mini-UKM #19 @MSU (๓) เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ (ต่อ)


ผมพบว่า การตีความหนังสือ "สอนอย่างมือชั้นครู" ในบันทึกที่แล้วมีประโยชน์ มีหลายอันที่่ผมนำไปใช้และสื่อสารไปยังอาจารย์ที่ร่วมสอนวิชาเดียวกัน  จึงขอใช้เวลาสัก ๑ ช.ม. ต่อไปนี้ ตีความหนังสือเล่มนี้ต่อ


๖) ระวังลิขสิทธิทางปัญญา
อาจารย์ต้องระมัดระวัง อย่าให้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิทางปัญญา การนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ควรแบ่งพิจารณาสามารถนำมาใช้ได้ฟรี (Free Use) ตามหลัก ๓ ประการนี้หรือไม่

  • ใช้งานตามปกติ (Fair Use) คือ ไม่ได้ใช้เพื่อผลทางธุรกิจ เช่น หากเอามาใช้ด้านการศึกษาก็ค่อนข้างจะปลอดภัย อย่างไรก็ควรต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมายของมหาวิยาลัย 
  • ใช้ข้อเท็จจริง คือ นำเอาข้อเท็จจริงมาใช้ (แต่ตามมารยาทก็ควรจะกล่าวถึงผู้ค้นพบ) 
  • ใช้สิ่งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ (Public Domain)
๗) ป้องกันห้องเรียนที่ไม่เป็นอันเรียน
  • อาจารย์ต้องรูันิสัยและบุคลิกของตนเอง 
    • หากเป็นคนใจดี ต้องฝึกบุคลิกให้เป็นคนน่าเชื่อถือเคารพยำเกรงโดยแต่งกายที่เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นทางการ วางน้ำเสียงและการพูดคุยให้น่าเชื่อถือ แต่ต้องไม่โม้โอ้อวด 
    • หากเป็นคนเข้มงวดและดุ ให้ฝึกบุคลิกให้เป็นคนเข้าถึงได้ง่าย ให้แต่งกายไม่เป็นทางการมากนัก ฝึกพูดให้เสียงนุ่ม แสดงท่าทีผ่อนคลาย ชวนคุยนอกเรื่อง เรื่องส่วนตัวบ้าง เพื่อให้เกิดความคุ้มเคย 
  • ให้อาจารย์กับนิสิตให้ทำกระบวนการต่างๆ ร่วมกัน คือ ก่อนเรียนให้ร่วมกันตั้งกติกาหรือข้อตกลงร่วมกัน โดยพิจารณาถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนเป็นหลัก และเมื่อกำหนดแล้วก็ช่วยกันรักษาอย่างเอาจริงเอาจัง 
  • ระวัง !!!!  กิริยามารยาทที่ไม่ดีของอาจารย์ คือตัวก่อพฤติกรรมไม่ดีของนิสิต เช่น หยาบคาย เสียดสี ลดตัวลงมาเล่นหัวกับนิสิต ไม่สนใจ ไม่ไวต่อความรู้สึก ไม่ยืดหยุ่น ในทางตรงข้าม ความสุภาพและพฤติกรรมดีต่างๆ ของอาจารย์จะสร้างพฤติกรรมดีของนิสิตได้ 
  • ผลการศึกษาความเห็นของนักศึกษาในอเมริกาบอกว่า พฤติกรรมของอาจารย์ ๖ ประการต่อไปนี้ คือสิ่งที่อาจารย์ไม่ควรทำ 
    • เข้าห้องเรียนสาย
    • ไม่อยู่ห้องตามเวลาที่บอก
    • ดูถูกนักศึกษาว่าโง่
    • ไม่รู้จักนักศึกษา
    • พูดกับกระดานดำ ไม่พูดกับนักศึกษา หรือยืนบังข้อความบนกระดาน
    • ไม่ดำเนินตามเอกสารรายวิชา 
  • และกล่าวถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่นักศึกษาไม่พึงประสงค์ ได้แก่
    • ไม่เตรียมตัวสอน 
    • ไม่เป็นระบบระเบียบ
    • สอนเข้าใจยาก
    • ไม่กำกับดูแลชั้นเรียน
    • บรรยายเร็วเกินไป
    • พูดเสียงเบาและไม่มีจังหวะ ไม่มีการเน้น 
    • บรรยายแบบอ่านบันทึกการสอน
    • สอนก่อนเวลาและเลิกช้า
    • ไม่ตรวจการบ้าน
    • ให้การบ้านมากเกินไป
  • วันถัดมา (ครั้งถัดมา) หลังจากสร้างข้อตกลงร่วมกับนิสิตแล้ว อาจารย์ควรจะถามนิสิตกลับบ้างว่า ไม่อยากให้อาจารย์ทำอะไรบ้าง แล้วเอามาปรับเป็นแนวปฏิบัติสำหรับอาจารย์บ้าง 
  • พฤติกรรมสำคัญของอาจารย์ที่จะนำคุณประโยชน์มาสู่นิสิตไปตลอดชีวิตคือ การไม่ยอมรับผลงานที่ทำแบบชุ่ยๆ หรือผลงานคุณภาพต่ำ อาจารย์จะต้องบอกนิสิตอย่างชัดเจนว่า จะยอมรับเฉพาะผลงานที่มีคุณภาพเท่านั้น ไม่ยอมรับผลงานคุณภาพต่ำเด็ดขาด เพราะนั่นเป็นการสร้างนิสัยการทำงานชุ่ยๆ แบบขอไปที ไม่เป็นคุณต่อชีวิตระยะยาว 
  • เมื่อนิสิตคุยกัน ต้องระลึกไว้เสมอว่าสิ่งที่เราจะปฏิบัติใด ต้องเป็นไปเพื่อทำให้การรบกวนการเรียนเกิดขึ้นน้อยที่สุด
    • วิธีหนึ่งคือให้อาจารย์หยุดพูด พร้อมยิ้มและมองไปยังนิสิตที่กำลังคุยกัน แสดงให้เห็นว่าเขากำลังทำผิดข้อตกลง 
    • หรืออาจเดินไปยังนิสิตที่กำลังคุยกันแล้วทำเป็นตลก โดยให้พูดแทนอาจารย์
    • หรืออาจพูดว่า สิ่งที่อาจารย์กำลังพูดอยู่นี้เป็นเรื่องสำคัญและจะมีในข้อสอบ 
    • ฯลฯ
  • เมื่อนิสิตมาสาย  ต้องระลึกไว้เสมอเช่นกันว่า อะไรที่เราจะทำต้องเป็นไปเพื่อให้ห้องเรียนน่าเรียน การรบกวนการเรียนมีน้อยที่สุด
    • ให้อาจารย์จัดการทดสอบมีคะแนนตอนเริ่มเรียนและก่อนเลิกเรียนเล็กน้อยเพื่อแก้ปัญหานิสิตออกจากห้องเรียนก่อนกำหนด
    • หาโอกาสคุยนอกเวลากับนิสิตที่มาเรียนสาย อาจมีความจำเป็นบางประการ หรืออาจถามเพื่อนสนิท โดยเฉพาะนิสิตที่ดูเป็นคนดีและมาสายเรื้อรัง 
    • อาจารย์ต้องเริ่มสอนและเลิกตรงเวลา 
    • ฯลฯ
  • เมื่อเจอนิสิตตั้งคำถามและโต้แย้งไม่ยอมจบ (คงพบน้อยมากในประเทศไทย)
    • ให้รีบตัดบทแล้วกระซิบบอกให้มาคุยกับอาจารย์หลังเลิกเรียน 
    • ป้องกันพฤติกรรมนี้ได้โดยเปิดโอกาสให้เขียนคำถามใส่กล่องรับความคิดเห็นแล้วอาจารย์เลือกคำถามดีๆ มาตอบในชั้นเรียนถัดไป หรือเปิดโอกาสให้ส่งอีเมล์ถามโดยตรง 
    • ฯลฯ
  • เมื่อเจอนิสิตตั้งคำถามเพื่อต้อนอาจารย์ให้เสียหน้า
    • ให้นิสิตได้แสดงความเห็นของตนเอง แล้วถามถึงแหล่งอ้างอิง ก่อนจะเสนอความคิดเห็นของอาจารย์ พร้อมยืนยันด้วยหลักฐาน
    • พลิกสถานการณ์ให้เป็นจุดประกายการเรียนรู้ร่วมกันของชั้นเรียน โดยตั้งคำถามที่ซับซ้อนในเรื่องเดียวกันให้นิสิตช่วยกันสืบค้นและแสดงความคิดเห็น
    • ฯลฯ
  • ขอให้อาจารย์แก้เกรด 
    • เรื่องการแก้เกรดอาจารย์ต้องตกลงกันให้ชัดเจนก่อนเริ่มเรียนว่า แก้ได้หรือไม่ หากแก้ได้ มีกรณีใดบ้าง ขั้นตอนเป็นอย่างไร 
    • การพูดคุยเรื่องแก้ผลการเรียนควรจะกำหนดแนวทางร่วมกัน โดยกำหนดให้เป็นกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส ไม่เป็นความรับลับ  ไม่ควรจะคุยกับนิสิตสองต่อสองคน
    • ฯลฯ
  •  เมื่อนิสิตใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ระหว่างเรียน 
    • การสั่งห้ามใช้โทรศัพท์ในยุคนี้ไม่น่าจะทำได้ 
    • ให้ใช้วิธีสร้างข้อตกลงว่า เมื่อถึงเวลาที่่ครูเห็นว่าสำคัญจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ให้ทุกคนหยุดใช้ก่อน  หากไม่เข้าใจจะส่งผลต่อเนื้อหาถัดๆ ไป 
    • อาจารย์ต้องใช้ท่าทีที่แสดงให้เห็นว่า กำลังรักษาผลประโยชน์ของนิสิต ไม่ใช่แสดงอารมณ์ตอบสนองความประสงค์ของตนเอง 
    • ฯลฯ
  • นิสิตขาดเรียน
    • สาเหตุ ๓ ประการสำคัญที่ทำให้นิสิตขาดเรียนคือ 
      • ไม่เช็คชื่อ การขาดเรียนไม่มีผลต่อเกรด
      • อาจารย์ไม่ได้เอาใจใส่ในการขาดเรียน 
      • มีเนื้อหาให้เรียนที่อื่นอยู่แล้ว 
    • วิธีการในสมัยนี้อาจต้องใช้หลายๆ มาตรการเช่น 
      • การทดสอบย่อยบ่อยๆ 
      • การสอบแบบถาม-ตอบ ให้แสดงความคิดเห็น แบบไม่มีผิดมีถูก
      • แบ่งกลุ่มทำงานหรือทำโจทย์ หรือสอนโดยใช้กิจกรรมบ่อยๆ 
    • ศ.นพ.วิจารณ์ เสนอว่า หากเป็นการเรียนรู้ที่มุ่งผลลัพธ์การเรียนรู้เฉพาะตน ความรู้หรือทักษะที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้  การขาดเรียนอาจจะได้รับการอนุโลมเป็นบางกรณีตามสไตล์การเรียนของตนเอง ท่านยกตัวอย่าง รศ.ดร.อนันตสิน เตชะกำพุช ซึ่งขณะเรียนคณะวิทยาศาสตร์ที่จุฬาฯ ด้วยกัน ท่านเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าเรียน แต่ก็สอบได้อันดับหนึ่งของชั้น จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ได้ทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อปริญญาเอก ต่อมากลับมาเป็นหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาฯ  
  • เมื่อมีนิสิตแสดงความไม่เคารพ  ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากทัศนคติต่อต้านผู้มีอำนาจของนิสิตเอง ซึ่งเป็นปัญหาภายในอารมณ์ของนิสิตเอง  วิธีการที่ควรทำคือ
    • หาโอกาสคุยเป็นการส่วนตัวเพื่อหาทางไม่ให้เกิดพฤติกรรมนั้นอีก
    • แจ้งผู้รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยให้พิจารณาเยียวยาทางจิต 
    • ฯลฯ
  • อาจารย์ควรจะมีผู้ช่วยเหลือในการพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ  เช่น เพื่อนอาจารย์ นิสิตที่มีวุฒิภาวะ เพื่อนๆ ในสาขาวิชาชีพอื่นๆ  ฯลฯ 
ความซื่อสัตย์ในการเรียน
  • งานวิจัยพบว่า  ๒๐ ปีก่อน นักศึกษาในสหรัฐอเมริกายอมรับว่าพวกเขาเคยโกงการสอบ คิดเป็นสัดส่วน ๒ ส่วนใน ๓ ส่วน ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น ๓ ส่วนใน ๔ ส่วนในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น 
  • สาเหตุของการโกงคือ กระแสสังคมที่เชื่อว่า คนที่ประสบผลสำเร็จเพราะกล้าโกง คนที่ไม่กล้าโกงจะไม่ประสบผลสำเร็จ กระแสสังคมพัดไปในทางที่ทำให้คนเห็นแก่ตนเองเป็นหลัก 
  • การรับรู้ (Perception) ของนักศึกษาต่อการยอมรับของเพื่อนๆ เป็นปัจจัยสำคัญต่อสถิติการโกง หากเพื่อนๆ ยอมรับว่า ใครๆ ก็โกงกัน สถิติการโกงข้อสอบจะเพิ่มขึ้น
  • การโกงจะเพิ่มมากขึ้น ในกรณีที่มีการเปิดช่องให้ (เช่น ไม่ตรวจสอบจริงจัง) และการลงโทษไม่ชัดเจน การโกงจะเกิดบ่อยขึ้นตามขนาดของชั้นเรียน
  • อาจารย์ต้องเปลี่ยน "การรับรู้" ของนิสิต ไม่ให้เป็นไปตามกระแสสังคมดังกล่าว และเอาใจใส่ในการตรวจสอบนักศึกษา 
  • วิธีป้องกันการโกง ๓๕ วิธี ที่เสนอโดยศาสตราจารย์ Linda B. Nilson ได้แก่
    • ส่งเสริมให้เรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่เพื่อสอบ
    • ทำให้นิสิตเข้าใจเรื่องการกงทางวิชาการและขโมยคัดลอกผลงาน ยกตัวอย่างประกอบ
    • ระบุนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการโกงของสถาบันอย่างชัดเจนในเอกสารประกอบการสอน และพูดบ่อยซ้ำ ย้ำ ทวน 
    • ผู้สอนที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วย หรืออาจารย์ที่อ่อนอาวุโส ให้พึงระวัง นิสิตมักเข้าใจว่าอาจารย์กลุ่มนี้ไม่สนใจเรื่องความซื่อสัตย์
    • ออกข้อสอบใหม่ทุกครั้งที่สอบ
    • เอาข้อสอบเก่าและการบ้านขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้นิสิตทุกคนเข้าถึง
    • จัดข้อสอบหลายๆ ชุด เรียงลำดับต่างกัน
    • ย้ำเสมอเมื่อทดสอบว่า ความซื่อสัตย์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ สถาบันเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ 
    • พึงตระหนักว่านิสิตส่วนใหญ่ ร่วมถึงนิสิตที่มีความประพฤติดี จะไม่ฟ้องเมื่อเห็นการโกง
    • จัดโต๊ะสอบให้ห่าง ห้ามเอาสิ่งของโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบ
    • กำหนดที่นั่งสอบ และให้เซ็นชื่อเลขที่นั่งสอบ
    • จัดให้มีกระดาษทด ไม่ให้นำมาเอง
    • เก็บเครื่องคิดเลขหรือเครื่องอิเล็คทรอนิกส์อื่นๆ ก่อนแจกข้อสอบ
    • ถ้าอนุญาตให้นำหนังสือเข้าห้องสอบ ให้เก็บจากนิสิตแล้วแจกใหม่แบบสุ่ม ไม่ให้ใช้หนังสือของตนเอง 
    • ทีมคุมสอบต้องไม่ทำงานอื่นระหว่างการคุมสอบ
    • ตรวจสอบโพยคำตอบในที่ต่างๆ เช่น ฝาโถส้วมในห้องน้ำ ที่ผิวหนังใกล้รูผุของกางเกงยินส์ 
    • เก็บกระดาษคำตอบจากนิสิตทีละคน ไม่ให้เกิดความอลม่าน
    • ตอนตรวจข้อสอบทำเครื่องหมายที่คำตอบที่ถูก  และเขียนคะแนนหน้าข้อ 
    • ส่งกระดาษคำตอบคืนนิสิตเป็นรายบุคคล หรือส่งทางอินเตอร์เน็ต
    • เก็บกระดาษคำถามคืนจากนิสิตทุกคน หากมีหลายชุด ให้เขียนชื่อนิสิตด้วย 
    • ระบุกติกาให้นิสิตในการทำงานร่วมกัน ในกรณีมีการเก็บคะแนนจากการมอบหมายงานนอกชั้นเรียน 
    • เปลี่ยนเอกสารชิ้นงานทุกปีการศึกษา เพื่อไม่ให้ลอกงานของนิสิตรุ่นก่อน
    • ใช้เวลาในห้องเรียนในการอภิปรายประเด็นปัญหาของชิ้นงานที่มอบหมายและวิธีแก้ไข
    • ระบุรูปแบบของผลงานนำเสนอและให้คะแนนส่วนใดบ้าง 
    • ระบุเงื่อนไขให้ใช้ความรู้จากหลายๆ แหล่งอ้างอิง เช่น จากตำรา จากเว็บไซต์ จากวีดีทัศน์ ฯลฯ 
    • สอนนิสิตว่าเมื่อไหร่ที่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของความรู้ และสอนวิธีอ้างอิง 
    • เตือนนิสิตว่าอาจารย์จะใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบการขโมยหรือลอกเลียนผลงาน 
    • บอกให้ชัดล่วงหน้าว่า อาจารย์อาจสุ่มนิสิตมาสอบปากเปล่าว่าเข้าใจจริงหรือไม่ 
    • สำหรับชิ้นงานขนาดใหญ่ อาจารย์ต้องจัดประชุมสอบถามความก้าวหน้า และให้โอกาสนิสิตได้ปรึกษา อาจารย์จะได้ประเมินความสามารถของนิสิต 
    • คอยให้คำแนะนำและประเมินผลงานนิสิตเป็นระยๆ โดยอาจให้เขียนรายงาน 
    • กำหนดให้นิสิตส่งร่างงานแรกก่อน เพื่อจะได้ตรวจสอบแนะนำตั้งแต่เนิ่น
    • กำหนดให้นิสิตต้องส่งเอกสารอ้างอิงด้วย อย่างน้อยให้ส่งหน้าแรกของเอกสาร 
    • กำหนดให้นิสิตส่งงานพร้อมสำเนา ๑ ชุด สำหรับอาจารย์เก็บไว้ตรวจสอบ
    • พยายามให้มีความชัดเจน ยุติธรรม โปร่งใส จริงจัง ในเรื่องการตรวจและการให้คะแนนชิ้นงาน 
  • หากพบว่ามีความไม่ซื่อสัตย์ ให้จัดการทันที กรณีไม่มีการบันทึกประวัติให้อาจารย์ลงโทษทันที กรณีที่ต้องสอบสวนให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร  อย่างไรก็ดี ต้องปรึกษาหัวหน้าภาควิชาหรือคณบดี
  • ควรมีการกำหนดกติกาแห่งเกียรติยศ ๓ แบบ ผลการวิจัยในสหรัฐพบว่า การมีกติกาแห่งเกียรติยศแบบใดแบบหนึ่ง โดยให้นักศึกษาลงลายมือชื่อรับ  ทำให้การโกงลดลงถึง ๑ ใน ๔ ส่วน 
    • กติกาของสถาบัน ระเบียบต่างๆ 
    • กติกาของสถาบันร่วมกับนิสิตในการบังคับใช้ 
    • กติกาของรายวิชาที่อาจารย์กำหนดหรือร่วมกับนิสิตกำหนดขึ้น
  • ผลงานวิจัยบอกว่า นิสิตที่มีอายุน้อยกว่า รู้สึกผิดน้อยกว่าเมื่อกระทำการไม่ซื่อสัตย์ และคิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ผิด ร้อยละ ๒๔ บอกจะทำอีก ร้อยละ ๓๐ บอกไมแน่ใจ 
  • อาจารย์ต้องปลูกฝัง (หรือเปลี่ยนแปลง) ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ของนิสิต โดยทำให้ตระหนักถึงโทษของการไม่ซื่อสัตย์ ด้วยวิธีต่อไปนี้ 
    • การทำให้นายจ้างคิดว่าคุณมีความรู้หรือทักษะ ทั้งที่จริงๆ แล้วคุณไม่มี จะก่อความเสียหายมากมายต่อสังคมและโลก 
    • ถ้าเรียนจบด้วยการโกงคุณก็ไม่มีความรู้และทักษะที่แท้จริง  เมื่อไปทำงาน เพื่อนร่วมงานจะรู้ว่าสิ่งที่ระบุในใบปริญญาไม่เป็นจริง คุณค่าของปริญญาจะลดลง
    • การโกงทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์ 
    • การโกรเป็นการเอาเปรียบเพื่อน
    • การโกงเป็นการละเมินกติกาแห่งเกียรติยศที่สัญญาไว้ (ด้วยการเซ็นชื่อด้วย)
    • การโกงการเรียนเป็นบ่อเกิดแห่งการโกงอื่นๆ จึงเป็นเส้นทางแห่งการทำลายอนาคตตนเอง
    • การโกงเป็นการปิดกั้นโอกาสเชี่ยวชาญหรือความเป็นเลิศ 
  • ความมั่นคงในความซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามหลักคุณธรรม เห็นประโยชน์ส่วนรวม และการมุ่งทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น คือคุณสมบัติที่ทำให้ให้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มีชีวิตที่ดีได้ในระดับนี้ 
เลือกวิธีสอนให้เหมาะกับผลลัพธ์การเรียนรู้

  • ผลลัพธ์การเรียนรู้อาจแบ่งได้เป็น ๘ ระดับ ดังรูป  

  • อาจารย์ต้องตั้งเป้าว่า จะให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ใด ระดับใด ต่อลูกศิษย์ แล้วค่อยเลือกวิธีสอนหรือวิธีจัดการเรียนรู้ 
  • เครื่องมือในการทำให้นิสิตเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ มี ๓ ประการ ได้แก่ 
    • รูปแบบ (Format) ของรายวิชา
    • วิธีสอน (Teaching Methods)
    • เทคนิคการสอน (Teaching Moves) 
  • ศาสตราจารย์ Nilson แนะนำ ๑๘ วิธีสอน ได้แก่ 
    • การบรรยาย (Lecture) 
    • การบรรยายแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive Lecture)
    • ทบทวนความเข้าใจ (Recitation) ด้วยการถามตอบ
    • อภิปรายตามกรอบ (Directed Discussion)
    • ฝึกหัดเขียนและพูด (Writing and Speaking Exercise)
    • เทคนิคประเมินห้องเรียน (Classroom Assessment Techniques) ด้วยการมอบหมายงานให้ผู้เรียนทำโดยไม่เป็นทางการ ไม่มีคะแนน
    • นิสิตประเมินป้อนกลับซึ่งกันและกัน (Student-Peer Feedback)
    • ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (Cookbook Science Labs) 
    • สอนตามจังหวะทันใด (Just-In-Time Teaching) เป็นการปรับการเรียนการสอน เพื่อแก้ความเข้าใจผิด ที่ได้จากการทดสอบออนไลน์ก่อนชั้นเรียน 
    • เรียนรู้จากกรณีศึกษา (Case Study)
    • เรียนโดยการตอบโจทย์ (Inquiry-based or Inquiry-guided Learning)
    • เรียนรู้โดยการแก้ปัญหา (Problem-based Learning) แบ่งกลุ่มเรียนโดยตั้งโจทย์ปัญหาแล้วหาทางแก้โจทย์หรือปัญหานั้น
    • เรียนโดยทำโครงงาน (Project-based Lerning) ทำเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม เอาความรู้ไปใช้สร้างสรรค์ผลงาน 
    • เรียนโดยสวมบทบาทสมมติ (Role Plays)
    • เรียนโดยสร้างแบบจำลอง (Simulation) สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ หรือแบบจำลองนามธรรม แล้วสร้างวัตถุจัดแสดงเพื่อประยุต์ใช้ความรู้
    •  เรียนโดยการบริการตามด้วยการสะท้อนคิด (Service-Learning with Reflection)
    • การเรียนภาคสนามและภาคคลินิก (Fieldwork and Clinicals) ให้ฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง
  • ความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์การเรียนรู้และวิธีสอน แสดงดังแผนผัง


หนังสือเล่มนี้ เป็นต้นแบบของการถอดบทเรียนให้ได้เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพที่ mini-UKM กำลังทำกัน และจะสนุกมาก ถ้าเราหาอาจารย์ที่เป็น BP แบบนี้ได้จริงๆ  ... ผมเชื่อว่ามีแน่นอน

มาต่อในบันทึกต่อไปครับ 

หมายเลขบันทึก: 650069เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2018 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2018 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท