การออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัย


การออกนอกระบบราชการในมุมมองของผม เป็นการออกจากกรอบราชการ ไปสร้างกรอบใหม่ของตนเอง ให้เหมาะสมต่อการทำหน้าที่มหาวิทยาลัย

การออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัย

        มีความเข้าใจผิดว่าการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยจะทำให้มหาวิทยาลัยดีขึ้นบ้าง     เลวลงบ้าง     แพงขึ้นบ้าง     วิชาการดีขึ้นบ้าง      ผมมองว่าข้อสรุปเช่นนี้เป็นการด่วนสรุป

        ผมมองว่าการออกนอกระบบราชการอาจมีผลให้มหาวิทยาลัยดีขึ้นก็ได้     หรืออาจทำให้มหาวิทยาลัยเลวลงก็ได้     ขึ้นอยู่กับการจัดการของมหาวิทยาลัยนั้นๆ      ถ้าจัดการดี มหาวิทยาลัยก็จะดีขึ้น     ถ้าจัดการไม่ดี มหาวิทยาลัยก็จะเลวลง

        การออกนอกระบบราชการในมุมมองของผม    เป็นการออกจากกรอบราชการ     ไปสร้างกรอบใหม่ของตนเอง ให้เหมาะสมต่อการทำหน้าที่มหาวิทยาลัย      มหาวิทยาลัยใดสร้างกรอบใหม่ผิดๆ ก็จะออกนอกกรอบราชการ ไปเข้าป่าเข้าดงไป     คือยิ่งแย่กว่าเดิม    มหาวิทยาลัยใดสร้างกรอบใหม่ที่ดี แต่จัดการไม่เป็น ก็แย่กว่าเดิม

        เราจึงหวังว่า ในกระบวนการออกนอกระบบราชการ มหาวิทยาลัยจะสร้างกรอบใหม่ที่ดีกว่าเดิม และจัดการให้มหาวิทยาลัยทำประโยชน์แก่สังคมได้ดีกว่าเดิม

        จุดที่สำคัญคือ สังคมโลกเปลี่ยนไปมาก     การมีระบบอุดมศึกษาตามแนวที่มีอยู่จะกลายเป็นแรงถ่วงความเจริญของประเทศ     เราต้องการ liberate & diversify สถาบันอุดมศึกษา     liberate ออกจากกรอบระบบราชการที่ขึงตึง    diversify วิธีการบริหารจัดการอุดมศึกษา     และต้องการให้มีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนหนึ่ง (ไม่ต้องมาก เพียง ๕ - ๑๐% ของทั้งหมด) ที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย     เน้นหน้าที่สร้างความรู้ให้แก่ประเทศ     เน้นสร้างคนระดับปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก ให้แก่ประเทศ     มีศักดิ์ศรีเคียงบ่าเคียงใหล่กับสถาบันอุดมศึดษาชั้นยอดของโลก     ที่จะทำหน้าที่เป็นกลไกสานสัมพันธภาพกับนานาประเทศผ่านระบบวิชาการ หรือระบบวิจัย ระบบสร้างคนระดับปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก 

         ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการมหาวิทยาลัยที่เกาะติดอยู่กับท้องถิ่น    เป็นภาคีเหนียวแน่นอยู่กับท้องถิ่น     สร้างความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น    สร้างบัณฑิตที่จะดำรงชีวิตพัฒนาท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี    มี "ความเป็นเลิศ" ในวิชาการเพื่อท้องถิ่น

         การออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัย จะเป็นผลสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ได้ขึ้นแต่เฉพาะการจัดการของแต่ละมหาวิทยาลัยเท่านั้น  ยังขึ้นกับ "การจัดการระบบอุดมศึกษา" ในระดับประเทศ ด้วย     ผมมองว่าต้องจัดการแบบ "ล่อเป้า"  คือบอกเป้าหลายเป้า     ใคร "ยิง" ถูกเป้า ก็เอา "รางวัล" ไป     รางวัลมีทั้งชื่อเสียง และเงินทุนสนับสนุน  

วิจารณ์ พานิช
๔ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 65062เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2006 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เห็นด้วยกับท่าน อ.หมอวิจารณ์ ค่ะ

          โดยส่วนตัวดิฉันเองในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ ข้าราชการ คนนึงมาสิบกว่าปี  ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงสำคัญกับตนเอง และครอบครัวไม่น้อย    ดังนั้น ข้อมูลเพื่อตัดสินใจ จึงจำเป็นมาก  และข้อมูลที่ต้องการได้รับอย่างถูกต้องครบถ้วน ส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องของ 

  1. ผู้บริหาร  "การแสดงวิสัยทัศน์ เป้าหมาย  อุดมการณ์ และผลงานในอดีต"   ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในหลักการบริหาร ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หรือเลวลง  มากกว่ากัน
  2. พรบ. กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ต่างๆ ต้องแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ชัดเจน โปร่งใส ไม่มีหมกเม็ด หรือตีความได้หลายทาง (ช่วยให้สามารถประเมินเจตนาของผู้สร้างสิ่งนี้ได้บ้าง)
  3. ความสอดคล้อง ของ ข้อ 1 และ 2 กับผู้ที่จะนำไปปฏิบัติ หรือ พูดง่ายๆ วัฒนธรรมองค์กรเดิม กับ ความเปลี่ยนแปลง ต้องไปด้วยกันได้   (อย่าให้เหมือน การใช้ลาวิ่งไปตามม้า  หรือ ซื้อรถไฟญี่ปุ่นมาวิ่งบนรางรถไฟไทย )

ด้วยความเคารพ

แก้มแหม่ม

ดิฉันเห็นแต่การกระทำที่เอื้อพวกพ้อง..เอื้อประโยชน์ให้กันและกัน...ปากก็ว่ายุติธรรม...แต่ว่าการกระทำซิ... น่าสงสารองค์กร...ประเทศชาติและ...แม้แต่ระดับต้นๆยังขนาดนี้... เฮ้อ..คิดแล้วเหนื่อยมากค่ะ

ผมเห็นด้วยกับข้อความของอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง การบริหารของมหาวิทยาลัยยังเป็นการบริหารที่เกาะติดกับภาพในอดีต เป็นภาพที่เคยชิน จึงไม่กล้าที่ออกจากแนวคิดเดิมได้ หากต้องการที่คิดแบบใหม่ต้องสร้างความเป็นไปได้ เช่นการบริหารที่ตอบโจทย์ของประเทศ ท้องถิ่น ให้ได้  ควรสร้างคนในระบบอุดมศึกษาพันธุ์ใหม่ เช่นเดียวกับมนุษย์ต้องมีการเรียนวิชาความเป็นมนุษย์กัน เพื่อสร้างเส้นทางใหม่ของการจัดการอุดมศึกษา

การออกนอกระบบ ในด้านสวัสดิการที่เคยได้รับในปัจจุบัน จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับข้าราชการ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท