เก็บตกวิทยากร (51) : ละลายพฤติกรรม : หลอมทัศนคติ : สร้างทีม สร้างทักษะผู้นำ (ฐานความรู้)


ผมมีความเชื่อว่ากิจกรรมมีพลัง (พลานุภาพ) อย่างมหาศาลในการหลอมรวมคนให้รักและผูกพันกัน จากโกรธเกลียดกลับกลายมาเป็นรัก จากไม่คุ้นเคยก็คุ้นเคย ผมมีความเชื่อว่ากิจกรรมมีพลังมหาศาลในการบ่อมเพาะความเป็นปัญญาปฏิบัติ เพราะเน้นการลงมือทำจริง เน้นการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง

ผมและทีมงานตัดสินใจใช้ “กิจกรรมฐาน : ฐานความรู้”  มาใช้เป็นกระบวนการเรียนรู้ในเวทีสัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2561  ณ  วารี วัลเลย์รีสอร์ท อำบลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  โดยผนึกกำลังร่วมระหว่างกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต กลุ่มงานกีฬาและนันทนาการ รวมถึงนิสิตฝึกงานฯ

เรามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้  เป็นต้นว่า  ใช้ฐานการเรียนรู้ในแต่ละฐานเป็นการละลายพฤติกรรรมในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา”  โดยหลีกหลบไปจากการละลายพฤติกรรมทั่วไปที่เน้น “ตีกลอง ร้อง เต้น”  รวมถึงการสร้างสถานการณ์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้นำนิสิตมีทักษะในการการเรียนรู้และมีทักษะในความเป็นผู้นำ-ผู้ตามที่ดี ฯลฯ

เบื้องต้น ผมมอบมายให้ทีมงานไปศึกษาค้นคว้าล่วงหน้าด้วยตนเอง  ตลอดจนการให้ทีมงานได้ตัดสินใจเองว่าจะแบ่งเป็นกี่ฐาน-กี่กลุ่ม  และจะใช้ฐานอะไรบ้าง

ผมยืนยันมั่นเหมาะว่าผมให้พวกเขาไปศึกษาค้นคว้ามาด้วยตนเองและตัดสินใจด้วยตนเอง  เพียงแต่ให้แจ้งผมว่ามีฐานอะไรบ้างและแต่ละฐานมีนัยสำคัญของการเรียนรู้อย่างไร –  พร้อมๆ กับการย้ำว่าขอให้แต่ละฐานมีความหนักแน่นในเรื่องแนวคิดและกระบวนการ  เพราะต้องเข้าใจว่านิสิตผ่านการเรียนรู้ในบรรยากาศเช่นนี้มามากแล้ว  สิ่งที่จะทำให้แตกต่างกว่าที่ผ่านมาก็คือ “บันเทิงเริงปัญญา”  ในแบบมืออาชีพนั่นเอง

นั่นคือสิ่งที่ผมฝากและเน้นย้ำไปกับทีมงาน  -  ซึ่งฐานที่ทีมงานกำหนดขึ้นมาเป็นโจทย์การเรียนรู้ในครั้งนี้ ประกอบด้วยฐาน 5 ฐาน  นั่นคือ 

  • (1)  ตักตวง 
  • (2) ใยแมงมุม 
  • (3) ข้ามทะเล  
  • (4) จุดศูนย์กลาง  
  • (5) รถไฟสายลูกโป่ง

เข้าฐาน-ออกฐาน สู่การโส่เหล่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ด้วยความที่ผมเป็นผม  ทุกครั้งที่ออกแบบกระบวนการการเรียนรู้  ผมจะค่อยๆ แจ้งคำสั่งหรือกระบวนการทีละอย่าง  ไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่แจ้งว่ากระบวนการที่ว่านั้นจะเริ่มต้นและจบลงตอนไหน

ครั้งนี้ก็เหมือนกัน  ผมปล่อยให้นิสิตแต่ละกลุ่มเข้าฐานไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ โดยไม่บอกว่าเสร็จจากการเข้าฐานแล้วต้องทำอะไร 

เหตุผลที่ผมไม่แจ้ง  ไม่ใช่เพราะคิดอะไรไม่ออก  แต่เจตนาชัดเจนว่าอยากให้นิสิตมีสมาธิในการเรียนรู้ร่วมกัน  มีสมาธิในการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงๆ อย่างเป็นทีม  โดยไม่พะวงว่าต้องจดบันทึกอะไร  สังเกตอะไร  จัดเก็บอะไรเพื่อนำมาสู่การสะท้อน หรือนำเสนอผลการเรียนรู้

เรียกได้ว่าปล่อยเรียนรู้ตามสถานการณ์จริงตรงนั้นเป็นหลัก  ให้เรียนรู้โดยไม่กะเกณฑ์อะไรมาก  เน้นย้ำเพียงให้เคารพกติกาของแต่ละฐานเป็นพอ  รวมถึงการฝากเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” จัดการเรียนรู้ประจำแต่ละฐานมิให้เฉลยวัตถุประสงค์  หรือผลการเรียนรู้ใดๆ ให้นิสิตได้รับทราบ   เพราะผมต้องการให้พวกเขาเรียนรู้และขบคิดถึงมรรคผลการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสำคัญ   แต่ฝากให้สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนิสิตในแต่ละกลุ่ม  ทั้งในเชิงบุคคลและภาพรวมของกลุ่ม -

ครั้นเสร็จจากการ “เข้าฐาน”  นิสิตทุกคนก็กลับเข้าห้องประชุม  ผมสังเกตว่าแต่ละคนมีความตื่นตัวสดชื่นมากกว่าจะรู้สึกเหนื่อยล้า  หลายต่อหลายคนจับกลุ่มพูดคุยโสเหล่ถึงบรรยากาศที่สัมผัสมาเมื่อครู่  รวมถึงการหยอกล้อถึงพฤติกรรมของเพื่อนที่เกิดขึ้นในแต่ละฐาน  -

พอกลับมาพร้อมหน้าและผ่อนพักได้พอสมควร  ผมก็ให้แต่ละกลุ่มได้ล้อมวงโสเหล่สะท้อนถึงเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ในแต่ละฐาน  โดยการสังเคราะห์เป็นรายฐานประมาณว่า

  • ได้เรียนรู้อะไรจากแต่ละฐานบ้าง 
  • เผชิญกับปัญหาอย่างไร  และแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไร
  • โดยรวมแล้ว ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมฐาน (ฐานความรู้) 

 

เสียงจากนิสิต  มีความหมายใดในฐานการเรียนรู้

ผมให้นิสิตล้อมวงโสเหล่ในประเด็นข้างต้นเป็นกลุ่มๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ (พี่เลี้ยง)  ขณะที่ผมเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้อยู่ห่างๆ  ซึ่งผมให้เสรีต่อทุกกลุ่มว่าจะสนทนาในห้องประชุม  หรือจะปลีกวิเวกออกไปนอกห้องประชุมก็ไม่ว่า  แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องกลับมาตามที่นัดหมาย

ครั้นกลับมาถึงแล้ว  ผมก็ประเมินงานในภาพรวม  และมองว่านิสิตยังต้องใช้เวลาอีกสักนิดในการจัดระบบระเบียบข้อมูล  ผมจึงขยายเวลาให้ทุกกลุ่มได้ทำงานเต็มที่ 

จริงๆ ผมก็ต้องการประมาณนี้อยู่แล้ว  ไม่ใช่ยืดหยุ่นแบบไม่มีขอบเขต  ผมเพียงอยากให้นิสิตได้ฝึกการทำงานแข่งกับเวลา  ฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเป็นทีมร่วมกันเสียมากกว่า  เพราะบางทีผมก็เน้นกระบวนการ  บางทีก็เน้นคู่ทั้งที่เป็นกระบวนการและผลลัพธ์

และนี่คือส่วนหนึ่งที่นิสิตแต่ละกลุ่มได้สะท้อนออกมา  ทั้งการบอกเล่าผ่านเวทีและเอกสารอันเป็นผังมโนทัศน์

  • ได้เรียนรู้การเคารพกติกาของแต่ละกิจกรรม  ฝึกความซื่อสัตย์ต่อกฎกติกาของฐาน
  • ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม  เปิดใจรับฟัง และยอมรับความคิดเห็นของคนในกลุ่ม
  • ได้ฝึกการวางแผนการปฏิบัติการร่วมกันอย่างเป็นทีม  และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน
  • ได้ฝึกสมาธิ ฝึกการแก้ปัญหาด้วยสมาธิและปัญญา
  • ได้ฝึกความสามัคคี
  • ได้ละลายพฤติกรรมเข้าหากันโดยอัตโนมัติ
  • ได้รู้จักตัวตนความเป็นธรรมชาติของเพื่อนแต่ละคนในกลุ่ม
  • ได้ฝึกความเสียสละ จิตอาสา จิตสาธารณะ
  • ได้ฝึกการสื่อสาร  ทั้งการกำกับดูแลงาน บริหารงานและการสื่อสารทั่วไป  
  • ได้เรียนรู้จากการสังเกต วิเคราะห์  และการฝึกการตัดสินใจ
  • ได้เรียนรู้จากคามผิดพลาด
  • ฯลฯ

 

ท้ายที่สุด  :  พลังของกิจกรรม  พลังของการลงมือทำอย่างเป็นทีม

เดิมผมต้้งใจจะให้เจ้าหน้าที่ (พี่เลี้ยง) แต่ละกลุ่มออกเฉลยว่า  "ในแต่ละฐานมุ่งบ่มเพาะเรื่องอะไรบ้าง"

แต่พอได้เห็นและได้ฟังนิสิตสะท้อนการเรียนรู้ดังข้างต้น ผมก็เปลี่ยนใจไม่ให้เจ้าหน้าที่ได้สะท้อน  หรือเฉลยโจทย์ของแต่ละฐาน

เหตุผลที่ผมระงับการเฉลย   ไม่มีอะไรมากมาย  หรือไม่มีอะไรในกอไผ่  

แต่ผมมองว่าสิ่งที่นิสิตได้สะท้อนนั้น “ดีงาม-งดงาม”  แล้ว  ทุกอย่างครอบคลุมในเรื่อง “ทัศนคติ” หรือแม้แต่ soft skills  รวมถึงคุณลักษณะ “ผู้นำและผู้ตามที่ดี” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

อีกอย่างก็คือผมตัดสินใจที่จะไม่เฉลยเพราะอยากให้มรรคผลเหล่านั้นนิ่งสงบเป็นตะกอน  หรือผลึกความคิดต่อไป   เพื่อให้นิสิตได้ค้นหาวิธีในการหยิบจับมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ที่เหลือ  ทั้งในเชิงปัจเจกบุคคลและทีม  ซึ่งผมและทีมงานออกแบบไว้อีกหลายกระบวนการ

กระนั้นในท้ายที่สุดผมก็กล่าวในทำนองว่า

  • ผมมีความเชื่อว่ากิจกรรมมีพลัง (พลานุภาพ) อย่างมหาศาลในการหลอมรวมคนให้รักและผูกพันกัน  จากโกรธเกลียดกลับกลายมาเป็นรัก จากไม่คุ้นเคยก็คุ้นเคย 
  • ผมมีความเชื่อว่ากิจกรรมมีพลังมหาศาลในการบ่อมเพาะความเป็นปัญญาปฏิบัติ  เพราะเน้นการลงมือทำจริง  เน้นการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง 
  • ผมเชื่อว่ากิจกรรมจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของแต่ละคน  และช่วยให้เราพอจะดูออกว่าเราต้องบริหารคนบริหารงานอย่างไร

ครับ – นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผมเกริ่นไว้ในช่วงท้ายของกิจกรรมนี้ 

ส่วนจะบรรลุวัตถุประสงค์การจัดการเรียนรู้ผ่านฐานเหล่านี้หรือไม่นั้น  โดยส่วนตัวแล้ว  ผมไม่กังวล ครุ่นเครียดเลยแม้แต่น้อย  เพราะเท่าที่สังเกตและสัมผัสได้  ผมว่า "ได้เกินกว่าที่คาดไว้"  แจ่มชัดทั้งในแง่ของการละลายพฤติกรรม และชัดเจนในเรื่องทัศนคติและทักษะอันสำคัญในวิถีของกิจกรรมนิสิตและผู้นำนิสิต



หายเหตุ

เขียน : จันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561
ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 649114เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2018 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2018 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท