ชีวิตที่พอเพียง 3391. ระบบสุขภาพที่สร้างได้เอง



ดังเล่าในบันทึกที่แล้ว    ผมไปประชุมกลุ่มสามพรานเช้าวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒    วันนี้คุยกันเรื่องระบบสุขภาพชุมชน  ที่จัดโดยโรงพยาบาลชุมชน   มีการนำเสนอโรงพยาบาลต้นแบบ คือ โรงพยาบาลน้ำพอง ที่มี นพ. วิชัย อัศวภาคย์ เป็นผู้อำนวยการ  และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ที่มี นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร เป็นผู้อำนวยการ ทั้งสองท่านทำงานเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนดังกล่าวคนละกว่า ๓๐ ปี   จนจะเกษียณอายุราชการในปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๒ ตามลำดับ  

 นพ. อภิสิทธิ์ แจกหนังสือ ทฤษฎีใหม่และความเป็นหนึ่งเดียว ระบบสุขภาพที่สร้างได้เอง    สะท้อนภาพ ระบบสุขภาพที่สร้างได้เอง ชัดเจน   

อ่านแล้วผมตีความว่า หนังสือดังกล่าวเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ ที่เป็นนวัตกรรมของระบบสุขภาพ    เป็นระบบสุขภาพที่ประชาชนร่วมกันสร้างเอง    ไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น    ตัวอย่างคือ ตึกสมเด็จพระพุฒาจารย์ บารมีธรรมพระมงคลพรหมสาร  ที่เกิดขึ้นจากการบริจาคของชาวบ้านคนละ ๑,๐๐๐ บาทต่อปี เพื่อให้ได้สิทธิ์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยอยู่ห้องพิเศษฟรี    ปีไหนไม่ได้ใช้สิทธิ์ก็ถือว่าทำบุญเผื่อแผ่แก่เพื่อนบ้านคนอื่นๆ ได้รับความสะดวกในการรับบริการ    ผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้บริจาคที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพอใจที่ได้อยู่ห้องพิเศษมีความสดวกสบาย    และผู้ป่วยคนอื่นๆ ก็ได้รับประโยชน์ที่หอผู้ป่วยธรรมดาแออัดน้อยลง    เขาใช้คำว่า “โรงพยาบาลประชารัฐ” ซึ่งหมายความว่าประชาชนกับรัฐร่วมกันสร้างระบบสุขภาพที่ดี   ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองในชื่อเดียวกันแต่อย่างใด  

อีกเรื่องหนึ่งที่อัศจรรย์มาก คือเรื่องของ แม่สำราญ ทองโคตร เกษตรกรต้นแบบ ต. โคกสูง อ. อุบลรัตน์ จ. ขอนแก่น   เคยป่วยโรคคอพอกเป็นพิษ มีชีวิตที่ยากจน ยากลำบากต้องขอข้าววัดกิน มาเป็นเวลา ๑๘ ปี    แต่หลังจากไปเข้ารับการอบรมเศรษฐกิจพอเพียงกับปราชญ์ชาวบ้าน    และกลับมาทำที่บ้าน    เกิดการเปลี่ยนความคิดโดยสิ้นเชิง    และกลายเป็นเกษตรกรต้นแบบ ให้ความรู้แก่ผู้อื่น   และที่ประหลาดคือโรคคอพอกเป็นพิษหาย ไม่ต้องกินยาอีกเลย    คุณหมออภิสิทธิ์อธิบายว่า เป็นตัวอย่างของ social determinant of health   คือปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ    เกิดจากความเครียดหายไป  ได้ออกกำลังกายจากการทำงาน  ได้กินอาหารสดไร้สารพิษที่ตนปลูกเอง    และได้มีจิตใจสงบ มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น  

ตัวอย่างของการใช้กลไกกฎหมายสร้างสุขภาวะให้แก่คนในชุมชน คือเรื่องคนพิการ   อาศัย พรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐  มาตรา ๓๓, ๓๔, ๓๕   สามารถใช้เงินของบริษัทธุรกิจ ทำกิจกรรม CSR จ้างคนพิการให้ทำงานที่โรงพยาบาล   เกิดผลดีสามต่อ คือต่อบริษัทที่ได้ทำกิจกรรม CSR   ต่อผู้พิการ ได้มีงานทำ มีรายได้ มีชีวิตที่ดี   ต่อโรงพยาบาล ได้พนักงานที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง   

ยังมีเรื่องราวดีๆ อีกมากมายในหนังสือเล่มนี้   ผมได้เสนอแนะให้ นพ. อภิสิทธิ์ นำขึ้นเว็บ เพื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวาง           

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.พ. ๖๒

  

หมายเลขบันทึก: 660579เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2019 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2019 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you.

We are awaiting this “…มีเรื่องราวดีๆ อีกมากมายในหนังสือเล่มนี้ ผมได้เสนอแนะให้ นพ. อภิสิทธิ์ นำขึ้นเว็บ เพื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวาง…” ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท