ควันหลงหลังการเลือกตั้ง ส.ส.


ควันหลงหลังการเลือกตั้ง ส.ส.

29 มีนาคม 2562

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

แม้ว่าตามสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะมีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 ผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 75.03 ปี 2557 (โมฆะ) ผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 70 แต่ปี 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ์เพียงร้อยละ 65.96 ทั้งๆที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิกว่าร้อยละ 80

เหตุปัญหาหลัก 2 ประการ

คือ (1) ข้อกล่าวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการสืบทอดอำนาจ และ (2) การบริหารจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีความบกพร่องไม่ราบรื่น ส่วนสาเหตุอื่นๆ ล้วนเป็นเหตุปลีกย่อยที่มาจากสองต้นเหตุหลักดังกล่าวทั้งสิ้น แม้ว่า การเลือกตั้งฯ ครั้งนี้จะมีหลักการใหม่ที่ดีหลายประการ แต่เนื่องจากเป็นการดำเนินการเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี นับจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แม้จะมีการเลือกตั้งฯ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็ไม่นับ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (โมฆะ) จากข้อบกพร่องเหล่านี้ ทำให้สำนักข่าวต่างประเทศวิเคราะห์ก่อนการเลือกตั้งตามภาษาพูดที่ว่าเหมือนการ “พายเรือในอ่าง” [2] แน่นอนว่า ข่าวภาพเชิงลบก็ออกมาเป็นชุด ๆ ว่าชาวเน็ตแห่ลงชื่อถอดถอน กกต. เป็นเรือนแสน [3] อย่างไรก็ตาม ฉะนั้น โอกาสในการประนีประนอม ปรองดอง หันหน้าคุยกันจะดีกว่า เพราะบางปัญหาเป็น “ทางตัน” (Deadlock) นอกจากนี้ การตรากฎหมายและตราระเบียบปฏิบัติของ กกต. กลับสร้างเงื่อนไขล็อกตัวเอง ทำให้ช่องทางในการแก้ไขเยียวยายากยิ่ง เพราะ กกต. เน้นไปที่เป้าหมายการป้องกันการทุจริต โดยลืมไปว่า “สิทธิการเลือกตั้ง” (Electoral Rights) เป็น “สิทธิทางการเมือง” (Political Rights) ที่ทับซ้อนอยู่ใน “สิทธิพลเมือง” (Civil Rights) [4] ที่รัฐต้องให้การรับรองและคุ้มครองให้ที่ไม่อาจไปรอนสิทธิของประชาชนพลเมืองของรัฐได้  นอกจากนี้ยังมีการเตือนกันว่า ระวังการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ แม้โอกาสโมฆะจะยาก เพราะต้องเป็นสาเหตุใหญ่เท่านั้น เช่น เหตุการหันคูหาออกทำให้ไม่เป็นความลับ หรือเหตุวันเลือกตั้งไม่ใช่วันเดียวกัน หากเป็นความผิดพลาดของแต่ละหน่วย ก็จะมีแก้ไขเลือกเฉพาะหน่วยไป ที่น่าสนใจคือ การเลือกตั้งครั้งนี้มีองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ [5]ได้แก่ ผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย องค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่มีหนังสือขออนุญาตนำคณะเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมถึงเครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network For Free Elections : ANFREL)

การจัดการเลือกตั้งของ กกต.

ในสาระสำคัญ ได้แก่ (1) ให้ข่าวว่า มั่นใจการรายงานผลปิดหีบ 1 ชั่วโมง ทราบผล (2) การแจ้งเบาะแสโกงเลือกตั้งรับรางวัลรับเงินนำจับทันที 1 แสนบาท ฯ [6] แม้ว่า เรื่องการซื้อเสียง การแจ้งเบาะแส คงจับใครไม่ได้ เป็นยันกันผีมากกว่า เพราะตามวิสัยโจรย่อมไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้จับได้ หรือ เป็นลักษณะ “การสมยอมโอละพ่อ” ที่ไม่มีคู่กรณีโจทก์และจำเลย (3) มีการใช้เทคโนโลยีแอพลิเคชันรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านแอป สมาร์ทโฟน (Smartphones) โดยการกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ไม่ขาด ไม่เกิน กรอกข้อมูลไม่ตรงเนื้อหา โปรแกรมก็จะไม่รับ เป็นผลให้ “แอพตาสัปปะรด” [7] รายงานการทุจริตการเลือกตั้งเดิมที่อดีต กกต.คนก่อนได้วางไว้กลายเป็น “ตาปลา” (ใช้ไม่ได้) เพราะเป็นของเก่า กกต.ชุดใหม่หันมาโปรโมทใช้สมาร์ทโฟนแทน (4) เจ้าหน้าที่ กกต.จังหวัด รวมผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีหน้าที่ ตรวจเช็คการทำงานของ กกต.เขต อนุเขต ผู้ช่วยเขต อนุกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) รปภ. ให้อยู่ในระบบ นอกจากนี้ มีนายอำเภอ ผกก.ตำรวจ ร่วมออกตรวจหน่วยเลือกตั้งด้วย (5) การรับแจ้งเรื่องราว ไต่สวน สืบสวน การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งการสืบสวน ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้

อนึ่ง เป็นข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา การซื้อเสียงยังคงมีและรุนแรงอยู่ [8]หัวละพัน โจ๋งครึ่ม ใช้เงินสะพัดมหาศาล ซึ่งปกติจะมีการจ่ายเงินกันก่อนวันเลือกตั้ง โดยผ่านหัวคะแนน ที่เป็นผู้มีตำแหน่งในพื้นที่เป็นผู้ประสานงานการแจก และบางแห่งมีการเกทับ (จ่ายเพิ่ม) กันด้วย แม้เครื่องโทรศัพท์มือถือจะเป็น “กล้อง CCTV เคลื่อนที่” ก็ตาม แต่การเก็บหลักฐานทั้งคลิป ทั้งภาพถ่าย คงไม่ง่ายนักสำหรับมือสมัครเล่นที่จะไปจับผิดการทุจริตการเลือกตั้งได้โดยง่าย เพราะโจรก็คือโจรอยู่ดีที่จับยาก การซื้อเสียงที่โจ๋งครึ่ม หรือแนบเนียนก็ดี คงหาร่องรอยหรือเบาะแสให้จับได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะหากสมยอมกันทั้งผู้ให้ผู้รับ การซื้อเสียงมีสูง เพราะ ทุกคะแนนมีความหมาย จึงมีราคา

ปัญหาเทคนิคการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า

(1) กรณีเลือกล่วงหน้าในเขต ปัญหาแรก คือ การสื่อสารระหว่างการจดลำดับที่ กับผู้ลงหมายเหตุ ผู้ค้นบัตร และผู้ลงรหัสไปรษณีย์ ต้องสื่อสารใหม่ว่า ต้องเขียนชื่อจังหวัด และเขตเพิ่ม ที่บัตรจดลำดับ เพราะ กปน.ยังงุนงง กับการหารหัสไปรษณีย์ และบัตรเลือกตั้งแต่ละเขต ที่แยกเป็นสีต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน บางทีก็จ่ายผิดเขต หากผู้มีสิทธิน้อยก็จะแก้ไขทัน ไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ กรอบความคิดเดิมของ กกต. กลัวว่าคนลงคะแนนจะนำบัตรออกไปนอกหน่วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ การสื่อสาร ระหว่างแต่ละชุดไม่ชัดแจ้ง ทั้งวิทยากรเก่ากับวิทยากรใหม่ จึงมีเสียงบ่น จาก กปน.ว่า ยุ่งยาก ไม่น่าจะให้เขามาอยู่หน่วยแบบนี้ การจดลำดับที่ และ ค้นแบบ 4/14 จึงเป็นหน้าที่ของ รด.จิตอาสา และ ผู้ช่วยเหลือ สำหรับเหตุผลที่คนมาลงใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมากขึ้น เพราะ (1.1) การลงทะเบียนง่าย (1.2) ผู้เลือกตั้งอยู่ห่างไกล (1.3) สามารถเลือกวันที่สะดวกได้ (1.4) เป็นการทดสอบ (1.5) เลือกสถานที่สะดวก  (1.6) ไม่อยากอยู่ในบรรยากาศแห่งแข่งขัน ฯลฯ

(2) การนับคะแนนชุดนอกเขต นอกราชอาณาจักร มีการแจ้งตัดขั้นตอน ข้อพิรุธเกี่ยวกับซองออก [9]เพราะมีหนังสือให้คณะกรรมการนับคะแนน (กนค.) ตัดซอง ยัดลงหีบบัตร เตรียมพร้อมนับคะแนน นับซองทั้งหมด จัดให้นับชุดละ 500 ซอง กนค. ตรวจดูว่า มีบัตรขาด บัตรเกินหรือไม่ แล้วบันทึกเหตุการณ์ไว้ บันทึกติดที่ป้ายชุดนับ ส่วนซองใส่บัตรจะตัดซองก่อนเวลานับคะแนน ซึ่งการรับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจะต้องรับก่อนการเริ่มนับคะแนน สำหรับภาคกลาง จะรับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนที่อื่น

ปัญหาที่ประสบในการจัดการเลือกตั้ง

ขอยกเป็นข้อสังเกตบางประการ มีข่าวปรากฏตามสื่อในข้อบกพร่องต่าง ๆ ของ กกต. ประปราย (1) ความกลัวเกรงสูญเสียบารมีอำนาจใช่ว่าจะมีแต่กลุ่ม คสช. ที่ลงจากอำนาจเท่านั้น บรรดาข้าราชการ (ชั้นผู้ใหญ่) ก็เกรงอยู่ยากด้วย หากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ฉะนั้น ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้มงวดกวดขันจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินปกติ ข่าวหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ทหารล้อมบ้านผู้สมัคร หรือหัวคะแนนผู้สมัครที่ต้องสงสัย ไม่เว้นแม้ผู้สมัครโนเนม แต่มีโพลคะแนนนิยมจะถูกเพ่งเล็ง (2) ปัญหาทิ้งสายรัดหีบไม่ถูกที่ถูกทาง [10] เพราะมีผู้พบสายรัดหีบเลือกตั้ง ที่มีการเซ็นชื่อของ กกต. ถูกนำมาทิ้งไว้ภายในถังขยะ ของห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของ กกต. และ กปน. ที่ไม่เคร่งครัดเข้มงวดการปฏิบัติ  (3) ปัญหาชื่อผี (คนที่ตายแล้ว) ชื่อเด็กโผล่มีสิทธิเลือกตั้ง [11] เป็นปัญหาการปรากฏรายชื่อของผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อ  (4) ปัญหาการขานนับคะแนนที่ผิดพลาดของ กนค. ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นความบกพร่องจากการคัดสรรแต่งตั้ง กปน. ที่ไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติเฉพาะตัวในหน้าที่ของ กปน. ที่ต้องทำหน้าที่นับคะแนน (เป็น กนค.ไปในตัว) ด้วย เพราะ กรมการปกครองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแต่งตั้ง กปน. ผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เป็นหลัก เป็นปัญหาการชิงบทบาทในการจัดการเลือกตั้ง ระหว่างคนกรมการปกครองกับคน อปท. นี่ยังไม่รวมครู (5) การสื่อสารต่อช่วงกันไม่ชัดเจน ผิดพลาด ไม่ได้ทดสอบ (เพราะเชื่อมือกัน) มีการถูกรบกวนจากผู้ไม่หวังดี เช่น การโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Hacker) ทำให้ระบบสื่อสารล่ม หรือ ระบบแฮงค์ ที่มักเกิดกับหน่วยใกล้ถนนใหญ่ เพราะผู้คนเดินทางก็ใช้อินเทอร์เน็ตนี้ด้วยช่องสัญญาณเสาส่งหนาแน่น ไม่พอใช้ Wifi มีเฉพาะสถานที่อบรมรัศมีเพียง 200 เมตร (6) ข่าวปลอม (Fake) ว่ามีการสลับรถขนบัตรเลือกตั้ง [12] (7) ปัญหาการขนส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าต่างประเทศ (นิวซีแลนด์) ล่าช้า [13] จนกระทั่งบัตรเลือกตั้งไม่สามารถนับเป็นคะแนนได้ เป็นปัญหาการส่งไม้ต่อระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับ กกต.ไม่เข้มข้น (8) กกต. ไม่เปิดเผยผลคะแนนที่เหลืออีกร้อยละ 5 หรือคิดเป็นจำนวนคะแนนประมาณ 1.7 ล้าน (ผลที่แจ้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95) [14] จนกว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ตอนนี้ กกต. ปล่อยคะแนนดิบเพียงร้อยละ 94 เหลือเป็น dead zone ประมาณร้อยละ 1 ที่รวมถึงยอดจำนวนผู้ใช้สิทธิด้วย กกต.ต้องประกาศเพราะเป็นข้อมูลสาธารณะ เพราะมีผลต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อหากล่าช้ามากไป จะทำให้การประสานงานวางแผนงานของฝ่ายพรรคการเมืองไม่แน่นอน เป็นต้น

นี่ยังไม่ได้รวมถึงประเด็นความบกพร่อง จิปาถะ เล็กน้อยเชิงบริหารจัดการ หรือการร้องเรียนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่มีการกระทำผิด หรือ บกพร่อง เช่น กกต.เขตทำส่งผลคะแนนช้า เพราะมีปัญหาจำนวนบัตรเลือกตั้งมากกว่าผู้มาใช้สิทธิ์ หรือ การร้องเรียนกล่าวหาผู้สมัครด้วยกันว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งฯ ซึ่ง กกต.รับเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว 57 เรื่อง [15]ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ต่อไป พฤติกรรมและข่าวเหล่านี้ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. น้อยลง [16]

กลุ่มสังคมภิวัตน์ชี้นำการเมือง  

มีสมมติฐานว่าหากไม่ซื้อเสียง แต่อาศัยความผูกพัน ด้านสังคมอื่น ๆ จะช่วยให้ชนะการเลือกตั้งได้หรือไม่ ในประเด็นนี้ สำหรับเด็กรุ่นใหม่ หรือ นิวโหวตเตอร์ (New Voters) แน่นอนว่า คงซื้อเสียงไม่ได้ นโยบายขายฝัน ยังใช้ได้กับคนรุ่นใหม่ ที่มองโลกสดใส จึงเป็นที่มาว่า “พรรคอนาคตใหม่” ที่มีคะแนนสะสมปาร์ตี้ลิสต์ (แบบบัญชีรายชื่อ) เป็นจำนวนมาก เพราะว่า จำนวนเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเลือกตั้งมาเลย จำนวนกว่า 7 ล้านคน หรือร้อยละ 14 ถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อย เด็กกลุ่มนี้อยู่ในช่วงอายุ 18-26 ปี (เกิดปี 1993-2000) ที่ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาท่ามกลางสังคมออนไลน์ไฮเทค ไม่ได้สัมผัสของจริงในการต่อสู้ชีวิตทางการเมืองมามากนัก ที่สำคัญคือ “ยังไม่เคยได้ใช้สิทธิเลือกตั้งมาก่อนเลย” กลุ่มพวกนี้ขอเรียกว่า “กลุ่มสังคมภิวัตน์” ที่จะ “ชี้นำการเมือง” ให้ไปสู่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตามความฝันของเด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้  ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ ก็คือกลุ่ม Gen Y ตอนปลาย (ปี 1993-1997) และ Gen Z ตอนต้น (ปี 1998-2000) ซึ่งทฤษฎีข้างต้นมีนักวิชาการท่านหนึ่งสนับสนุนว่ามีสองกลุ่มที่จะเป็นตัวแปร คือ [17] (1) กลุ่ม นิวโหวตเตอร์ อายุ 18-26 ปี และ (2) กลุ่มอายุไม่เกิน 45 ปี เพราะพวกนี้ เมื่อสิบปีที่แล้วยังเป็นนักเรียนนักศึกษา และวัยรุ่น ที่มีความคิด ได้เจอสภาพบ้านเมืองที่เขารับไม่ได้มาหลายอย่าง สองกลุ่มนี้จะเป็นตัวแปร เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นจากผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ได้รับเสียงสนับสนุนแบบไม่คาดคิด เป็นผลมาจาก “Young Bloods” ทั้งสองกลุ่มข้างต้น อนาคตการเมืองไทยจึงฝากไว้กับเด็กกลุ่มนี้ที่จะเข้ามาจัดการบริหารประเทศแทนคนรุ่นเก่าที่นับวันจะตกขอบไปเรื่อย ๆ 

กลุ่มตรงข้ามกันได้แก่ “กลุ่มการเมืองตกยุค” คือกลุ่ม Gen X Gen Y [18] ที่ไม่ใช่ กลุ่ม New Voters จะยังมีวิถีการเมืองแบบแข็ง ๆ กระด้าง ไม่สมูธนิ่มแนบเนียน ยังดำรงอยู่บนผลประโยชน์ (แม้น้อยนิด) เหล่ากองเชียร์ชวนสร้างความแตกแยก เกลียดชัง มีหลายพรรค เป็นเงื่อนไขการเมืองที่ต้องปรับแก้เป็นแบบปรองดอง สร้างสรรค์ มองโลกสวย

  ด้วยเงื่อนไขกติกาการเลือกตั้งที่ได้จัดเตรียมไว้โดยผู้จัดการที่เตรียมตัวมาลงเป็นผู้เล่นด้วย ทำให้นักวิชาการทำนายไว้ว่า หลังการเลือกตั้งเสร็จเราก็ได้ “กึ่งประชาธิปไตยเท่านั้น” [19] หมายความว่ายังไม่เต็มร้อยที่บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลาย รวมทั้งประชาชนทุกคนต้องใส่ใจค้นหาปัญหาและแสวงหาทางออกร่วมกันให้ได้   

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Ong-art Saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 28 วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม - วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2562, รายงานพิเศษ หน้า 9 & ควันหลงหลังการเลือกตั้ง สส., สยามรัฐออนไลน์, 31 มีนาคม 2562, https://siamrath.co.th/n/72075

[2]โลกมองเลือกตั้งไทย “พายเรือในอ่าง”?, Thansettakij, 25 มีนาคม 2562, http://www.msn.com/th-th/news/thailand-election-2019/โลกมองเลือกตั้งไทย-พายเรือในอ่าง/ar-BBVa2nY?li=BBSVKqB&ocid=iehp&fbclid=IwAR11ETCbSx782wVXc9cVQZ5182tZqCG_PtxpNB4Z6k5i8urtJqsCTXe9qDQ   

[3]ชาวเน็ตแห่ลงชื่อถอดถอน กกต. นับแสนราย, Ch7HD News, 25 มีนาคม 2562, https://s.ch7.com/333324  

[4]สิทธิพลเมือง (Civil Rights) หมายถึง การที่พลเมืองของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐสมัยใหม่สามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายบ้านเมืองของสังคมนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ สิทธิพลเมืองจึงซ้อนทับอยู่กับสิทธิทางการเมือง (political rights) เนื่องจากในสังคม และการเมืองการปกครองสมัยใหม่นั้น (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)   

[5]หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ที่ ลต 0001/ว 611 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2562 ตามมติก กกต.ครั้งที่ 28/2562 เมื่อ 12 มีนาคม 2562

ดู กกต.เชิญนานาชาติสังเกตการณ์เลือกตั้ง, MSN.com, 23 มีนาคม 2562, https://www.msn.com/th-th/video/fun/คลิปข่าว-กกตเชิญนานาชาติสังเกตการณ์เลือกตั้ง/vi-BBV7FBc

& กกต. เชิญนานาชาติสังเกตการณ์เลือกตั้ง, Nation TV, 23 มีนาคม 2562, https://l.facebook.com/l.php?u=http%3A%2F%2Fwww.nationtv.tv%2Fmain%2Fcontent%2F378699554%2F%3Fqm%26fbclid%3DIwAR3fp4zPVdoO2VPgSnWgl69DiCKVco2iUuOSdnaKJK6Jyh3OLAwqwRRG0wE&h=AT1WYPjnme23I-Elvz4PWZjRhOJG4s134PjPewkgSPiTXoRM-o0YzMwQF2ITRFwLnyHxIPJtj0x_hkP5p08NqdAamJYwg2D5JjaMUBrxoMr0331JZTApMVjHvYoXyabgqku72EO3P9qvsk8nTEG23hGhCM-9LU_MeOxSjJnB7mdsazMagwTAjL1df8BBiAgjiQm7nsVwf66uEPNfPbsD1YAAviElSlfNyvIDDCsmAVTihTwj1zX5UvKT1C49i6UZsxkAg17Xa7yLo8HU8G0HaIl5VOo7Hm3Vq0ozWFG1fkW1ot8bxoAhxFrSYxrZ4cyLTuisg4mBRS_-pxhjmRSVLxQEAodzDR7PBdS-bBO57qUGE82Pz3obU-FSYLJMMFpobE2ID-USngos6BR6R5lYW-ZmmWxEwoiItJdDmxvfhOW4WF16Lhrr9k2dAYu8fbDqR8BGEabmpJVDeJL4M6NMmujtpMq99k6sozqVQb7VwADOX0E8mokmI1W2qWJv5qBEgQ9L3oGkgqQ8ayHNflaR2gNPgaRLgh13__Bh-t6nRB1fMhk7TjHtSENnLcVel5caeyney6VVRE8KZCE_I9RUGrtWEqGOUTjaCPz6hKwmqpbJzgz1OaK7wgR_X3sO_cobrnZHU-c   

[6]กกต.มั่นใจ รายงานผล ปิดหีบ1ชม.ทราบผล แจ้งเบาะแสโกงเลือกตั้ง รับ 1 แสน (คลิป), โดย ไทยรัฐออนไลน์, 21 มีนาคม 2562, https://www.thairath.co.th/content/1525275?fbclid=IwAR3_Yxbi8j-ga8t_pjF4nhydi_FKsWalqySkGfG0RBsmHW4Yz0aGoKSSJGo

[7]กกต. เปิดตัวแอพใหม่ “ตาสับปะรด” แจ้งข่าวทุจริตการลงประชามติ, Blognone, 25 มีนาคม 2559, https://www.blognone.com/node/79395

& แอพพลิเคชั่น ตาสับปะรด, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 25 สิงหาคม 2559,  https://www.ect.go.th/ect_th/news_page.php?nid=961

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) รายงานสถานการณ์ทั่วไป/แจ้งข่าวทุจริตการออกเสียง (2) เพิ่มช่องทางในการรายงานสถานการณ์/แจ้งข่าวการทุจริต (3) เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องปรามการทุจริต 

[8]ดู “เพื่อไทย”จี้กกต.ฟันนักการเมืองน้ำเลวซื้อเสียงชาวบ้าน, เดลินิวส์, 2 มีนาคม 2562, https://www.dailynews.co.th/politics/696208

& ดู “นิพิฏฐ์”หอบหลักฐานคลิป-แชตไลน์ แฉซื้อเสียงภาคใต้ จังหวัดเดียว 50 ล้าน จี้ กกต.กลางลงสอบเอง, 29 มีนาคม 2562, https://mgronline.com/politics/detail/9620000031301

& “เจ๊หน่อย”ไม่ทน“บัตรเขย่ง” 9 ใบ โวยเป็นกลไกสู้ “รับเงินหมากาพรรคอื่น”, 29 มีนาคม 2562,  https://mgronline.com/politics/detail/9620000031524

[9]หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ที่ ลต 0012/ว 615 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2562 เรื่อง การนับคะแนนบัตรเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง สาระสำคัญคือ การยกเว้นการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งทีละหีบบัตร ตามข้อ 199   

[10]เป็นงง สายรัดหีบถูกทิ้งในห้องน้ำปั๊ม สุดสงสัย ของสำคัญแบบนี้ มาอยู่ที่นี่ได้ไง, 26 มีนาคม 2562, https://hilight.kapook.com/view/185874

[11]หลานโวย ชื่ออาม่าตาย 20 ปี โผล่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หวั่นคนสวมรอยเข้าคูหา, , 25 มีนาคม 2562, https://www.msn.com/th-th/news/nationall/หลานโวย-ชื่ออาม่าตาย-20-ปี-โผล่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง-หวั่นคนสวมรอยเข้าคูหา/ar-BBVbBwn

& “เลือกตั้ง 2562” : แจงระบบผิดพลาด ด.ญ.มีสิทธิเลือกตั้ง (อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี), Thairath, 26 มีนาคม 2562, https://www.youtube.com/watch?v=R3FaSf2EbAs  

[12]เตือนข่าวปลอม “ปลด 2 กกต.” สลับรถขนบัตรเลือกตั้ง อย่าแชร์เสี่ยงมีความผิด, 26 มีนาคม 2562, https://www.sanook.com/news/7724762/

[13]กกต. มติเอกฉันท์ ให้บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ 1,542 ใบ เป็นบัตรเสีย, 26 มีนาคม 2562, https://news.mthai.com/general-news/718531.html  

[14]กกต. ต้องประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังวันเลือกตั้ง

พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 127 กำหนดว่า

“ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้คณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมดซึ่งคณะกรรมการต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง”

กกต. ต้องนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้มากกว่า 95% ภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่า กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่หกสิบ หากทุกอย่างดำเนินการเรียบร้อย กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้งก่อนกำหนดเวลาดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ ซึ่งการเลือกตั้งสามครั้งหลังสุด ปี 2548 ปี 2550 และปี 2554 กกต. ใช้เวลาประกาศผลเลือกตั้งเบื้องต้น เฉลี่ย 8 วัน ประกาศผลเลือกตั้ง 95 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 23 วัน เท่านั้น 

[15]กกต.แถลงร้องเรียนซื้อเสียง 57 คดี เผย ปชช.มาใช้สิทธิต่อเนื่อง มั่นใจใช้สิทธิเกินร้อยละ80, 24 มีนาคม 2562, https://www.matichon.co.th/politics/news_1422029 

[16]ดู เลือกตั้ง 62: รวมอุปสรรคในการหาเสียงและข้อสงสัยการโกงเลือกตั้ง 2562, 13 มีนาคม 2562, https://freedom.ilaw.or.th/node/675 & เลือกตั้ง 2562 : ตั้งข้อสังเกต "จ่าหน้าซองผิด" สาเหตุทำ "บัตรเสีย" พุ่ง, 26 มีนาคม 2562, https://news.thaipbs.or.th/con...

(1) กรณีความไม่สะดวกในการปราศรัยหรือหาเสียง (2) กรณีทหารหรือตำรวจตามประกบนักการเมือง (3) กรณีป้ายหาเสียงเลือกตั้ง (4) กรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (5) กรณีข้อกล่าวหาการซื้อเสียง (6) กรณีอื่นๆ

[17]ความเห็น รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มสธ. วิเคราะห์ไว้ก่อนการเลือกตั้ง

[18]ดู มาดูกัน... คน 8 เจเนอเรชั่น คุณอยู่ในกลุ่มไหนนะ?, Hilight Kapook, 18 มีนาคม 2556, https://hilight.kapook.com/view/83492 

& Gen Z + Gen Alpha กับการสร้างความคิดสร้างสรรค์, 18 ตุลาคม 2561, https://know-are.com/gen-z-gen-alpha--กับการสร้างความคิดสร้างสรรค์/ 

สรุปการแบ่ง Generation ทั่วไปจะแบ่งออกเป็น

(1) Lost Generation (คนเกิดช่วง ค.ศ. 1883-1900 หรือยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 คนกลุ่มนี้ตายไปหมดแล้ว)

(2) Greatest Generation หรือ G.I. Generation (คนกลุ่มนี้เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1901-1924 คือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2)

(3) Silent Generation หรือ Gen S (คนกลุ่มนี้เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1925-1945 คือยุคสงครามโลกครั้งที่ 2)

(4) Baby Boomer หรือ Gen-B (คนที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1946 -1964)

(5) Generation X หรือ Yuppie ที่ย่อมาจาก Young Urban Professionals (คนที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1965 – 1979)

(6) Generation Y หรือ ยุค Millennials (คนที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1980 – 1997) 

(7) Generation Z (คนที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1998 – 2009)

(8) Generation Alpha (คนที่เกิดในปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นไป)

(9) มีกลุ่มใหม่เพิ่มมาคือ กลุ่ม “Gen-C” เป็นคำใหม่ที่ Google และ Nielsen บัญญัติ ใช้สำหรับเรียกกลุ่มคนยุคใหม่ที่ไม่ได้แบ่งตามอายุเหมือน 7 เจเนอเรชั่นข้างบน แต่จัดกลุ่มตามพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ทั้งนี้ คนที่จะถูกจัดเข้ากลุ่ม Gen-C นั้น ก็คือคนกลุ่ม Baby Boomer และ Gen-X ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง หันมาสนใจเทคโนโลยีมากขึ้น ไปจนถึงขั้นเสพติดการเชื่อมต่อ แต่ไม่รวมคนกลุ่ม Gen-Y   

[19]ความเห็น ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ดู รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เสนอหลังเลือกตั้งให้มีการประชามติ 'แก้-ไม่แก้' รธน. (ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ), 1 กรกฎาคม 2561, https://prachatai.com/journal/2018/07/77641

& นักวิชาการชี้เลือกตั้ง62ไทยจะกลับสู่ระบบกึ่งประชาธิปไตย, เดลินิวส์, 30 มิถุนายน 2561, https://www.dailynews.co.th/politics/652292

หมายเลขบันทึก: 660814เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2019 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2019 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท