ของขวัญของความเพียร


“หนังสือ ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ เล่มนี้ มาจากการตีความเพื่อสร้างสรรค์หลายชั้น สะท้อนภาพของการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่มีความซับซ้อน ตีความหรือทำความเข้าใจได้หลายแง่หลายมุม คนในวงการศึกษาสามารถใช้ความสร้างสรรค์ของตน เพื่อยกระดับผลการเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษาได้อย่างไร้ขีดจำกัด”










จุดเริ่มต้น



อาจารย์วิจารณ์ได้กรุณาส่งต้นฉบับ “ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่”  จำนวน ๑๒ บท มาให้อ่านทางอีเมล เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๖๑ ก่อนสิ้นสุดปีการศึกษา ๒๕๖๐ เพียงไม่กี่วัน   

ต้นฉบับชุดนี้เป็นของขวัญของความเพียรที่อาจารย์ได้สกัดแก่นสาระมาจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016) เขียนโดย James M. Lang

ฉันใช้เวลาในช่วงปิดภาคฤดูร้อน ค่อยๆ อ่านต้นฉบับทีละบทอย่างช้าๆ เพื่อมองหาประเด็นที่น่าสนใจของหนังสือเล่มใหม่

จุดเน้นของหนังสือเล่มนี้คือ การนำเอาภาคทฤษฎีที่อาจารย์เรียบเรียงไว้ มาประกอบเข้ากับ “เรื่องเล่าจากห้องเรียน” ที่เป็นการนำเสนอผลของภาคปฏิบัติในบริบทไทย เช่นเดียวกับหนังสือ ศาสตร์และศิลป์ของการสอน ที่เคยทำให้กับอาจารย์เมื่อปีก่อน แต่ที่ต่างออกไปคือประสบการณ์ที่แสดงไว้ในเรื่องเล่าจากห้องเรียนของหนังสือเล่มใหม่นี้ ต้องเป็นเรื่องที่อิงอยู่กับทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ของการเรียนรู้

ความท้าทายจึงอยู่ที่การมองหากรณีศึกษาจากห้องเรียนที่มีแผนการเรียนรู้ที่เหมาะเจาะกับทฤษฎี และผู้สอนพร้อมใจนำเอาวิธีการปฏิบัติที่นำเสนอเอาไว้ในต้นฉบับแต่ละบทไปปฏิบัติจนกระทั่งเห็นผลสัมฤทธิ์





๗ มิถุนายน ๖๑

เค้าโครงที่คิดเอาไว้ในใจเริ่มปรากฏขึ้นจริง



ฉันเริ่มทาบทามนักเขียนด้วยการไลน์ไปคุยกับคุณครูที่ผู้สอนในกลุ่มวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งส่งต้นฉบับของอาจารย์ให้ไปลองอ่านดูว่าใครจะสนใจนำเอาทฤษฎีบทใดไปทดลองใช้ดูบ้าง และคาดว่าจะทดลองใช้เมื่อใด กับแผนการเรียนรู้ไหน


คุณครูเปีย – วรรณวรางค์ รักษทิพย์ ตอบกลับมาเป็นคนแรกว่าสนใจจะนำแนวคิดไปออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ๓ แผนด้วยกัน โดยจะเริ่มทดลองนำเอา “กระบวนทัศน์พัฒนา” ไปใช้ในโครงงานสังเคราะห์ต่อยอดที่จะเกิดขึ้นในปลายภาคฉันทะเป็นอันดับแรก

เหตุปัจจัยที่ทำให้คุณครูเพลินพัฒนามองงานของตัวเองได้ชัดว่าจะทำอะไร อย่างไร เมื่อไร เพื่ออะไร น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ทางฝ่ายวิชาการมีการนำเอาระบบหลักสูตรการเรียนการสอนและการประเมินผล (ระบบไตรยางค์การศึกษา หรือ ระบบ OLE) เข้ามาเป็นกลไกหลักในการบริหารคุณภาพ โดยหล่อหลอมระบบ OLE / Lesson Study และ KM เชิงลึกเข้าด้วยกัน ดังนั้นจึงส่งผลให้การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในชั้นเรียนพัฒนาไปอย่างเข้มแข็ง สอดคล้อง ต่อเนื่อง และมั่นคง




๔ สิงหาคม ๖๑

ยกร่างหนังสือให้อาจารย์พิจารณา




หนังสือเล่มนี้มี ๓ ภาค ได้แก่ภาคความรู้ / ความเข้าใจ / แรงบันดาลใจ

ภาค ๓ เป็นภาคสุดท้ายของหนังสือ แต่เป็นภาคที่ฉันหยิบยกขึ้นมาทำเป็นต้นร่างเพื่อเสนอให้อาจารย์พิจารณาก่อน เนื่องจากเมื่ออ่านต้นฉบับของอาจารย์จบแล้ว ภาพประสบการณ์ในการจัดการอบรมให้คุณครูของ สพฐ. ก็ปรากฏขึ้นมาในใจ ฉันจึงทดลองนำมาเขียนเป็น “เรื่องเล่าจากห้องเรียน” ประกอบเนื้อหาของบทที่ ๘ แรงบันดาลใจ ขึ้นมาบทหนึ่ง พร้อมกับตัวอย่างเรื่องเล่าประกอบเนื้อหาของบทที่ ๑๑ ปรับปรุงการสอนขนานใหญ่ ที่ครูเปียเขียนมาจากการไปสังเกตชั้นเรียนของคุณครูผู้สอนในระดับชั้น ๔ อีกบทหนึ่ง

อาจารย์พิจารณาแล้วตอบกลับมาว่า

ดีมากครับ.

โดยเฉพาะเรื่องเล่าจากห้องเรียน

คำตอบนี้เป็นสัญญาณบอกว่า “เดินหน้าเต็มตัว”





๑๓ สิงหาคม ๖๑

ฉันส่งตัวอย่างเรื่องเล่าจากห้องเรียน ของเนื้อหาในภาค ๑ และภาค ๒ ไปให้อาจารย์พิจารณาเพิ่มเติม





๑๖ สิงหาคม ๖๑

อาจารย์ตอบกลับมาว่า

ตัวอย่างเรื่องเล่าจากห้องเรียนที่ยกมาประกอบสาระในบันทึกสอดคล้องกันดีมาก

เมื่อเนื้อหาลงตัว การจัดรูปเล่มก็เริ่มต้นขึ้น





๓ กันยายน ๖๑

ได้รับคำนำฉบับปรับปรุงจากอาจารย์

ฉันนำเอาส่วนสำคัญของคำนำไปตีความให้กลายเป็นภาพปก

“หนังสือ ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ เล่มนี้ มาจากการตีความเพื่อสร้างสรรค์หลายชั้น สะท้อนภาพของการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่มีความซับซ้อน ตีความหรือทำความเข้าใจได้หลายแง่หลายมุม คนในวงการศึกษาสามารถใช้ความสร้างสรรค์ของตน เพื่อยกระดับผลการเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษาได้อย่างไร้ขีดจำกัด”





๑๘ ตุลาคม ๖๑

เวลาผ่านไปเดือนกว่าๆ ความคิดเรื่องความสลับซับซ้อนปรากฏออกมาหลายรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สวยงามดังที่ใจปรารถนา จนกระทั่งภาพของกล้องคาไลโดสโคปที่เคยชอบเล่นเมื่อตอนเด็กๆ ปรากฏขึ้นในใจในเช้าวันหนึ่ง

...ใช่แล้ว !!  ความสลับซับซ้อนที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้นี่แหละ ที่ฉันต้องการนำมาใช้เป็นภาพปก




เรื่องจากปก  

ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่






              ในชั่วโมงศิลปะนักเรียนชั้น ๑ วาดภาพผีเสื้อขึ้นจากสีสันของดอกไม้และใบไม้นานา   

ผีเสื้อมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดื่มกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้

ดอกไม้คลี่บานพร้อมมอบความงดงามให้แก่โลกนี้ได้ก็เพราะมีผีเสื้อคอยช่วยผสมเกสร

ผีเสื้อและดอกไม้ต่างก็เติบโตและเรียนรู้ไปด้วยกัน

ผีเสื้อและดอกไม้สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์

ครูและศิษย์มีการเรียนรู้ระหว่างกัน ถ่ายโยงกัน เกี่ยวเนื่องกัน

และต่างก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

เกิดเป็นความงดงามของชีวิตที่เรียนรู้

ครูเรียนรู้ได้ชัดเจนก็เพราะครูมีศิษย์เป็นภาพสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ในงานของตน   

          

          

                

                   ความซับซ้อนที่งดงามของภาพดอกไม้บนที่อยู่บนหน้าปกหนังสือเล่มนี้

เกิดขึ้นจากภาพของรูปผีเสื้อที่ตกกระทบและสะท้อนเข้าหากันของกระจกสามบาน

โดยใช้โปแกรมภาพคาไลโดสโคป

การตกกระทบและการสะท้อนที่เกิดขึ้นนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

เฉกเช่นเดียวกันกับการเรียนรู้ที่เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีการหยุดนิ่ง

ตราบเท่าที่ชีวิตยังมีการเรียนรู้และการสะท้อนคิดยังคงทำงานอย่างสืบเนื่อง

ตราบนั้นการเรียนรู้ร่วมกันและการเติบโตไปด้วยกัน เฉกเช่นผีเสื้อและดอกไม้

ก็ยังคงเป็นความงอกงามให้กับโลกของการเรียนรู้อยู่เสมอ





๑๘ พฤศจิกายน ๖๑

ปิด Artwork

Work of  Art  สิ้นสุดกระบวนการ




๗ ธันวาคม ๖๑

นำหนังสือปกแข็งที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษไปมอบเป็นของขวัญปีใหม่แด่อาจารย์

ของขวัญของความเพียรลุล่วงแล้วอย่างสมบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 659034เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2018 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2019 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบันทึก สะท้อนคิดเรื่องราวการก่อเกิดหนังสือ “ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่” ที่งดงามและมีพลังมากครับสวีสดีปีใหม่ แด่ครูใหม่และครูปาด ขอให้มีความสุข และสุขภาพดีครับวิจารณ์

กราบขอบพระคุณค่ะอาจารย์

ครูใหม่และครูปาด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท