๗๕๙. เด็กพิเศษ


เรากำลังเพลิดเพลินนโยบายเชิงนวัตกรรม..จนแทบไม่มีเวลาทำอะไร เรากำลังไล่ล่ารางวัลและสร้างภาพลักษณ์ทางการศึกษาอย่างมากมาย..โดยมี “เด็กแก่ง”เป็นตัวช่วย..คำถามก็คือ “เด็กที่อ่านไม่ออก” ยังอยู่หลังห้องเหมือนเดิมใช่หรือไม่?

         สภาพการณ์ของบ้านเมืองและนโยบายทางการศึกษา..ทำให้ผมมองว่า..อีก ๑๐ ปีข้างหน้าจะมีเด็กพิเศษเต็มบ้านเต็มเมือง..

    “เด็กพิเศษ” ในมุมมองของผมอาจจะไม่เหมือนใคร แต่ที่หลายท่านเข้าใจนั้นถูกต้องแล้วและแยกแยะได้ว่า..ใครคือเด็กพิเศษ?

        "เด็กพิเศษ" คือเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (กว่าคนทั่วไป) เช่น เด็กที่มีปัญหาทางร่างกาย  เด็กสมาธิสั้น  เด็กดาวน์ซินโดรม  เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้
     เด็กออทิสติก  เด็กพิการทางสมอง  เด็กพิการซ้ำซ้อน  เด็กปัญญาเลิศ
    "เด็กพิเศษ"  คือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งวิธีการดูแลเด็กแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกัน และจะได้ผลมากน้อยขึ้นกับว่าเด็กแต่ละคนได้รับการค้นพบเร็วหรือช้าด้วย ยิ่งเริ่มต้นดูแล เอาใจใส่ แก้ไขข้อบกพร่องตามวิถีทางที่ถูกต้อง เด็กก็จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากขึ้น

          คือนิยามและความหมายของ “เด็กพิเศษ”ที่นักการศึกษาหรือนักวิชาการได้บันทึกและนำเสนอให้เข้าใจในวงกว้าง..แต่สำหรับผมที่เป็น “ครู” กำลังจะมองว่า..เด็กพิเศษอาจจะต้องเหมารวม “เด็กที่อ่านไม่ออก” ไปด้วย..หรือไม่?

          อะไร?ที่เป็นลางบ่งชี้ หรือเป็นตัวชี้วัดว่าอ่านไม่ออกจริงๆ..ให้นึกถึงครั้งหนึ่งที่ผ่านมา..”การอ่าน”เคยเป็นวาระแห่งชาติ และปีการศึกษานี้..กระทรวงศึกษามีนโยบายทดสอบการอ่าน ชั้นป.๑ – ๔ อย่างเข้มข้น

          ข้อมูลล่าสุดเป็นที่ตกอกตกใจที่เห็นค่าเฉลี่ยระดับประเทศของผลการอ่านชั้น ป.๔ ต่ำมาก..ส่วนที่ไม่มีข้อมูลแต่พูดกันหนาหูเหลือเกินว่านักเรียนชั้นมัธยมฯมีเป็นจำนวนมาก..ที่อ่านหนังสือไม่คล่องเลย

          เรากำลังเพลิดเพลินนโยบายเชิงนวัตกรรม..จนแทบไม่มีเวลาทำอะไร เรากำลังไล่ล่ารางวัลและสร้างภาพลักษณ์ทางการศึกษาอย่างมากมาย..โดยมี “เด็กเก่ง”เป็นตัวช่วย..คำถามก็คือ “เด็กที่อ่านไม่ออก” ยังอยู่หลังห้องเหมือนเดิมใช่หรือไม่?

          ได้โปรดอย่าโทษครูเป็นอันขาด ในบางสถานการณ์ก็ไม่เอื้อให้ทำอะไรได้มากมายนัก..ในที่สุดแล้ว “ปัญหา”ก็จะสุกงอมและอาจนำไปสู่การตีกรอบหรือเข้าสู่ลู่ของ “เด็กพิเศษ” โดยที่เด็กไม่รู้ตัว..

           ๒ – ๓ ปีมานี้ มีเด็กย้ายเข้ามาเรียนเยอะมาก..เป็นเด็กปกติที่อ่านไม่ออก ซึ่งผมจะมองว่าเป็นเด็กพิเศษทันที..ที่ต้องให้เวลาและการเอาใจใส่เป็นพิเศษ..

           วันนี้..เด็กชายชั้น ป.๒ ย้ายมาจากกรุงเทพฯ..ก็อ่านไม่ออก..ผมทดสอบแล้วอยู่อันดับสุดท้ายของห้องเรียนบ้านหนองผือ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๔ คน

           จากข้อมูลโรงเรียนเดิม เด็กคนนี้อยู่ชั้น ป.๒/๔ จากทั้งหมด ๕ ห้อง แต่ละห้องมีเด็ก ๓๕ คน..เด็กอ่านไม่ออก..จะมีมากแค่ไหน? แล้วถูกส่งต่อไปเรื่อยๆจนถึง ป.๖..จะเป็นอย่างไร? คงคาดเดาได้ไม่ยาก..

           โรงเรียนใหญ่ๆในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมีเป็นจำนวนมาก..ที่มีเด็ก ป.๑ และ ป.๒ หลายห้อง ในแต่ห้องมีจำนวนเด็กมิใช่น้อย...น่าเห็นใจครูผู้สอนอยู่เหมือนกัน จะสู้รบปรบมืออย่างไรกับเด็กที่อ่านไม่ออก..ที่อัดกันอยู่ในห้องเรียน

           ในยุคที่ผู้ปกครองบางคนกำลังผลักภาระให้ครู..กับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องทำมาหากินกันอย่างหนัก ยังไม่รวมปัญหายาเสพติดและครอบครัวแตกแยก..

           ผู้ปกครองรู้อยู่เต็มอกว่าลูกหลานไม่ได้ตั้งใจเรียนและอ่านไม่ออก แต่ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ ผู้ปกครองไม่อ่านและไม่ลงชื่อด้วยซ้ำ..เมื่อคุณครูแจ้งผลการเรียนให้ทราบ..

           ที่บ้าน..เด็กถูกปล่อยปละละเลย ติดทีวี ติดเกมส์และเล่นโทรศัพท์ นำพาไปสู่ความเกียจคร้าน ไม่รับรู้ที่จะอ่านและเขียน ครูก็คิดว่าผู้ปกครองจะเป็นความหวังสุดท้ายที่จะช่วยกันบ้าง..ความหวังเริ่มริบหรี่..

           ปัจจุบัน..โรงเรียนเล็กหรือใหญ่..”เด็กพิเศษ”ในมุมมองของผม จะเป็นที่รู้กันก็ขึ้นอยู่กับว่า..จะให้ความสำคัญกันมากน้อยแค่ไหน? หรือจะปล่อยให้พิเศษเรื่อยไป

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๕  ธันวาคม  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 658939เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2018 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2018 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เด็กหนุ่ม จบ ปวช.จากสถาบันช่างฯแห่งหนึ่งย่านบางนา. อ่านหนังสือแทบไม่ได้ แต่เขียนชื่อตัวเองได้..มาเป็นพยานจำเลยที่ศาล..ตอนสาบานตน ไม่สามารถอ่านคำสาบาลที่พิมพ์ติดไว้บนโต๊ะคอกพยานได้..ผู้พิพากษา งง และ สงสัย ว่าจบ ปวช.จริงหรือเปล่า..เด็กหนุ่มคนนั้นยืนยันว่า จบจริง.ตามที่ระบุในเอกสารของพยาน..เพื่อนๆ ที่มาด้วยกัน สาม สี่ คนช่วยยืนยันว่า จบจากสถาบันนี้จริง..ผมซึ่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี(ควบคุม จำเลยที่มาจากเรือนจำ) ลองถามเพื่อนพยานที่นั่งติดกับผม ได้ข้อมูลว่า สถาบันนี้ใครๆเรียนก็จบ ถ้าจ่ายค่าเทอมครบ..ทุกคนในห้องพิจารณาคดี ไม่ว่า ผู้พิพากษา อัยการ ทนายจำเลย รวมทั้งผม ต่างพากันงุนงง สงสัย และมีคำถามอีกหลายคำจาก ผู้พิพากษาซึ่งสงสัยเกี่ยวกับการเรียนจบ จากสถาบันนี้ ทั้งๆที่อ่านหนังสือแทบไม่ได้ ผมสงสัยลึกลงไป ก่อนที่เด็กหนุ่มพยานจำเลยคนนี้ จะเรียนจบ ปวช. เขาเรียนจบจากระดับ ประถม มัทธยม มาได้อย่างไร?!? เป็นเรื่องจริง เมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ครับ ท่าน ผอ.

สิ่งที่ท่านพูด มันผ่านมามากกว่า ๒ ทศวรรษแล้ว แต่มันก็ยังมีอยู่จริงและมากกว่าเดิม เราคงมิอาจโทษใครได้ แต่วิถีทางที่ดีที่สุด คนไทยทั้งชาติต้องรับรู้และพูดความจริง คนในวงการศึกษาก็อย่าได้โฆษณาชวนเชื่อถึงความสำเร็จทางการศึกษา..ขณะที่ผมแก้ปัญหาในบริบทของผม ก็อดคิดไม่ได้ว่า เรื่องแบบนี้ ผู้ปกครองต้องมีส่วนรับผิดชอบ มิฉะนั้นแล้ว..บ้านเมืองไปไม่รอด ปัญหาทางสังคม..จะตามมาอีกมากมาย ยากที่จะเยียวยา ครับ

เราสามารถตั้งคำถามได้ว่า “กระทรวง ศธ. ให้ความสนใจกับเด็กพิเศษแค่ไหน”

ผมอยู่ในองค์กรที่ทำหน้าที่ผลิตครู ซึ่งสาขาหนึ่งคือ สาขาการศึกษาพิเศษที่จะผลิคครูการศึกษาพิเศษออกไป แต่ก็กลับเปิดหลักสูตรไม่ได้มาหลายปีแล้วเนื่องจากติดกรอบที่กระทรวง ศธ. และ สกอ. วางเอาไว้นั่นแหละ

เด็กพิเศษมากขึ้นทุกวันตามโลกยุคใหม่ แต่ครูการศึกษาพิเศษเองกลับลดจำนวนลง

ไปนิเทศที่ไหน โรงเรียนนั้นก็มีแต่เด็กพิเศษเยอะแยะไปหมด

คนดูแลที่โรงเรียนทำได้ คือ การจ้างครูสาขาอื่นมาเป็นครูดูแลเด็กพิเศษแค่ส่งไปอบรมระยะสั้น ผมคิดว่า มันยังไม่พออย่างแน่นอน

เศร้าครับ นโยบายที่หลงลืม ;(…

เรียน อาจารย์

   เวลาเดินทางมาถึง ยุค"เครื่องชี้บ่งไม่สามารถบ่งบอกสถานภาพ" เช่น วุฒิการศึกษา ปริญญาบัตร เกียรติยศ เครื่องแบบ จีวร ฯลฯ ไม่ได้บ่งบอกสถานภาพแท้จริง  อาการปัญหา สาหัสทุกวงการ   เมื่อเข้าใจความจริงนี้ การริเริ่มสิ่งใหม่ๆดีๆ ในมุมบวก จะเป็นเรื่องง่ายกว่า เช่น การค้นหาความสามารถพิเศษของเด็กพิเศษโดยสถาบันเฉพาะ  การแยกแยะเด็กอ่านออกกับอ่านไม่ออก เป็นต้น   นั่นคือ ในอนาคต ถ้าต้องการแก้ไขปัญหาจริง ต้องสร้างระบบใหม่ ละทิ้งระบบเก่า ซึ่งอาจต้องใช้ความสามารถระดับ "ยังพัล"จากทุกสาขาอาชีพระดมช่วยกัน  ทักษะการจัดการความรู้มีประโยชน์ ช่วยฝึกฝนนักจัดการให้ใช้ศาสตร์ความรู้หลายสาขา เข้าใจปัญหาหลากบริบท ตอนนี้ทุกๆท่านแม้อยู่ในสายอาชีพเฉพาะมานาน แต่หมั่นฝึกฝนทักษะอยู่เสมอ มีความรู้ความสามารถสูง จึงสามารถลงมือทำอะไรหลายๆอย่างได้ ระหว่างรอเวลาเดินทาง... เหมือนสายน้ำ   ปัญหาสุกงอมพร้อมผ่าตัด

ขอแสดงความนับถือ

เรียน อาจารย์

    ขอเสนอตัวอย่างจริง ในมุมมองจากญาติของ ครอบครัว เด็กพิเศษออทิสติก  เมื่อได้สัมผัส เด็กมีความสามารถพิเศษจริง  ในขณะที่ครอบครัวอาจมองเด็กเหมือนผู้ป่วย การศึกษาในระบบต้องหยุด เพราะเด็กไม่สามารถรักษาอุปกรณ์ส่วนตัวได้  แต่ผู้ปกครองกลับใช้เงินซื้อวุฒิการศึกษาให้เด็ก  เมื่อใช้เด็กทำงานขายอาหาร ก็พบปัญหา การปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้ออีก  ตัวผู้ปกครองก็ขาดความรู้ความเข้าใจที่จะดูแลเด็กให้แตกต่างจากปกติ แม้จะให้คำแนะนำไป ตั้งแต่เด็กยังเล็ก ผู้ปกครองก็ยังมืดแปดด้านจนเด็กโต กลับมองเด็กเป็นปัญหา (ครอบครัวสนใจเรื่องปากท้อง และแบกรับปัญหาครอบครัวทางสังคมอยู่แล้ว ค่านิยมค่อนไปทางวัตถุ)

แต่สำหรับตนเอง เด็กแบบนี้ คือพรสวรรค์ พิเศษ ไม่สามารถเลียนแบบ ตราบใดระบบการปกครอง ยังไม่สร้างช่องทางพิเศษให้ของแปลกแบบนี้ ของแปลกก็กลายเป็นปัญหา ที่ทุกคนกลัว( หรือรังเกียจ) ไม่ว่า ผู้ปกครอง ครู สังคม อาจมองเป็น โชคร้าย เรื่องน่าเศร้า (อาจเหมือน เรื่องสังข์ทอง)

ขอแสดงความนับถือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท