เริ่มจากหาซื้อที่ถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการออกแบบแปลงเกษตร (ถอดบทเรียนจากคลิปโจน จันได)


ผมเจอคลิปวีดีโอที่โจน จันได ถ่ายทอด "ปัญญาปฏิบัติ " เป็นวิทยาทานด้วยการเล่าประสบการณ์ให้กับสมาชิกที่เข้าอบรมที่ "รังโจน" ที่ แม่แตง จ.เชียงใหม่ (ผมเคยไปที่นั่นแล้วครั้งหนึ่ บันทึกควมประทับใจไว้ที่นี่)  .... ผมดูแล้วรู้สึกประทับใจมาก ๆ  องค์ความรู้และประสบการณ์ของโจน จันได จะมีประโยชน์มาก ๆ กับผู้สนใจแน่  ๆ  จึงมาถอดบทเรียนไว้ในบันทึกนี้ ให้ตนเองได้เข้าใจลึกขึ้น และเผยแพร่แชร์ไว้เผื่อให้ผู้ถนัดอ่าน

(ใครไม่ชอบอ่าน ดูคลิปเองได้เลยครับ)

วิธีเลือกซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร

  • ถ้าต้องการดินดี ให้เลือกที่ที่มีหญ้า ยิ่งหญ้าสูงแสดงว่าดินอุดมสมบูรณ์  หรือถ้ามีต้นไม้ยิ่งดี
    • ดินดีไม่ดี ไม่ใช่สาระสำคัญ ภายใน ๑-๒ ปี เราสามารถพัฒนาดินได้ (ถ้ามีน้ำ) 
  • ให้ดูเรื่องน้ำ น้ำสำคัญที่สุด ถ้ามีบ่ออยู่แล้ว ให้เช็คดูว่ามีปริมาณน้ำมากไหม ถ้าพื้นที่ไม่มีบ่อ ให้ดูพื้นที่รอบ ๆ  ซึ่งมักจะมีระดับน้ำใต้ดินเท่า ๆ กัน  หรือ ถ้าอยู่ใกล้ แม่น้ำ ลำคลอง คลองส่งน้ำ ก็ใช้ได้เช่นกัน 
    • ที่ไม่มีน้ำ ราคามักจะถูก 
    • แต่มีข้อจำกัดมากในการพัฒนาที่
  • ให้ดูว่าถนนทางเข้ามีไหม  ถ้าเข้าไม่ได้ ต้องคิดเผื่อว่าการซื้ออีกเท่าใดจึงจะมีถนนเข้า 
    • ทางเข้าควรเป็นทางสาธารณะ 
    • ต้องคุยกับเจ้าของที่ดี ๆ  ว่า ถนนที่เข้าถึงขณะนั้นเป็นถนนสาธารณะไหม  ถ้าไม่ มักมีปัญหาภายหลัง 
    • ต้องกว้างพอสมควร เพราะต่อไป อาจต้องขนดินเข้า-ออก ฯลฯ  จะปวดหัวภายหลัง
  •  ให้คิดถึง ไฟฟ้า  ไกลจากเสาไฟฟ้ามากเท่าใด  ต้องคิดเผื่อค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย 
    • ถ้าไกลเกิน ๒๐ เมตร เราต้องซื้อเสาเอง 
  • ต้องศึกษาก่อนด้วยว่า เพื่อนบ้านเป็นอย่างไร  ของหายบ่อยไหม เคยมีหรือกำลังมีปัญหาอะไรไหม 
  • ให้เลือกที่ที่เป็น โฉนดเป็นอันดับแรก  รองลงมาคือ นส.๓ สค.๑ เป็นอันดับสอง พื้นที่ ททบ.๕ เป็นอันดับต่อไป 
    • ที่ที่ไม่ควรซื้อคือ ที่ สปก. หรือที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์  
    • เพราะชื่อคนใน สปก. ไม่สามารถซื้อขายโดยถูกกฎหมาย  ต่อสู้กันในศาลไม่ได้ ทำธุรกรรมใด ๆ ไม่ได้เลย ให้เช่าก็ไม่ได้ 
  • ระวังปัญหาเรื่องเขตแดน  ในขณะที่กำลังซื้อที่ ในวันรังวัด ให้ปักหลัก ปักเสารั้วเลย จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง  
การออกแบบแปลงเกษตร

การออกแบบสำคัญมาก ๆ  หลังจากซื้อที่ได้แล้ว เราต้องมาออกแบบพื้นที่ก่อน 
  • อย่าทำแบบได้อะไรมาก็ปลูก ๆ ไว้ก่อน เพราะที่ที่มักจะมาสร้างบ้าน มักจะเป็นที่ที่ต้นไม้โตดีที่สุด 
  • ให้ดูวัตถุประสงค์ของเราเองว่า ต้องการใช้พื้นที่ทำอะไร เพื่ออะไร ... เจ้าของที่ (คนที่จะอยู่/ใช้ประโยชน์) ต้องเป็นคนตัดสินใจเอง เช่น จะทำเป็น...
    • ที่อยู่แบบพึ่งตนเอง 
    • เป็นนา 
    • เป็นรีสอร์ท 
    • เป็นป่า เพื่อลงทุน 
    • ฯลฯ 
  • ต้องออกแบบเพื่อความมั่นคงในอนาคต 
    • ไม่ควรให้ใครเช่า เพราะดินเสีย ที่เสียหมด 
    • ให้คิดถึงว่า ถ้าเราเกษียณ ควรจะมีบำนาญ คือ ควรมีโซนป่าไม้เนื้อแข็ง 
      • ปลูกให้ถี่ ๆ ประมาณ ๕๐๐ ต้น ต่อหนึ่งไร่
      • พอต้นไม้รอด ให้ไปขึ้นทะเบียนไว้ จะใช้เวลาประมาณ ๒ ปี
    • อย่าเพิ่งโอนให้ลูกหลาน ... ลูกหลานจะคอยดูแลเราไปเรื่อย ๆ 
  • ถ้าคิดว่า ทำเป็นที่อยู่อาศัยด้วยและอยู่กับกสิกรรมธรรมชาติ จะต้อง มีบ้าน มีสระน้ำ มีนา มีสวนผัก สวนผลไม้ มีป่า ควรจะออแบบเป็นโซน ๆ โดยพิจารณาจาก ... 
    • ดูลักษณะของดิน 
      • ดินเหนียว เหมาะสำหรับการขุดสระ แต่ปลูกผักยากมาก  แต่ต้นไม้ชอบ 
      • ดินทราย ผักจะชอบ โดยเฉพาะพวกพืชหัวทั้งหลาย 
      • ดินที่ดีคือดินร่วนปนทราย  เพราะอุ้มน้ำได้ ไม่แชะ มีสารอาหาร 
      • ดินหินลูกรัง รากพืชแม้แต่ไม้ใหญ่ก็ลงลึกไม่ได้ 
    • ดูระดับสูงต่ำของพื้นที่ 
      • อย่าไปสร้างบ้านไว้ที่ต่ำ  เดี๋ยวน้ำท่วมได้ 
      • ที่สูงควรสร้างบ้าน วิวดี มีลมผ่าน 
      • ที่ต่ำควรจะเป็นสระ หรือ ทำแปลงนา  
    • ดูทิศทางลม ทิศทางแดด ทิศทางฝน  
  • ที่ที่ควรสร้างบ้านคือที่ที่ทำอย่างอื่นไม่ได้ เช่น เป็นหินลูกรัง  ฯลฯ 
    • บางคนชอบสังสรรค์ หรืออยากจะทำร้านค้าขาย ให้สร้างติดถนน
    • บางคนชอบเงียบ มีพื้นส่วนตัว ต้องทำบ้านห่างถนน 
    • ถ้าพื้นที่ไม่สูง ให้ถมที่สร้างบ้านให้สูง ๆ เลย 
    • ถ้ายังไม่พร้อมสร้างบ้าน ให้ถมที่ไว้ก่อน
  • ที่ที่ควรขุดสระ
    • ควรเป็นที่ต่ำสุด และเป็นดินเหนียว ขุดให้ถึงตาน้ำ 
    • ไม่ควรขุดที่สูงเลย เพราะจะเก็บน้ำไม่อยู่ 
    • ให้คิดถึงการใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย เช่น 
      • เลี้ยงปลา...ต้องขุดให้มีไหล่สระลึกไม่เกิน ๑ เมตร เพื่อให้แสงแดดส่องถึง จะได้เกิดระบบนิเวศในน้ำ ปลาจะมีแพลงตอน สาหร่ายต่าง ๆ เป็นอาหาร  เช่น การขุดสระในนาข้าว ก็จะทำให้ปลาโตเร็ว 
    • ถ้าเป็นดินเหนียว ให้ขุดให้ลึกเลย ให้ถึงตาน้ำ ๕ เมตรขึ้นไป  
    • ให้ขุดร่องรอบพื้นที่เราให้ไหลลงสระให้หมด 
    • ตอนขุด ให้กำกับให้คนขุดเอาหน้าดินไปไว้ในพื้นที่สวน เอาดินเหนียวไปไว้พื้นที่ปลูกบ้าน
    • สระให้อยู่ใกล้บ้านและสวน เพราะจะทำให้บ้านเย็นสบาย และใช้น้ำรดผัก  
  • ที่ทำถนน
    • ให้สร้างรอบเขตที่ของเราเลย  เป็นทั้งถนนและแนวกันไฟ  กันยาฆ่าแมลง 
      • ขอบถนนเขตแดน ไม่ควรปลูกต้นไม้ใหญ่ เพราะจะกระทบกระทั่งกับพื้นบ้าน 
      • ขอบถนนฝั่งในของเรา สามารถปลูกไม้ใหญ่ได้ อย่าให้กิ่งไปไกลถึงเขตแดนได้ 
    • ให้ทำถนนเข้าถึงทุกพื้นที่ของเราเลย  ถ้าพื้นที่กว้าง ต้องทำถนนมา
    • ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรง แล้วแต่คนชอบ เช่น ถนนคดเคี้ยวไปมา หากสร้างบ้านพักโฮมสเตย์ จะทำให้รู้สึกอยู่ไกลกัน 
  • โซนที่ ๑ บ้าน
    • เอาไว้สร้างบ้าน
    • มีสระน้ำส่วนหนึ่ง 
    • มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์
      • ต้องไม่ใกล้บ้านเกินไป เพราะกลิ่นเหม็น และเสียงรบกวน อย่างน้อยต้องประมาณ ๓๐ เมตร 
      • แต่ก็ไม่ไกลเกินไป เพราะถ้ามีอะไรมากินเป็ดไก่ จะไม่ได้ยิน 
  • โซนที่ ๒ สวน
    • ไม่ควรอยู่ไกลบ้าน ควรจะอยู่ใกล้บ้านที่สุด เพราะ...
      • สะดวกในการนำเศษอาหารไปเทปุ๋ยหมัก 
      • สะดวกในการเก็บมากิน ผักต้องอยู่ใกล้ครัวที่สุด
      • สะดวกต่อการดูแล รดน้ำ รักษา ... 
    • ไม่ควรเป็นพื้นที่ใหญ่เกินไป เพราะจะดูแลไม่ไหว ใช้เวลานานเกินไป เหนื่อยเกินไป  ไม่ควรเกินครึ่งไร่
  • โซนที่ ๓ ที่นา ที่เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าว ถั่ว งา มัน  ข้าวโพด แตง ฯลฯ  
    • ไม่อยากให้ทำนาเกิน ๑ ไร่ ต่อครอบครัว เพราะคน ๖ คน กินข้าวแค่ประมาณ ๖๐๐ กิโลกรัมเท่านั้น ... ทำนาดี ๆ ทำไร่เดียวได้ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม 
  • โซนที่ ๔ สวนผลไม้ 
    • อย่าให้อยู่ใกล้บ้าน เพราะ 
      • ผลไม้ ใบ หล่นลงหลังคา จะนำปัญหามาให้ 
      • จะทำให้ยุ่งเยอะ หนูเยอะ งูก็เยอะ
      • สวนผลไม้ควรจะอยู่ห่างบ้านออกไป ไปอยู่หลังโซนที่ ๓ 
    • ให้มีความหลากหลายของผลไม้มาก ๆ  ให้มีผลไม้ทุกชนิดอยากกินและปลูกได้เลย เช่น ฝรั่ง มะละกอ ฯลฯ 
    • อย่าปลูกถี่กัน จนกิ่งหรือทรงพุ่มชนกัน เพราะผลไม้จะไม่ออกผลเลย ควรจะต้องห่างกันมากกว่า ๖ เมตร 
    • ในสวนผลไม้ ใต้ร่มไม้ ให้ปลูกพืชประเภทหัวต่าง ๆ เช่น เผือก มัน ฯลฯ หรือสมุนไพรต่าง ๆ 
  • โซนที่ ๕ สวนป่าใช้สอย 
    • ให้มีไม้ไผ่ อย่างน้อย ๔-๕ สายพันธุ์ เช่น ไผ่ซาง ไผ่เลี้ยง ไผ่บ้าน ไผ่สีสุก ฯลฯ 
    • ให้มีไม้หลายชนิด ยางนา พยุง สัก กบก หว้า ลูกหยี กันเกา ฯลฯ 
  • โซนที่ ๖ สวนป่าอนุรักษ์พันธุกรรม  
    • โซนนี้ปลูกสิ่งที่เราต้องการรักษาพันธุ์ โดยเฉพาะสมุนไพร 

ความคิดรวบยอดในการออกแบบแปลง

จริง ๆ แล้ว หากท่านดูคลิปด้วยตนเอง จะมีเคล็ดเกล็ดวิชามากมาย ที่ผมไม่ได้เขียนถึง ...  ดังนั้น จึงอยากให้ท่านผู้สนใจ ดูคลิปนั้นด้วยตนเองจะดีกว่า 

ผมวาดภาพเพื่อแสดงความคิดรวบยอดจากองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากการฟังคลิปนี้ดังภาพครับ  ขอขอบคุณผู้อัดคลิปวิดีโอและนำมาเผยแพร่มาก ๆ ครับ  .... ผมน่าจะประหยัดเงินได้หลายหมื่นบาททีเดียว ถ้าเทียบกับการเดินทางไปร่วมคลาสที่ "รังโจน"

ผิดถูกอย่างไร ขออภัยไว้ และยินดีแก้ไขทุกเมื่อครับ โพสท์ไว้ได้เลย

หมายเลขบันทึก: 659640เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2019 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2019 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท