ไปฟังสวดกันไหม


หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจงานศพ เราจะได้นำต้นไม้นั้นไปปลูกให้มันเจริญเติบโตต่อไปได้ เป็นไปได้ว่านี้คือ แนวคิดแบบประโยชน์นิยม แต่เป็นประโยชน์เพื่อผู้อยู่กำลังจะเจริญเติบโตมาบนโลกใบเดียวกัน

   เวลา ๑๗.๐๐ น. รถตู้คณะมนุษย์ฯเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยมุ่งสู่วัดแห่งหนึ่ง แถวบางเขน ครั้งแรกที่ได้เดินเข้ามาภายในวัดแห่งนี้ แม้จะเดินไปเพียงแค่ศาลา ๘ เป้าหมายการไปครั้งนี้คือการไปฟังสวดในงานบำเพ็ญกุศลศพของพ่ออาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาอังกฤษท่านหนึ่ง

                พระเริ่มสวดประมาณ ๑๘.๓๐ น. ระหว่างนั้นผมก็คิดเรื่อยเปื่อยและเกิดความคิดเปรียบเทียบทันที เมื่อย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ผมได้รู้จักกับวัดแห่งหนึ่งแถวปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ข้อเปรียบเทียบจากการสังเกตที่พอจะนึกขึ้นได้เวลานี้คือ

                ๑.     การสวดของพระ วันนี้ผมมาฟังสวดจริงๆ จำได้ว่าในศาสนาพุทธนั้นต้องมี ๒ สิ่งควบคู่กันถึงจะไปได้ดีคือ ศรัทธากับปัญญา หมายความว่าอย่างไร ศรัทธาคือความเชื่อ หากเชื่อโดยขาดปัญญา ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า จะเป็นความเชื่อแบบเขลางมงายอะไรเทือกนั้น ดังนั้นศรัทธาต้องมากับปัญญาเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ในเมื่อปัญญาคือความรอบรู้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อนที่นั่งข้างๆ ผมบอกว่า ไม่รู้เขาสวดอะไร ฟังไม่ออก อนึ่ง เพื่อนท่านนี้เคยเรียนภาษาบาลีมาก่อน ผมตั้งข้อสังเกตในใจทันทีว่า นี่ขนาดคนเรียนภาษาบาลีมายังฟังไม่รู้เรื่อง แล้วคนนอกเหนือจากนั้นจะฟังรู้เรื่องหรือไม่ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำถามของนักศึกษาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ให้การศึกษาแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จริงๆ แล้ว คำที่พระสวดนั้น เป็นคำสอนไม่ใช่หรือ ผมก็ตอบไปว่า ใช่ครับ เป็นคำสอน ผมว่า เราฟังแล้วไม่คุ้มค่ากับการฟังนะครับ อยากให้แปลเป็นภาษาไทย นักศึกษาตอบโต้เชิงแสดงความคิดเห็น ผมแสดงความคิดเห็นให้ฟังตามที่ปัญญาน้อยๆ ของผมจะมีคือ ๑) เราจะแน่ใจเพียงใดกับสิ่งที่เราแปลออกมา ๒) หากเราแปลออกมาตันติภาษา (ภาษาแบบแผนของศาสนาพุทธ) ก็จะกลายเป็นของโบราณไว้กราบไว้บูชา ๓) แต่นั่นแหละ ถ้าเราไม่แปลออกมา เราก็ไม่สามารถรู้เนื้อหาที่พระสวดได้เลย ยกเว้นว่าคนนั้นได้เรียนรู้ตันติภาษามา นี้อาจเป็นการแสดงเหตุผลแคบๆ ของผม ย้อนมาถึงประเด็นเพื่อนของผม ผมก็บอกว่า พระสวดอภิธรรมมัตถะสังคหะหรือเปล่า  จริงอยู่ ถ้าเราไปงานบำเพ็ญกุศลศพของศาสนาพุทธทั่วไป สิ่งที่พระสวดคือ อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ หากเป็นคืนสุดท้าย เจ้าภาพอาจนิมนต์ให้สวดอนัตตลักขณสูตร หรืออาทิตยปริยายสูตร ในจังหวัดชุมพรมีการสวดป่าช้า ๙ ที่พบก็เห็นจะมีอยู่ที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย (วัดหลวงปู่สงฆ์) นอกจากนั้นก็จะมีการสวดธรรมนิยามสูตร ทั้งหมดที่กล่าวมาคือธรรมคำสอนที่พุทธศาสนาสอนอยู่ หลังจากพระสวดจบ ผมก็พูดความคิดให้เพื่อนฟังว่า เมื่อเทียบกับวัดหนึ่งที่ปากเกร็ด ผมเห็นว่า วัดนั้นดีไม่น้อย กล่าวคือให้พระแสดงธรรมก่อนการสวดทุกศาลาศพและทุกคืนที่มีการสวดศพ โดยยึดเอาการแสดงธรรมมากกว่าการสวด ผมเห็นว่า อย่างนั้นน่าจะดีกว่า ดีกว่าการฟังสวดโดยไม่รู้ความหมายอะไร แต่คนที่ต่างจากผมอาจเห็นว่า ฟังสวดแล้วสบายใจ ก็เป็นได้ ผมให้เหตุผลกับเพื่อนว่า เราทำงานมาเหนื่อย หากได้มาฟังอะไรดีๆ ที่เป็นคำสอนสบายๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องการศึกษา (ระบบ) ไม่ใช่เรื่องอะไรๆในเชิงธุรกิจ หากแต่เป็นเรื่องความจริงและการเข้าใจความจริงของชีวิต อันนี้น่าจะดีไม่น้อย

๒.   หรีดที่ระลึกจากแขกที่มาไว้อาลัยการจากไปของผู้ตาย ก่อนพระจะมา ผมก็นั่งคอยกับเพื่อนไปเรื่อยๆ อันหนึ่งที่เราพูดถึง ซึ่งผมเอ่ยขึ้นว่า ถ้าผมตายไป หากจะมีใครนำหรีดมานั้น ขอให้เป็นต้นไม้ เพื่อนจึงแย้งขึ้นว่า นั่นแน่....... คำนี้ มีเพียงคน ๒ คนเท่านั้นที่รู้ความหมายคือผมกับเพื่อน ตอนหนึ่งเพื่อนพูดขึ้นว่า หรีดเหล่านี้ราคาไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ บาท และเป็นหรีดไม่ใช่น้อยๆ หรีดบางอันดอกไม้ที่เคยสดเริ่มมีขอบคล้ำ นั้นหมายความว่าคงตั้งมานานแล้ว เพื่อนบอกว่า ในวันเผาหรีดเหล่านี้ก็คงถูกเผาไปด้วย ถ้าไม่ถูกเผาก็คงถูกทิ้ง ซึ่งมันก็คือเงินจำนวนหนึ่ง (ระหว่างผมเขียนนี้ ผมก็นึกถึงเรื่องที่ ดร.อาจอง ได้พูดเกี่ยวการตายของคนจำนวนมากที่ตายเพราะอดอาหาร ซึ่งอ่านในเวป gotoknow) จริงๆ แล้วผมเคยมีความคิดเหมือนกันกับการทำธุรกิจทำหรีดดอกไม้ แต่ใจหนึ่งก็บอกว่า เราให้ค่านิยมอะไรกับคน บทสรุปในใจผมคือ ผมทำธุรกิจไม่เจริญแน่ๆ ถ้าคิดอยู่อย่างนี้ จากเรื่องนี้ผมเห็นว่า วัดที่ปากเกร็ดที่ผมเอ่ยถึงนั้น มีแนวคิดสร้างสรรค์ ท่านบอกว่า แทนที่จะซื้อหรีดมาประดับประดา สู้ซื้อต้นไม้/ไม้กระถาง มาแทนหรีดจะดีกว่า ด้วยเหตุผลคือ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจงานศพ เราจะได้นำต้นไม้นั้นไปปลูกให้มันเจริญเติบโตต่อไปได้ เป็นไปได้ว่านี้คือ แนวคิดแบบประโยชน์นิยม แต่เป็นประโยชน์เพื่อผู้อยู่กำลังจะเจริญเติบโตมาบนโลกใบเดียวกัน

          มาถึงตรงนี้ ให้หวนเห็นภาพเปลวไฟที่กำลังเผาสรีระของพุทธทาส ภิกขุ บนเชิงตะกอน ผมอยากที่จะเป็นอย่างนั้น และคิดถึงพ่อกับแม่ที่จะต้องเดินตามผู้ที่ไปแล้วทุกคน ผมไม่อาจให้พ่อกับแม่เป็นเช่นนั้น เพราะผมไม่ใช่ลูกคนเดียวของพ่อแม่ รัฐบาลชุดนี้มีเวลาเพียงปีเดียว ได้แค่ไหนก็แค่นั้น วันก่อนขณะที่กำลังวิ่งออกกำลังกายกัน เพื่อนอีกคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ปีหนึ่งๆ เราผลิตบัณฑิตออกไปมาก และบัณฑิตเหล่านี้จำนวนหนึ่งก็คือผู้ที่กำลังหาช่องทางเอาตัวให้รอด โดยเฉพาะจากช่องว่างของสัญญาระหว่างคน (กฎหมาย) เราไม่สามารถต้านกำลังคนหมู่มากได้เลย ดีนักแลที่งานศพคืนนี้ไม่มีการเล่นการพนัน ไม่เห็นใครกินเหล้าเมายา ........

 ๕ ธ.ค.๔๙ เวลา ๐๙.๔๕ น.

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาความคิด
หมายเลขบันทึก: 65260เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บางอย่างก็เป็นค่านิยมที่ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ...หันมายึดหลักของพ่อ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกันเถอะคะ...แต่กระนั้นเรามีตัวชี้วัดของคำว่าพอเพียงกันแล้วหรือยัง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท