รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 27 ตกลงใจใช้ชีวิตคู่)


นวนิยายอิงธรรมะ เสริมสร้างศิลปะการดำเนินชีวิตที่มีความสุข

    บ่ายวันนั้นหลังจากญาติโยมที่มาทำบุญกลับกันไปหมดแล้ว  ธรรศกับนิพาดาเข้าไปกราบหลวงพ่อ แล้วเรียนท่านว่า เขาทั้งสองตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน  ได้ปรึกษากับพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายแล้ว  อยากจัดพิธีแต่งงานอย่างเรียบง่ายที่วัดของหลวงพ่อ และนิมนต์หลวงพ่อเป็นองค์ประธานเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเขาทั้งสอง  หลวงพ่อยิ้มให้อย่างเมตตา แล้วกล่าวด้วยเสียงเรียบๆว่า
“ดีแล้ว เราเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า  เป็นศิษย์ของอาจารย์ที่ถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธองค์แก่เรามา  จะคิดจะทำอะไรก็ทำอย่างมีสัมมาสติ  เราเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังอยู่ในโลกียสุข  จะตัดขาดถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต ก็จะดูสุดโต่งเกินไป  พระพุทธองค์สอนให้มนุษย์ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างผู้ครองเรือนได้ แต่ต้องมีศิลปะในการดำรงชีวิตให้มีความสุข  โดยต้องรักษาศีลเป็นพื้นฐานไม่ให้บกพร่อง  แล้วพยายามลดละเลิกกิเลส ราคะ เครื่องเศร้าหมองที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ให้เบาบางและค่อยๆหมดไป แล้วหมั่นเดินตามเส้นทางสู่ความหลุดพ้นไปด้วยกันทั้งครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป”   หลวงพ่อกล่าวต่ออีก
        “หลวงพ่อดูคุณครูทั้งสองคนมานาน ด้วยความชื่นชมศรัทธาในวัตรปฏิบัติทั้งการปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธองค์  และการปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น  จึงเชื่อมั่นได้ว่าคุณครูทั้งสองจะมีศิลปะในการดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมได้อย่างสมดุลและมีความสุข  หลวงพ่อก็ขออนุโมทนา และยินดีทำตามที่คุณครูทั้งสองขอมาทุกอย่าง”
       
ธรรศและนิพาดาก้มลงกราบท่านด้วยความซาบซึ้งในคำสอนและความเมตตาที่ท่านมีให้ทั้งสองคนมาโดยตลอด
         หลังจากนั้นธรรศได้เรียนปรึกษาหลวงพ่อต่อไปอีกว่า 
        “เราปรึกษากับพ่อแม่ของเราทั้งสองแล้วว่า อยากจะจัดงานมงคลสมรสกันในช่วงปิดภาคเรียน  แต่ก่อนจะถึงพิธีมงคลสมรส  อยากเรียนปรึกษาและนิมนต์หลวงพ่อด้วยว่า  เราอยากจัดกลุ่มที่ไม่ใหญ่นักเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียกันสักครั้งเพื่อเป็นสิริมงคล  แล้วถือโอกาสสมัครเข้าอบรมหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน 1 วัน ที่พระมหาเจดีย์วิปัสสนาแห่งโลก  นครมุมไบ หลวงพ่อเห็นเป็นประการใดครับ”  หลวงพ่อยิ้มและพยักหน้า
        “เป็นความตั้งใจของหลวงพ่อมานานแล้ว  ว่าในฐานะเป็นชาวพุทธ จึงควรจะได้ไปสักการะสถานที่ประสูติ ตรัสรู้  ปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธองค์ ณ สถานต้นกำเนิดสักครั้ง และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่พระมหาเจดีย์วิปัสสนาแห่งโลก ที่นครมุมไบ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อให้พระพุทธศาสนากลับคืนสู่ประเทศอินเดียเมืองแม่ ให้ยั่งยืนนานตลอดไป  หลวงพ่อเห็นด้วย  จัดเลย  หลวงพ่อไปด้วย”
         หลวงพี่ชัชพงศ์ซึ่งช่วยงานหลวงพ่ออยู่ใกล้ๆ ได้ยินการพูดคุยกันทั้งหมด  ได้มาแสดงความยินดีกับธรรศและนิพาดา ด้วยใบหน้าและคำพูดที่จริงใจ  ต่างจากชัชพงศ์ผู้เคยเกเรวางตัวเป็นเจ้าของนิพาดาในสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง  ธรรมะทำให้ผู้ปฏิบัติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้จริงๆ และดูทีท่าแล้วท่านคงไม่สึกจากเพศบรรพชิตแล้ว  และหลวงพี่ชัชพงศ์บอกว่าจะขอไปประเทศอินเดียกับคณะด้วย
       หลังจากวันนั้นนิพาดาก็โทรหานิศมาและกรนุชเพื่อถามสารทุกข์สุกดิบ แล้วแจ้งข่าวของตนกับธรรศและชวนไปอินเดียด้วยกัน
         นิพาดาทราบว่านิศมายังคงทำงานอยู่ที่มูลนิธิฯ ที่เดิม  สุขสบายทั้งกายและใจที่ได้รับใช้ธรรมะและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งครอบครัวก็มาช่วยกันเดินตามเส้นทางสายนี้  ไม่คิดเรื่องการมีคู่ครองแล้ว   ส่วนกรนุชแต่งงานอย่างเงียบๆกับครูที่สอนโรงเรียนบนดอยด้วยกันที่แม่ฮ่องสอน  ทั้งคู่มีอุดมการณ์และวัตรปฏิบัติตรงกัน  ตอนนี้ยังไม่มีลูก  ต่างทุ่มเทอบรมสั่งสอนเด็กๆชาวเขาที่แม่ฮ่องสอนอย่างมีความสุข คงไม่คิดย้ายไปไหนแล้ว  ได้สอนให้เด็กๆปฏิบัติอานาปานสติกันทุกวัน  ตัวเธอเองและสามีก็ร่วมปฏิบัติกับเด็กด้วย  ยังปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาตามคำสอนของอาจารย์อย่างสม่ำเสมอทุกวัน  ปิดเทอมแต่ละครั้งก็จะสมัครมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่ศูนย์วิปัสสนากรรมฐานในจังหวัดลำพูนด้วยกันทุกปี
           ทั้งนิศมาและกรนุชต่างแสดงความยินดีกับการลงเอยของนิพาดาและธรรศ และรับปากจะมาร่วมทั้งการไปอินเดียและร่วมงานแต่งานด้วย เพราะเป็นช่วงปิดเทอมปลายพอดี  นิพาดาขอร้องให้นิศมาซึ่งมีความคล่องตัวและรู้ข้อมูลต่างๆดีให้ช่วยติดต่อประสานงานเรื่องการไปอินเดีย  นิศมาก็ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มที่
            นิพาดาไม่ลืมที่จะติดต่อหาเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ขวัญหทัย ชรัมพร กนกอร และธนกฤต ซึ่งก็ยังติดตามถามข่าวกันอยู่เสมอ  พอทุกคนทราบข่าวว่านิพาดาจะแต่งงานต่างแสดงความยินดีและรับปากว่าจะไปร่วมงานแต่งงาน  แต่ก็ขอตัวที่ไม่ไปอินเดียด้วย
         นิพาดาทราบว่า ขวัญหทัยเรียนจบปริญญาโทแล้วต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศ จบแล้วได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยของรัฐ เธอทุ่มเททำงาน สร้างผลงานวิชาการ และเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย  เธอยังครองชีวิตโสด ทั้งๆที่มีผู้ชายเก่งๆดีๆเข้ามาให้เลือกหลายคน แต่เธอก็ตั้งเป้าหมายในชีวิตคู่ไว้สูง จึงยังไม่มีชายใดผ่านเกณฑ์การประเมินของเธอได้ 

        ชรัมพร พอจบปริญญาโทก็มาบริหารโรงเรียนเอกชนแทนพ่อ  แล้วไปเรียนต่อปริญญาเอกในเมืองไทย ตอนนี้จบแล้ว แต่งงานไม่ถึงปีก็เลิกรากันไป ดีที่ยังไม่มีลูกด้วยกัน  นี่ก็มีผู้ชายคนใหม่เข้ามาดูใจกันอยู่ และมีแผนจะใช้ชีวิตคู่ครั้งใหม่ในเร็วๆนี้

      กนกอร ยังเป็นเถ้าแก่เนี้ยขายเครื่องเขียนแบบเรียนเหมือนเดิม  ทั้งสามีภรรยาช่วยกันทำมาหากินจนร่ำรวยมากขึ้น มีลูกสามคนแล้ว  ส่วนธนกฤต เพื่อนหลวงพี่ชัชพงศ์ตอนนี้จบปริญญาโทแล้ว และเจ้าของโรงเรียนเอกชนที่เคยสอนแต่งตั้งให้มาช่วยทำหน้าที่บริหารโรงเรียน 
           ธนกฤตมีครอบครัวที่อบอุ่น  แต่เขาก็เจอปัญหาการบริหารโรงเรียนเอกชนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องนักเรียนมีจำนวนลดลง  การแข่งขันในโรงเรียนเอกชนมีสูง และปัญหาภายในโรงเรียนอีกหลายเรื่อง  เขารู้สึกเครียดที่ต้องพยายามบริหารโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จสมกับที่เจ้าของโรงเรียนไว้วางใจ 

        เพื่อนๆแต่ละคนต่างก็มีชีวิตเป็นของตนเองตามพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน  มีสุข มีทุกข์ ต่อสู้ดิ้นรนกันไปในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกขณะ 

      เห็นชีวิตของเพื่อนๆแต่ละคนแล้วทำให้นิพาดานึกถึงคำสอนของอาจารย์ตอนหนึ่งที่ว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต่างแสวงหาความสุขให้กับตนเอง ทว่าบ่อยครั้งเหลือเกินที่ทำได้เพียงแค่ไขว่คว้า พอได้ในสิ่งที่ต้องการที่คิดว่าเป็นความสุข  แต่มันอยู่กับเราไม่นานก็เลื่อนลอยไป ไม่ได้รับความสุขอย่างที่หวังไว้  หลายครั้งต้องพบแต่สิ่งไม่พึงประสงค์  ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ไม่สบายใจ สิ่งที่เราไม่ประสงค์ให้เกิด มักจะบังเกิดกับเรา แต่สิ่งที่เราประสงค์กลับไม่เกิด

      ชีวิตในโลกของความเป็นจริงไม่เหมือนกับในโลกของเทพนิยาย  ที่ทุกคนอยู่อย่างมีความสุขชั่วกาลนาน เราไม่อาจหลีกหนีไปจากความจริงที่ว่า  ชีวิตนี้มีแต่ความบกพร่อง  ไม่สมบูรณ์แบบและไม่น่าพอใจ เพราะความทุกข์นั้นมีอยู่จริง
       พระพุทธเจ้าทรงพบว่า ความทุกข์ของคนเรานั้นมิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มีสาเหตุอยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับปรากฏกาณ์ทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุอันเป็นที่มาทั้งสิ้น  กรรมคือกฏของเหตุและผลนี้  เป็นกฏสากลและและเป็นกฏพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต  ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราเสียทีเดียว  การกระทำของเราเองต่างหากที่เป็นเหตุให้เราได้รับผลกรรมนั้นๆ  ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นทายาทแห่งกรรม  มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้"  

ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถกำหนดอนาคตด้วยการควบคุมการกระทำของตน และรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นเหตุให้ตนต้องเป็นทุกข์  ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

      "ตนแลเป็นที่พึ่งของตน  ตนแลเป็นทางไปของตน"
                ---------------------
                         

หมายเลขบันทึก: 661027เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2019 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2020 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท