ว่าด้วยกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับจารีต


ว่าด้วยกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับจารีต

25 มกราคม 2562

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

สมการอมตะของการทุจริต

  ขอเกริ่นนำเรื่องการทุจริตก่อนอื่น Prof. Robert Klitgaard & Heather Baser [2] ให้ทฤษฎีสูตรการทุจริตคอร์รัปชันไว้ว่า C = M+D-A โดยที่ C=Corruption (การทุจริต), M=Monopoly (การผูกขาดอำนาจ), D=Discretion (การใช้ดุลยพินิจ) และ A=Accountability (ความรับผิดชอบ) จากสูตรนี้ เห็นตัวแปรสำคัญเกี่ยวกับ “การใช้อำนาจ” เป็นปัจจัยตัวบวก “ความรับผิดชอบ” เป็นปัจจัยตัวลดทอน ซึ่งตัวลดทอนในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม” ที่ถือเป็นเรื่องของ “หลักนิติธรรม” ประการหนึ่งที่สำคัญ

ย้อนรอยข้อมูลการทุจริต

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทนที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) ต่อมาได้ตรา “พรบ. มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551” ที่มีข้อจำกัดในอัตรากำลังในการตรวจสอบพนักงานของรัฐกว่า 4 ล้านคน [3]

ข้อมูลสำนักงาน ป.ป.ช. ปี 2543–2548 รวม 6 ปี [4] พบว่า มีการกล่าวหาร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริตเกือบทุกกระทรวง ถูกกล่าวหามากที่สุด ลำดับที่ 1 ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 9,317 เรื่อง

รายงานสรุปผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปี 2545 [5] พบว่าเกือบร้อยละ 90 ของ อปท. มีการบริหารงานไม่โปร่งใส เพราะระบบหรือคน มีการควบคุมภายใน (Internal Audit) บกพร่อง

ดัชนีภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันของไทย (Corruption Perception Index - CPI) สถิติย้อนหลัง ปี 2549 – 2560 รวม 12 ปี [6] ดังนี้ ปี 2560 อันดับ 96 (180 ประเทศ) ปี 2559 อันดับ 101 ปี 2558 อันดับ 76 ปี 2557 อันดับ 85 ปี 2556 อันดับ 102 ปี 2555 อันดับ 88 2554 อันดับ 80 ปี 2553 อันดับ 78 ปี 2552 อันดับ 84 ปี 2551 อันดับ 80 ปี 2550 อันดับ 84 ปี 2549 อันดับ 63 (163 ประเทศ)  

จากข้อมูลปี 2556 [7]พบว่าราชการเกิดความสูญเสียเป็นจำนวนเงินสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท

รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชัน [8]

รายงานขององค์การสหประชาชาติ (UNDP, 2004) [9] กล่าวว่า การทุจริตมีหลายรูปแบบได้แก่ การติดสินบน (Bribery), การรีดไถ (Extortion), การใช้อิทธิพลมืด (Influence Peddling), การช่วยเหลือเครือญาติ (Nepotism), การฉ้อโกง (Fraud), การใช้เงินเร่งความเร็ว (Speed Money), การบังหลวง (Embezzlement) ตลอดจนการกระทำที่ขาดหลักศีลธรรม

กรณี อปท. ที่พบเห็นบ่อย [10]คือ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิเช่น การเรียกรับเงินสินบน ค่านายหน้า หรือการตอบแทนในรูปแบบต่างๆ หรือ ในคนชั้นกลางที่คิดในเชิงมุ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนตน

ข้อมูลการทุจริตสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2547) [11] มากที่สุด ได้แก่ (1) การฮั้วประมูลในการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ (2) การเลือกตั้ง (3) กินตามน้ำ ค่าน้ำร้อน น้ำชา (4) นักการเมืองขาดคุณธรรม และพบว่ากลุ่มผู้กระทำการทุจริต มากที่สุด ได้แก่ ข้าราชการ

สำหรับการทุจริตใน อปท. มีข้อมูลดังนี้

ข้อมูลสำนักงาน ป.ป.ช. ปี 2543–2550 รวม 8 ปี [12] พบว่า บุคลากรของ อปท. ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต รวม 5,508 เรื่อง มีผู้ถูกกล่าวหา 9,467 ราย แบ่งสภาพหรือลักษณะปัญหาการทุจริตใน อปท. ได้ดังนี้

(1) การทุจริตด้านงบประมาณ การทำบัญชี การจัดซื้อจัดจ้างและการเงินการคลัง (2) เกิดจากตัวบุคคลท้องถิ่นบางส่วน (3) เกิดจากช่องว่างของระเบียบและกฎหมาย (4) เกิดการขาดความรู้ความเข้าใจและขาดคุณธรรม จริยธรรม (5) เกิดจากขาดการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทราบ (6) เกิดจากการตรวจสอบขาดความหลากหลายในการตรวจสอบจากภาคส่วนต่าง ๆ (7) เกิดจากอำนาจ บารมี อิทธิพล ที่ส่งผลให้เกิดการทุจริต โดยเฉพาะอิทธิพลและอำนาจของฝ่ายการเมืองที่ครอบงำหรือสามารถให้คุณให้โทษต่อเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการท้องถิ่น  

กฎหมายลายลักษณ์อักษรกับจารีต

ประเด็นสำคัญใน “ตัวบทกฎหมาย” (Terms) กฎหมายไทยเป็น  “ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร” (Statutory Law) แม้ว่า ในกฎมณเฑียรบาลจะถือตาม “จารีต” (Custom) แต่กฎหมายอื่นทั้งหมดเป็น “กฎหมายลายลักษณ์อักษร” อิทธิพลแนวคิด “กฎหมายธรรมชาติ” (Natural Law) ในบริบทสังคมโลกที่ถือว่า “ศีลธรรมและความยุติธรรม” ผูกติดกับ “กฎหมาย” ต้องไปด้วยกัน [13] หาได้มีอิทธิพลต่อตุลาการศาลไทยที่ส่วนใหญ่อิทธิพลแนว “กฎหมายบ้านเมือง” (Positive Law) เห็นว่า กฎหมายไม่ต้องสัมพันธ์กับความยุติธรรม

ความเป็นจารีต ได้แก่ เรื่องจริยธรรม (Ethics) เรื่องจรรยาบรรณ (Conducts) เรื่องวินัย (Discipline) รวมไปถึงเรื่องศีลธรรมจรรยาอื่นใด (Moral) ที่ต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจนจาก “กฎหมายทั่วไป” กล่าวคือ ต้องแยกแยะให้มันชัดว่าในแต่ละเรื่องจะใช้ในกรณีใดบ้าง เพื่อคนที่ใช้อำนาจจะได้ไม่หลงผิด หรือเข้าใจผิด ผู้ใช้อำนาจต้องมีหลักทฤษฎีในการคิดวินิจฉัย อธิบายสังคมได้ ไม่เป็นแบบเอาสีข้างเข้าถู กรณี “เซียงเมี่ยง” หรือ “ศรีธนญชัย” การเลี่ยงบาลีในการปฏิบัติ จนถึงเรียกว่า “ขี้ฉ้อ”

แยกแยะกลุ่มคนเกี่ยวข้องออกได้ 2 สถานะ

มีกลุ่มคนเกี่ยวข้อง 2 สถานะ คือ (1) ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายบังคับ ซึ่งต้องมีมาตรฐานจริยธรรม มากำกับ และ (2) ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ยึดถือตามตัวบท มาตรา ซึ่งคนสองกลุ่มดังกล่าว “เกิดช่องว่าง” ในการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติตามกฎหมาย (Law Enforcement & Law Compliance) ทั้งในระบบ และนอกระบบกฎหมาย การนำหลักกฎหมายจารีตมาใช้จำเป็นในเรื่องมาตรฐาน “คุณธรรมจริยธรรม” (Ethics) ของผู้นำและวินัยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เน้น “การควบคุมพฤติกรรมตัวบุคคล” (ส่วนบุคคล) ส่วนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเน้นเรื่อง “กระบวนการทำงาน” เพราะกฎหมายลายลักษณ์อักษรมีช่องโหว่ในการตราบทบัญญัติ ทำให้ขาดไร้จรรยาบรรณ (Lack of Conduct) ทำให้เกิด “การเลี่ยงบาลี” ในการปฏิบัติได้ ที่จริงในตัวกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นต้องคำนึงถึงหลักจารีตด้วย คือต้องนำใช้ควบคู่กันไป เป้าหมายก็เพื่อกระตุ้นเตือนคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิม และคนที่จะมาใหม่ รวมถึงบรรดาที่ปรึกษาผู้รู้ผู้แนะนำ (ทะแนะ) ด้วย เพื่อให้สำเหนียกในการปฏิบัติหน้าที่ ในเมื่อขัดแย้งกับ “ความเป็นธรรม”(ความยุติธรรม) หรือขัดแย้งกับ “ศีลธรรม” ที่เป็นสำนึกในคุณธรรม เป็นจุดยืนใน “มโนธรรมสำนึก” (Conscious) ของแต่ละคน ในความหมายจึงแยกคำว่า “ต้อง” และคำว่า “ควร” ออกให้ชัดเจน แม้จะเป็นอำนาจ “ดุลพินิจของแต่ละคน” ก็ตาม เพราะในหลายกรณีไม่สมควรใช้คำว่า “ควร” อาจเป็น “ตรรกะวิบัติ” ไป เนื่องจากการขัดแย้งต่อความรู้สึกของมหาชนคนส่วนใหญ่ ที่ปัจจุบันกระแสโลกออนไลน์โซเซียลมีอิทธิพลมาก ยิ่งโหมกระพือกระแสข่าวให้แพร่กระจายได้รวดเร็วและทั่วถึง

กรณีศึกษาการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยราชการ

กรณีที่หนึ่ง ปัญหาการตีความและแนวปฏิบัติของ อปท.ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า [14]ในบริบทของท้องถิ่นเห็นว่า การค้นหาตัวสุนัขที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน สุนัขจรจัด จะยุ่งยากมากกว่า การระดมฉีดวัคซีน เหตุสำคัญคือวัคซีนต้องเก็บไว้ในที่เย็นจัด การเอาเที่ยวออกไปเร่ฉีดอาจไม่เหมาะสมไม่มีประสิทธิภาพ มีค่าน้ำแข็งรักษาความเย็น ยุ่งยาก เพื่อรอจนกว่าจะค้นหาตัวสุนัขเป้าหมายได้

กรณีที่สอง การใช้อำนาจของกลุ่มบุคคลที่เป็นคณะกรรมการ หรือคณะอนุการต่างๆ ดังเช่น คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (เทศบาล, อบต., อบจ. และเมืองพัทยา) หรือที่เรียกย่อว่า “ก.จังหวัด” ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ที่ได้มอบหมายมาตามกฎหมาย ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหา การวินิจฉัยของ ก.จังหวัด การใช้อำนาจของประธาน ก.จังหวัด ตามประกาศ ก.กลาง กับ คำสั่ง หน. คสช. ที่ 8/2560 ที่เรียงลำดับการใช้กฎหมายที่ปนเปกัน ซึ่งมีข้อสงสัยในการใช้อำนาจว่า “กระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้” หรือไม่ อย่างไร กล่าวคือเป็นอำนาจของ ก.จังหวัด หรืออำนาจของ ก.กลาง เพราะหาก ก.จังหวัด มีอิทธิพล และมีผลประโยชน์ร่วมอยู่ หรือที่เรียกว่า “มีส่วนได้เสียฯ” ก็จะไม่เป็นผลดี ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกย้ายได้

กรณีประธาน ก. จังหวัด อาศัยอำนาจตามหมวด 3 ข้อ 15 แห่งประกาศคณะกรรมการกลาง (ก.กลาง) กรณีที่มีเหตุจำเป็น [15]ซึ่งประกาศดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 และ 4 ของคำสั่ง หน.คสช ที่ 8/2560 [16]ออกคำสั่งให้ปลัด อปท. พ้นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ปลัด อปท.นั้น โดยให้ปฏิบัติหน้าที่อื่น ในสังกัด อปท. อื่น เป็นต้น

เพราะหากพิจารณาตามเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ที่มุ่งหมายแก้ไขปัญหาการใช้ระบบอุปถัมภ์ที่ไม่ถูกต้องในการบริหารงานบุคคล รวมไปถึงเรื่องการทุจริตในการบริหารงานบุคคลทั้งหมด โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหารท้องถิ่น และ อำนวยการท้องถิ่น ในการ “คัดเลือก” “การสอบคัดเลือก” และ กรณีการขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อช่วยดึงเจ้าหน้าที่รัฐออกจากพื้นที่อันตราย หรือขัดแย้งกันอย่างรุนแรงและมีข้อเท็จจริงรองรับถึงขั้นคาดการณ์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ว่าจะเกิดอันตราย เช่น ในสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ หรือ กรณีอิทธิพลอันตรายฯ เป็นอาทิ

ความโปร่งใสตรงไปตรงมาและความคุ้มค่าในงบประมาณ

“การทุจริตแบบโปร่งใส” คำนี้ไม่น่ามี เพราะในความหมายก็คือการทุจริตในรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ “ศีลธรรม” ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายไปโดยปริยาย แม้จะไม่ได้ตราบัญญัติไว้ในเจตนารมณ์หรือในนิยาม หมวด หรือมาตราใดก็ตาม ฉะนั้น คนจึงใช้กฎหมายแค่เฉพาะตัวบทเท่านั้น ผลจึงออกมาแนว “ศรีธนญชัย แบบเลี่ยงบาลี ไม่รับประกันว่ายุติธรรมเป็นธรรมหรือไม่ เอาแค่หลุดรอดพอ

หากการพิจารณากฎหมายไปไม่ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพียงวนเวียนอยู่ในนิยาม บท มาตรา เมื่อเอาหลัก “นิติปรัชญา” (Legal Philosophy or Philosophy of Law) มาจับปรับใช้ประกอบการวินิจฉัยตัดสิน  ในหลายกรณีเห็นชัดเจนว่า “ความไม่เป็นธรรม หรือความไม่ถูกต้องหดหายไปทันที”

ในโลกความจริงมีความต่างในกรณีเดียวกันเช่น หน่วยงานความมั่นคงฯ (ตำรวจ ทหาร) มีงบประมาณ เงินล่อซื้อ เงินค่าเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัยฯ อื่นๆ แต่ในทางประสิทธิภาพประสิทธิผลงบประมาณของท้องถิ่นจ่ายเป็นค่ากิจกรรม ค่ามหรสพ ค่าการแสดง ค่าเล่นลิเก หลายโครงการมีค่าเนื้องานที่มากกว่าค่างานที่จ่ายไปจริงมาก เพราะเป็นการบริการประชาชนโดยตรงเป็นที่ชื่นชอบถูกใจของประชาชนในพื้นที่ คุ้มค่าสมประโยชน์มากกว่า เป็นต้น กรณี สตง.ออกปฏิบัติงานตรวจสอบมีงบประมาณค่าเบี้ยเลี้ยงที่มากกว่า แต่ อปท.ไม่สามารถกระทำได้ มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีจะอ้างว่าบริบทแตกต่างกันก็ใช่ที่ เพราะหลายบริบทย้อนแย้งกันเอง เช่น งานประเพณีจัดให้แก่ “ครอบครัว” แต่คน อปท. ไม่ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว (ที่บ้าน) ในช่วงจัดงานประเพณี เป็นต้น

บทสรุปสั้นคือ การใช้ “ศีลธรรม” ถือเป็นเจตนารมณ์หนึ่งของกฎหมาย เพื่อนำไปสู้ “จริยธรรม” ที่มีผลต่อการบังคับใช้ “กฎหมาย” ที่มี “ตัวบทหรือบทบัญญัติ” ที่มี “ผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้”  

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2562 หน้า 4

[2]Professor Robert Klitgaard, Claremont Graduate University, California, & Heather Baser, ผู้เชี่ยวชาญโลกด้านการทุจริต (The Christian Science Monitor), Robert Klitgaard is a University Professor at Claremont Graduate University, where he served as President from 2005 to 2009, https://lkyspp.nus.edu.sg/docs/default-source/faculty-cv/robert-klitgaard-cv.pdf?sfvrsn=6e6e940b_2

& Robert Klitgaad, International Cooperation Against Corruption, 1998, https://pdfs.semanticscholar.org/b6cf/ccb56a32cf9124be07c07b3494b79e841f58.pdf   

& Causes of Corruption: Towards a Contextual Theory of Corruption, Gjalt De Graaf, Vrije Universiteit Amsterdam, PAQ SPRING 2007, http://unpan1.un.org/intradoc/groups/public/documents/un-dpadm/unpan049603.pdf

& สุรชาติ แสนทวีสุข, “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการบริหารไม่โปร่งใส เพราะการควบคุมภายในบกพร่อง”, 2547, [Online]., Available URL : www.local.moi.go.th/2009/article/article1.doc  

[3]พันตำรวจตรีหญิง ศิพร โกวิท, “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐตามพรบ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2551”, โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, 10 สิงหาคม 2555, http://www.gotoknow.org/posts/498046  

[4]รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม, หัวหน้าโครงการวิจัย, "การทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: มาตรการและกลไกการป้องกัน", จากบทความรายงานการวิจัย เรื่อง "แนวทางการพัฒนาและเสริมสร้างกลไกการป้องกันทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", ได้รับทุนสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำปี 2549, 2550.  http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/วารสาร/50/03/50-03%2007.การทุจริตในอปท.-รศ.ดร.โกวิทย์%20พวงงาม.pdf

& ข้อมูล ป.ป.ช. ปี 2550 ระบุว่า สถิติทุจริตกว่าร้อยละ 40 มาจากท้องถิ่น ดูใน “ท้องถิ่น-คู่สมรส 4 หมื่น เคลียร์ผลประโยชน์ทับซ้อน ก่อนม.100 บังคับใช้”, สำนักข่าวอิศรา, 23 กรกฎาคม 2555, http://www.isranews.org/isranews-news/item/7839--4-100-.html    

[5]สุรชาติ แสนทวีสุข, “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการบริหารไม่โปร่งใส เพราะการควบคุมภายในบกพร่อง”, 2547, [Online]., Available URL : www.local.moi.go.th/2009/article/article1.doc  

[6]ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันค่า CPI ความคาดหวังของคนไทย!! (มีคลิป), 24 มกราคม 2562, https://youtu.be/rgU2Fl4ZoXI   

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก ปี 2560 คะแนนไทยเพิ่มจาก 35 เป็น 37 อันดับขยับมาที่ 96 จาก 101 ใน 180 ประเทศ, 22 กุมภาพันธ์ 2561, https://thaipublica.org/2018/02/corruption-perception-index-2017/

& อันดับคอร์รัปชันไทยในโลก, โดย ลม เปลี่ยนทิศ,  30 มกราคม 2560, https://www.thairath.co.th/content/846284

& พันตำรวจตรีหญิง ศิพร โกวิท, “ดัชนีการคอร์รัปชันของไทยกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ”(ปี 2549-2554), 19 กันยายน 2554, https://www.gotoknow.org/posts/502798  

[7]แนวโน้มของคอร์รัปชันในประเทศไทย, สภาผู้แทนราษฎร, กันยายน 2556, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=1484  

[8]วงจรคอร์รัปชัน, ในข้อมูลสำคัญของการต่อต้านคอร์รัปชัน, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน, 17 มีนาคม 2560, www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/135/5/วงจรคอร์รัปชัน    

ประเภทของคอร์รัปชัน มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

(1) การคอร์รัปชันขนาดเล็กน้อย (petty corruption) คือ การรับเงินที่ไม่ชอบธรรม หรือไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก เพื่อดำเนินการบางอย่างให้กับผู้ที่ให้เงิน

(2) การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (big corruption) ซึ่งมักเป็นการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่รับเงินในรูปแบบของสินบนเป็นเงินจำนวนสูง และโครงการใหญ่ๆเช่น บริษัทต่างๆ

(3) การให้ของขวัญ (gift) เป็นการคอร์รัปชันอีกประเภทหนึ่ง เป็นการให้ตอบแทนในรูปแบบสิ่งของ หรือการให้ตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเชิญไปรับประทามอาหาร ซึ่งเป็นการพยายามสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด  

[9]สุรชาติ แสนทวีสุข, 2547, อ้างแล้ว.

[10]วงจรคอร์รัปชัน, 2560,อ้างแล้ว.

[11]อ้างจาก รายงานการศึกษา รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม, 2550, อ้างแล้ว.  

[12]รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม, 2550, อ้างแล้ว.  

[13]ดู ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา : วรเจตน์ ภาคีรัตน์, Read Channel เผยแพร่เมื่อ 21 มีนาคม 2561, https://m.youtube.com/watch?feature=youtu.be&v=88pmevjPFuw    

[14]ช่วงปี 2559-2560 มีกระแสความบาดหมางในการทำงานระหว่าง อปท.กับ สตง. กรณีเกิดโรคพิษสุนัขบ้าระบาด เพราะ อปท. ไม่สามารถจัดการตามแผนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านโดยการฉีดวัคซีนได้ ด้วยข้อโต้แย้งของ สตง. ว่า ภารกิจการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นภารกิจของกรมปศุสัตว์ที่ยังมิได้ถ่ายโอนภารกิจให้แก่ท้องถิ่นตามแผนการกระจายอำนาจ

[15]ประกาศคณะกรรมการกลาง (ก.กลาง) เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่น กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น พ.ศ. 2560

[16]คำสั่ง หน.คสช ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 54 ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order8-2560.pdf 

หมายเลขบันทึก: 659489เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2019 19:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2019 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท