สดุดีครูแพทย์



 

คำนิยม

หนังสือ โรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือและการผ่าตัด Carpal Tunnel Syndrome and Surgery

 

วิจารณ์ พานิช

..............

 

 

ตำรา โรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ Carpal Tunnel Syndrome เล่มนี้   เป็นตำราที่ครบถ้วนสมบูรณ์ว่าด้วยโรคนี้เล่มที่สามของโลก   และแน่นอนว่า เป็นเล่มแรกของประเทศไทย    

ผมอ่านต้นฉบับที่มีความหนาถึง ๓๙๕ หน้า แบบรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง    เพราะผมไม่ใช่หมอผ่าตัด   และเวลานี้ความเป็นหมอก็แทบไม่เหลือแล้ว    แต่ก็จับได้ว่า  คุณค่าของหนังสือเล่มนี้นอกจากคุณค่าทางวิชาการ ที่มีความครบถ้วนแม่นยำทางวิชาการ  ที่ส่วนสำคัญได้จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนแล้ว    คุณค่าสำคัญยิ่งคือแรงบันดาลใจในวิชาชีพ ที่ต้องการทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น (ซึ่งในที่นี้คือผู้ป่วย) ให้ดีที่สุด   ซึ่งอาจจะเรียกว่า คุณค่าด้านจริยธรรมวิชาชีพ   ที่เชื่อมโยงสู่การวิจัยค้นคว้าหาวิธีการปฏิบัติดูแลผู้ป่วยให้ได้ผลดีที่สุด  ดีกว่าวิธีการเดิมๆ ที่มีผู้พัฒนามาก่อนแล้ว  

แรงบันดาลใจเชิงวิชาการ และแรงบันดาลใจเชิงวิชาชีพ ขับดับให้เกิดการค้นคว้าทดลอง ประสบความสำเร็จเป็น เทคนิคผ่าตัด ‘วงษ์ศิริ’ แบบแผลเล็ก (Wongsiri technique of minimally invasive carpal tunnel release)    อุปกรณ์ผ่าตัด วงษ์ศิริ แบบแผลเล็ก (Wongsiri minimally invasive carpal tunnel surgery system)    การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี augmented reality พัฒนา ซอฟต์แวร์ช่วยสอน บนโทรศัพท์มือถือ    การพัฒนา Wongsiri guidelines for evaluation and treatment planning in CTS   การประเมิน “วงษ์ศิริ” สำหรับการรักษา     การประเมิน “วงษ์ศิริ” สำหรับการวางแผนชนิดของการผ่าตัด    และผลงานพัฒนาอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ในหน้า ๓๗๖   โดยที่เครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้น ได้รับการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อปกป้องสิทธิคนไทยในการเข้าถึงบริการที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวโดยไม่ต้องเสียเงินให้แก่ต่างประเทศ  

หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างผลงานด้าน “วิชาชีพ” (professional) ของศัลยแพทย์ท่านหนึ่ง คือ ผศ. นพ. สุนทร วงษ์ศิริ    ที่ทำงานในวิชาชีพแพทย์ และในฐานะอาจารย์แพทย์อย่างดี    เป็นตัวอย่างแก่นักศึกษา เพื่อนอาจารย์ เพื่อนแพทย์ และคนในวงการวิชาชีพอื่นๆ ได้   โดยนอกจากทำงานปฏิบัติดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว    ยังมุ่งยกระดับมาตรฐานดังกล่าวขึ้นไปโดยการคิดค้นคว้าจากการทำงานนั้นเอง    เกิดเป็นผลงานที่มีคุณค่ามากมายดังระบุข้างต้น

คำว่า “วิชาชีพ” มีความหมายสำคัญ ๓ ประการ คือ  (๑) มีการเรียนรู้ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ  (๒) มีระบบคุณค่าคุณธรรมที่ยึดถือร่วมกัน และร่วมกันปกปักรักษาไม่ให้มีสมาชิกล่วงละเมิด  และ (๓) ร่วมกันพัฒนาความรู้และขีดความสามารถของวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง    อ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมมีความรู้สึกว่า ผศ. นพ. สุนทร วงษ์ศิริ ได้ทำงานในฐานะสมาชิกของวิชาชีพแพทย์ได้ผลสูงยิ่ง น่ายกย่อง 

การเขียนหนังสือ โรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือและการผ่าตัด เล่มนี้ออกเผยแพร่ ก็เป็นการทำหน้าที่ของสมาชิกในวงการวิชาชีพแพทย์  และเป็นการทำหน้าที่อาจารย์แพทย์ที่น่าชื่นชมยิ่ง

ยิ่งน่าชื่นชม เมื่อได้อ่าน คำนำ และ กิตติกรรมประกาศ  และบทสื่อสารต่อเพื่อนแพทย์ ในหน้า ๓๗๗ – ๓๗๘   และหัวข้อ แรงบันดาลใจสำหรับเพื่อนแพทย์ ในหน้า ๓๗๙  ที่สื่อสารอิทธิบาท ๔ แก่ผู้อ่าน    ผมมีความเห็นว่า คนในวงการวิชาชีพใดๆ ต้องช่วยกันทำหน้าที่ให้สติแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพนั้นๆ    ให้มีความมุ่งมั่นและความสุข อยู่กับความดีงามของวิชาชีพนั้น   อย่างที่ ผศ. นพ. สุนทร วงษ์ศิริ ทำให้แก่วิชาชีพแพทย์ ผ่านหนังสือเล่มนี้

หน้าที่ และคุณค่า ของนักวิชาชีพไม่ได้มีเฉพาะด้านเทคนิควิชาชีพเท่านั้น    ยังมีส่วนของการร่วมกันผดุงความดีงามของวงการวิชาชีพนั้นๆ เพื่อการทำประโยชน์ให้แก่สังคม   

เมื่ออ่านต้นฉบับหนังสือไปเรื่อยๆ ผมก็เกิดความคิดว่า หลายส่วนของความรู้ในหนังสือเล่มนี้น่าจะได้รับการเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป    เพราะโรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือนี้ มีแนวโน้มว่าคนที่ใช้แรงงานจะเป็นกันมากถึงร้อยละ ๗.๘ - ๑๕.๒    และคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่กับคีย์บอร์ด วันละนานๆ มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้มากขึ้น      เมื่ออ่านถึงหน้า ๓๗๗ จึงพบว่ามี QR Code ให้เข้าไปชมวิดีทัศน์วิธีการผ่าตัด และวิธีการบริหารข้อมือ iExercise ที่ประชาชนทั่วไปเข้าไปใช้ประโยชน์ได้    ผมจึงขอเสนอให้ทีมงานของอาจารย์หมอสุนทรหาทางสื่อสารสาธารณะ ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้หรือค้นหาความรู้เรื่องโรคนี้ วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรค  และวิธีปฏิบัติตนเพื่อลดอาการเมื่อเป็นโรคแล้วแต่อาการยังไม่รุนแรง  

ผมขอแสดงความยินดี และความชื่นชม ต่อ ผศ. นพ. สุนทร วงษ์ศิริ และทีมงาน  ต่อผลงานที่มีความครบถ้วน ละเอียดประณีต และทรงคุณค่ายิ่ง เล่มนี้    และขอให้กำลังใจให้ทำงานวิชาการพัฒนาความรู้และวิธีการป้องกันและบำบัดโรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือนี้อย่างต่อเนื่อง ตลอดไป

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑

หาดใหญ่  

      

 

หมายเลขบันทึก: 650058เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2018 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2018 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท