วิธีเขียน "ภูมิหลัง" ในการเขียนวิทยานิพนธ์ทางการศึกษา (ขอเสนอ)


ก่อนอื่น ต้องย้ำว่า ผมไม่ได้สำเร็จปริญญาใด ๆ ด้านการศึกษา ดังนั้นคำแนะนำในการเขียน "ภูมิหลัง" ที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้  เป็นไม่ใช่ระเบียบวิธีมาตรฐานใด ๆ เป็นวิธีที่ผมตกผลึกได้จากประสบการณ์การอ่านและคิดเพื่อจะแก้ไขวิทยานิพนธ์นิสิต ท่านจะนำไปใช้หรือไม่ก็โปรดพิจารณาดูเถิด 

ความหมายของภูมิหลัง

ภูมิหลังคืออะไร เขียนไว้ทำไม ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน 

  • ภูมิหลัง คือ ความเป็นมา ความจำเป็นและความสำคัญ หลักการและเหตุผล หากเป็นภูมิหลังการวิจัย ต้องเขียนให้เห็นชัดเจนถึงปัญหาที่นำมาสู่ปัญหาวิจัย รวมถึงหลักคิดและแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้นด้วย ในการเขียนอาจกำหนดเป็นหัวข้อย่อย ๆ หรือจะเขียนแยกประเด็นเหล่านี้ไว้เป็นย่อหน้า ๆ ต่อกันก็ได้
  • การเขียนภูมิหลังที่ดี จะทำให้ผู้อ่านทราบถึง ที่มา-ที่ไป ความจำเป็นหรือความสำคัญของงานการศึกษา(วิจัย)เรื่องนั้น ๆ เห็นแนวคิดหรือวิธีคิดในการออกแบบกระบวนงานหรือวิธีการดำเนินการของงาน และเข้าใจหลักการและเหตุผลที่เลือกหรือกำหนดแนวทางการทำงานนั้น ๆ  

หลักการเขียนภูมิหลัง

ขอเสนอให้แบ่งเขียนเป็น ๓ ประเด็น ให้เห็นเหตุเห็นผลเชื่อมโยงกัน ดังต่อไปนี้ 

  • ความเป็นมา  เขียนให้เห็น การพัฒนา หรือการศึกษา หรือผลสรุปของการวิจัย(แก้ปัญหา) เห็นเป็นลำดับขั้นโดยมีมิติของเวลาหรือความก้าวหน้าที่ชัดเจน เช่น มีการกำหนดเป็นกฎหมาย (เช่น พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ) กำหนดเป็นแผนเป็นเป้าหมายร่วมหรือมาตรฐานร่วม (แช่น หลักสูตรแกนกลาง)  องค์ความรู้หรือทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไป  
  • ความจำเป็นและความสำคัญ เขียนให้เห็นปัญหา เห็นบริบทของปัญหา เห็นความรุนแรงของปัญหา หรือเขียนให้เห็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการงานการศึกษาหรือวิจัยนั้น และเขียนให้เห็นถึงประโยชน์หรือคุณค่าของงานหากการดำเนินการสำเร็จ 
  • หลักการและเหตุผล เขียนให้เห็น หลักคิดหรือหลักปฏิบัติที่จะนำมาใช้ในงานการศึกษาวิจัยนั้น ให้อ้างถึงทฤษฎีหรือองค์ความรู้ที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักการในการกำหนดแนวทางหรือออกแบบวิธีการศึกษาวิจัย โดยเขียนให้เป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงกัน 

ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเขียนภูมิหลังของงานด้านการศึกษา 

นิสิตนักศึกษาที่เรียนด้านการศึกษา ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเป็นครู คณาจารย์ หรือบุคลากรด้านการศึกษาทุกท่าน จำเป็น ต้องมีความรู้ดังต่อไปนี้ ก่อนจะเริ่มเขียนภูมิหลัง 

  • รัฐธรรมนูญ (กฏหมายสูงสุด) พ.ศ. ๒๕๔๐ และ พ.ศ. ๒๕๖๐  (ลองอ่านที่นี่)
  • พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไข พ.ศ. ๒๕๔๕ และ แก้ไข พ.ศ. ๒๕๕๓ (อ่านที่นี่)
  • หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ (ดาวน์โหลดที่นี่) และ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยผู้เขียนควรคำนึงถึงสาระหรือมาตรฐานการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยของตนเอง และควรจะทดลองทำแผนผังความคิด ภาพรวม เพื่อให้เข้าใจความเชื่อมโยงของเนื้อหา  (ผมตีความและจับใจความ สาระที่ ๒ วิทยาศาสตร์กายภาพ ไว้ที่นี่)

ตัวอย่างการเขียนภูมิหลังของงานด้านการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มสาระที่ ๒ วิทยาศาสตร์กายภาพ 

    พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาในหมวดที่ ๔ มาตราที่ ๒๓ ให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ในมาตราที่ ๒๔ ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการคิด การจัดการ การเผชิญกับปัญหา และแก้ปัญหาด้วยตนเอง เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนจากประสบการณ์จริง (เติมอ้างอิง)  และกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ 

    ที่ผ่านมา การจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางฯ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจและทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโยีตามที่ พ.ร.บ. กำหนด ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จาก ผลการทดสอบ O-Net ........... (ยกผลการทดสอบโอเน็ตของกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย) .... ผู้เรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ดังจะเห็นได้จากผลการทดสอบ PISA ที่นักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยเพียง........ 

    (.... เพิ่มย่อหน้าตามจำนวนปัญหาที่สนใจ.....)

    ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการแก้ปัญหา เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับดำรงชีวิตที่ดีในศตวรรษที่ ๒๑  และเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศที่จัดว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดจะมีผลการการทดสอบด้านการคิดและทักษะการแก้ปัญหาสูง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากเมื่อพิจารณาจากงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาบุคลากรและการจัดการเรียนรู้ ....... ควรอ้างอิงข้อมูลตัวเลขที่น่าเชื่อถือต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  เช่น GDP หรือผลการประเมินเปรียบเทียบมาตรฐานของสำนักงานที่ได้รับความเชื่อถือ  (ดูภาพด้านล่างสุด)

    จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องพบว่า สาเหตุที่ที่ทำให้ผู้เรียนขาดการคิดวิเคราะห์และทักษะการแก้ปัญหา คือการจัดการเรียนรู้แบบเน้นการถ่ายทอดความรู้โดยครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง กระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เผชิญปัญหาหรือแก้ปัยหาด้วยตนเองตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ (เติมอ้างอิง....) .... 

    การจัดการเรียนรู้บนฐานปัญหา (Problem-based Learning) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการแก้ปัญหาได้อย่างมีนัยสำคัญ (อ้างอิง...) ..... เขียนถึงผลงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งสืบค้นได้ โดยเฉพาะผลงานวิจัยที่มีกลุ่มเป้าหมาย หรือ เนื้อหาสาระที่ใกล้เคียงกัน 

    การจัดการเรียนรู้บนฐานปัญหาที่แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยให้ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยกำหนดสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางที่ผู้เรียนกำลังศึกษา น่าจะส่งผลให้ทักษะการแก้ปัญหาของผู้เรียนพัฒนา .... (เพิ่มความคาดหวังตามที่กำหนดในวัตถุประสงค์ของงาน  ... ต้องเชื่อมโยงกำวิธีการที่เสนอไปในย่อหน้าก่อน ...)

    ฝากก่อนจบบันทึก

    สังเกตว่า ผมจะเน้นเรื่องการเขียนที่เป็นเหตุเป็นผลและเชื่อมโยง ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นได้จากการ "ตัดต่อ" หรือ "ต่อเติม" เลย ....  ทั้งนี้ ขอย้ำอีกทีว่า การเขียนใด ๆ ไม่ควรจะยึดรูปแบบใดตายตัว ... ไม่อย่างนั้น คงจะไม่มีผลงานสร้างสรรค์ใด ๆ เกิดขึ้นได้ในวงการศึกษาไทย 

    หมายเลขบันทึก: 659496เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2019 02:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2019 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท