"ทำงานได้อย่างมีความสุข และแม่เลิกเหล้าให้ลูกด้วยจดหมายฉบับเดียว" ... (เสียงสะท้อนคิดจากกิจกรรมในครึ่งภาคเรียน ๑/๒๕๖๑)


กระบวนการเรียนการสอนที่มีการใช้วีดิทัศน์เป็นสื่อหลัก หลังจากนั้นให้นักศึกษาสะท้อนคิดออกมา
ถือเป็นกิจกรรมที่มักทำสอดแทรกเนื้อหาการสอนในทุก ๆ วิชาเสมอ

(พูดง่าย แต่ทำยาก)

ภาคเรียนที่ ๑/๒๕๖๑ นี้ วิชานวัตกรรมฯ มีนักศึกษาเอกการประถมศึกษา ชั้นปีที่ ๒ มาเรียน

(วิชานวัตกรรมฯ ว่าด้วยการผลิตสื่อการสอนที่นักศึกษาครูต้องเรียนรู้ทุกคน)

หลังจากผ่านไปครึ่งทางของภาคเรียน การสอบกลางภาคก็เกิดขึ้น
แน่นอนว่า ปรนัยเป็นการทดสอบด้านความรู้ ส่วนอัตนัยสักครึ่งหนึ่งเป็นการติดตามผล
ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการชมวีดิทัศน์ระหว่างเรียน ว่าผลออกมาตามได้ตั้งเอาไว้หรือไม่

วันนี้ตรวจข้อสอบอัตนัยทั้งหมด ๓๐ คน แต่มีคนหนึ่งที่อ่านงานเขียนของเขาแล้ว
ก็บอกว่าได้ว่า บรรลุวัตถุประสงค์เชิงลึกทั้งหมด ยิ่งอ่านยิ่งซาบซึ้งในความสำเร็จ

..

ขอนำคำตอบของนักศึกษามาแชร์ไว้ ณ บันทึกนี้

..


"...

จากการได้รับชมวีดิทัศน์เรื่องราวต่าง ๆ ในหลาย ๆ คาบเรียนที่ผ่านมา ต้องบอกเลยว่าความคิด ทัศนคติ การมองโลกต่าง ๆ ของดิฉันมันเปลี่ยนไปมากจริง ๆ จากที่เคยบ่นว่าการบ้านเยอะ งานเยอะ เหนื่ือย เครียด คำพวกนี้มันหายไปหมดเลย เพราะวีดิทัศน์สามเกลอแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ดิฉันเปลี่ยนความคิดของตัวเอง เราได้เห็นความมุ่งมั่น ความพยายาม การต่อสู้ฝ่าฝันอุปสรรคทางร่างกายของพี่ ๆ การไปให้ถึงความใฝ่ฝันเป็นของตัวเอง 

ดิฉันรู้สึกว่า มันเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่ามากจริง ๆ ดิฉันเปลี่ยนแปลงตนเอง เลิกบ่น แต่ลงมือทำ เพราะถ้าเรามัวแต่ท้อแท้กับอุปสรรคเพียงแค่นี้ แล้วชีวิตจะก้าวหน้าได้อย่างไร ดิฉันตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า ถ้าวันนี้เราขี้เกียจ วันข้างหน้าล่ะจะมีอะไรที่เป็นไปตามฝันที่เราวาดไว้หรือไม่ 

ดิฉันลงมือทำงาน การบ้านอย่างมีความสุข วาดรูปการ์ตูน ๔ ประเภท ดิฉันรู้สึกว่า ทำไปแล้วมันมีความสุข มันประทับใจกับผลงานตัวเองจริง ๆ ไม่คิดว่าตัวเองจะทำออกมาได้ดีขนาดนี้ ก่อนหน้านี้รู้สึกเบื่อและเหนื่อยมาก ๆ เวลาที่อาจารย์สั่งงานเยอะ แต่ตอนนี้ดิฉันเข้าใจทุกอย่างแล้วจริง ๆ ว่า สิ่งเหล่านี้มันทำให้ดิฉันเติบโตขึ้น มันทำให้ดิฉันมีพัฒนาการที่ดีมาก จากคนที่ไม่ชอบการลงมือปฏิบัติเลย เพราะเวลาทำมักจะเป็นคนไม่ประณีต ทำให้งานออกมาไม่ดี ส่วนใหญ่จะชอบการวาด การเขียน การตกแต่งมากกว่า การประดิษฐ์จะไม่ค่อยชอบ แต่พออาจารย์สั่งงานผนึกรูปภาพ เราได้ลงมือทำด้วยตนเอง พอทำออกมาเสร็จแล้ว ภูมิใจมาก รู้สึกเป็นคนใจเย็นขึ้น มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น เพราะผนึกรูปภาพมีขั้นตอนการทำค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่ดิฉันก็ทำได้จนสำเร็จ คะแนนออกมาก็เกินคาดมากแล้วค่ะ ขอขอบคุณอาจารย์ที่ทำให้หนูชอบการลงมือปฏิบัตินะคะ

อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือ เมื่อจดหมายมาส่งถึงบ้าน คุณพ่อกับคุณแม่ของหนูได้อ่านจดหมายที่หนูเขียน ตอนแรกที่อาจารย์บอกว่า มีรุ่นพี่เคยเขียนจดหมาย แล้วพ่อของเขาเลิกเหล้าไปเลย หนูก็คิดในใจว่า ถ้าเขียนไป แม่จะเลิกเหล้าบ้างรึเปล่า ปรากฏว่า พอแม่ได้อ่าน แม่ร้องไห้ไปด้วย แต่ก็ยังอ่านต่อ หนูบอกกับแม่ว่า หนูเป็นห่วงแม่ อยากให้แม่เลิกเหล้า อยากให้แม่อยู่กับหนูไปนาน ๆ อยากให้แม่เห็นวันสำเร็จของหนู ขอบคุณอาจารย์มากจริง ๆ ค่ะ ที่ทำให้มีกิจกรรมนี้ แม่ของหนูเลิกกินเหล้าแล้วจริง ๆ ขอบคุณมากนะคะ หนูดีใจมากที่ได้คุณแม่คนเดิมของหนูกลับมา 

และอีกอย่าง ครอบครัวของหนูเริ่มกล้าแสดงออกความรักให้ต่อกันแล้วค่ะ หนูกล้าที่จะบอกรักพ่อกับแม่ หลังจากได้เขียนความในใจผ่านทางจดหมายไป ที่ผ่านมาหนูไม่กล้าบอกรักท่านเลย เพราะแต่เขินอาย ตอนนี้หนูเริ่มเก็บเงินแล้วนะคะ หนูอยากพาครอบครัวไปกินหมูกะทะด้วยกันค่ะ หนูรู้สึกมีความสุข อบอุ่น เวลาที่ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา

สุดท้าย ดิฉันอยากขอขอบคุณอาจารย์อีกครั้งที่ทำให้หนูมีมุมมองความคิดที่ดีขึ้น ทุกวันนี้ไม่ว่าจะงานเยอะแค่ไหน หนูก็สู้ค่ะ ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ อนาคตมีอะไรมากกว่านั้น ขอบคุณที่ทำให้หนูมีพลังในการคิดบวก หนูเติบโตขึ้นจริง ๆ และรู้สึกว่า การมองบวกมันทำให้ทุกอย่างราบรื่น มันดีต่อทั้งตัวเราและคนรอบข้าง และหนูได้รับอะไรมากมายจากวีดิทัศน์ 

วันเกิดเดือนธันวาคมปีนี้ หนูจะกราบเท้าแม่ เอาพวงมาลัยมาไหว้แม่แทนการจัดฉลองค่ะ ขอบคุณทุก ๆ เรื่องที่ทำให้ตัวฉันเปลี่ยนไป

..."

..

............................................................................

..

วิชาที่ว่าด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ๆ เมื่อผมให้งานเขาทำไปแล้ว
จะมีแรงต้าน แรงแห่งความขี้เกียจ แรงแห่งความไม่เข้าใจในสิ่งที่ทำเสมอ
จะมีเสียงฮือ เสียงบ่น เสียงไม่พอใจ แต่อย่างไรก็ต้องทำ
เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีคะแนนเก็บในรายวิชานี้

สิ่งที่จะช่วยพวกเขา คือ การปรับมุมมองและวิธีคิดใหม่

กระบวนการจำเป็นต้องเกิดขึ้น เริ่มจากการให้เห็นคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสในสังคม
และพยายามให้โอกาสนั้นให้มีคุณค่าและมีความหมายที่สุด
ในขณะที่ต้องทำให้ตัวเขาเอง กลับมามองตัวเองว่า เขาเองมีครบ ๓๒ ประการ
โอกาสก็มีมากกว่าคนอื่น ยังขี้เกียจ ยังบ่นอีกหรือ?

..

กระบวนการที่ต้องแทรกต่อมา คือ การต้องให้เขามีความตระหนักรู้ว่า
รู้ไหมว่า เขามาเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อใคร ใครเป็นคนที่อยากเห็นเขาประสบความสำเร็จที่สุด
ใครอยากเห็นเขาใส่ชุดครุย เหตุใดเขาถึงไม่ควรทำลายชีวิตของตัวเองด้วยค่านิยมแย่ ๆ ของสังคม
เช่น การกินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน ติดยา ฯลฯ

เพื่อคนที่เขารักที่สุด แล้วทำไมเขาถึงไม่กล้าที่จะทำให้ท่านมีความสุขด้วยการแสดงความรักง่าย ๆ ล่ะ
การเข้าไปกอด การบอกรัก และการกราบเท้าขอบคุณท่านที่ให้ชีวิตเรามา

..

กระบวนการต่อเนื่องที่ต้องดำเนินการตามเลย คือ
การให้เขาเขียนจดหมายกลับไปแสดงความรู้สึกกับคนที่อยู่ที่บ้าน
(นั่นคือ กิจกรรม "จดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน")

"จดหมายฉบับหนึ่งมีพลังมากกว่าที่คุณคิด" เป็นคำท้าทายของผมที่มีต่อพวกเขา

ห้ามบอกคนที่บ้านว่า จะมีจดหมายมาถึงบ้าน ให้พวกเขาลองสังเกตว่า
เมื่อคนที่บ้านได้อ่านจดหมายแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเปลี่ยนเล็กน้อย หรือ เปลี่ยนมาก
ให้ลองสังเกตดู

แล้วผมจะเล่าเรื่องนิด ๆ ถึงผลของจดหมายในภาคเรียนที่ผ่าน ๆ มา
ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่จดหมายส่งถึง

* การที่พ่อแม่เก็บจดหมายของลูกไว้ในที่ ๆ สำคัญที่สุดของบ้าน
* การที่พ่อจะเปิดอ่านจดหมายทุกครั้งที่พ่อคิดถึงลูก
* การที่พ่อจะเก็บจดหมายฉบับนี้ไว้จนกว่าพ่อจะหมดลมหายใจ
* มีพ่อแม่ที่เลิกเหล้าให้ลูกหลายครอบครัว
* พ่อแม่ไม่ว่าทำงานดึกแค่ไหน ถ้าลูกกลับมาบ้าน พ่อแม่จะกลับมาเร็วขึ้นเพื่อกินข้าวพร้อมลูก

เรื่องราวแบบนี้คือ ความเป็นจริงที่สุดที่เกิดขึ้น

..

ผมท้าทายให้พวกเขาได้พิสูจน์ ... กับแค่จดหมายฉบับเดียว

..

นี่คือ กระบวนการสอดแทรกโดยย่อที่ผมพอจะเล่าให้ฟังได้ จริง ๆ มันยาวกว่านี้

..

..

การที่ต้องทำให้ให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้นั้น มันขึ้นอยู่ตัวของเขาเอง

"ไม่มีใครเปลี่ยนใครได้ ถ้าเจ้าตัวไม่เปลี่ยนเอง"

..

อ่านคำตอบของนักศึกษาคนนี้แล้ว ... แบบนี้เรียกว่า บรรลุวัตถุประสงค์หรือยังครับ

..

การบ่มเพาะและขัดเกลาศิษย์ เป็นหน้าที่ของเรา ครู ครู และ ครู นะครับ
เวลาเห็นครูที่สอนแต่เนื้อหา สนใจแต่หลักการทฤษฏีอย่างเดียว ก็ได้แต่ปลง
แล้วก็ชอบมาตั้งคำถามกับคนที่สอนไม่เหมือนตัวเองว่า ไม่ถูกต้อง

คะแนนเป็นแค่แรงจูงใจ ให้เด็กเขียนทุกสิ่งให้ออกมาจากใจ
แต่คุณค่าข้างในสำคัญกว่าคะแนน

ทุกอย่างมีนัยยะของมันทั้งสิ้น ... แค่ต้องทำความเข้าใจ

..

บันทึกนี้เริ่มยาว ... พักไว้ตรงนี้ก่อนนะครับ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

..

..

หมายเลขบันทึก: 650439เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2018 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2018 00:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

-สวัสดีครับครู-คือพลังของการเขียนนะครับ-ปลื้มใจไปกับครูด้วยนะครับ-เพราะว่า”เราชอบคนรักกัน”

สุดยอดเลยครับ คุณเพชรฯ ;)…

ซาบซึ้งตรึงใจ บรรลุค่ะ

อ้าว !!! อีกครึ่งเทอมไม่ต้องเรียนแล้วหรือคะ ^_,^

ทุกอย่าง ต้องผ่านกระบวนการไปสู่ปลายทางแบบ “เด็ดยอด” ไม่น่าจะสร้างความแกร่งที่ดีงามได้หากแต่คือความเปราะบาง

การเรียนการสอนทำนองนี้ที่เน้นให้ผู้เรียนทำโน่นนี่เสริมการเรียนหลักๆ ในชั้นเรียนก็มีสถานะเดียวกับที่ผมพูด -

ชื่นชมครับ

ขอบคุณครับ คุณแผ่นดิน ;)…

เห็นตัวอย่างชัดแจ๋วครับ ว่าหน้าที่ครูที่สำคัญกว่าคือการสร้างแรงบันดาลใจ..

ขอบคุณพลังแรงใจที่ได้รับไปด้วยครับ

ยินดีครับ ท่านอาจารย์ธนิตย์ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท