ชีวิตที่พอเพียง 3369a. ปรับปรุงบ้านไว้อยู่ยามชรา


         บ้านที่ผมอยู่ในปัจจุบันสร้างอย่างสวยงามและกว้างขวาง(สำหรับคนที่มีทรัพย์สินจำกัดอย่างผม)   ตอนซื้อ (ซื้อสำเร็จรูปเพราะเป็นบ้านตัวอย่าง)รู้สึกว่าออกแบบเก๋ไก๋มาก  ห้องรับแขกลดระดับลงไป ๒ ขั้นบันได   ลานข้างบ้านลดระดับลงมา ๑ ขั้นบันได  ชั้นบนมี ๓ ห้องนอน ๒ ห้องน้ำ   ข้างล่างมี ๑ ห้องน้ำ   ไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะมีบ้านที่ให้ความสุขสบายขนาดนี้   โดยต้องยืมเงินพี่สาวของสาวน้อยมาซื้อแบบซื้อด้วยเงินสด

แต่พอแก่ เดินเหินไม่ถนัด   การขึ้นบันไดไปนอนชั้นบนเป็นเรื่องเสี่ยงตกบันไดขาหัก    อย่างแม่ผมตกบันไดกระดูกสะโพกหักเมื่ออายุ ๘๐เศษ    สาวน้อยส่อความจำเป็นที่จะต้องลงมานอนชั้นล่างมาเป็นปี    เราปรึกษากันในครอบครัว    ว่าปรับปรุงห้องรับแขกเดิมเป็นห้องนอน   ยังมีห้องโถงชั้นล่างอีกกว่า ๒๐ ตารางเมตรสำหรังเป็นห้องรับแขก   

ญาติที่เป็นสถาปนิกมาช่วยออกแบบให้    โดยก่อนหน้านั้น สาวน้อย  “เลขา” และผม ไปเยี่ยมชมศูนย์ SCG Experience ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ได้แนวความคิดมาดีมาก   โดยคุณเปาแห่ง SCBF ได้ช่วยแนะนำผู้ใหญ่ของSCG ให้ให้ความช่วยเหลือ   จึงได้ไปเยี่ยมชมสินค้าและการออกแบบบ้าน ห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นบ้านสำหรับผู้สูงอายุ   

สถาปนิกที่มาออกแบบจัดการออกแบบให้พื้นบ้านชั้นล่างเสมอกันหมด   ให้คนแก่เดินชั้นล่างได้สบาย   และออกแบบห้องน้ำเพิ่มอีกห้องหนึ่ง อยู่ติดกับห้องนอนใหม่    เป็นห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ   แม้ตอนที่เดินไม่สะดวกต้องใช้รถเข็นก็เข็นรถเข้าไปใช้ห้องน้ำได้เลย   มีการเพิ่มลานหน้าบ้านสำหรับให้เดินชั้นล่างได้รอบบ้าน    และเป็นที่นั่งเล่นได้เพิ่มขึ้น    รวมทั้งมีทางลาดสำหรับเข็นรถเข็นขึ้นบ้าน  

มาสะดุดตอนหาผู้รับเหมานิดหน่อย  สาวน้อยเกิดไม่ค่อยไว้ใจหน้าตาของผู้รับเหมาที่เสนอราคาค่อนข้างต่ำแต่ขอเบิกเงิน ๓๐% ทันทีที่เซ็นสัญญารับเหมา   ต้องหาผู้รับเหมารายใหม่    อ.ธีรพล นิยม สถาปนิกรางวัลศิลปินแห่งชาติ ผู้กว้างขวางแนะนำคุณ เอ็กซ์   ที่ราคาสูงหน่อยแต่รับผิดชอบงานดีมาก   และทีมช่างก็ฝีมือดี    ใช้เวลา ๓ เดือนก็เสร็จเรียบร้อย    รอให้พื้นซีเมนต์แห้ง ความชื้นลดลงได้ระดับ    โดย “เลขา” ทำหน้าที่ติดต่อทาง SCG ตามปกติ    ไม่ได้ใช้เส้นที่มี “เลขา” เขาไม่ชอบการใช้เส้นไม่ว่ากรณีใดๆ       

SCG ส่งเจ้าหน้าที่มาวัดความชื้นแล้วบอกว่ายังสูงอยู่  รออีกสักระยะค่อยมาวัดใหม่   อีกเกือบเดือนก็มาวัดและบอกว่าความชื้นสูงไม่สามารถปูพื้นลดแรงกระแทกได้   และเซลล์เสนอแนะสินค้าตัวใหม่   “เลขา”บอกว่า SCG บริการไม่ดี   จึงเข้าอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลพื้นลดแรงกระแทกของบริษัทอื่น    พบสินค้าชื่อ Florament ของบริษัท ทินมาพลาสติก อุตสาหกรรม จำกัด   น่าสนใจ  “เลขา” ติดต่อและโทรศัพท์บอกผมให้ไปดูตัวอย่างสินค้าที่บริษัทอยู่ถนนพระราม ๓ แถวยานนาวา    ดูแล้วก็เห็นว่าตรงตามความต้องการ   แต่เซลล์ชื่อคุณอุ้มดูรูปถ่ายพื้นห้องที่ “เลขา”ส่งไปให้ แล้วบอกว่าพื้นไม่เรียบ  อีกสองวันเธอก็มาดูและวัดพื้นที่   และพูดโทรศัพท์กับคุณเอ็กซ์ ว่าต้องประพื้นให้เรียบอย่างไร   รุ่งขึ้นทีมช่างของคุณเอ็กซ์ก็มาจัดการ  

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ เขาเอาม้วนยางปูพื้นมาส่ง   

วันที่ ๑๔ วันวาเลนไทน์ช่างก็มาดำเนินการปูพื้น    มาถึงก็สำรวจพื้นและบอกว่าต้องปรับพื้นโดยไม่บ่นอะไร    ทำให้ผมคิดว่า แม้พื้นจะแพงแต่บริการดีก็ไม่เสียดายเงิน  เพราะเราต้องการให้สาวน้อยอยู่สบาย  หากเกิดอุบัติเหตุหกล้มก็ไม่เป็นอันตราย    

ช่างใช้เกรียงเหล็กไถแซะเอาปูนส่วนที่นูนออกไป   แล้วเอาปูนกาวเท เอาเกรียงเกลี่ย    จนทั่วห้อง   แล้วบอกว่าพรุ่งนี้จะมาปู   ผมทราบจาก “เลขา” ในภายหลังว่าเขาได้จ่ายค่าปรับพื้นให้เรียบไปแล้ว     การปรับพื้นนี้จึงอยู่ในรายการที่เราว่าจ้างด้วย   

วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ผมไปบรรยายที่จังหวัดอุบลราชธานี     กลับมาถึงบ้านเกือบ ๑๖ น.  พบว่าช่างปูพิ้นห้องใหญ่เสร็จแล้วเหลือเฉพาะการเชื่อมแนวรอยต่อด้วยเส้นพลาสติก ที่เราจ่ายเงินซื้อมาแล้ว   ขณะนั้นช่างกำลังปูกระเบื้องยางห้องเล็ก ซึ่งเป็นห้องทำงานของผม    โดย "เลขา" ไปซื้อกระเบื้องยางมาให้ช่างปูเป็นการจ้างปูพิเศษ (๒,๐๐๐ บาท)   

เสร็จจากปูพื้นห้องทำงาน    ก็ถึงขั้นตอนเซาะร่องรอยต่อของพื้น Florament    เพื่อใช้เส้นพลาสติกเชื่อมรอยต่อ     ผมได้โอกาสหาความรู้วิธีทำงาน    ทั้งวิธีเซาะร่อง และวิธีใช้พลาสติกเชื่อมรอยต่อด้วยความร้อน    ทั้งสองขั้นตอนนั้นมีเครื่องใช้เพื่อการนี้เป็นพิเศษ    เมื่อเส้นพลาสติกเย็นก็ใช้คัทเตอร์กรีดส่วนนูนออก    หลังจากนั้นก็ถึงขั้นตอนใช้ซิลิโคน ยาแนวรอยต่อกับผนังห้อง     กว่าจะเสร็จก็เกือบสองทุ่ม        

ขั้นต่อไปคือ ซื้อเตียง ที่นอน ตู้โต๊ะทำงาน    และต่อชั้นวางหนังสือ

เช้าวันเสาร์ที่ ๑๖ สาวน้อยเอาใจผมด้วยการชงกาแฟให้กินตามด้วยชาจีน   ชงมาให้ ๑ แก้ว    อีกสองสามนาที ส่งมาอีก ๑ แก้ว    เพราะเธอลืมไปแล้วว่าได้ชงชาให้แล้ว     

อีกสักครู เธอถามว่า วันนี้วันอะไร    เพราะถ้าเป็นวันเสาร์เธอจะเดินออกไปหยิบหนังสือพิมพ์ ที่เขานำมาส่งที่หน้าบ้าน "เลขา"    การเดินนี้ เพื่อออกกำลังไปในตัว

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.พ. ๖๒

 


หมายเลขบันทึก: 659955เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2019 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2019 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

In AUS, home modification and renovation need to go through ‘council approval’ process on top of the usual design, contract,… The council have duty to ensure drainage, fire safety, public safety, traffic regulation, ‘look’ (cultural impression?),… are in compliance to ‘laws and by-laws’. The council building inspectors visit the site before, during and after the work and sometimes issue modification notices before compliance certificate.

There are good opportunities in servicing need of aged and disable clients that Thailand’s technical colleges and manufacturers should look into.

I should explain ‘drainage’ more. Councils (in AUS) regulate ‘waste water’ from homes, its treatment and its release into environment and also ‘rain and flood’ drainage. This means that modifications or renovations do not create drainage issues to neighbors and others down-streams.

In Thailand, waste water from one home can cause issues elsewhere – uncontrolled; land-filling can be done (and cause flooding on neighboring homes) – uncontrolled.Water release (eg. by watering sprinklers, cleaning and washing ) from one home can compromise foundational and/or structural stability of near-by buildings – uncontrolled. There are more drainage issues that are uncontrolled in Thailand.

ถือว่าได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของอาจารย์ ต้องนำไปปรับใฃ้แล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท