การเขียนโครงการ


ผมถอดบทเรียนจากการฟังบรรยายของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (กำลังหลักของงานวิชาการ มมส.) และเขียนสังเคราะห์แทรกจากประสบการณ์ของตนเอง ในการจัดการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ มาตั้งแต่ ปีการศึกษา ๒๕๕๙-๒๕๖๐ และเขียนไว้ในบันทึกต่างๆ (ดังนี้) เพื่อให้นิสิตที่กำลังเรียนรายวิชาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ สะดวกมากขึ้นในการศึกษา จึงขอรวบรวมนำมาเฉพาะส่วนเนื้อหาสำคัญๆ ไว้ในบันทึกนี้  หากสนใจตัวอย่างผู้อ่านก็สืบค้นตามบันทึกเหล่านั้นเถิด 

1.1 ความหมายและความสำคัญ

ความหมาย

โครงการ (Project) หมายถึง แผนหรือเค้าโครงตามที่กะกำหนดไว้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2552  การเขียนโครงการ คือ การเขียนแผนงานหรือเค้าโครงของแผนปฏิบัติงานที่มีกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจนและรอบคอบ มีรายละเอียดที่สามารถสื่อสารกับผู้อนุมัติโครงการและผู้เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น  ชื่อโครงการ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ ผู้รับผิดชอบ กลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาดำเนินงาน วิธีการหรือแผนการดำเนินงาน แผนงบประมาณ การประเมินผลโครงการ เป็นต้น

ในปัจจุบัน การเขียนโครงการเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนางาน โดยเฉพาะงานเชิงรุกที่มุ่งให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น  ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานตามวงจรคุณภาพ (Plan-Do-Check-Act; PDCA) ที่ใช้ในระบบการทำงานทั่วไป ดังนั้น ความสามารถในการเขียนโครงการเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชน นิสิตทุกคนจำเป็นต้องศึกษาและพัฒนาตนเองให้สามารถเขียนโครงการได้ด้วยตนเอง

ความสำคัญของโครงการ

ความสำคัญเบื้องต้นของโครงการ 5 ประการ ได้แก่ 1) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อแปลงแผนงานให้เกิดผลในทางปฏิบัติ 2) เพื่อแก้ปัญหา 3) เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร 4) เป็นเครื่องมือหรือตัวแทนที่ใช้ในการถ่ายทอดหรืออธิบายสิ่งที่เจ้าของโครงการต้องการดำเนินการ และ 5) เป็นเครื่องมือในการบริหารงาน (เช่น ช่วยในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณ) ความสำคัญของแต่ละโครงการ จะเป็นเหตุผลที่คนเขียนโครงการต้องนำมาเขียนในหัวข้อ "หลักการและเหตุผล" โดยเหตุผลหลัก ๆ ในการทำโครงการ คือ เพื่อแก้ปัญหาและเพื่อพัฒนา

1.2 ประเภทของโครงการ

โครงการอาจแบ่งหรือจัดหมวดหมู่ได้หลากหลายแบบ เช่น แบ่งตามลักษณะกระบวนการดำเนินงาน ได้แก่ โครงการวิจัย โครงการพัฒนา โครงการวิจัยและพัฒนา หรือกำหนดเอาแผนงานเป็นเกณฑ์ ได้แก่ โครงการปกติ โครงการต่อเนื่อง โครงการพิเศษ เป็นต้น ไม่มีทฤษฎีกำหนดตายตัว เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาและสะดวกต่อการเขียนหลักการและเหตุผลของโครงการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ขอแบ่งโครงการออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะเป้าหมาย ได้แก่ โครงการบนฐานนโยบาย โครงการบนฐานปัญหา และโครงการฐานความคิดสร้างสรรค์

1) โครงการบนฐานนโยบาย (Policy-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้แผนงานของหน่วยงาน เช่น แผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติราชการประจำปี ฯลฯ บรรลุเป้าประสงค์ของแผน กล่าวคือ เป็นโครงการที่เกิดจากการแปลงแผนกลยุทธ์มาเป็นแผนปฏิบัติ สิ่งที่ได้คือ "แผนดำเนินการ" ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ

2) โครงการบนฐานปัญหา (Problem-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา สำคัญว่าต้องมีการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ปัญหาอย่างดี ให้ได้ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่เข้าท่า เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสำคัญ คือ เมื่อแก้ปัญหานั้นแล้วไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นตามมา โครงการบนฐานปัญหานี้ อาจแบ่งแยกย่อยไปอีกตามเป้าหมายเน้นของโครงการ ได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

2.1) โครงการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน คือ โครงการที่มุ่งแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ดีขึ้นในระยะเวลาไม่นาน โดยการลงมือทำเพียงครั้งเดียว เป็นโครงการระยะสั้น เช่น โครงการฝึกอบรม โครงการค่ายอาสาสร้าง หรือ โครงการบริการชุมชนและสังคม (Service-based Project) หรือ โครงการบริการวิชาการ ที่มุ่งแก้ปัญหาของชุมชนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเทคโนโลยี เป็นต้น

2.2) โครงการเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ หรือเรียกว่า "โครงงาน" หรือ Project for Learning คือ โครงการที่มุ่งศึกษา ค้นคว้า เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้ทำโครงงานเอง มักใช้กับการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง

2.3) โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ หรือเรียกว่า "โครงการวิจัย" หรือ Research-based Project คือ โครงการที่มุ่งศึกษาค้นคว้าหาทางแก้ปัญหาที่กำหนดอย่างเป็นระบบ

3) โครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative-based Project) หมายถึง โครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ ผู้ต้องการทำโครงการมีฉันทะที่จะพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นใหม่ หรือนำสิ่งใหม่ๆ นำนวัตกรรม หรือมองไปในอนาคตและทำนายด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น จึงเขียนโครงการขึ้นเพื่อป้องกัน หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ๆ ขึ้น ฯลฯ

1.3 การเขียนโครงการ

การเขียนโครงการของแต่ละหน่วยงานราชการอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป โดยฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องการจัดทำแผนงานและฝ่ายประกันคุณภาพของหน่วยงาน มักจะกำหนดรูปแบบและองค์ประกอบของโครงการขึ้นใช้ให้เป็นไปแนวทางเดียวกันภายในหน่วยงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามกำหนดรูปแบบและองค์ประกอบในการเขียนโครงการทั้งหมด 14 ข้อ แต่บางข้อผู้เขียนได้พิจารณาแล้วว่าเป็นองค์ประกอบที่กำหนดขึ้นเพื่อวัตถุเฉพาะเกินไป เช่น เพื่อประโยชน์ในงานประกันคุณภาพเฉพาะด้าน ซึ่งยังไม่เกี่ยวข้องกับนิสิต จึงกำหนดองค์ประกอบของโครงการให้นิสิตได้ศึกษาจำนวน 8 ข้อ ได้แก่

1. ชื่อโครงการ

2. ผู้รับผิดชอบโครงการ

3. หลักการและเหตุผล

4. ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย

5. กลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาดำเนินงาน

6. วิธีการและแผนการดำเนินงาน

7. แผนงบประมาณ

8. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

โดยแต่ละองค์ประกอบมีแนวทางและเทคนิคการเขียนดังต่อไปนี้

1.3.1 การตั้งชื่อโครงการ

การตั้งชื่อโครงการ ควรระบุให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติและความคาดหวังหรือผลตอบแทนจากการทำโครงการ ผู้อ่านอ่านแล้วถึงแนวทาง ทิศทางของโครงการ หรือบอกว่าเกี่ยวกับอะไร

  1. 1. ถ้าเป็นโครงการบนฐานปัญหา อาจเขียนได้ 2 แบบ คือ 1) เขียนแบบบอกปัญหา เช่น โครงการแก้ปัญหา หรือ 2) เขียนแบบบอกทางแก้ไข เช่น โครงการชวนน้องอ่านหนังสือ โดยเขียนปัญหาอ่านไม่ออกอ่านไม่คล่องของน้องไว้ในหัวข้อหลักการและเหตุผล ฯลฯ
  2. 2. ถ้าเป็นโครงการบนฐานนโยบาย ควรเขียนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์หรือนโยบายนั้นๆ เช่น โครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ฯลฯ
  3. 3. ถ้าเป็นโครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ เขียนให้เห็นภาพฝันหรือภาพแห่งความสำเร็จจะดี เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ฯลฯ

1.3.2 ผู้รับผิดชอบโครงการ

ผู้รับผิดชอบโครงการคือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องรับผิดชอบการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และรวมถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ หากเป็นโครงการของหน่วยงาน มักเป็นหัวหน้างานที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดในงานนั้น ๆ  ในบริบทของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ซึ่งอาจาย์ผู้สอนจะแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มย่อยๆ และมอบหมายให้จัดทำโครงการบริการวิชาการหรือโครงการบริการสังคม ผู้รับผิดชอบโครงการ คือสมาชิกทุกคนในกลุ่มย่อย

1.3.3 หลักการและเหตุผล

หลักการและเหตุผลคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะสื่อสารกับผู้พิจารณาซึ่งมีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการ ดังนั้นจะต้องเขียนแสดงให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของโครงการ เพื่อโน้มน้าวความสนใจและรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องอนุมัติโครงการนี้ หลักคิดในการเขียนเบื้องต้น คือ เขียนอย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ทำไมต้องทำ 2) ทำอย่างไร (คร่าว ๆ พอเข้าใจพอสังเขป) และ 3) ทำแล้วประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคืออะไร ส่วนจะเพิ่มเติม เน้นย้ำให้ผู้อ่านสนใจและเชื่อถืออย่างไร สามารถเพิ่มเติมได้

ควรจะเขียนเป็น 3 ย่อหน้าๆ ละประเด็น ย่อหน่าแรกเขียนให้ผู้อ่านเห็น "วิธีคิด" หรือ "กระบวนทัศน์" ย่อหน้าที่สอง เขียนให้เห็น "วิธีการ" หรือ "กระบวนการ" และย่อหน้าที่สาม เขียนให้เห็น "ผลลัพธ์" หรือ "ประโยชน์" ของโครงการ แต่ละประเภทของโครงการจะเขียนส่วนย่อหน้าแรกต่างกันตามเหตุผลว่า ทำไมต้องทำ ดังจะชี้ให้เห็น ดังนี้

1) การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการบนฐานนโยบาย

ย่อหน้าแรก ให้เขียนเกี่ยวกับนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ หรือแผนกลยุทธ์ ของหน่วยงาน ในทำนองว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องจัดทำกิจกรรม/โครงการนี้ขึ้น เห็นความเป็นมาของการทำโครงการ

ย่อหน้าที่สอง ให้เขียนรายละเอียดพอสังเขปว่า จะทำอะไร? ที่ใหน? อย่างไร? ให้เข้าใจพอสังเขป เช่น จะเชิญใครมาเป็นวิทยากร มาบรรยายหรืออบรมเรื่องอะไร ด้วยเทคนิคอะไร ทำไมถึงน่าสนใจ เป็นต้น สรุปคือ เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ หรือเห็นหลักการนั่นเอง

ย่อหน้าที่สาม ให้เขียนถึงผลที่คิดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการ เช่น ผลผลิตหรือผลลัพธ์เชิงพฤติกรรม ที่จะเกิดขึ้น หัวข้อนี้เสมือนการเอาหัวข้อ "วัตถุประสงค์" และ "ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ" มาเขียนเรียบเรียงเพื่อโน้มน้าวกระตุ้นความสนใจ ทำให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญ เห็นภาพแห่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น

2) การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการบนฐานปัญหา

ย่อหน้าแรก ให้เขียนปัญหา ที่มาของปัญหา และบริบทของปัญหา ผู้อ่าน ๆ แล้ว ให้ทราบว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร สาเหตุของปัญหานั้น ๆ คืออะไร มีบริบทปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ควรจะเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกว่า

  • - เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ
  • - เป็นปัญหาที่สำคัญ มีผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก หรือเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ
  • - ข้อมูลปัญหาที่เขียน มีการสำรวจ สืบค้น สังเคราะห์ หรือวิเคราะห์แล้ว
  • - เป็นปัญหาที่ค้นพบ สำรวจ วิเคราะห์ โดยเจ้าโครงการเอง
  • - แสดงข้อมูลเชิงสถิติ ตัวเลข แสดงให้เห็นความรุนแรง หรือมากน้อย ฯลฯ

ย่อหน้าที่สอง เขียนวิธีการจะแก้ปัญหานั้น อ่านแล้วให้รู้ว่าจะแก้อย่างไร ใช้ใครหรืออะไร ที่ไหน อย่างไร ... เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ หรือเห็นหลักการนั่นเอง

ย่อหน้าที่สาม เขียนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น บอกวิธีประเมินผลพอสังเขป

3) การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์

ย่อหน้าแรก เขียนถึงสิ่งที่เป็นเหตุจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นปัญหาหรือการมองปัญหาในมุมมองของตน หรือเป็นการค้นพบของตนเอง หรือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือแม้แต่เป็น (ประกาย) ความคิดของตนเองที่ "ปิ๊ง" ขึ้นมา หรือเป็นประสบการณ์ของตนเองที่ได้เรียนรู้จนตกผลึกมั่นใจ

ย่อหน้าที่สอง เขียนถึงรายละเอียดของความคิดสร้างสรรค์นั้นให้เห็นพอสังเขป ว่าจะทำอะไร อย่างไร ... เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ

ย่อหน้าที่สาม เขียนถึงภาพความสำเร็จหรือผลที่จะได้รับจากการสร้างสรรค์งานนั้น ๆ

อย่างไรก็ดี วิธีการเขียนหลักการและเหตุผลที่เสนอมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น การเขียนหลักการและเหตุผล แท้จริงแล้วเขียนแบบใดก็ได้ กี่ย่อหน้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้เขียนและผู้อ่านโครงการนั้น จะกำหนดให้เห็นเป็นอย่างไร ขอให้เห็น "เหตุผล" และ "หลักการ"

1.3.4 การเขียนวัตถุประสงค์โครงการ

วัตถุประสงค์ คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินโครงการ ลักษณะที่ดีของวัตถุประสงค์ คือ ชัดเจน ทำได้จริง วัดประเมินได้ สามารถบอกเป้าหมายหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม หากเป็นการพัฒนาคน ต้องระบุได้ว่าพฤติกรรมที่พึงประสงค์คืออะไร

"วัตถุ" คือวัตถุ สิ่งที่จับต้องได้ นับได้ มองเห็นเป็นรูปธรรม ส่วนคำว่า "ประสงค์" คือความต้องการ ดังนั้น คำว่า "วัตถุประสงค์" น่าจะแปลว่า ความต้องการอะไรที่จำต้องได้เป็นรูปธรรมจากโครงการ ... แต่แปลตามตัวแบบนี้ก็เกินไป เพราะโครงการส่วนใหญ่ ไม่ใช่สร้างวัตถุสิ่งของ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสมรรถนะหรือความสามารถของคน จึงขอให้ยึดหลักว่า วัตถุประสงค์ทุกข้อจะต้องวัดได้ ประเมินได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ผู้ช่วยอธิกาบดีผู้ดูแลรับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษา เสนอหลักการเขียนวัตถุประสงค์ว่า ต้องมีลักษณะสำคัญ SMART คือ

  • - Specific คือ มีความเฉพาะเจาะจงลงประเด็นเดียวในแต่ละข้อ
  • - Measurable คือ ต้องสามารถวัดและประเมินผลสำเร็จได้
  • - Attianable คือ ระบุถึงการกระทำที่สามารถปฏิบัติได้ บรรลุผลได้
  • - Realistic คือ ต้องระบุให้มีความเป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องกับความเป็นจริง
  • - Time bound คือ มีการกำหนดขอบเขตของเวลาที่จะกระทำให้สำเร็จได้อย่างชัดเจน

โดยวัตถุประสงค์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 ให้เขียนถึง "ผลผลิต" (Output) คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นทันทีหลังจบโครงการ ค่อนข้างมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่นอน และต้องสามารถประเมินได้ทันทีหลังจบโครงการ เป็นสิ่งที่ผู้ทำโครงการมีความมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ

ระดับที่ 2 ให้เขียนถึง "ผลลัพธ์" (Outcome) คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เป็นความคาดหวังของโครงการที่อยากให้เกิดขึ้น เช่น ทักษะ ความสามารถ หรือศักยภาพ หรือเจตคติ ฯลฯ

ระดับที่ 3 ให้เขียนถึง "ผลพลอยได้" (By-product) หรือประโยชน์ทางอ้อมที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ

ระดับที่ 4 (ถ้ามี...ในกรณีเป็นโครงการต่อเนื่องหรือโครงการระยะยาว) ให้เขียนถึง "ผลกระทบ" (Impact) คือสิ่งที่จะเป็นผลตามมาจากโครงการ หรือผลที่เกิดขึ้นต่อจากการมีผลผลิตนั้น ๆ

วัตถุประสงค์จะเขียนกี่ระดับก็ได้ แต่ทุกข้อที่เขียนจะต้องวัดผลและประเมินผลได้ จำนวนวัตถุประสงค์ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปจนทำให้ความสำคัญของโครงการน้อย วัตถุประสงค์ควรจะครอบคลุมสาระสำคัญของโครงการ

1.3.5 ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย

หลักการสำคัญในการเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ ต้องเขียนให้ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ สามารถบอกได้ว่าวัตถุประสงค์นั้นสำเร็จหรือไม่ และต้องกสามารถวัดได้จริงด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง ส่วนเป้าหมาย คือ เกณฑ์ที่กำหนดระดับความสำเร็จของแต่ละวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดความสำเร็จ อาจแบ่งเป็น 2 หรือ 3 ประเภทก็ได้

ถ้าแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือตัวชี้วัดที่แสดงผลเป็นตัวเลข เช่น จำนวน ร้อยละ ระดับความสำเร็จ ระดับความพึงพอใจ เป็นต้น และ 2) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ที่บ่งบอกถึงคุณภาพและคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งนำเสนอออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้

ถ้าแบ่งเป็น 3 ประเภท จะได้แก่ 1) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือตัวชี้วัดที่สามารถนับได้ หรือ เป็นปริมาณเชิงกายภาพที่มีหน่วยวัด เช่น จำนวน ความยาว น้ำหนัก ระยะเวลา เป็นต้น 2) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณที่ใช้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรม คือ ตัวชี้วัดที่สร้างเกณฑ์ให้สิ่งนามธรรมนั้นเป็นตัวเลข เช่น ระดับความพึงพอใจ ระดับคุณธรรม ระดับความโปร่งใส ฯลฯ และ 3) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือ ตัวชี้วัดไม่ใช่เชิงปริมาณ ไม่มีหน่วยวัดใด ๆ แต่ใช้การวัดเทียบกับค่าเป้าหมายที่เป็นเกณฑ์ในลักษณะพรรณนา หรือเป็นคำอธิบายของเกณฑ์ซึ่งจะช่วยในการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมิน เช่น การมีคุณค่ากับสถาบัน ศักยภาพของผู้เข้าอบรม ฯลฯ

ตัวอย่างตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายเชิงปริมาณ เช่น

  • - จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มเป้าหมาย
  • - ระดับความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย ไม่น่อยกว่า 3.51 คะแนน (คะแนนเต็ม 5.00)
  • - จำนวนผู้ผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่อง.......  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
  • - เป็นต้น

ตัวอย่างตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายเชิงคุณภาพ เช่น

  • - กลุ่มเป้าหมายมีเจตคดีที่ดีต่อการ...............
  • - เกิดประโยชน์ที่มีคุณค่าต่อชุมชน
  • - ได้รับการยอมรับจากชุมชน 
  • - เป็นต้น

1.3.6 กลุ่มเป้าหมาย/ระยะเวลาดำเนินการ/สถานที่ดำเนินโครงการ

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มคนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ การเขียนต้องระบุประเภทของกลุ่มคนให้ชัดเจนพร้อระบุจำนวนที่แน่นอน เนื่องจากข้อมูลนี้จะถูกนำไปใช้ในการคำนวณในการทำแผนงบประมาณโครงการ ตัวอย่างการเขียนกลุ่มเป้าหมายเช่น

  • - กลุ่มแม่บ้านทอเสื่อกกบ้านดอนมัน จำนวน 50 คน
  • - ครูโรงเรียนบ้านขามเฒ่า จำนวน 5 คน
  • - ชาวบ้านหมู่ที่ 3 บ้านห้วยซัน จำนวน 20 คน
  • - เป็นต้น

กลุ่มเป้าหมายจะแตกต่างจากกลุ่มตัวอย่าง การทำโครงการบริการวิชาการหรือโครงการพัฒนาต่างๆ มักกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมาย ส่วนโครงการวิจัยหรือโครงการสำรวจมักจะกำหนดกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถือเป็นตัวแทนของ “ประชากร” หรือกลุ่มคนที่ต้องการจะศึกษาทั้งหมด

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

ให้ระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดโครงการ เช่น

  • - วันเริ่มโครงการ  24 สิงหาคม 2560 วันสิ้นสุดโครงการ 30 สิงหาคม 2561

สถานที่ดำเนินโครงการ

ให้ระบุสถานที่ พื้นที่ ที่ตั้ง หรือที่อยู่ ที่กระบวนการดำเนินโครงการจะเกิดขึ้น เช่น

  • - บ้านดอนนา ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  • - อาคารพลศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  • - เป็นต้น

1.3.7 วิธีการดำเนินงานและแผนการดำเนินงาน

วิธีการดำเนินงาน

ให้เขียนวิธีการและขั้นตอนของการดำเนินงาน โครงการประเภทโครงการบนฐานปัญหาหรือโครงการแก้ปัญหา ควรจะแบ่งวิธีการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • - ระยะต้นน้ำ เริ่มตั้งแต่การสำรวจปัญหา การกำหนดปัญหา การศึกษาปัญหา การกำหนดวิธีการการแก้ไข การวางแผนงาน และการสร้างเครื่องมือประเมินผลโครงการต่าง ๆ
  • - ระยะกลางน้ำ เริ่มจากดำเนินโครงการตามแผนงานที่วางไว้ ควรจะแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจน และกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เช่น กำหนดผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละขั้นตอน เป็นต้น
  • - ระยะปลายน้ำ เป็นการประเมินผลการดำเนินโครงการ ซึ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ที่คาดว่ากลุ่มเป้าหมายจะได้รับ และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ รวมถึงการสร้างสื่อและการนำเสนอองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

แผนการดำเนินงาน

การเขียนแผนการดำเนินงาน เป็นเหมือนการสรุปวิธีการดำเนินงานลงในตาราง แสดงแผนการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน โดยนำเอาขั้นตอนการทำงานที่สำคัญๆ ทั้งหมดหัวเรื่องวิธีการทำงาน มาเขียนในคอลัมน์ แล้วใช้ลูกสอนหรือเส้นสัญลักษณ์แสดงช่วงระยะเวลาที่จะดำเนินงานขั้นตอนนั้นๆ ดังตัวอย่าง

ที่

ขั้นตอน/กิจกรรม

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

ต.ค.

พ.ย.

ธ.ค.

ม.ค.

ก.พ.

มี.ค.

เม.ย.

พ.ค.

มิ.ย.

ก.ค.

ส.ค.

ก.ย.

1

ประชุมเตรียมสำรวจ

2

ลงพื้นที่สำรวจชุมชน

3

กำหนดปัญหา/ชุมชน

4

เขียนเค้าร่างโครงการ/ขออนุมัติโครงการ

5

ดำเนินโครงการ

6

………………………

1.3.8 แผนงบประมาณ

การเขียนแผนงบประมาณถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในการเขียนโครงการบนฐานนโยบาย ที่มีแผนงบประมาณของหน่วยงานกำหนดไว้ โดยเฉพาะการเขียนโครงการในหน่วยงานราชการ การเขียนแผนงบประมาณถือเป็นปัจจัยกำหนดว่า การดำเนินโครงการและการสรุปโครงการจะราบรื่นหรือไม่ แผนงบประมาณที่ชัดเจน จะทำให้การจัดเก็บเอกสารข้อมูลและหลักฐานการเงินเป็นไปอย่างมีระบบ ดังนั้นผู้เขียนโครงการจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับระเบียบด้านการเงินและฝึกตนเองให้มีความรอบคอบถี่ถ้วนในการบันทึกค่าใช้จ่าย  ตัวอย่างแผนงบประมาณในโครงการบนฐานนโยบายแสดงดังตารางด้านล่าง

งบรายจ่าย -รายการ

งบประมาณ (บาท)

ค่าใช้จ่ายภายในประเทศ

1. ค่าตอบแทนวิทยากร 

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2561  จำนวน 2 คน  จำนวน 3 ชั่วโมง  (2 คน x 600 บาท x 3 ชั่วโมง)

3,600

2. ค่ารับรองวิทยากร

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน  2561 จำนวน 2 คน 

800

6. ค่าอาหารกลางวัน

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2561 (130 บาท x 110 คน x 1 มื้อ)      

14,300

7. ค่าอาหารว่าง

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2561         (30 บาท x 110 คน x 2 มื้อ)      

6,600

8. จ้างพิมพ์เกียรติบัตร  จำนวน 100 แผ่น (แผ่นละ 5 บาท x 100 แผ่น)

500

รวม

25,800

จะเห็นว่า การตั้งงบประมาณระบบราชการในการจัดโครงการ จำเป็นต้องระบุว่า ต้องการจ่ายค่าอะไร วันที่เท่าใด ราคาต่อหน่วยเท่าไหร่ จำนวนกี่คน (ซึ่งจำเป็นต้องสอดคล้องกับจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ) คิดเป็นงบประมาณรวมในแต่ละรายการเท่าใด รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเท่าใด

1.3.9 ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ส่วนนี้สำคัญมาก เพราะผู้อ่านโครงการจะให้ความสนใจว่า ผู้เขียนโครงการมั่นใจถึงความสำเร็จของโครงการอย่างไรบ้าง ถ้าผลที่คาดว่าจะได้รับไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นั่นแสดงว่าผู้ขออนุมัติโครงการไม่เข้าใจ และถ้ามีวัตถุประสงค์แต่ไม่มีในผลที่คาดว่าจะได้รับ นั่นแสดงว่า ผู้ขออนุมัติโครงการไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้น

ให้เขียนผลที่จะเกิดตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ให้ระบุผลผลิต ผลลัพธ์ หรือผลพลอยได้ ตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อ โดยนำเอาผลการประเมินตัวชี้วัดความสำเร็จ ที่วัดด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น แบบสอบถาม แบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ ฯลฯ มาเขียนรายงาน เป็นข้อ ๆ

1.4 การประเมินผลโครงการ

1.4.1 ความหมายและประเภทของการประเมินโครงการ

มีผู้ให้ความหมายของ "การประเมินโครงการ" ไว้มากมาย ท่านที่สนใจ สามารถสืบค้นได้จากงานเขียนวิทยานิพนธ์หรือเล่มงานวิจัยทางศึกษาศาสตร์ ได้ไม่ยาก หลังจากอ่านหลายๆ ความหมาย สามารถสังเคราะห์ให้ครอบคลุ่มที่สุดได้ดังนี้

การประเมินผลโครงการ หมายถึง กระบวนการค้นหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล แล้วพิจารณาตัดสินความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ความคุ้มค่า คุณค่า และการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการให้ดีขึ้นต่อไปหรือตัดสินใจยุติโครงการ

ประเภทของการประเมินโครงการมีหลากหลายแบบ สาระสำคัญที่น่าสนใจคือ การแบ่งประเภทของการประเมินตามเวลาการลงมือประเมิน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

 1) การประเมินก่อนดำเนินโครงการ (Preliminary Evaluation) โดยควรประเมิน 2 ลักษณะ ได้แก่ การประเมินความต้องการหรือความจำเป็น (Needs Assessment) และประเมินความเป็นไปได้ (Feasibility Study) เพื่อนำสารสนเทศที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจในการทำแผนหรือปรับแผนการดำเนินโครงการ

2) การประเมินระหว่างการดำเนินโครงการ (On going Evaluation) เป็นการประเมินความก้าวหน้าหรือการพัฒนาของโครงการ (Formative Evaluation) ว่า เป็นไปตามแผนของโครงการหรือไม่ มีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร

3) การประเมินเมื่อโครงการสิ้นสุด (Pay-off Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อผลรวมสรุป (Summative Evaluation) หลังจากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว เป็นการประเมินความสำเร็จของโครงการตามตัวชี้วัดหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เช่น การประเมินผลผลิต (output) ผลลัพธ์ (Outcome) หรือ ผลกระทบ (Impact) อันเป็นผลมาจากโครงการ

1.4.2 เครื่องมือประเมินโครงการ

เครื่องมือประเมินโครงการ คือ เครื่องมือในการศึกษา ค้นหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสารสนเทศในการตัดสินใจ ตัดสินคุณค่า ความคุ้มค่า หรือการพัฒนาของโครงการ เช่น แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึก แบบสอบถาม แบบทดสอบ แบบวัดความพึงพอใจ รายงานโครงการ และรวมถึง การถอดบทเรียน ฯลฯ ไม่เครื่องมือใดดีที่สุดสำหรับทุกโครงการ ผู้ประเมินต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม หรือจะดีที่สุดคือ ออกและสร้างเครื่องมือด้วยตนเอง ซึ่งจะมีกระบวนการสร้างอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งจะได้นำมาแลกเปลี่ยนในบันทึกต่อ ๆ ไป

สำหรับกิจกรรมนิสิต โครงการส่วนใหญ่เกิดจาก "จิตอาสา" และจุดมุ่งหมายสำคัญนอกจากวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการซึ่งจำเป็นต้องประเมินให้ครอบคลุมและครบถ้วนตามตัวชี้วัดและวัตถุประสงค์ทุกข้อแล้ว ทุกกิจกรรมยังมุ่งให้นิสิตฝึกฝนพัฒนาทักษะและภาวะผู้นำในตนเอง จึงควรต้องมีการประเมินผลการเรียนรู้ (Learning Evaluation) ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญก็คือ "การถอดบทเรียน" นั่นเอง

1.5 การเขียนรายงานผลการประเมินโครงการ

รูปแบบการเขียนรายงานผลการประเมินโครงการของแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรอาจไม่เหมือนกัน และแตกต่างกันตามแต่ละประเภทของโครงการด้วย รูปแบบที่จะกำหนดให้นิสิตได้ฝึกเขียนรายงานการประเมินโครงการครั้งนี้ ปรับจากแบบฟอร์มการเขียนรายงานผลการดำเนินโครงการของกองบริการวิชาการและวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และแบบฟอร์มการเขียนโครงการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยตัดให้เหลือเฉพาะบางหัวข้อที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการคิดและการเขียนสำหรับพัฒนาภาวะผู้นำของนิสิต มีองค์ประกอบทั้งหมด 12 ข้อดังนี้

1) ชื่อโครงการ

2) ผู้รับผิดชอบโครงการ

3) หลักการและเหตุผล

4) วัตถุประสงค์ของโครงการ

5) ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย

6) กลุ่มเป้าหมาย/ระยะเวลา/สถานที่ดำเนินโครงการ

7) ผลการดำเนินโครงการ

ให้เขียนรายงานกระบวนการดำเนินงานตามแผนดำเนินงานที่เขียนไว้ในโครงการตามลำดับเวลาและขั้นตอน โดยเขียนให้เห็นกระบวนการการดำเนินงานของแต่ละขั้นตอน ประกอบผลงาน ชิ้นงาน หรือภาพถ่าย โดยเน้นสอดคล้องกับการทำงานจริง ให้ยึดเอาขั้นตอนการทำงานจริง ๆ เป็นหลัก ดังนั้น ขั้นตอนการทำงานของแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกันได้ ตามกระบวนการทำงานเป็นของกลุ่ม

8) ผลการประเมินโครงการ

9) สรุปรายงานงบประมาณ

เขียนรายการและจำนวนเงินของแต่ละรายการ และรวมงบประมาณทั้งหมด  ในกรณีของโครงการเสริมการเรียนรู้โดยไม่ต้องแนบหลักฐานใดๆ เว้นแต่อาจารย์ผู้สอนจะกำหนดเพื่อให้ได้เรียนรู้วิธีการทางงบประมาณของหน่วยงานราชการไทย

10) รายชื่อผู้จัดทำรายงาน

ให้เขียนเฉพาะรายชื่อ ผู้มีส่วนในการเขียนสรุปรายงานและประเมินโครงการ  ไม่จำเป็นต้องมีรายชื่อนิสิตทุกคนในกลุ่ม และให้ผู้ทำหน้าที่เลขานุการ (ผู้รวบรวม เรียบเรียง) เป็นผู้ลงรายมือชื่อ  ร่วมกับหัวหน้าโครงการ

สุดท้ายนี้ ขอย้ำว่า รูปแบบการเขียนรายงานผลการประเมินโครงการนั้น ไม่มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงการและนโยบายของหน่วยงานนั้น ๆ จะกำหนด จึงขอให้ผู้อ่าน ศึกษาเอาหลักการ เทคนิค และคำนึงถึงเหตุผลของการเขียนในแต่ละครั้งเสมอ

หมายเลขบันทึก: 658138เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2018 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2018 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท