ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วใช้โทษอะไรทดแทน


ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วใช้โทษอะไรทดแทน

                                                                                              นัทธี จิตสว่าง

คำถามที่มักจะตามมาเสมอเมื่อมีความพยายามจะให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็คือ “เมื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วจะใช้โทษอะไรทดแทน”         

ปัญหานี้สำหรับผู้ที่สนับสนุนให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่จะล่อด้วยการเสนอให้นำโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษมาใช้ ทดแทน ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ได้รับโทษดังกล่าวนี้ จะต้องถูกคุมขังในเรือนจำไปจนจะถึงแก่ความตาย กล่าวได้ว่าโทษดังกล่าวเป็นโทษจำคุกไปจนตลอดชีวิตจริงๆ ซึ่งต่างจากโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยทั่วไป ที่มักมีการลดโทษให้เสมอ เช่น โทษจำคุกตลอดชีวิตของไทย หากมีการอภัยโทษหมู่ ก็อาจได้รับการปรับจากโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกที่มีกำหนดระยะเวลา เช่น 40 ปีเป็นต้น หรือในบางรัฐของสหรัฐที่โทษจำคุกตลอดชีวิต มีโอกาสได้รับการพักการลงโทษภายหลังจากที่ได้จำคุกต้องมาตามเวลาที่กำหนด เช่น 20 ปี

โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษ เพิ่งจะเริ่มมีการนำมาใช้ในบางประเทศในช่วง 40 ปี ให้หลังมานี้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากที่ประเทศนั้นได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่การประกอบอาชญากรรมบางประเภท บางกรณี ของอาชญากรบางคนที่กระทำโดยความโหดร้ายทารุณ และต่อเนื่องเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ไม่สมควรที่จะได้รับการปลดปล่อยกับไปสู่สังคม เพื่อความปลอดภัยของสังคมในภาวะที่ไม่มีโทษประหารชีวิตและไม่สนใจว่าผู้ต้องขังโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังกล่าวจะสามารถกลับตัวพัฒนาพฤตินิสัยดีขึ้น ณ ขณะอยู่ในเรือนจำได้หรือไม่ เพราะอาชญากรรมที่เขาก่อไว้ร้ายแรงเกินกว่าที่จะให้อภัย และจำเป็นจะต้องได้รับการลงโทษตอบแทนอย่างสาสมโดยการจำคุกไว้ในเรือนจำจนกว่าจะสิ้นชีวิต

ในสหรัฐฯ แม้จะยังมีโทษประหารชีวิตใช้บังคับอยู่หลายรัฐ แต่ก็ยังมีการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการพักการลงโทษอยู่ด้วย และในบางรัฐยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วแต่ใช้ โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษ ซึ่งก็หมายความว่าผู้ต้องโทษจะต้องรับโทษจำคุกไปจนกว่า จะสิ้นชีวิตในเรือนจำ โดยโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ไม่มีการลดโทษ จะใช้กับกรณีความผิดร้ายแรงหรือผู้ที่กระทำผิดซ้ำสามครั้งขึ้นไป สำหรับในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิต แต่ให้จำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษเช่นกัน โดยมีการนำมาใช้อย่างไม่แพร่หลายมากนัก ในปี ค.ศ. 2000 มีนักโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษอยู่เพียง 23 ราย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษอยู่บ้างว่าเป็นการลงโทษที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ อาจพิจารณาถึงการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดว่าเป็นการกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ โดยเฉพาะผลกระทบจากการลงโทษ ซึ่งหากพิจารณาถึงโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษ นับเป็นการกระทำที่กระทบต่อตัวผู้ถูกลงโทษมากกว่าตัวผู้ถูกประหารชีวิตเสียอีก เพราะผู้ถูกจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษ จะถูกจำกัดเสรีภาพและถูกคุมตัวอย่างเข้มงวดในเรือนจำความมั่นคงสูง ในบางแห่งของสหรัฐมีรายงานว่าผู้ต้องขังที่ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษจะถูกคุมขังในห้องขังซอยตลอด 23 ช.ม. และมีเวลาออกมาออกกำลังกาย ถูกแสงแดด 1 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลบหนีหรือก่อเหตุ การถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกัน จึงทำให้ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษเสมือนตายทั้งเป็น เสมือนการถูกประหารทางจิตใจและมีชีวิตอยู่เพียงรอความตาย โดยไม่มีความหวังจะได้กลับสู่โลกภายนอกไม่มีสิ่งล่อใจให้ประพฤติดี อาจถือได้ว่าเป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรม นับเป็นผลกระทบต่อประเด็นทางสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง

พิจารณาในด้านการบริหารจัดการ โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษจะมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของเรือนจำ กล่าวคือจะต้องมีเรือนจำที่มีความมั่นคง แข็งแรงสูงสุดในการควบคุมนักโทษที่ถูกจำคุกโดยไม่มีความหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อย เปรียบเสมือนนำระเบิดเวลาไปไว้ในเรือนจำทำให้ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยใช้อาคารสถานที่และเทคโนโลยีเข้าร่วม นอกจากนี้จะต้องมีอัตราผู้ควบคุมอย่างเพียงพอเหมาะสมกับผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะเข้ามาในเรือนจำแล้วไม่ได้ออกและยังสะสมจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้จะต้องมีงบประมาณในการลงทุนก่อสร้างเรือนจำที่มีความมั่นคงสูงและงบประมาณในการการดูแลผู้ต้องขังที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตปีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษก็ยังคงหนีไม่พ้นประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ผู้สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตหันไปเสนอให้ใช้วิธีการอื่น แทนการประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นอกจากการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ชั้นต่อมาคือการขอให้ยกเลิกโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อพิจารณาถึงโทษที่นำมาใช้แทนโทษประหารชีวิตแล้ว ปัญหามีอยู่ว่าหากไม่ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษแล้วจะใช้โทษอะไรมาแทนโทษประหารชีวิต ดังกล่าว คำตอบเป็นไปได้ 2 กรณี คือการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีโอกาสได้รับการลดโทษ โดยมีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่จะต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ เช่น 20 ปี จึงจะมีสิทธิที่ได้รับการพิจารณาลดโทษและการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิต โดยมีการลดโทษที่ไม่มีระยะเวลาขั้นต่ำ และการใช้โทษจำคุกระยะยาว ซึ่งอาจเป็นทั้งคำพิพากษาแบบมีกำหนดระยะเวลาตายตัว (Determinate Sentence) เช่น จำคุก 30 ปี หรือกำหนดระยะเวลาจำคุกไม่ตายตัว (Indeterminate Sentence ) คือมีการกำหนดระยะเวลาจำคุกขั้นต่ำไว้ เช่นจำคุก 50 ปี แต่จะต้องจำคุกอย่างน้อย 20 ปี จึงจะได้รับการลดโทษได้ ซึ่งทั้ง 2 กรณีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อการบริหารโทษแตกต่างกัน

ในหลายประเทศไม่ได้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิต (ที่มีโอกาสได้รับการลดโทษ) เพราะโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการลดโทษก็ไม่ต่างอะไรจากโทษจำคุกที่มีกำหนดระยะเวลา ในปี 2542 ประเทศเนปาลได้ประกาศยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วใช้โทษจำคุกสูงสุด 25 ปี และการยึดทรัพย์แทน เช่นเดียวกับประเทศ Turkmenistan ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในปีเดียวกันแล้วใช้โทษจำคุกสูงสุด 25 ปี แทนเช่นกัน สำหรับประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วหลายสิบปี ใช้โทษจำคุกระยะยาวแทนซึ่งโทษจำคุกระยะยาวสำหรับประเทศในยุโรปอาจมีระยะเวลาเพียง 10 ปี

ดังนั้นหากมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว โทษที่จะนำมาใช้แทนโทษประหารชีวิตจึงมีได้ 3 กรณี คือ

1. โทษจำคุกตลอดชีวิต (โดยไม่มีการลดโทษ)

2. จำคุกตลอดชีวิต (โดยมีการลดโทษ แต่มีการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำไว้)

3. จำคุกตลอดชีวิต (โดยมีการลดโทษ ที่ไม่มีการกำหนดโทษขึ้นต่ำ)

 4. โทษจำคุกที่มีกำหนดโทษระยะเวลา


การที่ประเทศใดจะใช้โทษใดมาทดแทนโทษประหารชีวิต หรือกำหนดให้เป็นโทษสูงสุดแทนโทษประหารชีวิตนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม สภาพปัญหาของอาชญากรรม การบังคับใช้กฎหมายและความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมว่าเน้นการแก้แค้นทดแทนและจริงจังกับการลงโทษผู้กระทำผิดเพื่อข่มขู่บังคับ หรือลงโทษเพื่อแก้ไขและปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเรืองที่แตกต่างกันไปของแต่ละสังคม เช่น ในประเทศยุโรปโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นสังคมที่มีความสงบสุข อาชญากรรมรุนแรงแทบจะไม่เกิดขึ้น ผู้คนมีวินัยไม่ทำผิดกฎหมาย ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมต่อคนที่ทำผิด คือการให้โอกาสและแก้ไขพฤตินิสัยเพราะถือว่าเป็นผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความบกพร่อง จำเป็นจะต้องได้รับการบำบัดรักษาและพัฒนาพฤตินิสัย ขณะที่สหรัฐในหลายมลรัฐมีปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรง คนในสังคมจึงเรียกร้องให้มีการจัดการกับอาชญากรรมอย่างเด็ดขาดและรุนแรง เป็นผลให้ในหลายมลรัฐยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่

ข้อพิจารณาประการสุดท้ายก็คือ เมื่อมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ก็เหมือนการกลับไปใช้โทษที่มีอยู่เดิมที่เหลืออยู่ ซึ่งโดยปกติก็คือโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกที่มีกำหนดระยะเวลา ยกเว้นเสียแต่ในอนาคตหากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก้าวไปถึงการมีโปรแกรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมบุคคลให้อยู่ที่เขตในกำหนด โดยไม่ต้องใช้กำแพงหรือมีโปรแกรมหรือยาปรับสมองมนุษย์ ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมความก้าวร้าวใช้ความรุนแรงหรือพฤติกรรมทางเพศ มาใช้แทนโทษจำคุกที่จะเป็นโทษโบราณที่ล้าสมัยไปในที่สุด

-----------------------------------------------------

หมายเหตุ ภาพประกอบจากการสืบคืนทางอินเตอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 657973เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018 07:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นปัญหาที่น่าคิด ถ้าระบบการพิจารณาสอบสวนเที่ยงตรง แม่นย่ำ และการกระทำของนักโทษผิดมหันต์ ก็ควรจะดำเนินการให้จบสิ้นไปเพื่อปิดโอกาสที่จะกระทำพฤติกรรมซ้ำอีก แต่ถ้าระบบการพิจารณาสอบสวนยังหละหลวง มีโอกาสจับแพะชนแกะ การที่ยังไม่ดำเนินการเด็ดขาดก็ยังคงมีความจำเป็นเพื่อประวิงเวลาให้มีโอกาสต่อสู้เรียกร้องที่หลากหลาย และทุกวันนี้นักโทษน่าจะเต็มพื้นที่คุมขัง เราต้องจัดงบประมาณเพื่อไปดูแลและควบคุมนักโทษเป็นจำนวนไม่น้อย คิดไปคิดมาก็พันกันวุ่นวายไปหมดจริง ๆ นะครับ และก็ยังไม่มีคำตอบกับคำถามข้างต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท