปว่ายาเสพติดกำลังระบาดรุนแรงเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศ และกลไกของรัฐขณะนั้นมีข้อจำกัดไม่สามารถจัดการได้ ทางเดียวที่จะเป็นความหวังคือการใช้พลังภาคประชาชน ในปี ๒๕๔๐ สำนักงาน ป.ป.ส.ได้จัดตั้งโคงการ “ราษฎร์-รัฐ ร่วมใจต้านภัยยาเสพติด” ประสานงานโดย”สำนักงานประสานและสนับสนุนภาคประชาชน - สสช.” เป็นองค์กรประสานงาน ในเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ สำนักงาน ป.ป.ส.โดยการสนับสนุนของนายภิญโญ ทองชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้จัดตั้ง “มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย -มภท” ขึ้นเป็นองค์กรในการสนับสนุนของสำนักงาน ป.ป.ส. เมื่อมีแนวทางชัดเจน คุณภิญโญ จึงได้คัดสรร เอ็นจีโอ.ที่มีประสบการณ์เข้าร่วมกับ มภท.และหวังเขื่อมต่อกับเครือข่ายภาคประชาชนที่มีอยู่ ได้เชิญบุคคลที่คิดว่ามีคุณสมบัติ ดังกล่าวเข้ามาร่วมในมูลนิธิฯ ได้แก่ นายบัณฑร อ่อนดำ นายสมพงษ์ พัดปุย เป็นคณะบริหารมูลนิธิ และได้เชิญบุคลากรเชี่ยวชาญงานสนามเข้ามาร่วมด้วย เช่น นายลำพูน มนัยนิล นายชูชาติ ผิวสว่าง นายปัญญา คงปาล นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ทีมงาน ป.ป.ส.เชียงใหม่ จึงกล่าวได้ว่า มภท.ได้ต่อฐานงานชุมชนพัฒนาขึ้นมาเป็นพลังต่อต้านยาเสพติดซึงเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศ

มูลนิธิฯ ได้จัดโครงสร้างองค์กรให้ทำงานได้อย่างคล่องตัว โดยกำหนดให้ นายภิญโญ ทองชัย เป็นประธานมูลนิธิฯ นายบัณฑร อ่อนดำ นายสมพงษ์ พัดปุย และ เจ้าหน้าที่ระดับบริหาร ป.ป.ส.เป็นคณะกรรมการมูลนิธิฯ ภารกิจหลักคือส่งเสริมประชาชนจัดตั้งเป็นองค์กรต่อต้านยาเสพติด ทำงานคู่ขนานกับสำนักงาน ป.ป.ส.ใน ๙ ภาค และ กทม. ช่วงที่เติบโตที่สุดของมูลนิธิฯ คือ พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นช่วงเติบโตสุดของ มภท.มีเจ้าหน้าที่ทำงานรวม ๗๘ คน ใน ๑๔,๒๖๓ ชุมชน กลุ่มเสียงติดยาเสพติดในการเฝ้าระวัง ๖๕,๔๖๕ คน

ประสบการณ์มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย -  นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐  ยาเสพติดระบาดหนักทั่วประเทศ   ต่อมาเมื่อ  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๔๔  ได้ประกาศ “สงครามต่อต้านยาเสพติด” มีการจัดตั้งศูนย์ต่อสู้เอาชนะยาเสพติด  และส่งคนที่นายกรัฐมนตรีเชื่อมือมาเป็นเลขาสำนักงาน ป.ป.ส.  รัฐบาลออกมาตรการปรามปรามเข้มงวด ได้มีโครงการวิสามัญฆาตกรรมคนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดประมาณสองพันคน   สำหรับพื้นที่กรุงเทพรัฐบาลได้ส่ง ตชด.หนึ่งกองร้อยเข้าไปตั้งฐานปฏิบัตการอยู่ในในพื้นที่สลัมคลองเตย โดยมีพลตำรวจโทนพดล สมบูรณ์ทรัพย์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ  ผลงานคือการลดปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จับกุมนายสภาพ สีแดง คนในชุมชนซึ่งพัฒนาผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ จนกระทั่งปัจจุบัน นายสุภาพ สีแดง ยังคงอยู่ในเรือนจำ การปฎิบัติการอย่างเข้มงวดของรัฐบาลเพียงในเวลาเพียงสองปีปัญหายาเสพติดลดลง  แต่มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยวิเคราะห์ว่ายังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  สภาพการณ์ยาเสพติดลดลงเป็นเพียงปรากฎการณ์ “เอากระทานไปทับหญ้า” หญ้าไม่ตายเป็นเพียงสลบเป็นสีเหลือง เมื่อยกกระดานออก (คือมาตรการต่าง ๆ ถูกยกเลิกไปตามเวลาและนโยบายรัฐบาล  หญ้าก็จะฟื้นกลับมามีสีเชียวอีก คือยาเสพติดกลับมาเฟี่องฟูใหม่  ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี และมอบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบสำนักงาน ป.ป.ส. มีการทำงานใกล้ชิดกับทหาร และสร้างมาตรการ ”ห้ารั้วป้องกันยาเสพติด” แต่ยาเสพติดก็ไม่ลดลดลงมีสภาพเหมือนยาเสพติดหวลกลับ     มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยได้วิเคราะห์พื้นที่ทั่วประเทศสรุปว่า “ยาเสพติดไม่ได้หวลกลับแต่มันไม่ได้หายไปไหน” เหตุผลสำคัญคือ ประชาชนยังไม่เข้มแข็ง และห้ารั้วไม่สามารถป่องกันยาเสพติด การปราบยาเสพติดไม่สำเร็จขั้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญได้แก่  เงื่อนไขการผลิดการตลาดยาเสพติดยังขยายตัวสู่แนวใหม่  ประสิทธิภาพกลไกรัฐยังอ่อนแอตามไม่ทันการขยายตัว   การพัฒนาภาคประชาชนยังมีอุปสรรค

สรุป ประชาชนต้องสร้างขบวนการ (Movement)มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย มีความพยายามอย่างหนักในการศึกษาการฟื้นระบาดใหม่ของยาเสพติด และปัญหาของเครือข่ายภาคประชาชน โดยมีการสำรวจพื้นที่เร่งด่วนระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน ๒๕๕๑ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหาร ๓ คน ได้แก่ นายณรงค์ สุวรรณเปี่ยม (อดีตรองเลขา ป.ป.ส.) นายสมพงษ์ พัดปุย และ นายบัญฑร อ่อนดำ เป็นหัวหน้าทีม ทีมวิจัยร่วมกับ สำนักงานภาค ป.ป.ส.และจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิฯ ทำการศึกษาปัญหาเชิงลึกงานในพื้นที่และความเชื่อมโยงกับโครงสร้าง ป.ป.ส. ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ในพื้นที่สำนักงาน ป.ป.ส.๕ ภาค ศึกษาใน ๑๒ กลุ่มเครือข่าย ครอบคลุมทั้งพื้นที่เมืองและชนบท สรุปผลการศึกษาโดยย่อ ดังนี้นายสมพงษ์ สรุปว่า – ณ ปี ๒๕๕๑ ประสิทธิภาพการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐลดลงเมื่อเทียบกับการระบาดของยาเสพติด อุปสรรค คือ หน่วยงานรัฐรวมทั้ง สำนักงาน ป.ป.ส.ยังติดกรอบการทำงานแบบราชการ ในขณะที่ภาคประชาชนและองค์กรในท้องถิ่นมีความก้าวหน้าภาคประชาชนสร้างสรรค์กิจกรรมป้องกันยาเสพติด แต่พลังต่อต้านยาเสพติดของประชาชนมีขาขึ้น-ขาลง ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐ การทำงานของภาคประชาชนจะไม่ยั่งยืนถ้าไม่ได้รับการหนุนช่วยจากระบบราชการ แต่ภาคประชาชนมีฐานะใหม่เกิดขึ้น เช่น สภาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง และองค์กรกิจกรรมพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ การแก้ปัญหายาเสพติดที่จะได้ผลในระยะยาวคือการผนวกงานแก้ยาเสพติดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ และการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอ.บัณฑร อ่อนดำ รายงานว่า - พบบางเครือข่ายประชาชนแกนนำมีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่โดยร่วมกับองค์กรในท้องถิ่น เหนืออื่นใด เครือข่ายจะต้องพัฒนาต่อไปจนถึงขั้นของ “ขบวนการ”(Movement) คือเป็นการขับเคลื่อนไปทั้งขบวน ไม่ใช่แค่มองที่ “กระบวนการ”(Porcess)ในขั้นการปฎิบัติการทำงานแบบยึดติด “กระบวนการ” คือ การทำเพื่อสนองหน้าที่ราชการอย่างแคบ โดยทำตามหน้าที่ ทำให้เสร็จตามแผนงบประมาณ เพื่อสนองตัวชี้วัดของหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ ภาคราชการมักไม่วางเป้าหมายถึงการสร้างการขับเคลื่อนประชาชนให้เป็นพลังดัวนตัวเอง ข้อจำกัดทางบริหารในการแก้ปัญหายาเสพติด คือ นโยบายของรัฐ ประสิทธิภาพระบบราชการ และ คุณภาพของบุคลากรมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย

รายงานการปรับปรุงการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์แก้ปัญหายาเสพติดโดยภาคประชาชน ได้เสนอแนะไห้จัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหายาเสพติดโดยการควบคุมพื้นที่ โดยมีสาระงานดังนี้ ๑.องค์ประกอบสนับสนุนจากส่วนกลาง คือ การพัฒนาองค์ความรู้ (How to) ๒.จัดตั้งคณะทำงานร่วม ปปส.-มภท.-ทีมวิขาการ ๓.จัดทำสร้างยุทธศาสตร์คุมยาเสพติดพื้นที่ (คณะทำงานประกอบด้วย ภาคประชาชน ท้องถิ่น องค์กรรัฐที่รับผิดชอบ)

ปมเงื่อนเชิงโครงสร้าง คือ การความสัมพันธ์ระหว่าง ป.ป.ส.กับ มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย รายงานฯ เสนอให้จัดตั้ง”คณะทำงานร่วม” ประกอบด้วยคณะบริหารฝ่ายมูลนิธิฯ กับคณะบริหารฝ่าย ป.ป.ส. ทำรายงานยุทธศาสตร์ปรับปรุงการทำงานสนับสนุนภาคประชาชน และ ป.ป.ส.จะต้องมีบทบาทนำในการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่

สรุปแนวความคิด อ.บัณฑร ในการแก้ปัญหายาเสพติด - ความสำเร็จที่ของขบวนประชาชนต่อต้านยาเสพติดและผลสะเทือนที่เห็นเป็นเพียงปรากฎการณ์เฉพาะพื้นที่และเฉพาะช่วงเวลา ไม่อาจสร้างให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน เงื่อนไขคือ ภาคประชาชนมีบุคลากรมีคุณภาพ และการสนับสนุนของของภาครัฐ อ.บัณฑร ได้เสนอแนวทางว่า ประะชาชนต้องก้าวข้าม “กับดัดกิจกรรม” ไปสู่สร้างขบวนขับเคลื่อนด้วยพลังประชาชน

สถานการณ์ผกผันอย่างไร ประชาชนยังอยู่และมีขบวนการณ ปัจจุบันสังคมเข้าสู่ยุคไอที เป็นผลทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจสังคมการเมือง เกิดการผันผวน(Disrupt) ผลด้านลบคือ แนวทาง นโยบาย และกลไก ของทั้งภาครัฐและเอกชนไม่เป็นผลอีกต่อไป ในทางบวกระบบข้อมูลข่าวสารจะทำให้การกำหนดนโยบาย ติดตามและประเมินผล และการร้องเรียนทำได้อย่างรวดเร็ว ภาคประชาชนก็จะสามารถ “ใช้ข้อมูลเป็นอำนาจ” และเป็นโอกาสในการยกบทบาทภาคประชาชนให้มีฐานะเป็นผู้กำหนด

หลายสิบปีที่ อ.บัณฑร อ่อนดำ ได้ให้แนวคิดในการปลูกฝัง เอ็นจีโอ.และแกนนำภาคประชาชนให้ก้าวข้ามกับดักกิจกรรมสนองหน่วยงานราชการ ภาคประชาชนต้องพัฒนา ”กระบวนการ” นำสู่ “ขบวนการ- Movement” จึงจะบรรลุความสำเร็จ เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง แต่ผู้ปฏิบัติต้องปรับให้สอดคลองกับริบทใหม่ โดยคำนึงถึงสามตัวแปร ได้แก่ สถานการณ์สังคม บุคลากรที่ปฎิบัติ รวมทั้งนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ

เป็นความจริงที่ว่าแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปเพียงใด ภาคประชาชนยังคงอยู่ Movement ของภาคประชาชนจะไม่มีวันตายย่อมเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ หากได้รับการเอื้ออำนวยที่เหมาะสมจากภาครัฐและภาควิชาการ ภาคประชาชนย่อมเติบโตและสร้างสรรค์สิ่งดีงามแก่สังคม

สมพงษ์ พัดปุย เลขาธิการมูลนิธิการพัฒนาพื้นฐาน
และ เลขาธิการเครือข่ายพลเมืองธรรมาภิบาล๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 661643เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2019 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2019 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท