คำกริยา


คำกริยา

               สวัสดีค่ะ  ครูสรสอนภาษาไทยมาพร้อมกับความรู้เรื่องภาษาไทยที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกวัน  มาเรียนรู้ภาษาไทยกันวันละนิด  ค่อย ๆ ซึมซับความรู้กันไป  อีกหน่อยก็จะเป็นผู้ชำนาญด้านภาษาไทยและช่วยกันส่งต่อความรู้เรื่องภาษาไทยกันไปเรื่อย ๆ นะค่ะ
                     วันก่อนครูสรได้กล่าวถึงคำนาม และคำสรรพนามกันไปแล้ว  ในประโยคของภาษาไทยนอกจากจะมีคำนาม และสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นประธานในประโยคแล้ว  ที่ขาดเสียไม่ได้คือจะต้องมีคำกริยาในประโยคเพื่อให้ทราบว่าประธานแสดงอาการ หรือแสดงการกระทำอย่างไร ให้ชัดเจนอีกด้วย  ครูสรกำลังจะกล่าวถึงคำชนิดหนึ่ง  เรียกว่า “คำกริยา”  นั่นเอง

                   คำกริยา  คือ คำที่แสดงอาการ หรือแสดงการประทำของประธานในประโยค  คำกริยา  แบ่งออกเป็น 5 ชนิด  ดังนี้

               1.สกรรมกริยา

               2.อกรรมกริยา

               3.วิกตรรถกริยา

               4. กริยานุเคราะห์

               5. กริยาสภาวมาลา

              

1.สกรรมกริยา 

           เป็นคำกริยาที่จะต้องมีกรรมมารับ  ประโยคจึงจะได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์

ตัวอย่าง

               ชูใจวิ่งหนีเสือ   (วิ่ง  ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

               มานีตีปูนา     (ตี  ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

               มานะไล่อีกา    (ไล่  ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

               แม่ทำอาหาร   (ทำ  ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

                 พี่ไม่ชอบให้น้องกันคิ้ว     (กัน  ทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค)

2. อกรรมกริยา

            เป็นคำกริยาที่มีความหมายได้ใจความสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องมีกรรมมารับ  แต่ถ้าต้องการให้ประโยคมีความชัดเจนหรือเป็นการเน้นความนั้น ก็ให้นำคำ หรือวลี มาขยายประโยคนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้

ตัวอย่าง

            นกร้อง   นกร้องเสียงดัง   เครื่องบินตก   น้ำไหล    ไก่ขัน    ฝนตก   ฝนตกหนัก   จราจรเดินที่ถนน

เสาไฟฟ้าล้มขวางถนน  

 

3.วิกตรรถกริยา

           เป็นคำกริยาที่ให้ลำพังกับประธานไม่ได้ ต้องมีอื่นมาขยาย  เช่น  คำนาม  คำสรรพนาม หรือคำวิเศษณ์ 

จึงได้ใจความสมบูรณ์

           คำที่เป็นวิกตรรถกริยา  ได้แก่คำว่า   “ เป็น  เหมือน  เสมือน  คล้าย คือ ดุจ  ประดุจ  ประหนึ่ง  เปรียบเหมือน  เปรียบเสมือน”   เป็นต้น

 ตัวอย่าง

          ความรู้ประดุจอาวุธ    มานะเป็นหมอ     เขาเสมือนตายทั้งเป็น     ฉันคล้ายพ่อ   ผิวขาวเหมือนหยวก

4. กริยานุเคราะห์

          เป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกริยาชนิดอื่นให้มีความหมาย  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นกริยาช่วยก็ได้

การใช้กริยานุเคราะห์ หรือกริยาช่วยนี้ จะต้องคำนึงถึงความหมายเป็นพิเศษ  เนื่องจากคำกริยาชนิดนี้มีความหมายต่างกันไป ดังนี้

         4.1 มีความหมายในการสั่ง   จะใช้คำว่า  “ต้อง” 

         4.2 มีความหมายในการแนะนำ จะใช้คำว่า “ควร”    

         4.3 มีความหมายแสดงการคาดคะเน จะใช้คำว่า “คง” หรือ “อาจ”   

         4.4 มีความหมายแสดงเวลาที่เจาะจงกระทำ   ใช้คำว่า “กำลัง” 

         

ตัวอย่าง

         เธอต้องไปโรงเรียน    ป่วยควรไปหาหมอ    มานีควรเรียนหนังสือ   ปิติควรปิดวิทยุ

 น้ำอาจท่วม     ฝนคงตก    น้ำป่ากำลังท่วมบ้าน    พ่อกำลังเลื่อยไม้

5. กริยาสภาวมาลา

          เป็นคำกริยาที่มีหน้าที่คล้ายกับคำนาม  สามารถเป็นประธาน  หรือกรรม  ก็ได้

 ตัวอย่าง

          กันดีกว่าแก้      (กัน  ทำหน้าที่เป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นกริยาสภาวมาลา)

          เล่นดนตรีมีประโยชน์กว่าทำอย่างอื่น        ( เล่นดนตรี   เป็นกริยาสภาวมาลา  ทำหน้าที่เป็นประธานของกริยา  “มี”)

               จะเห็นว่าคำกริยาบางคำก็มีความหมายคล้ายกัน  อย่าเพิ่งสับสนไปนะค่ะ  เมื่อจะใช้คำกริยาก็ให้พิจารณาให้ดีก่อนนำไปใช้ค่ะ  ค่อย ๆ เรียนรู้กันไปวันละนิด

คำสำคัญ (Tags): #คำกริยา#ภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 658131เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2018 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2018 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท