คำแนะนำของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เรื่องกระทรวงใหม่


ต้องเน้นบริหารฟังค์ชั่นหรือพันธกิจ และบริหารเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ อย่าหลงเน้นบริหารโครงสร้าง


 ทำอย่างไร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม 

จะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต

 

 

 โดย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

 

 

.

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

คือเครื่องมือยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติ

 

ประเทศไทยติดอยู่ในสภาวะวิกฤตเรื้อรัง หาทางออกไม่ได้ การตั้งกระทรวงใหม่ คือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ต้องเป็นเครื่องมือของความสำเร็จ ไม่ใช่ล้มเหลวอีกเช่นเคย ต้องมีบทเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ การบริหารโครงสร้างแบบระบบราชการจะทำให้ล้มเหลว เพราะเป็นโครงสร้างแห่งการควบคุม ไม่ใช่เพื่อความงอกงาม และนวัตกรรม

ต้องบริหารฟังค์ชั่นหรือพันธกิจ และบริหารเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์

       แก่นแกนหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม คือการสร้างความเข้มแข็งทางปัญญา

ในสมัยโลกาภิวัตน์ ถ้าประเทศอ่อนแอทางปัญญาต้องตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแรงกว่า เช่น ถ้าต่างชาติเป็นเจ้าของธนาคาร เป็นเจ้าของโรงแรม เป็นเจ้าของที่ดินและกิจการต่างๆ เขาย่อมตักตวงผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไป โยนเศษเนื้อเศษกระดูกให้เรากิน ติดกับอยู่ในความยากจนเหลื่อมล้ำ จิกตีกันเหมือนไก่อยู่ในเข่ง

เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งทางปัญญาของชาติจึงสำคัญยิ่ง และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมคือเครื่องมือยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติ

 

.

สำรวจทรัพยากรคน(Human Mapping)

 

เครื่องมือของนักยุทธศาสตร์ คือ Mapping

ต้องสำรวจทรัพยากรทั้งหมดที่จะใช้ในยุทธศาสตร์ทางปัญญา ซึ่งต้องไม่มองแต่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่มีอย่างมโหฬารและหลากหลายในที่ต่างๆ เช่น ในชุมชนท้องถิ่น ในภาคธุรกิจเอกชน ในระบบราชการ ในกองทัพ ในภาคประชาสังคม ในองค์กรทางศาสนา ในองค์กรทางการสื่อสาร ฯลฯ ควรจะทำการสำรวจคนไทยทั่วประเทศว่าใครเก่งเรื่องอะไรบ้าง และทำฐานข้อมูลอีเล็คทรอนิค ซึ่งสามารถเรียกดูได้ทันที ฐานข้อมูลของคนไทยทั้งประเทศจะมีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้คนไทยทุกคนภูมิใจในตนเองที่ความถนัดความรู้ความสามารถของตนเป็นที่รับรู้ของคนทั้งชาติ

ถ้าเราเคารพแต่ความรู้ในตำราหรือปริญญา คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีเกียรติ คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติประเทศจะเข้มแข็งได้อย่างไร

เมื่อข้อมูลความเก่ง ความถนัด ความชำนาญของแต่ละคนไปปรากฏในฐานข้อมูลของชาติ แต่ละคนก็อยากทำความดีให้ปรากฏแก่สาธารณะมากขึ้นๆ

ข้อมูลความเก่งของคนไทยทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้มากมาย ใครอยากเรียนรู้อะไรก็ไปเรียนกับคนที่เก่งในเรื่องนั้น การได้มีโอกาสเรียนกับคนที่เก่งจะสนุก และสร้างคนไทยที่เก่งๆได้มาก ในระบบการศึกษาที่เป็นทางการในปัจจุบัน ผู้เรียนโดยมากเรียนกับคนที่ทำไม่เป็น ไม่สนุก และสร้างคนไม่เก่งขึ้นมาเต็มประเทศ

ข้อมูลความเก่งของคนไทยยังมีประโยชน์อย่างมากทางเศรษฐกิจ เช่น ที่ใดมีคนทำอาหารหรือขนมอร่อย หรือทำสินค้าหัตถกรรมที่สวยงามผู้คนก็อยากไปท่องเที่ยว หรือทางยุทธศาสตร์อาจส่งเสริมให้คนเก่งในเรื่องเดียวกันรวมตัวกันเป็นสถาบันการผลิต หรือสถาบันการพัฒนาคน

ฉะนั้นถ้าทำHuman Mapping ของคนไทยทั้งประเทศได้ จะเป็นเครื่องมือ ของยุทธศาสตร์ทางปัญญา

 

.

๑๐จุดยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติ

 

ที่การศึกษาของเราอ่อนแอ เพราะเป็นการท่องวิชาไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะทำเรื่องอะไรที่สำคัญให้สำเร็จ ยุทธศาสตร์ทางปัญญาต้องมีจุดยุทธศาสตร์ จุดยุทธศาสตร์ในการรบหมายถึง ถ้าทำตรงนี้แล้วจะทำให้ชนะสงคราม

ขอเสนอ ๑๐ จุดยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติ ดังนี้

  • สำนักคิด(Think Tank) การคิดต้องมาก่อนการวิจัย เพราะพลังความคิดนั้นกว้างไกลกว่าการวิจัยซึ่งบางทีก็กระจัดกระจายสะเปะสะปะไม่มีพลัง มหาวิทยาลัยมีแต่นักสอนและนักวิจัย แต่ไม่มีนักคิด จึงไม่มีพลังทางปัญญาเท่าที่ควร
  • ความเข้มแข็งของฐานรากของประเทศถ้าฐานของประเทศเข้มแข็งจะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง และลดความเหลื่อมล้ำ ฐานของประเทศคือชุมชนท้องถิ่น ทั้ง ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน ๘,๐๐๐ ตำบล ๗๖ จังหวัด ต้องทุ่มกำลังทั้งหมดและการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ให้ทุกพื้นที่มีความเข้มแข็งทางปัญญา สามารถจัดการการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งเศรษฐกิจ- จิตใจ – สังคม-สิ่งแวดล้อม - วัฒนธรรม - สุขภาพ - การศึกษา - ประชาธิปไตย ความเข้มแข็งทางปัญญาของพื้นที่ในการพัฒนาอย่างบูรณาการ จะทำให้ประเทศมีปรกติสุข และยั่งยืน
  • เศรษฐกิจมหภาคแข็งแรงและหนุนช่วยฐานรากของประเทศถ้าเศรษฐกิจมหภาคของเราอ่อนแอเศรษฐกิจต่างชาติก็จะรุกคืบเข้ามาทำให้เราตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ และยากจนตลอดไป เพราะฉะนั้นต้องทุ่มเทช่วยให้เศรษฐกิจมหภาคแข็งแรง โดยต้องเชื่อมโยงให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งด้วย ความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจชุมชนอย่างเกื้อกูลกัน จะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าบนพื้นฐานที่สมดุล
  • การวิจัยยุทธศาสตร์ชาติสถานการณ์ของโลกและของประเทศซับซ้อนและแปรผันตลอดเวลา เราต้องมีการวิจัยให้รู้สถานการณ์ความเป็นจริงทุกด้าน เพื่อวาง position และ ทิศทางของประเทศให้เหมาะสมกระทรวงใหม่ควรเชื่อมโยงการวิจัยยุทธศาสตร์ทั้งของกองทัพและพลเรือน เป็นการวิจัยยุทธศาสตร์ชาติที่เข้มแข็ง ทันกาล
  • การสังเคราะห์นโยบายสาธารณะนโยบายสาธารณะมีผลกระทบต่อคนทั้งชาติทั้งทางบวกหรือทางลบ การสังเคราะห์นโยบายสาธารณะที่ดีเป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะต้องการความสุจริตใจ และสมรรถนะทางปัญญาอย่างสูง มหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่นี้แต่ก็ไม่ สสส.เคยสนับสนุนแผนงานวิจัยนโยบายสาธารณะ ใช้งบประมาณไปหลายร้อยล้านบาท เป็นเวลา ๑๐ ปีโดยแบ่งเป็น ๒ ช่วงๆละ ๕ ปี มีผู้จัดการแผนงานที่เป็นคนเก่ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมหาวิทยาลัยไม่มีฉันทะและสมรรถนะในเรื่องนี้
  • ปัญญาการจัดการเรื่องสำคัญของชาติให้สำเร็จประเทศไทยเป็นรัฐราชการ ระบบราชการเน้นการควบคุม แต่สังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยปัญหาซับซ้อนและยาก ที่รัฐราชการไม่สามารถบริหารจัดการไปสู่ความสำเร็จ ปัญหาจึงสะสมท่วมทับ ยกตัวอย่างปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่คนไทยตายปีละประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน และบาดเจ็บอีกเกือบล้านคน ซึ่งถือว่าสูงสุดในโลก แต่แก้ไขอะไรไม่ได้เลย การบริหารจัดการที่ไม่สัมฤทธิผล ขาดสัมฤทธิศาสตร์ ทำให้คนไทยและประเทศไทยต้องสูญเสียอย่างมหาศาล
  • สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และการเรียนรู้ที่ดีของคนทั้งมวลคนไทยในประเทศไทยขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้ เพราะชั่วกาลนานในอดีตเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ และมีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยกว่าประเทศอื่นๆ จึงตั้งอยู่ในความสบายและความเฉื่อยทางปัญญา แต่บัดนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเป็นอย่างใหม่แล้ว วัฒนธรรมเก่าเช่นนี้ไม่เข้ากันและก่อปัญหามาก ต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และการเรียนรู้ที่ดีสำหรับคนทั้งมวล นี้ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางปัญญาที่สำคัญยิ่งของชาติอย่างหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยขาดความสนใจและไม่ได้ทำอะไรจริงจัง
  • สร้างคนไทยที่มีคุณภาพสูงเรื่องความสำคัญของคุณภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว แม้มีการพูดกันมานาน แต่การทำงานตามระบบราชการก็ไม่สามารถสร้างคุณภาพเด็ก เยาวชน ที่มีการพูดกันทางวิชาการและทางนโยบายต้องการการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ระบบการศึกษาทั้งหมดก็ไม่สามารถสร้างคุณภาพคนไทยได้มากพอและเร็วพอ นอกจากคุณภาพสูงโดยทั่วไปแล้ว ประเทศต้องมีคนเก่งหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆทุกเรื่อง ประเทศไทยใช้งบประมาณการศึกษาสูงมาก ประมาณร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณแผ่นดิน คือ ปีละ ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ระบบการศึกษาก็ไม่สามารถสร้างคนไทยคุณภาพสูงและคนไทยเก่งในเรื่องต่างๆ ในปัจจุบันภาคธุรกิจมีคนเก่งๆมากที่สุด ในการบริหารยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ ต้องเปิดพื้นทื่ทางปัญญาและพื้นที่ทางสังคมอย่างกว้างขวาง และนำนักธุรกิจที่เชี่ยวชาญ การบริหารเชิงยุทธศาสตร์เข้ามาช่วย
  • สร้างความเข้มแข็งวิทยาศาสตร์พื้นฐานประเทศไทยทำงานทางเทคโนโลยียากๆไม่ได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ซึ่งราคาแพงมากทำให้ขาดดุลทางเทคโนโลยีเป็นแสนล้านต่อปี ทั้งนี้เพราะความอ่อนแอทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่นฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานได้ เพราะอาจารย์ทางวิทยาศาสตร์ ต้องรับภาระหนักในการสอนวิชาเหล่านี้ให้แก่ทุกคณะและสถาบันที่ต้องการเรียนวิชาเหล่านี้“ต้องสอนประดุจโรงเรียนประชาบาล”(ตามคำของ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมต้องสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ให้นักฟิสิกส์ และนักคณิตศาสตร์ที่เก่งๆ สามารถทำการวิจัยและสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพสูง ให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
  • ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อพัฒนาประเทศไทยการสื่อสารถ้าทำได้ดีและทั่วถึงจะเป็นเครื่องมือยกระดับทางปัญญาของคนทั้งประเทศโดยรวดเร็ว เรามีทั้งเทคโนโลยี ช่องทาง และเงิน แต่ขาดคนคิดและบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ในยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติ จึงควรมียุทธศาสตร์การสื่อสารด้วย ซึ่งคิดถึงการสื่อทุกประเภท คือ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และโดยศิลปะทุกแขนง ซึ่งรวมถึงวรรณกรรม โคลงฉันท์กาพย์กลอน ละคร และภาพยนตร์ เช่น ถ้ามีการผลิตภาพยนตร์ดีๆ และฉายให้ดูกันทุกตำบล จะมีผลกระทบถึงคนทั้งประเทศเป็นต้น

    กระทรวงใหม่ต้องรวบรวมนักคิดที่เก่งที่สุดจำนวนหนึ่งมาเป็นสำนักคิดที่คิดเรื่องที่สำคัญๆและกระตุ้นให้เกิดสำนักคิดในมหาวิทยาลัยต่างๆ และที่เป็นอิสระ ให้ประเทศมีพลังทางความคิด

       กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ต้องบริหารเชิงยุทธศาสตร์ให้มีการสังเคราะห์นโยบายสาธารณะที่ดีให้ได้ เพราะกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดี คือ การยกระดับภูมิปัญญาชั้นยอดของสังคม อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดf

 

กระทรวงใหม่ในฐานะบริหารยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติ ต้องเป็นที่รวมของนักบริหารเชิงยุทธศาสตร์ และไปช่วยบริหารสัมฤทธิศาสตร์ให้เรื่องสำคัญๆของชาติเป็นผลสำเร็จ

กพร.เคยทุ่มเทไปมากในการสร้างนักบริหารยุทธศาสตร์ แต่เมื่อไปอยู่ในกระทรวงต่างๆ ก็ไม่สามารถฝ่าวัฒนธรรมองค์กร และ mindset เดิมได้ ฉะนั้นกระทรวงใหม่ต้องเป็นที่อยู่ของนักบริหารยุทธศาสตร์ แล้วส่งไปช่วยบริหารสัมฤทธิ์ศาสตร์ในเรื่องต่างๆ

 

 

     ลองทบทวนดูว่าถ้าทำทั้ง ๑๐ จุดยุทธศาสตร์ทางปัญญา ดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทยจะมีความเข้มแข็งทางปัญญาและผลสำเร็จสักเพียงใด

     ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้ากระทรวงใหม่บริหารแบบราชการเหมือนกระทรวงอื่นๆ

 

.

กระทรวงที่บริหารเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์

 

การที่ประเทศพัฒนาได้ยากเพราะการบริหารแบบราชการที่เน้นการควบคุมได้สร้างวัฒนธรรมองค์กร และ mindsetให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเหนียวแน่นประดุจเป็นดีเอ็นเอของรัฐไทย ได้ถามกันมากว่าจะเปลี่ยน mindsetกันได้อย่างไร แน่นอนว่าเปลี่ยนไม่ได้ด้วยการสั่งสอน หรือแม้การเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ mindset ก็ยังไม่เปลี่ยนเพราะสื่งแวดล้อมยังเหมือนเคย

สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกำหนดวัฒนธรรม ดังที่กลุ่มคนในภูมิประเทศต่างๆมีวัฒนธรรมต่างกัน ที่เรียกว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม

การบริหารเชิงนโยบาย และยุทธศาสตร์ที่มีการใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือ เป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรม และmindset (mindset เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมธรรม) นโยบายต้องมีงบประมาณที่ไปด้วยกันเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป็นแต่วาทกรรมและคำพูดทางวิชาการ แต่งบประมาณเป็นอย่างอื่น อย่างนั้นไม่เรียกว่านโยบาย เป็น wishfulthinking

เพราะฉะนั้นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ที่จะเน้นการทำงานทางนโยบายและยุทธศาสตร์ต้องมีการงบประมาณเป็นเครื่องมือด้วย

ต้องมีส่วนงานที่เป็นอิสระซึ่งสามารถแสวงหานักบริหารยุทธศาสตร์เก่งๆจำนวนมาก เพื่อบริหารยุทธศาสตร์ทางปัญญา รวมถึงสามารถไปช่วยงานเชิงกลยุทธศาสตร์ที่กระทรวงต่างๆ หรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการทำเรื่องสำคัญๆให้สำเร็จ

โดยที่การบริหารเชิงยุทธศาสตร์จำเป็นต้องระดมคน วิชาการ งบประมาณ และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้ก้าวข้ามอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จ งานยุทธศาสตร์ทางปัญญาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ต้องการความเข้าใจและสนับสนุนโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี และแท้ที่จริงยุทธศาสตร์ทางปัญญาแห่งชาติก็เป็นเครื่องมือให้นายกรัฐมนตรีประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ

โดยที่กลไกของรัฐไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือที่เรียกว่าองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เพราะคุ้นเคยกับการควบคุม จึงมักไม่สบายใจและเข้ามาสอดแทรกหรือแม้ทำลาย ความเข้าใจและเห็นคุณค่าโดยสังคมจะทำให้การบริหารเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เติบโตขึ้นได้ในประเทศไทย และพาชาติออกจากวิกฤต

---------------------------------------------------


หมายเลขบันทึก: 648915เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2018 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2018 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท