ชีวิตที่พอเพียง 3334. มุมลี้ลับของ KM ในเรื่องความรู้ปฏิบัติ


เช้าวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมกับทีม สคส. ดำเนินการ “ถอดความรู้” (externalization) จากบุคคลที่เป็น “แหล่งความรู้ที่เกรงจะสูญหาย” ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง     เป็นกิจกรรม ๓ ชั่วโมง ที่ประเทืองปัญญายิ่งสำหรับผม

ข้อเรียนรู้สำคัญที่สุด เอามาบันทึกแบ่งปันที่นี่

ผมได้ตระหนักว่า  คนที่สนใจเรียนรู้ความรู้ปฏิบัติ (practical knowledge / phronesis) มักสนใจที่เทคนิควิธีการ    ซึ่งที่จริงก็เป็นความสนใจที่ถูกต้อง    แต่ในยุค technology disruption    เทคนิคใหม่ที่ได้ผลกว่า สะดวกกว่า มักจะมาแทนที่เทคนิคเก่า ในไม่ช้า    ดังนั้น การเรียนรู้เทคนิคจาก “ผู้ปฏิบัติได้ผล” จึงยังไม่เพียงพอ    “ความรู้” ที่สำคัญกว่าคือวิธีการพัฒนาความรู้นั้นหรือเทคนิคนั้นขึ้นมา     กล่าวใหม่ว่า ตัวความรู้ สำคัญน้อยกว่าวิธีพัฒนาความรู้นั้น    หรือที่มาที่ไปของความรู้นั้น  

ผมบอกที่ประชุมว่า เราคุยกันเรื่องวิธีที่ใช้ได้ผล  หรือคุยเรื่องผลสำเร็จ    ซึ่งเป็นหลักการของ KM ที่เน้นเรียนจาก success story    แต่ในบรรยากาศที่ทุกคนในวงมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันแล้ว การเรียนจากความล้มเหลวจะมีค่ายิ่งกว่า    ได้ความรู้ในมิติที่ลึกกว่า   

ท่าน “ผู้รู้” ที่มาตอบคำถามในวันนั้นบอกอย่างยิ้มแย้มว่า วิธีการต่างๆที่ลองใช้นั้น ใช้การไม่ได้มากกว่าที่ใช้การได้ดี    และวิธีการที่ล้มเหลวให้ความรู้แก่ท่านอย่างมากมาย    ที่สำคัญคือ ไม่ทำผิดซ้ำ

เราตกลงกันว่า ในคราวต่อไป เราจะช่วยกันซักลึกเข้าไปที่วิธีคิด    และการทดลองวิธีการที่ไม่ได้ผล  รวมทั้งข้อเรียนรู้ที่ท่าน “ผู้รู้” เรียนรู้จากวิธีการที่ผิดพลาดนั้น    ว่านำไปสู่วิธีการที่ได้ผลดีอย่างไรในขั้นตอนนั้นของการพัฒนา  และในขั้นตอนอื่นๆ   

เราจะไม่เรียนเฉพาะตัวความรู้    แต่จะเรียนที่มาของความรู้ด้วย    เพราะ การเรียนรู้ สำคัญกว่าความรู้   

วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ย. ๖๑

หมายเลขบันทึก: 658935เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2018 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2018 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท