การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ : งานระพีเสวนาและจิตตปัญญาศึกษา



           สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการ การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  (Holistic Learning : for thriving to be wholesome) ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑  ที่ สภาคริสตจักรในประเทศไทย  สะพานหัวช้าง  กรุงเทพ    

เอกสารการประชุม ()   มีรายละเอียดของสาระพอสมควร    สังเกตว่า วิทยากรที่มานำเสนอตีความเรื่อง Holistic Learning เน้นไปที่การเรียนรู้ด้านใน หรือการเรียนรู้เชิงจิตวิญญาณ


ภาวนา  

Prof. Tobin Hart (2), Department of Psychology, University of West Georgia กล่าวปาฐกถานำเรื่อง Worldview and World Presence  เน้นที่โลกทัศน์แบบความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง  ความเมตตากรุณาต่อกัน    ท่านบอกว่าจะพูดเรื่องภาวนา  ๕ คือ สมาธิภาวนา (contemplation), เมตตาภาวนา (empathy), ความงาม (beauty), กาย (the body), และจินตนาการ   (imagination)     ท่านเน้นการเรียน “ความรู้” ที่ผูกพันกับชีวิต     ไม่ใช่ “ความรู้” ที่เป็นสินค้า      ฟังคล้ายๆ ฝรั่งเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ  


ฝึกสมาธิแก่เด็ก

Dr. Nimrod Sheinman, ND.(3), Director, Israel Center for Mindfulness in Education  บรรยายเรื่อง Mindfulness in Education : Insights, Stories & Outcomes. What programs may forget and what we remember.    เป็นเรื่องการฝึกสมาธิสำหรับเด็กในระบบการศึกษา    ชี้ให้เห็นว่า การฝึกสมาธิแก่เด็กช่วยสร้างความมีจิตจดจ่อ  การรู้จักตนเอง  ความสามารถในการจัดการอารมณ์  มีความสุข  และความสำเร็จ    คือเป็นเครื่องมือสร้าง “ความฉลาด” ให้แก่เด็กนั่นเอง    ท่านจะนำเสนอผลการรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลก ในเรื่องการฝึกสมาธิแก่เด็กนักเรียน    อ่านบทคัดย่อแล้วผมนึกถึงคำ visible learning   คำบรรยายน่าจะช่วยให้ครูมีวิธีสังเกตเด็ก ว่าการฝึกสมาธิส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนอย่างไรบ้าง


จักรวาลภายในตน

Megumi Shibuya (4)  จาก Meiji Gakuin University, ญี่ปุ่น    บรรยายเรื่อง The Galaxy Within – Rethinking Cosmic Connections in Holistic Education    อ่านบทคัดย่อ ผมชอบที่ท่านเริ่มว่า การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมเริ่มที่ปฏิสัมพันธ์    ผมเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction)    อ่านถึงตอนนี้ทำให้ผมตระหนักว่า ความหมายอย่างหนึ่งของ “การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม” คือ เรียนรู้ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง    เข้าใจความเป็นองค์รวมของสรรพสิ่ง   

ท่านอ้าง J. Miller (2009) ว่า “หลักสูตรแห่งความเชื่อมโยง” (curriculum of connections) มี ๖ แบบของความเชื่อมโยง คือ (๑) ความเชื่อมโยงระหว่างการคิดแบบเป็นเส้นตรง กับการคิดแบบใช้ปัญญาญาณ (intuition)  (๒) ความเชื่อมโยงระหว่างกายกับจิต  (๓) ความเชื่อมโยงระหว่างต่างวิชา  (๔) ความเชื่อมโยงระหว่างตนกับชุมชน  (๕) ความเชื่อมโยงในโลก  (๖) ความเชื่อมโยงภายในตน    ท่านผู้บรรยายเสนอความเชื่อมโยงที่ ๗ คือ ความเชื่อมโยงกับจักรวาล  


การเปลี่ยนผ่าน (transition) สามด้าน  

Dr. Nimrod Sheinman (5) นำเสนอเรื่อง Medicine, Psychotherapy and Education : The Core Holistic Themes and What They Teach Us    บอกว่าความเป็นองค์รวมเรื่องใหญ่ ๓ ด้านคือ การแพทย์  การบำบัดทางจิต  และการศึกษา    กำลังอยู่ในสภาพเปลี่ยนผ่านจากแนวทางเดิมที่เป็นแบบกลไก สู่แนวทางใหม่ที่มีความเป็นมนุษย์ เป็นองค์รวม และบูรณาการ    โดยมีการเปลี่ยนแปลง ๖ ด้านร่วมกัน

  • Ø เปลี่ยนสู่แนวทางยึดบุคคล (person) เป็นศูนย์กลาง
  • Ø เปลี่ยนสู่การยึดความสัมพันธ์ (relationship) เป็นศูนย์กลาง
  • Ø เปลี่ยนสู่การยึดความร่วมมือเป็นศูนย์กลาง
  • Ø เคารพศักยภาพของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง
  • Ø เน้นสร้างเงื่อนไขให้การเรียนรู้และเยียวยาเกิดขึ้น
  • Ø เน้นวิธีการที่จะบูรณาการวิสัยทัศน์และการลงมือทำ

นี่คือ “จิตวิญญาณแห่งการศึกษา”

ในเอกสารบทคัดย่อ  มีบทคัดย่อของรายงานผลการวิจัย ๑๗ เรื่อง    ประเด็นที่ผมสนใจที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับวิธีวิทยาการวิจัยจากเรื่องเล่า (narrative inquiry) โดย ดร. หิมพรรณ รักแต่งาม แห่งศูนย์จิตตปัญญาศึกษา    ทำให้ผมนึกเชื่อมโยงไปยังบันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู  (6) ที่กำลังจะพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเร็วๆ นี้ 

ข้างบนเขียนก่อนไปร่วมการประชุม    ต่อไปนี้เขียนหลังไปร่วมประชุมระหว่าง ๑๑ – ๑๕ น.  


งานวิจัยเรื่องเล่า

ผมไม่ได้ฟัง keynote lecture สองท่านแรก   เพราะมีการประชุมอื่นในตอนเช้า   ผมไปถึงที่ประชุมเวลาประมาณ ๑๑ น. เขากำลังพัก    ผมเดินไปหาโต๊ะที่จะคุยกันเรื่อง จิตตปัญญาศึกษาในงานวิจัยเรื่องเล่า  โดยมี ดร. หิมพรรณ เป็นวิทยากร    โต๊ะนี้มีผู้สนใจแน่น ต้องลากเก้าอี้มานั่งฟังเสริม    ผู้ฟังอยากรู้ว่า narrative inquiry (7) คืออะไร    ดร. หิมพรรณบอกว่า มีสองยุค คือ ยุค colonial  ที่นักวิชาการจากประเทศผู้เข้าครอง ทำความเข้าใจผู้คนและสังคมเมืองขึ้นด้วยการให้คนพื้นเมืองเล่าเรื่อง    นักวิจัยสัมภาษณ์เอามาเขียน โดยตัวเองไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา    ยุคหลังเริ่มจากยุคฮิปปี้ (ค.ศ. 1960 – 1970) `กลุ่มชนด้อยโอกาสต้องการแสดงออกต่อสังคม  เกิดเรื่องเล่าของคนตัวเล็กๆ ที่สังคมไม่เคยได้ยิน   

ดร. หิมพรรณจึงนิยาม “เรื่องเล่า” ในที่นี้ ว่าต้องมี ๓ องค์ประกอบต่อไปนี้ (๑) มีเหตุการณ์  (๒) มีการร้อยเรียงเหตุการณ์สู่ความหมาย  (๓) มีประสบการณ์ของมนุษย์  เกิดความเข้าใจใหม่ต่อชีวิต  

จากข้อมูลในเรื่องเล่า ซึ่งอาจเป็นบันทึกประจำวัน,  บันทึกสะท้อนคิด (reflective journal),  บันทึกความทรงจำ,  การโพสต์เฟสบุ๊ก,  บันทึกในเว็บล็อก เป็นต้น    นำมาวิเคราะห์ด้วยกระบวนวิธีวิเคราะห์เรื่องเล่า เช่น การวิเคราะห์ตามแก่นเรื่อง (thematic analysis)  เพื่อเสนอรูปแบบ (pattern) ที่ปรากฏออกมา   

จากเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง นำไปสู่ความเข้าใจภาพใหญ่ในสังคม หรือปรากฏการณ์ในสังคม    ที่มีความน่าเชื่อถือ (validity) แบบใหม่ ที่เห็นชัดว่าเป็นความจริง (authenticity)        


โรงเรียนในฐานะแหล่งเยียวยา

โดย Dr. Elizabeth Beaven EdD (8), Provost, California Institute of Integral Studies    ท่านผู้นี้พูดดีจริงๆ  แต่ผมว่าชื่อเรื่องไม่ตรง    โรงเรียนเป็นมากกว่าแหล่งเยียวยา     คือเป็นแหล่งพัฒนาคนให้เติบโตเต็มศักยภาพ    ผมชอบที่ท่านพูดว่า การศึกษาต้องเน้นที่ตัวคน (นักเรียน) ไม่ใช่เน้นดำเนินการตามหลักสูตร   

ท่านกล่าวถึงสถานภาพของเด็กในสหรัฐอเมริกา   ที่กว่าจะมาถึงโรงเรียน เด็กจำนวนมากมี “บาดแผล” จากสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเครียด   และจากการที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าระดับพัฒนาการหรือการเรียนรู้ของเด็ก   โรงเรียนจึงต้องเป็นแหล่งเยียวยา    และ “ความงาม” ของโรงเรียนอยู่ที่ครู    ที่จะทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งความหวัง  พื้นที่แห่งปฏิสัมพันธ์  สุขภาพ  และการเยียวยา    เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคม  และจิตวิญญาณ    ไปสู่ชีวิตในอนาคตที่ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร    จึงต้องส่งเสริมให้เด็กพัฒนาตนเองในด้าน ความยืดหยุ่น  ความอดทนมานะพยายาม  ความริเริ่มสร้างสรรค์  ล้มแล้วลุกได้ (resilience)   มีคุณค่าและเป้าหมายในชีวิต  มีความสามารถเชื่อมโยงร่วมมือ  

ท่านเสนอว่าการศึกษาต้องเป็น integral educationซึ่งมีลักษณะต่อไปนี้  (๑) อยู่บนฐานพัฒนาการของเด็ก  (๒) มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และการเล่น  (๓) มีการฝึกศิลปะสร้างสรรค์  (๔) เรียนจากการปฏิบัติ  (๕) เรียนจากปฏิสัมพันธ์  (๖) มองเด็กแต่ละคนว่ามีความจำเพาะ  (๗) ครูเป็นผู้เรียน  (๘) เอื้อให้เกิดความเชื่อมโยง        

ท่านเคยเป็นครูในโรงเรียนแบบ Waldorf เป็นเวลา ๒๐ ปี    จึงเสนอข้อที่ท่านใคร่ครวญจากประสบการณ์นั้นว่าการศึกษาเพื่อการเยียวยามีมิติต่อไปนี้  (๑) คำนึงถึงระดับพัฒนาการของเด็ก  (๒) หลักสูตรปรับตามระดับพัฒนาการเด็ก และมีทั้งมิติด้านกว้างและลึก    (๓) ความสำคัญของปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู เด็ก และครอบครัว  (๔) บูรณาการศิลปะในทุกด้านของการเรียนรู้ (๕) สร้างและสนับสนุนความเชื่อมโยง  (๖) มีเป้าหมายที่การคิดอิสระ  (๗) กาละ (time) และเทศะแวดล้อม (environment) เป็นครู  (๘) ให้ความสำคัญแก่ชีวิตด้านในของครู

ที่น่าสนใจคือ ท่านเสนอ trauma-informed pedagogy    โดยเน้นที่  (๑) สร้างพื้นที่ปลอดภัย  (๒) สร้างความสัมพันธ์  (๓) สร้างสภาพที่คาดหมายล่วงหน้าได้  มีจังหวะเหมาะสม  และมีการดำเนินการตามรูปแบบ (routine)  (๔) ให้เด็กได้เคลื่อนไหว และเล่น  (๕) ให้เด็กได้แสดงออกทางศิลปะ  (๖) ให้ได้อยู่กับธรรมชาติ

โรงเรียนต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน  (๑) โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว : สนับสนุนพ่อแม่  ทารกและเด็กเล็ก  คนทุกอายุ  (๒) เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน  (๓) เป็นศูนย์กลางของทรัพยากร  (๔) ขยายสู่ภายนอกโรงเรียน และเอาใจใส่ภายในโรงเรียน

เอาใจใส่ประเด็นที่เห็นชัด และที่เห็นไม่ชัด ได้แก่ (๑) หลักสูตรที่เห็นชัด และหลักสูตรแฝง  ผู้ตัดสินใจ?  (๒) ระบบปิดหรือเปิด : ถ่ายทอดความรู้  vs  whole-child education โดยมีเด็กที่กำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลาง  (๓) คุณค่าและเป้าหมายของหลักสูตรแฝง (implicit curriculum) : ธรรมชาติมนุษย์, เด็กในฐานะปัจเจกที่มีศักยภาพไม่สิ้นสุด, ความหมายของหลักสูตร  (๔) มิติด้านจิตวิญญาณ : คารวะ, ความตื่นตาตื่นใจ, กตัญญูรู้คุณ, พัฒนาชีวิตด้านใน


แก่นของความเป็นองค์รวม

คราวนี้ผมได้ฟัง Dr. Nimrod Sheinman จากการที่เลือกห้องย่อยเรื่อง Medicine, Psychotherapy, and Education - An Integrative Framework : The Core Holistic Theme and What They Can Teach Us   ท่านชี้ให้เห็นความซับซ้อนของโลก  มองมุมหนึ่งโลกเราเชื่อมโยงกันมากขึ้น  มองอีกมิติหนึ่งโลกเราห่างเหินกันมากขึ้น    แต่ที่แน่คือเราต้องการการเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว    และเครื่องมือเพื่อการนั้นคือ การศึกษา   

ท่านอ้างถึงหนังสือ The Loss Art of Healing  เขียนโดย Bernard Lown แพทย์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ    ที่บอกในหนังสือว่า ส่วนที่หายไปคือความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ในฐานะเพื่อนมนุษย์     หนังสืออีกเล่มที่แนะนำคือ The Lost Art of Listening : How Learning to Listen Can Improve Relationships  โดย Michael P. Nichols   จะเห็นจุดร่วมหรือความเชื่อมโยงระหว่างการแพทย์ และจิตวิทยา    คำถามคือ แล้วโยงสู่การศึกษาอย่างไร    คำตอบคือ การที่ครูและผู้ใหญ่ฟังเด็ก 

ท่านอ้างคำของ เซอเกียม ตรุงปะ ภารกิจหลักของคนในวิชาชีพสุขภาพและนักจิตบำบัดคือพัฒนาตนให้เป็นคนที่เต็มคน  และช่วยพัฒนาความเต็มคนในผู้ที่หิวโหย    และอ้างคำของกฤษณามูรติว่า หน้าที่ของการศึกษาคือการพัฒนาปัจเจกให้ครบด้าน พร้อมที่จะเผชิญชีวิต   

หัวใจของพัฒนาการเด็กคือ  (๑) การผ่านประสบการณ์  (๒) สุขภาวะ  (๓) รู้จริง  (๔) ฝึกปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  (๕) จินตนาการ

ปัจจัยสู่สุขภาวะและล้มแล้วลุกได้ (resilience) คือ (๑) ประสบการณ์เชิงบวก  (๒) มีผู้ใหญ่ที่ดีช่วยหนุน  (๓) ความรู้สึกในคุณค่า  (๔) ความเชื่อมโยงทางสังคม

ผมไม่ได้อยู่ในที่ประชุมจนจบ เพราะมีภารกิจของครอบครัวที่บ้าน     

วิจารณ์ พานิช

๒๕ พ.ย. ๖๑


Holistic from Pattie KB
หมายเลขบันทึก: 659035เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2018 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2018 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาต note ไว้อ่านอย่างลึกซึ้งอีกรอบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท