ปฐมนิเทศบัณฑิตศึกษาครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี


เรียบเรียงโดยเกษม เขษมพุฒเรืองศรี จากโครงการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ระดับบัณฑิตศึกษาและปริญญาตรีแบบก้าวหน้า (ปริญญาตรีโครงการแววนวัตกร) วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2561 เวลา 8.30-12.00 น ณ ห้องประชุมคุณหญิงวนิดา ธูปะเตมีย์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รศ.ดร. กิติพงค์ มะโน คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเปิดงาน โดยเริ่มต้นชี้ให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ส่งผลให้ไลน์การผลิตได้รับผลกระทบ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีจอทีวีในปัจจุบัน ทำให้โรงงานยกเลิกการผลิตจอทีวีรุ่นเก่าไป ส่งผลให้คนงานในโรงงานที่ทำงานในไลน์การผลิตแบบเก่าต้องตกงานไปด้วย

จึงมีความจำเป็นคนงานที่ตกงานเหล่านั้น ต้องกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยการพัฒนาให้เกิดทักษะต่างๆ ด้วย 3 วิธีการต่อไปนี้ คือ 1) Re-skill จากเทคโนโลยีหนึ่งที่ไม่ทันสมัย ไปสู่อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ทันสมัยขึ้น 2) Up-skill จากทักษะในระดับที่ต่ำกว่า ไปสู่ทักษะในระดับที่สูงขึ้น และ 3) สร้าง Multi-skill คือมีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น

เทคโนโลยีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ เทคโนโลยีการเรียนรู้ในปัจจุบัน ก็ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถนั่งเรียนที่ไหนก็ได้ ตัวอย่างเช่น Udemy มีคอร์สให้ผู้สนใจร่วมเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็น MOOC (Massive Open Online Courses) ผู้เรียนสามารถคลิกเข้าไปเรียนได้ฟรี แต่ถ้าเมื่อใดที่ต้องการใบรับรอง หรือ Certificate ก็จะต้องจ่ายเงินเพื่อสอบให้ได้ใบรับรอง

นอกจากนี้ ก็ยังสามารถสะสมใบรับรอง เพื่อรับ Degree หรือปริญญาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้อีกด้วย

ทักษะที่จำเป็นของนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา
ผู้เรียนปัจจุบันในระดับบัณฑิตศึกษา จำเป็นต้องมีทักษะ 4 C's ที่สำคัญ ต่อไปนี้คือ 1) Critical Thinking ทักษะการคิดวิเคราะห์-สังเคราะห์ 2) Communication ทักษะการสื่อสาร การนำเสนอผลงานสู่สาธารณะ 3) Collaborative ทักษะการร่วมมือ และ 4) Creativity ทักษะการคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ

การเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา
รศ.ดร. กิติพงค์ ให้แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาว่า เปรียบเสมือนว่าเราคือจุดเล็กๆ ที่อยู่ในวงกลม

วงกลมที่ล้อมรอบเราอยู่ คือองค์ความรู้ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เมื่อเราโตขึ้น องค์ความรู้รอบๆ ตัวเราก็ขยายตัวใหญ่ขึ้น ตามการสะสมเพิ่มพูนผ่านการเวลาและชั้นเรียนของเรา

เมื่อผู้เรียนผ่านการเรียนในระดับปริญญาตรีแล้ว ผู้เรียนก็ยังไปไม่ถึงขอบของความรู้ แต่ผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จะมีความรู้ที่เฉพาะทางมากขึ้น

ผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาโท วงกลมของผู้ศึกษาก็ยังคงขยายตัวต่อไป แต่ก็ยังไม่สามารถไปแตะที่ขอบขององค์ความรู้ ผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาโท จะยังไม่ได้องค์ความรู้ใหม่ เพียงแต่เป็นการแค่ Up-skill เท่านั้น

โดยที่ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังการเรียนในระดับปริญญาโท คือการหาความรู้ + บูรณาการ เปลี่ยนวิธีการ และเปลี่ยน Material

เมื่อผู้เรียนเข้าสู่การศึกษาในระดับปริญญาเอก ผู้เรียนจะเริ่มแตะที่ขอบขององค์ความรู้ ผ่านการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ที่มากพอ ก็จะทราบว่าขอบเขตขององค์ความรู้ในเรื่องที่ศึกษาอยู่นั้น สิ้นสุดตรงไหน 

หน้าที่ของผู้เรียนในระดับปริญญาเอก คือการดันขอบขององค์ความรู้ให้ขยายออกไป สร้างความรู้ใหม่ๆ คิดสิ่งใหม่ๆ

นอกจากนี้ ยังต้องเผยแพร่ได้ สื่อสารได้ และต้องมีการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น

ทั้งหมด ผ่านกระบวนการวางแผน และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้

เก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทาง
นอกจากการศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ผู้เรียนจะต้องขยายขอบเขตขององค์ความรู้ ผู้เรียนก็ยังจำเป็นจะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ระหว่างทางไปด้วย ที่จำเป็นก็คือ 1) Soft Skill และ 2) Hard Skill

ท้ายที่สุด รศ.ดร. กิติพงค์ ทิ้งท้ายให้ผู้ศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาทุกคนมีความเชื่อมั่นใน 2 สิ่งด้วยกันคือ 1) เชื่อมั่นในหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน ว่าจะช่วยให้ตัวของผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ และ 2) ที่สำคัญคือ ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ คือเรียนจบได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน

หมายเลขบันทึก: 649356เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท