เกิดแนวร่วมใหม่อีกแห่ง


การจัดการความรู้สู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้กศน.วัดโบสถ์จะเกิดอีกแห่งหนึ่งแล้ว

วันที่ 6 ธันวาคม 2549 กศน.เกาะคา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานกับกศน.วัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ท่านผู้อำนวยการธีรพล จันทรบรรเลง ผอ.ศบอ.วัดโบสถ์ ได้พาทีมงานมาด้วยกันทั้งหมด 14 คน ซึ่งเป็นข้าราชการ ครูอาสาสมัคร และครูศูนย์การเรียนชุมชน 

ท่านผอ.ธีรพล ได้เล่าว่าชุมชนอยากจะพัฒนาอาชีพ และอยากได้วุฒิการศึกษาพร้อมๆ กันไปด้วยโดยไม่ต้องมาเรียนในห้องเรียน เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิษณุโลกได้แนะนำให้กับทางชุมชนว่าที่ลำปางเขากำลังดำเนินการอยู่ ชุมชนจึงเรียกร้องให้ศบอ.วัดโบสถ์ จัดกระบวนการเรียนการสอนแบบวิถีชีวิต เช่นเดียวกับลำปางบ้าง จึงเป็นที่มาของการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้

กศน.วัดโบสถ์ มีความคาดหวังไว้ว่า มาครั้งนี้ครูจะมีทักษะในการจัดทำหลักสูตรแบบบูรณาการวิถีชีวิตโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน รู้วิธีการวัดผลประเมินผลแบบสะสมหน่วยกิต และการนำหน่วยการเรียน การคิดคะแนนเฉลี่ยแบบหมวดวิชาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ. 2544 กศน.วัดโบสถ์ พบปัญหาคือว่าได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้การจัดทำหลักสูตรแนวนี้มาครั้งหนึ่งแล้วที่จ.พิษณุโลก แต่ไม่สามารถไปถึงขั้นคิดระดับผลการเรียนให้ผู้เรียนจบหลักสูตรได้ จึงชวนกันมาที่กศน.เกาะคา

เมื่อได้ทราบวัตถุประสงค์ของกศน.วัดโบสถ์ แล้ว ดิฉันจึงเสนอว่า ถ้าจะให้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด ต้องลองฝึกปฏิบัติจริง ครูกศน.วัดโบสถ์จึงได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมีทีมพี่เลี้ยงของกศน.เกาะคา เป็นพี่เลี้ยง ชวนกันทำตั้งแต่เริ่มกระบวนการตามทุ่งขามโมเดล 9 ตอน
กศน.วัดโบสถ์ อยู่กับเราตั้งแต่ เช้า จนถึง 4 โมง เย็น เรียนรู้ขบวนการขั้นตอนต่าง ๆ จนครบหมด โดยการฝึกปฏิบัติจริง พร้อมทั้งสามารถออกมานำเสนอวิธีการ กระบวนการ ขั้นตอนได้ทั้งหมด ทุกขั้นตอน จนดิฉันแน่ใจแล้วว่าจะสามารถกลับไปปฏิบัติจริงได้ จึงให้กลับได้

จากการพูดคุยกันหลังจากเรียนรู้ทุกขั้นตอนแล้วส่วนใหญ่จะพูดว่า เมื่อก่อนไม่ทราบว่าการนำเอาวิถีชีวิตจริง ที่ชุมชนต้องการเรียนรู้จากเรื่องราวของเขาเอง มาจัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนแบบสะสมหน่วยกิตได้ แต่ตอนนี้รู้วิธีแล้ว ว่าจะต้องเกิดจากความต้องการของชุมชน เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนจริง ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องของชุมชนเอง เมื่อนำมาจัดทำเป็นหลักสูตรบูรณาการสะสมหน่วยกิต ยิ่งมองเห็นภาพชัดเจนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นวิถีชีวิตจริงนั้นสามารถนำมาเป็นหน่วยการเรียนรู้ เพื่อเข้าสู่การวัดประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ได้

ขณะนี้กศน.เกาะคา ก็ได้แนวร่วมในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เพิ่มขึ้นอีกสถานศึกษาหนึ่งแล้ว จะไปติดตามผลดูนะคะว่า ลองไปทดลองปฏิบัติจริงแล้วผลจะออกมาอย่างไร กศน.เกาะคา พร้อมที่จะก้าวเดินไปพร้อม ๆ กันทุก ๆ ท่านค่ะ

ณราวัลย์ นันต๊ะภูมิ
6 ธันวาคม 2549

หมายเลขบันทึก: 65764เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอชื่นชมกับผอ.ณราวัลย์ กับการจัดกศน.ที่เป็นการศึกษาภาคประชาชนที่แท้จริงด้วยครับ ขอให้ก้าวเดินไปอย่างต่อเนื่องสู่ปลายฝันที่หมายมุ่ง ไปถูกทางแล้ว ความสำเร็จบนความภาคภูมิใจรออยู่ข้างหน้าครับ

ณราวัลย์ นันต๊ภูมิ
ขอขอบพระคุณท่านผอ.ดิศกุล มากค่ะ ที่ให้กำลังใจค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท