รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 26 คำสอนจากการกวาดใบไม้)


นวนิยายอิงธรรมะ เสริมสร้างศิลปะการดำเนินชีวิตที่มีความสุข

       วันหยุดวิสาขบูชาปีนี้ ธรรศและนิพาดาไปค้างคืนที่วัดของหลวงพ่อธีรวัฒน์ ได้รักษาศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน ฟังธรรมเทศนา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรงกับวันประสูติ  ตรัสรู้และปรินิพพานของพระองค์ และเช้าวันรุ่งขึ้นก็ได้ทำบุญใส่บาตร และทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นสิริมงคล 

      ธรรศและนิพาดาเคยมาใส่บาตรที่วัดนี้ตอนเช้าๆหลายครั้ง ไปครั้งใดก็เห็นหลวงพ่อธีรวัฒน์ กวาดใบไม้ที่ลานวัดอย่างสงบในทุกเช้า  บางครั้งก็เห็นบางคนไปแย่งไม้กวาดท่านเพื่อเข้าไปกวาดแทน แต่ท่านก็โบกมือห้ามไว้ และชี้ให้ไปกวาดที่อื่นที่ยังมีใบไม้ร่วงอยู่บนพื้น

     เช้าวันนี้ขณะที่หลวงพ่อกำลังกวาดใบไม้อยู่รูปเดียวไปตามแนวถนนที่มุ่งตรงสู่วิหารพระพุทธรูป โดยมีญาติโยมอีกหลายกลุ่ม  รวมทั้งหลวงพี่ชัชพงศ์และพระ เณรอีกหลายรูป ร่วมกันกวาดในบริเวณอื่นๆทั่วทั้งวัด ธรรศเห็นแนวถนนที่หลวงพ่อกวาดเป็นบริเวณกว้าง จึงชวนนิพาดาถือไม้กวาดและที่ตักใบไม้ไปช่วยท่านกวาดอีกซีกถนนหนึ่งเคียงคู่ไปกับหลวงพ่อ  ทั้งสองก้มหน้าก้มตากวาดไปโดยไม่พูดอะไร  พอกวาดไปได้สักระยะหนึ่ง หลวงพ่อก็หยุดและหันมาบอกธรรศกับนิพาดาให้มองย้อนกลับไปตามแนวถนนที่เพิ่งกวาดกันเสร็จ แล้วท่านถามว่า

รู้สึกยังไง” ธรรศตอบท่านไปว่า

           “ รู้สึกสบายใจที่กวาดเสร็จแล้วครับ” ท่านยิ้มและบอกให้มองไปเบื้องหน้าบริเวณที่ยังไม่ได้กวาดแล้วถามว่า

              “รู้สึกยังไง” ธรรศก็ตอบท่านไปว่า

              “รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องกวาดให้เสร็จครับ”

ท่านยิ้มอีกและถามต่ออีกว่า

              “แล้วระหว่างที่กวาดรู้สึกยังไง” นิพาดาชิงตอบว่า

              “รู้สึกสบายใจ เป็นสมาธิ รู้ลมหายใจตลอดเวลาเจ้าค่ะ” ท่านยิ้มให้ทั้งสองคนอย่างเมตตา พร้อมกับบอกว่า    

             “ตอนนี้ก็รู้แล้วใช่ไหมว่าทำไมหลวงพ่อต้องมากวาดใบไม้ทุกวัน” แล้วท่านให้ทั้งสองคนมองไปเบื้องหน้าสุดแนวถนนตรงวิหารพระพุทธรูปแล้วพูดว่า

            “โน่น...ท่านกำลังมองการกวาดของเราอยู่ ท่านคอยให้กำลังใจและคอยเตือนสติเราว่า จะทำอะไรก็ต้องทำให้สำเร็จ ทำให้ดี ทำให้สะอาดหมดจดทุกซอกทุกมุม ทำอย่างมีสติ มีสมาธิ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผลสำเร็จของงานที่ทำอย่างเดียว แต่อยู่ที่ขณะกำลังกวาดต่างหาก เห็นรึยังว่าการปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนากรรมฐานเพื่อการพ้นทุกข์ ไม่ใช่อยู่ที่การหลับตานั่งสมาธิเพียงอย่างเดียว แต่จะอยู่ในทุกอิริยาบทของการดำเนินชีวิตปกติของเราอย่างมีสติ สัมปชัญญะตลอดเวลาต่างหาก”   

       ช่างเป็นคำสอนที่สั้นและกินใจเหลือเกิน ท่านชี้ไปที่กลุ่มญาติโยม พระ เณรที่กำลังช่วยกันกวาดใบไม้ทั่วลานวัดต่อ แล้วพูดว่า

         “ถ้าหลวงพ่อไม่นำกวาด แล้วพวกเขาจะกวาดกันไหม” ท่านกล่าวต่ออีกว่า

        “ไม่ว่าฆราวาสหรือพระที่เป็นผู้บริหารและผู้นำทั้งหลาย จะต้องเป็นผู้นำเขา เป็นแบบอย่างให้กับเขาได้อย่างจริงจัง เมื่อคนเขาศรัทธาเขาก็จะเชื่อและทำตาม ก็จะช่วยขัดเกลาจิตใจ สอนเขาไปเอง ทำไปบ่อยๆเข้า เขาก็จะติดเป็นนิสัยที่ดีงาม จะกลับไปทำที่ครอบครัว ไปสอนบุตรหลานของเขาต่อ”

      จากนั้นหลวงพ่อได้เล่าเรื่องราวของท่านและการมาสร้างวัดแห่งนี้ให้ฟัง สรุปความว่า ตอนนี้หลวงพ่ออายุ 76 ปี แล้ว สุขภาพก็ไม่ดี เคยได้รับอุบัติเหตุถูกรถชนขณะกำลังดูแลการสร้างวัด ตอนมาพลิกฟื้นพัฒนาวัดนี้ใหม่ๆ ต้องถูกผ่าตัด ดูแลรักษาจนฟื้นคืนชีวิตมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อวัยวะหลายส่วนถูกตัดทิ้งไป แต่หลวงพ่อไม่ได้ใส่ใจว่าจะเป็นจะตายยังไง คิดอย่างเดียวว่าจะต้องสร้างวัดของพระพุทธเจ้าให้แล้วเสร็จให้ได้

          ตอนเริ่มสร้างใหม่ๆ บริเวณนี้เป็นวัดร้าง  พื้นที่แห้งแล้ง แทบไม่มีต้นไม้สักต้น หลวงพ่อทุ่มเทนำพระ ชาวบ้าน ญาติโยม ด้วยทุนทรัพย์ที่มีอย่างจำกัด ช่วยกันรื้อฟื้นจากสภาพที่แห้งแล้งจนกลายมาเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ที่ชุ่มชื้นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์และเขียวขจีเต็มพื้นที่ หลวงพ่อจัดพื้นที่ให้ลดหลั่นเป็นระดับ  ทำบึงรองรับน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านบน  ขุดลำคลองทดและระบายน้ำไปรอบวัด จัดบรรยากาศทุกส่วนของวัดให้สะอาด สดชื่น ร่มรื่น สวยงามตลอดเวลา บนพื้นที่ทั่ววัดแทบจะไม่เห็นใบไม้ร่วงมากองที่พื้นเลย และที่น่าทึ่งมากคือ ท่านสนองพระราชดำริของในหลวงรัชการที่ 9 เรื่องการสร้างฝายน้ำล้น เพื่อกักเก็บและระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม และทำให้เกิดความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี รวมทั้งสร้างบ่อที่เป็นระบบกรองน้ำเพื่อกำจัดสิ่งปฏิกูลไว้ด้วย

    คนที่มาที่วัดจะได้ยินหลวงพ่อพูดย้ำบ่อยๆว่า

      “วัดนี้ไม่ใช่วัดของหลวงพ่อ  แต่หลวงพ่อสร้างวัดนี้ให้เป็นวัดของพระพุทธเจ้า จึงพยายามจัดระบบและบรรยากาศต่างๆให้ญาติโยมเข้ามาปฏิบัติธรรมอย่างเป็นสุข” หลวงพ่อจะพูดเสมอว่า

        “หลวงพ่อจะสร้างจะทำอะไรก็จะคำนึงถึงญาติโยมที่เข้ามาปฏิบัติธรรมที่นี่ว่าจะมีความสุขความสงบไหม เป็นประเด็นสำคัญ และหวังให้ญาติโยมที่เข้ามาปฏิบัติธรรมได้ช่วยกันดูแลรักษาบรรยากาศที่ดีนี้ไว้ เพื่อสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ยืนยาวต่อไป”

       พอกวาดลานวัดเสร็จหลวงพ่อพาธรรศกับนิพาดามาดูวิหารและโบสถ์ที่หลวงพ่อเป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรนำก่อสร้างไว้อย่างสวยงามและแปลกกว่าที่อื่นๆ ท่านชี้ให้ดูหลังคา หน้าจั่ว ที่มีความชันและลดหลั่นเป็นระดับรับกันจนดูงามตา แล้วท่านบอกว่า

        “สังเกตไหมว่าที่วัดนี้ไม่มีนกพิราบมาเกาะทำรังเหมือนที่อื่นๆ”

 ธรรศกับนิพาดาเองก็รู้สึกแปลกใจแต่แรกเหมือนกัน หลวงพ่ออธิบายต่อว่า

        “เพราะหลวงพ่อจะทำอะไรจะนึกถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อไปเสมอ จึงพยายามคิดป้องกันไว้ก่อน แม้จะมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบมาแย้งว่าอาจไม่ตรงกับแบบที่อนุรักษ์กันมานานเท่าใดนัก แต่หลวงพ่อก็ยังยืนยันทำ  แบบขอพบกันครึ่งทาง และผลที่เกิดขึ้นคือนอกจากไม่มีนกพิราบมาเกาะ ให้ต้องสร้างตาข่ายมาคลุมให้รกรุงรังแล้ว ยังไม่ต้องไปทำปานาติบาตหรือทำร้ายเขาอีกด้วย”

        หลวงพ่อบอกว่า หลวงพ่อตื่นตั้งแต่ตีสี่ทุกวัน หลังจากปฏิบัติกิจของสงฆ์ปกติเสร็จแล้ว ท่านจะมาคิดวางแผนว่า จะดูแลรักษาวัดยังไง ให้เป็นวัดของพระพุทธเจ้าที่งดงาม ที่ญาติโยมเข้ามาแล้วมีความสุขความสงบ หลังจากนั้นท่านจะเดินดูแลทั่วทั้งบริเวณวัด ใส่ใจในความเป็นอยู่ของญาติโยม กวาดลานวัดและปฏิบัติภารกิจร่วมกับพระในวัด นำญาติโยมปฏิบัติธรรมตามกำหนดการประจำวัน เป็นเช่นนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน

       นี่คือหลวงพ่อธีรวัฒน์ เจ้าอาวาสในวัย 76 ปี ที่มีโรครุมเร้ามากมาย ไม่มียศมีตำแหน่งทางสงฆ์สูงส่งใดใด แต่ดูหน้าตาผิวพรรณท่านอิ่มเอิบ เปล่งปลั่ง เป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมทั่วสารทิศ เพราะท่านเป็นแบบอย่างผู้นำที่มุ่งจรรโลงพระพุทธศาสนา และเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าให้ยั่งยืนสืบไปอย่างแท้จริง                                                  ----------------------------

หมายเลขบันทึก: 661025เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2019 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2020 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท