รักที่หลุดพ้น ( ตอนที่ 28 เยือนถิ่นกำเนิดของธรรมะ)


นวนิยายอิงธรรมะ เสริมสร้างศิลปะการดำเนินชีวิตที่มีความสุข

       แล้ววันเดินทางไปประเทศอินเดียก็มาถึง  นิพาดาและธรรศช่วยประสานงานรวบรวมรายชื่อผู้ที่จะไปในครั้งนี้  ส่วนนิศมาช่วยบริหารจัดการและประสานงานเรื่องการเดินทาง โดยจัดเป็นกรุ๊ปทัวร์เล็กๆแบบส่วนตัว และได้รับความอนุเคราะห์จากคุณสมพรจากมูลนิธิส่งเสริมสมาธิ-วิปัสสนาที่นิศมาทำงานอยู่ช่วยไปเป็นวิทยากรให้ด้วย ซึ่งคุณสมพรเป็นผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์สูง  จะร่วมเดินทางไปให้ความรู้ในครั้งนี้ด้วย  คณะที่เดินทางไปกันครั้งนี้ ฝ่ายภิกษุมีหลวงพ่อธีรวัตน์และหลวงพี่ชัชพงศ์  นอกนั้นก็เป็นฝ่ายฆราวาสมีธรรศ  นิพาดาพร้อมพ่อแม่ของทั้งสองคน  และกลุ่มเพื่อนนิพาดา  ก็มีนิศมา  กรนุชและสามี  รวมทั้งคุณสมพรวิทยากรจากมูลนิธิฯ  ครูที่สอนสังคมศึกษาที่โรงเรียนคนหนึ่ง  ตลอดจน คหบดี ผู้บริหารหน่วยงานในอำเภอ  และชาวบ้านบางคน ซึ่งทุกคนที่ไปล้วนเป็นศิษย์เก่าที่ผ่านหลักสูตรอบรมวิปัสสนากรรมฐาน 10 วัน มาแล้วทั้งสิ้น รวมทั้งหมด 15 คน

      การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  รถบัสขนาดเล็กพาทุกคนเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานครบทั้งสี่แห่ง ทุกคนต่างตื่นเต้น และมีความสุขที่มีโอกาสได้ตามรอยพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ณ สถานที่จริง แม้จะไม่สามารถตามรอยไปได้ในทุกแห่ง เพราะประเทศอินเดียกว้างใหญ่ไพศาลมาก แต่พอคุณสมพร วิทยากรจากมูลนิธิฯแจกแผนที่เส้นทางครั้งพุทธกาลตั้งแต่สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ การเดินทางไปสั่งสอนประชาชน จนถึงการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ทำให้ทุกคนเกิดความเข้าใจ เหมือนได้ย้อนอดีตไปในสมัยพุทธกาล

    ธรรศซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ดี และชอบอ่านหนังสือวรรณคดี และนวนิยายอิงธรรมะต่างๆ ได้นำแลกเปลี่ยนถึงเรื่องราวในหนังสือเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี ถึง เหตุการณ์ที่บ้านชายปั้นหม้อในกรุงราชคฤห์ที่กามนิตพักแรมอยู่กับพระพุทธเจ้า แต่ไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธองค์ ตลอดจนเหตุการณ์ความรักระหว่างกามนิตกับวาสิฏฐีบนลานอโศกที่กรุงโกสัมพี และเส้นทางการการค้าขายยังเมืองต่างๆสมัยนั้น เชื่อมโยงไปถึงนวนิยายอิงธรรมะเรื่องลีลาวดี ชวนย้อนรำลึกถึงความรักระหว่างเรวัตตะกับลีลาวดี ทำให้บรรยากาศการย้อนรอยสมัยพุทธกาลครั้งนี้ เพิ่มสีสันมากขึ้น

      คุณสมพร วิทยากรจากมูลนิธิฯเล่าให้ฟังถึงเรื่องสังเวชสถาน จับใจความตอนหนึ่งว่า    มีคฤหัสถ์ชาวศรีลังกาท่านหนึ่ง ชื่ออนาคาริก ธรรมปาละ  ท่านดำรงเพศเป็นคฤหัสถ์แต่ไม่มีลูกเมีย ท่านมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก  และอยากเห็นประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ก่อกำเนิดพุทธศาสนา รื้อฟื้นความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนากลับมาอีก   พ.ศ. 2434  ท่านได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ที่ประเทศอินเดีย พบปูชนียสถานถูกทำลาย ถูกทอดทิ้ง และขาดการดูแลเอาใจใส่  ท่านจึงติดต่อชาวพุทธประเทศต่างๆ ให้ร่วมกันเรียกร้องสิทธิขอให้ทำการบูรณะสังเวชนียสถานทุกแห่งให้อยู่ในสภาพที่ดี  และขอให้รัฐบาลอินเดียรับรองว่า สังเวชนียสถานและปูชนียวัตถุทางพระพุทธศาสนาเป็นของชาวพุทธทั่วโลก  แล้วรัฐบาลอินเดียสมัยนั้นได้ขานรับ จึงทำให้สังเวชนียสถานของชาวพุทธดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

         จุดสุดท้ายของการเดินทางมาครั้งนี้คือการไปอบรมหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน 1 วัน ที่พระมหาเจดีย์วิปัสสนาแห่งโลก ณ นครมุมไบ  ซึ่งนิศมาได้ติดต่อประสานงานและได้รับการตอบรับแล้ว  พอไปถึงทุกคนตื่นตลึงกับความอลังการและความสวยงามของพระมหาเจดีย์  คุณสมพรได้เล่าประวัติความเป็นมาของพระมหาเจดีย์แห่งนี้ให้ฟังสรุปความว่า

        สุภัช  จันทรา มหาเศรษฐีชาวอินเดีย เป็นผู้ลงทุนสร้าง บนเนื้อที่ 33 ไร่  จันทราเป็นศิษย์ของอาจารย์ที่สอนหลักสูตรอบรมวิปัสสนากรรมฐาน 10 วัน  โดยเขาได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้หลายครั้ง  เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง  จึงขอคำปรึกษากับอาจารย์ผู้สอนว่าจะตอบแทนพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไรดี  ซึ่งตรงกับความต้องการของอาจารย์ผู้สอนวิปัสสนาพอดี เพราะท่านเป็นคนอินเดีย แต่มาใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศพม่าเกือบค่อนชีวิต และอยากจะนำคำสอนของพระพุทธเจ้ากลับไปเผยแผ่ที่ประเทศตนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนาให้เป็นจุดศูนย์กลางเผยแผ่ไปยังทั่วโลก  จึงสนับสนุนจันทราให้ดำเนินการก่อสร้างพระมหาเจดีย์แห่งนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมอันเป็นสากล เพื่อให้มวลมนุษย์ทั่วโลกหลุดพ้นจากความทุกข์ และนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง และเพื่อแสดงออกถึงความขอบคุณประเทศพม่า ที่ยังคงอนุรักษ์การปฏิบัติวิปัสสนาแบบดั้งเดิมไว้ ในขณะที่ได้หายสาบสูญไปจากแหล่งกำเนิดในอินเดียแล้ว

         โครงสร้างทั้งหมดของพระมหาเจดีย์แห่งนี้ ประกอบด้วยเจดีย์รูปโดม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีห้องโถงขนาดใหญ่ สำหรับปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หอศิลป์จัดแสดงภาพพุทธประวัติ และพุทธธรรมเจดีย์ ทางทิศเหนือและใต้ห้องสมุดและห้องปฏิบัติวิปัสสนา มีลานกว้างรอบๆพระเจดีย์ มีตึกธุรการห้องใต้ดิน และห้องประชุม 2 ห้อง
พระมหาเจดีย์นี้สร้างโดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานระหว่างอินเดียโบราณและสมัยใหม่ โดยใช้เทคนิคโบราณที่นำก้อนหินทรายแดงมาเชื่อมต่อกันด้วยปูนขาว หินแต่ละก้อนหนัก 700 กิโลกรัม น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านตัน เพื่อให้คงทนถาวรราว 2,000 ปี

        รูปแบบพระมหาเจดีย์วิปัสสนาโลก จำลองมาจากมหาเจดีย์ชเวดากองของพม่า โครงสร้างของพระเจดีย์ประกอบด้วยโดม 3 ส่วน ส่วนแรกที่เป็นโดมใหญ่สุด มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ณ ยอดโดม นับเป็นสิ่งก่อสร้างรูปโดมที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ             

     ส่วนโดมที่สองและสามสร้างอยู่บนยอดของโดมแรก บริเวณศูนย์กลางเป็นโดมหินไร้เสาค้ำยันที่ใหญ่ที่สุดในโลก องค์พระเจดีย์สูง 96.12 เมตร ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของโดมโกล กัมบาซ แห่งเมืองพิชปุระ ในรัฐกรณาฏกะ ของอินเดีย ซึ่งเคยเป็นปูชนียสถานรูปโดมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

      เส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกส่วนที่กว้างที่สุดของโดมเท่ากับ 97.46 เมตร และส่วนที่แคบที่สุดเท่ากับ 94.82 เมตร ภายในเจดีย์เป็นที่โล่ง ไม่มีเสาค้ำยัน ใช้เป็นห้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน บนพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร รองรับได้มากกว่า 8,000 คน  ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วโลกร่วมบริจาคสมทบทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก    พอคุณสมพรเล่าจบ  ทุกคนอุทานขึ้นพร้อมกันว่า

     “โอ้โห...”  มีคนหนึ่งในกลุ่มกล่าวขึ้นว่า 

     “ผมก็ร่วมบริจาคในการก่อสร้างมาด้วย  เป็นบุญจริงๆที่ได้มาเห็น”  แล้วทุกคนก็เอ่ยขึ้นต่อเนื่องกัน

     “ผม/ฉันก็ร่วมบริจาคด้วย”  คุณสมพรจึงกล่าวสรุปว่า

     “เป็นอันว่าทุกคนได้มีส่วนร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้ากันแล้ว แต่จะเป็นการถวายสักการะบูชาพระองค์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ต้องเข้าไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกันข้างในพระมหาเจดีย์ด้วยกัน”

        แล้วภารกิจการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการมาตามรอยพระพุทธประวัติก็เสร็จสิ้นลง  ทุกคนได้รับความสุข ความสงบกันถ้วนหน้า

                                                         ----------------------------------------
                            

หมายเลขบันทึก: 661028เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2019 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2020 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท