๙ต่อ Before After : (ยางยืดเพื่อชุมชน) การทำความดีจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว


ผมยังแนะนำให้นิสิตได้ถ่ายทอดสดกิจกรรมผ่านมือถือ แนะนำให้มีการบอกเล่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องว่ายางยืดมีผลต่อการเสริมสร้างสุขภาพอย่างไร มีวิธีการทำอย่างไร เพื่อให้ได้ทั้งความรู้และทักษะ ซึ่งลึกๆ ยังแอบคาดหวังว่า ถัดจากนี้ไปนิสิตบางคนอาจสามารถใช้เวลาว่างอื่นๆ ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง ทำเสร็จก็นำไปบริจาคในโอกาสต่างๆ นำกลับไปให้ญาติๆ ในครอบครัว-ในเครือญาติที่บ้านเกิด หรือแม้แต่ส่งมอบให้องค์กรต่างๆ ได้นำไปบริจาคให้ชาวบ้านในค่ายอาสาพัฒนาต่างๆ

ช่วงเย็นของวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2561)  ผมแวะเข้าไปให้กำลังใจทีมงานเครือข่ายนิสิต ๙ต่อ Before After มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื่องในกิจกรรมการจัดทำ "ยางยืดเพื่อสุขภาพ"  หรือ “ยางยืดเปลี่ยนชีวิต”  ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 3 อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

การจัดทำยางยืดในครั้งนี้  คือกระบวนการเรียนรู้ว่าด้วยการจัดทำ “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” เพื่อส่งมอบให้กับผู้สูงอายุเนื่องในโครงการ "๙ต่อ ร่วมใจห่วงใยสังคม"  ซึ่งเป็น “กิจกรรมนอกหลักสูตร”  ที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้ “ทำความดีจากเรื่องใกล้ตัว”  ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10  มาสู่การสร้างสรรค์สังคม -

กิจกรรมครั้งนี้มิได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว  ทว่ายังคงมีเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ  เข้าหนุนเสริมเหมือนเช่นทุกครั้ง  ได้แก่ เครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน)  และแกนนำชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อ  นอกจากนั้นก็เป็นนิสิตจิตอาสาทั่วๆ ไปจากคณะต่างๆ ในราว 25 คน  คือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะการบัญชีและการจัดการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

ผมและน้องๆ นิสิตมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการทำงานเรื่องนี้  อันหมายถึงหยิบจับเอาเรื่องใกล้ตัวมาเป็น “โจทย์การเรียนรู้”  ทั้งในมิติของ “จิตอาสา” (จิตสาธารณะ)  และการเรียนรู้กระแสหลักของสังคมในวิถีของ “สังคมผู้สูงอายุ”  

จะว่าไปแล้ว ทั้งผมและนิสิต  ไม่ได้คิดที่จะจัดทำเพียงแค่ยางยืดเท่านั้น  หากแต่ยังเตรียมขับเคลื่อนต่อเนื่องเพิ่มมาอีก 2 ชนิด นั่นคือ ถาดลูกแก้วลำลัดเท้าและไม้เท้าช่วยพยุง

ก่อนการงานจะเริ่มต้นร่วมสัปดาห์  ผมเสนอแนวคิดให้แกนนำได้ใช้กระบวนการของการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น  ตั้งทีมงานบริจาคยางยืดในหอพักและตลาดน้อย  ขอรับบริจาคงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมเล็กน้อย  เพราะไม่ใช่แค่ทำยางยืด ถาดลูกแก้วและไม้เท้าเท่านั้น  แต่ยังต้องเดินทางออกสู่ชุมชนและสถานสงเคราะห์บ้านพักคนชรา  เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง

แต่จริงๆ แล้ว  ที่แนะนำเช่นนั้นก็มิได้หมายความว่าผมต้องการให้ได้มาซึ่งอุปกรณ์หรือปัจจัยหรอกนะครับ  เพียงแต่ต้องการฝึกการทำงานในแบบเป็นทีม  ฝึกการออกแบบงาน ฝึกการมอบหมายงาน  ฝึกการสื่อสารสาธารณะ  ฝึกการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและองค์กรตัวเอง  ฯลฯ

ครับ  ยืนยันว่า  ผมคิดเช่นนั้นจริงๆ –

เช่นเดียวกับการแนะนำอย่างหนักแน่นด้วยการ “...  ให้นัดหมาย-เชื้อเชิญคนมาร่วมจัดทำสิ่งเหล่านี้ด้วยกัน  มิใช่การจัดหาเงินแล้วไปซื้อสำเร็จรูปมา  พอซื้อมาก็เอาไปส่งมอบให้กับชุมชน...”

แน่นอนครับ  โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยหลงรักวิธีการเช่นนี้เท่าใดนัก  มันไม่ใช่วิถีของนักกิจกรรม  มันไม่ใช่วิถีของนักเรียนรู้  เพราะนั่นคือวิถีของนักสงเคราะห์ที่นิยมการ “เด็ดยอด”  มากกว่าการ “บ่มเลี้ยง” ให้เกิดการหยั่งราก-แตกใบ-ออกดอกออกผล  ซึ่งไม่เหมาะต่อนิสิตนักศึกษาในครรลองของกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นอย่างยิ่ง

ผมยืนยันว่า  ผมคิดเช่นนั้นตั้งแต่ต้น และแนะนำอย่างจริงจัง-จริงใจเช่นนั้นจริงๆ  มิหนำซ้ำยังบอกกระทั่งว่า  ขอให้มีคนมาช่วยกันทำ  ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น  ที่เหลือมีเวลาก็ทยอยทำเพิ่มเป็นระยะๆ  พร้อมๆ กับการแนะนำให้แกนนำได้ไปร้องขอให้นิสิตในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมาช่วยสอนวิธีการทำนวัตกรรมเหล่านี้ –

เหตุที่แนะนำเช่นนั้น  ผมมองว่าหากนิสิตในวิชาชีพเหล่านั้นมาช่วยเป็นวิทยากร  ก็เท่ากับว่าเราได้ส่งเสริมให้นิสิตได้นำความรู้ในหลักสูตร (ความรู้ในวิชาชีพ) มาประยุกต์สู่การมีทักษะทางวิชาชีพ  (Hard skills)  และการได้สอน ได้สาธิต ได้ปฏิบัติการร่วมกัน ก็ย่อมก่อให้เกิดทักษะส่วนบุคคลและทักษะความเป็นทีมอันสำคัญในการอยู่ร่วมและทำงานในสังคมร่วมกัน (Soft skills)  ไปโดยปริยาย

ไม่เพียงแค่เฉพาะประเด็นข้างต้น  ผมยังแนะนำให้นิสิตได้ถ่ายทอดสดกิจกรรมผ่านมือถือ  แนะนำให้มีการบอกเล่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องว่ายางยืดมีผลต่อการเสริมสร้างสุขภาพอย่างไร  มีวิธีการทำอย่างไร  เพื่อให้ได้ทั้งความรู้และทักษะ  ซึ่งลึกๆ ยังแอบคาดหวังว่า  ถัดจากนี้ไปนิสิตบางคนอาจสามารถใช้เวลาว่างอื่นๆ  ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง  ทำเสร็จก็นำไปบริจาคในโอกาสต่างๆ  นำกลับไปให้ญาติๆ ในครอบครัว-ในเครือญาติที่บ้านเกิด  หรือแม้แต่ส่งมอบให้องค์กรต่างๆ  ได้นำไปบริจาคให้ชาวบ้านในค่ายอาสาพัฒนาต่างๆ  ....

ใช่ครับ  ผมเป็นคนประเภทนี้  คิดไปเรื่อย  ยิงปืนนัดเดียว  ผมแอบคาดหวังให้ถึงการได้มาซึ่งนกมากกว่า 1 ตัวเสมอ

การงานในครั้งนี้ ผ่านพ้นไปด้วยดี  ถึงแม้จะตรงกับเทศกาลวันลอยกระทงของจังหวัดก็เถอะ  แต่นิสิตทุกคนก็มีสมาธิในการทำงานร่วมกัน  สมแล้วกับการพาหัวใจมาเรียนรู้วิถีของการเป็นอาสาสมัคร หรือ “จิตอาสา” 

เวทีครั้งนี้ มีนิสิตจิตอาสาจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ จำนวน 4 คน  (นางสาววรพิชชา กาฬจันทร์ นางสาวจิราพร หลวงเทพ นางสาวธวัลรัตน์ ชาประดิษฐ์ นางสาวฝนทอง ไชยยะ นางสาวสไมพร วรรณรัตน์)  มาช่วยทำหน้าที่เป็นวิทยากรพาทำยางยืด  หนึ่งในสี่คนที่ว่านี้ก็มีสถานะเป็นหนึ่งในทีมทำงานหลักของ #๙ต่อ Before After และ #เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม  หรือพูดให้ตรงประเด็นก็คือ ประธานชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อนั่นเอง  โดยเบื้องต้นปักหมุดการจัดทำในวันนี้ไว้ประมาณ 20 ชุด คือ (1) ใช้ยาง 6 เส้น 10 เเถว (2) ใช้ยาง 8 เส้น จำนวน 10 เเถว (3) ใช้ยาง 4 เส้น จำนวน 20 เเถว

นี่เป็นเพียงการเตรียมงาน  ยังไม่ถึงวันที่ต้องเดินทางไปสู่การบริการสังคม  แต่ผมก็สุขใจกับกระบวนการเล็กๆ นี้มาก  เพราะได้สร้างพื้นที่การทำความดีจากเรื่องใกล้ตัวอย่างง่ายๆ  เป็นความง่ายงามที่ไม่ซับซ้อนอะไรมาก เป็นความงามที่มุ่งสื่อให้เห็นถึงการทำดีจากเรื่องใกล้ตัว 

และนั่นยังไม่รวมถึงประเด็นเชิงความคิดอื่นๆ ที่ผมยังไม่ย้ำกับนิสิต  เป็นต้นว่า  การนำสิ่งของเหลือใช้มาปรับใช้ใหม่ ผ่านการคัดกรองอย่างมีระบบระเบียบ  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  หรือกระทั่งการสร้างสะพานบุญให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมกับการให้และแบ่งปันต่อเพื่อนมนุษย์ 

หรือแม้แต่การไม่จำเป็นต้องมาพร่ำพูดว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ยึดโยงอยู่กับกระบวนการของการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา หรือจิตสำนึกสาธารณะแก่นิสิตตามอัตลักษณ์ของนิสิตที่กล่าวไว้ว่า "นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน" รวมถึงค่านิยมการเป็นนิสิต "MSU FOR ALL : พึ่งได้" ที่หมายถึงการ "พึ่งพาตนเองได้" และสามารถ "เป็นที่พึ่งของคนรอบข้างได้”

เพราะตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดของงานวันนี้  ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่นิสิตได้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข  เป็นความสุขที่นิสิตได้แบ่งปันความรู้และทักษะต่อกัน  และเป็นความสุขที่ได้ลงมือทำเพื่อนำไปสู่การแบ่งปันต่อผู้คนที่อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยฯ

ถัดจากนี้  เมื่อถึงวันจัดกิจกรรมจริงๆ คงมีเวลาได้มาบอกเล่าอีกครั้งว่าไปทำอะไรบ้าง และทำแล้วเกิดผลอย่างไร ---

ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / เครือข่ายนิสิต #๙ต่อ Before After

หมายเลขบันทึก: 658134เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2018 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2018 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท