ชีวิตที่พอเพียง 3418. พาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม และน้ำคั่งในสมอง ไปรับการผ่าตัด



          หมอนัดให้สาวน้อยไปเข้าโรงพยาบาลวันพฤหัสที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๒    ซึ่งเป็นวันที่ต้องและผมมีนัดเต็ม    เราจึงจัดเวรให้แต้ว (ทญ. มุรธา) และตั้ม (นายวิจักขณ์) พาแม่ไปโรงพยาบาล

ในช่วง ๑ สัปดาห์ที่ผ่านมา สาวน้อยมีอาการหลงลืมมากยิ่งขึ้น    การเคลื่อนไหวยิ่งช้าลง    มือสั่นมากขึ้น    กลั้นปัสสาวะไม่อยู่  ฉี่ราดเป็นประจำ    แต่เธอก็ระวังไม่ฉี่รดที่นอน  และมีผ้ายางปูรองที่นอนป้องกันไว้ด้วย    นอกจากนั้น อารมณ์ตามสัญชาตญาณของเด็กก็โผล่ออกมามากขึ้น   

เป็นการตีความของผมเองนะครับ  ไม่ทราบว่าตีความถูกหรือผิด    ว่าเด็กเล็กมากๆ มีสัญชาตญาณเอาชีวิตรอดโดยการเรียกร้องจากผู้ใหญ่ ซึ่งมักเป็นแม่และพ่อ    วิธีเรียกร้องคือร้อง เพราะเธอยังพูดไม่ได้    แต่คนแก่สมองเสื่อมพูดได้    จึงสามารถพูดแสดงอารมณ์เรียกร้องเพื่อความอยู่รอดของตน    และเป้าหลักของการเรียกร้องของสาวน้อยคือผม    คำพูด สีหน้า ท่าทางเรียกร้องนี่มันสร้างความเครียดให้แก่ผู้ถูกเรียกร้อง (คือผม) อย่างชะงัด    

ผมจึงต้องคอยเตือนสติตนเองให้ไม่เครียดเกินไปว่า    คำพูดและกิริยาท่าทางต่างๆ ของเธอนั้น    เธอไม่ได้ตั้งใจ  แต่สัญชาตญาณเอาตัวรอดมันกระตุ้นให้ทำ    ทำแล้วไม่นานเธอก็ลืม    ถ้าผมจำ ผมก็เครียด    ผมจึงต้องหัดไม่จำ และไม่ถือสา     เพราะเวลาเธอได้สติและอารมณ์ดี เธอจะพูดขอบคุณและปรนนิบัติผม    “ชาติหน้าขอให้ได้สามีคนนี้อีก”    เธอลืมไปว่า ชาติหน้ากับชาตินี้ไม่มีทางเหมือนกัน    เธออาจเกิดเป็นผู้ชาย  และผมอาจเกิดเป็นสุนัขก็ได้    นี่ว่าตามชาดกทั้งหลาย    ไม่ได้ว่าตามความเชื่อของผม    ที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ   

วันเสาร์ที่ ๒๓ มีนาคม ผมไปเชียงใหม่  แต้วมาอยู่บ้านเป็นเพื่อนแม่    แม่บอกว่าให้ไปตลาด ไปซื้อ “ขาหมี”    เกิดโกลาหลขึ้นว่าแม่หมายถึงอะไร    ต้องต้องมาช่วยซัก    ซักอยู่นานจึงรู้ว่าเธอต้องการให้ไปซื้อเป็ดพะโล้ที่ตลาด    เอามาเตรียมไว้ให้ผมกิน   เธอต้องการเอาใจผม    

วันที่ ๒๘ มีนาคม แต้วพาแม่ไปโรงพยาบาล  มีตั้มไปรออยู่ก่อนแล้ว  รวมทั้งมิ้วจากหน่วย R2R ก็ไปช่วยอำนวยความสะดวกให้ “คุณยาย” ด้วย    ผ่านสามกระบวนการก่อนเข้าโรงพยาบาลคือ เอ็กซเรย์ปอด  ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  และเจาะเลือด    เวลาราวๆ ๑๑.๓๐ น. ก็เข้าห้องพักที่ตึก ๘๔ ปีชั้น ๗  ฝั่งตะวันตก  ห้อง ๗๐๘    ผมโทรศัพท์ไปถามเป็นระยะๆ   

ผมขออนุญาตประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร กสศ. (ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล) ออกจากห้องประชุมเวลา ๑๕.๓๐ น. (ทั้งๆ ที่วาระการประชุมกำลังสนุก) เพื่อไปให้กำลังใจสาวน้อย    ระหว่างเดินทางเธอก็ให้แต้วโทรมาถามว่าถึงไหนแล้ว  จะไปเยี่ยมหรือไม่  

บริเวณอาคาร ๘๔ ปี ต่อกับอาคารเฉลิมพระเกียรติกำลังมีการก่อสร้าง     ต้องเดินไปตามป้ายบอกทาง ซึ่งก็จัดไว้อย่างดี   

ไปถึงผมเข้าไปกอด  และบอกว่าพรุ่งนี้จะได้ผ่าตัดแล้ว     และนั่งคุยกัน    เธอมีท่าทางกังวลและสับสน     ตอนหนึ่งเธอบอกว่าไม่อยากมีชีวิตต่อไปแล้ว    ถ้าพรุ่งนี้ไม่ได้ผ่าตัดก็จะไม่ผ่าแล้ว      ผมฟังแล้วบอกตัวเองว่า     เธอพูดแล้วเดี๋ยวเดียวก็ลืม     เธอบ่นปวดศีรษะ พยาบาลเอายาพาราเซตามอลมาให้กิน   

ระหว่างนั่งรถกลับบ้าน ผมก็ทราบข่าวว่า สาวน้อยจะเข้ารับการผ่าตัดเวลา ๙ น. เป็นรายแรก

เช้าวันที่ ๒๙  ผมไปถึงโรงพยาบาลเวลา ๖.๔๐ น.    พบสาวน้อยนอนให้น้ำเกลืออยู่     แต้วบอกว่าเขาห้ามกินและดื่มหลังเที่ยงคืน  และให้น้ำเกลือตั้งแต่ตอนนั้น    และแทบไม่ได้นอนเลย เพราะถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง    พยาบาลมาวัดโน่นนี่บ้าง    สาวน้อยชมลูกสาวคนโตว่าเฝ้าไข้เก่ง     สักครู่พยาบาลเอายามาให้กิน โดยตวงน้ำสำหรับกินยา ๓๐ ซีซี     เธอนอนนิ่งๆ อยู่นาน   

เวลาราวๆ ๗.๔๐ น. เธอทำท่าจะลุกขึ้น    ถามว่าลุกทำไม บอกว่าจะกินยา     เพราะปวดหัว    ปวดตรงขมับ     เราบอกว่ากินยาไม่ได้แล้ว เดี๋ยวจะผ่าตัดแล้ว    เวลา ๘.๐๐ น. ผู้ช่วยพยาบาลมาวัดความดัน ว่า ๑๕๘/๘๐   และบอกว่าเมื่อคืนขึ้นไปถึง ๑๘๐   และบอกให้หายใจลึกๆ  เพราะความอิ่มตัวอ็อกซิเจนเพียง ๙๐  

เวลา ๘.๓๕ น. เจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัดเอาเตียงเข็นมารับ     เธอเดินไปจากเตียงนอนไปขึ้นเตียงรถเข็นด้วยความยากลำบาก    ซึ่งดูพยาบาลหัวหน้าตึก และพยาบาลห้องผ่าตัดจะคุ้นเคยกับผู้ป่วยแบบนี้     ผมตามไปส่งด้วยเพื่อให้กำลังใจ    ลงลิฟท์ไปชั้น ๑    ไปขึ้นลิฟท์ของตึกเฉลิมพระเกียรติ    ไปยังห้องผ่าตัดชั้น ๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ    ผมบอกเธอให้ภาวนาว่า “ขอให้เดินดีขึ้น ไปเที่ยว”  “เดินได้ ไปเที่ยว” ซ้ำๆ  จนหลับไปจากฤทธิ์ยาสลบ    ตื่นขึ้นมาก็ให้ภาวนาอีก  

ส่งสาวน้อยเข้าห้องผ่าตัดเรียบร้อย ผมกลับมาอ่านหนังสือจาก mini iPad  และเขียนบันทึกนี้ที่ห้องพักผู้ป่วย  

 ก่อนเที่ยงเล็กน้อย พยาบาลเอาแผ่นพลาสติกแข็งขนาดตัวตนมาวางบนที่นอน  บอกว่าใช้สำหรับยกผู้ป่วยขึ้นเตียง     ราวๆ ๑๒.๑๕ น. พยาบาลคนเดิมพร้อมพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็เข็นสาวน้อยมาส่งในรถเข็นนอน    โดยมีสายน้ำเกลือกลับมาด้วย    ผมจึงได้เห็นวิธีใช้แผ่นพลาสติกแข็งช่วยให้ยกตัวผู้ป่วยจากรถเข็นไปยังเตียงได้ง่ายขึ้น   

สาวน้อยตื่นดีแล้ว บอกว่าจำคนและเรื่องราวในห้องผ่าตัดไม่ได้เลย  และบอกว่าเจ็บที่สีข้าง    เธอบอกว่าพยาบาลได้ฉีดมอร์ฟีนให้    พยาบาลเอาป้ายงดอาหารและน้ำมาวางที่ปลายเตียง     วัดความดัน (๑๔๐/๘๐)  ระดับน้ำตาลในเลือด (๑๐๒)  ระดับความอิ่มตัวอ็อกซิเจนในเลือด (๙๕)     แล้วปิดไฟให้นอน    ผมก็ถือโอกาสงีบด้วย    หลังจากอ่านหนังสือจนแสบตา

ตื่นขึ้นมาตอน ๑๕ น.   สาวน้อยคุยจ้อ  เล่าเรื่องต่างๆ เป็นตุเป็นตะแบบจับแพะชนแกะ     ทำให้ผมนึกถึงเด็กเล็กเพิ่งเริ่มหัดพูด    สักครูมิ้วโทรศัพท์มาหาแต้ว  บอกว่าอีกพักใหญ่ๆ คณะ R2R จะมาเยี่ยม    สาวน้อยทำท่าจะลงจากเตียง    ถามว่าจะไปไหน  ตอบว่าจะเตรียมตัวรับแขก    และบอกว่าให้กวาดใบไม้ที่ลานหน้าบ้านด้วย    ตอนนั้นต้องกลับมาจากทำงานแล้ว     เราช่วยกันบอกว่า ที่นี่โรงพยาบาล ไม่ใช่ที่บ้าน    เธอหัวเราะ    สักครู่ก็ทำท่าจะลงจากเตียงอีก    ด้วยความหลง  

เธอบอกว่า เป็นไส้ติ่ง  เพราะปวดที่ท้อง    เราเปิดแผลให้ดู ว่าเป็นแผลผ่าตัด ไม่ใช่ปวดไส้ติ่ง    เธอหัวเราะ    รวมความแล้วเธอพูดคล่องขึ้นมาก  แต่หลงๆ เลอะๆ  

คืนนี้เป็นเวรต้องเฝ้าแม่    แต้วกับผมกลับไปนอนบ้าน

เช้าวันที่ ๓๐  ผมออกไปเดินออกกำลังกาย    มองดูดอกไม้ข้างทาง รู้สึกว่าสวยกว่าทุกๆ วัน

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มี.ค. ๖๒


1 นอนรอให้เขามารับไปห้องผ่าตัด

2 ผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำไขสันหลังเรียบร้อยแล้ว

3 ภาวนา เดินได้ ไปเที่ยว

4 แต้ว

5 ต้อง Tong

6 พระรูปและพระราชดำรัสเป็นมงคลชีวิต

7 เช้าวันที่ ๓๐ ผมออกไปเดิน มองเห็นดอกไม้สวยกว่าวันก่อนๆ

หมายเลขบันทึก: 661352เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2019 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2019 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอเป็นกำลังใจให้ทั้งครอบครัวของอาจารย์ในการดูแลกันและกันนะคะ ขอบพระคุณที่อาจารย์นำมาถ่ายทอดให้พวกเราได้รับรู้ข่าวคราว ได้รับพลังบวกในการใช้ชีวิตไปด้วย

ขอ คุณพระรัตนตรัย ปกป้อง คุ้มครอง.. เจ้า ค่ะ..

ขอบคุณมากค่ะที่แบ่งปันการเรียนรู้ในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ขอให้จิตวิญญาณแห่งความรัก ความเมตตา เป็นพลังที่เบิกบากและงอกงามภายในจิตใจอันเป็นกุศลบุญต่อครอบครัวท่าน อ.หมอวิจารณ์ค่ะ

ขอคุณพระรักษาให้สาวน้อยของท่านอาจารย์สุขภาพแข็งแรงในเร็ววัน จะได้ไปท่องเที่ยวนำภาพสวย ๆ มาให้เราได้ชมนะคะ

ขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวพี่หมออ๊อด…รักษาคุณพี่อมราให้หายป่วยและมีสุขภาพดีในเร็ววัน…ครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท