๙๒๖. วิริยะ..คือความเพียร


”วิริยะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อเริ่มต้นแล้วต้องมีวิริยะ หมายความว่าต้องเพียร ต้องมีความขยัน วิริยะนี้ก็คู่กับขันติ คือมีความอดทน

         บางทีผมก็สงสัยเหมือนกัน ทำไมพ่อกับแม่จึงตั้งชื่อผมว่า”ชยันต์” ซึ่งหมายถึง..ความสำเร็จ น่าจะตั้งชื่อผมว่า”วิริยะ” เพราะในทุกๆความสำเร็จของผมต้องใช้ความเพียรพยายามมาโดยตลอด..

    จริงๆผมไม่ใช่คนเรียนเก่ง และความจริงอีกข้อหนึ่งที่สัมพันธ์กันก็คือไม่ใช่คนหัวดี การผ่าตัดสมองถึงสองครั้ง อาจเป็นเครื่องบ่งชี้หรือการันตีได้เหมือนกัน..

        เรียนไม่เก่งก็พยายามดูหนังสือ ทำแบบนี้มาตั้งแต่เรียนประถม ทำให้ได้รับรางวัล”เรียนดีแต่ยากจน”เป็นครั้งคราว ความเพียรไม่ประสบความสำเร็จ มาเว้นวรรคยาวๆในช่วงเรียนมัธยม

        จากนั้น..คำว่าวิริยะอุตสาหะ ก็มาฉายแสงแรงร้อนอีกครั้ง ตอนเรียนปริญญาตรี เป็นช่วงที่ครอบครัวอัตคัดขัดสนยิ่งนัก จึงต้องพยายามเรียนให้จบเท่านั้น..

        พอเรียนจบแล้วก็เหมือนเพิ่งเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตั้งต้นเพียรพยายามใหม่ด้วยการดูหนังสืออย่างหนัก ประจักษ์แจ้งและเข้าใจชัดเจนว่า”ล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”จริงๆ เมื่อสอบบรรจุได้เป็นข้าราชการครู

        คิดว่าหมดทุกข์หมดโศก แต่แท้จริง..ละครชีวิตเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น เพราะโรงเรียนแห่งแรก..ที่ผมเป็นครู เป็นเสมือนศูนย์ฝึกความเพียรของผม เท่านั้นยังไม่พอยังต้องสอดแทรกความอดทนอยู่เนืองๆ เนื่องจากเป็นโรงเรียนมือวางอันดับหนึ่งในด้านความแห้งแล้งกันดาร..

        ผมทำงานได้สองปี ในวันที่สอบเรียนต่อปริญญาโทได้ ก็ยังชั่งใจไตร่ตรองอยู่พักใหญ่ ว่าถ้าไปเรียนแล้วจะรอดไหม?จะได้ปริญญากลับมาหรือเปล่า เพราะพละกำลังด้านความรู้ความสามารถ มิได้สร้างความมั่นใจให้ผมเลย..

        อยากเรียนเพราะต้องการพัฒนาตนเอง..พอตัดสินใจก็มั่นใจว่างานนี้ต้องใช้ความเพียรหลายเท่าทวีคูณ ก็เป็นจริงดังคาด ต้องใช้”วิริยะ”อย่างต่อเนื่องจึงเรียนจบมาได้..

        ทั้งการเรียนและการทำงาน เหมือนว่าผมได้บ่มเพาะความเพียรเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดหรือเข้าไปถึงกระดูกดำก็ว่าได้ จนรู้สึกเคยชินที่จะเรียนรู้สู้สิ่งยากๆได้

        คำว่า”อดทนไม่พอหรือรอไม่เป็น” ทำอะไรผมไม่ได้ สิ่งใดที่ได้มาโดยยาก ถ้าจำเป็นต้องใช้ความพยายามก็ต้องทำ อดทนและรอคอยเพราะเชื่อว่าต้องมีสักวัน..

        อานิสงส์ของ"วิริยะ”แท้ๆ ถ้าไม่ได้ฝึกมาตั้งแต่แรกเริ่มของการเรียนรู้ ชีวิตคงไม่รอดมาถึงทุกวันนี้ และก็ยังมั่นใจว่าในระหว่างทางที่อดทนและรอคอย หรือในขณะที่ใช้ความเพียร ก็มิได้มีความทุกข์แต่อย่างใด..

        ยิ่งมาอยู่ในตำแหน่ง”ผู้บริหาร” ความเพียรพยายามก็กลายเป็นบททดสอบให้ผจญภัย อุปสรรคและความขาดแคลนทำให้ต้องฟันฝ่า ใช้วิริยะล้วนๆก็ยังไม่พอ ต้องใช้ความอดทนคู่ขนานกันไป..

        ผมลองไล่เรียงย้อนหลัง เพื่อให้เห็นผลพวงของการใช้ความเพียรของผมเพื่อให้ได้มาซึ่ง..สถานศึกษาขนาดเล็กที่มีความพร้อมและมีคุณภาพ..

        ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๙..จากวันนั้นถึงวันนี้..ยังมีเรื่องราวที่ต้องใช้ความพยายามอย่างไม่หยุดหย่อน มันไม่ได้หมายถึงตัวเงินหรือผลกำไรที่ผมจะได้รับ แต่เป็นงานส่วนรวมเพื่อความยั่งยืนขององค์กรและชุมชนในอนาคต

        จากแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ปรับปรุงโรงอาหาร สร้างถนนหนทาง ขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือในการก่อสร้างห้องสมุด อาคารเรียน จนถึงห้องเรียนอนุบาลในปัจจุบัน

        กว่าจะได้มาก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปัจจุบันสำคัญที่สุดที่จะต้องใช้ความขยันหมั่นเพียร เพื่อรักษาคุณภาพนักเรียน..ให้สมกับที่ทุกฝ่ายได้ไว้วางใจและให้น้ำใจเสมอมา อันนี้เป็นเรื่องยาก เพราะคุณภาพมิได้สร้างขี้นได้ในวันเดียว..

        แต่ผมได้ข้อคิดและพลังใจจากพระบรมราโชวาท ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ความว่า ”วิริยะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อเริ่มต้นแล้วต้องมีวิริยะ หมายความว่าต้องเพียร ต้องมีความขยัน วิริยะนี้ก็คู่กับขันติ คือมีความอดทน บางทีเวลาเราทำงานอะไรก็ตามทั้งในทางโลกทางธรรม เราทำงานแล้วเหนื่อย เมื่อเหนื่อยก็ต้องมีความอดทนในความเหนื่อยนั้น ก็ต้องมีความเพียรที่จะปฏิบัติต่อไป ฉะนั้น พูดไปก็ต้องเห็นว่าความเพียรกับความอดทนนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้งานใดๆบรรลุผลได้...”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๕  เมษายน  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 661355เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2019 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2019 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท