"การจัดการศึกษาสู่ยุคประเทศไทย ๔.๐" ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา (การบรรยายที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยฟัง)


วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ศาสตราจารย์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา มาบรรยายในเวทีประชุมวิชาการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย ในหัวเรื่อง "การจัดการเรียนรู้มุ่งสู่ประเทศไทย ๔.๐"  ถือเป็นการบรรยายพิเศษครั้งหนึ่งที่ดีที่สุดที่ผมเคยฟัง  รู้สึกว่า ตนเองได้เข้าใจในสิ่งที่ตนเองคิดว่าเข้าใจแล้ว เปิดกะลาของกบที่มากด้วยอัตตา จึงเกิดความตั้งใจแน่วแน่ว่า จะนำมาบันทึกแบ่งปันท่าน "ฟัง" และ "อ่าน" ....  ซึ่งท่านได้กล่าวเชิญให้นำสไลด์ของท่านไป "ย่อย" ศึกษาได้ตามปรารถนา


  •  พิธีกรแนะนำท่านโดยย่อเกี่ยวกับเกียรติประวัติของท่าน (เชิญคลิกที่นี่)

  • ขณะนี้เราได้ผ่านยุคของการศึกษาแบบให้ความรู้ ถ่ายทอดความรู้ หรือ Informative Education  มาแล้ว และเข้าสู่ยุคการศึกษาเพื่อการสร้างคนในวิชาชีพ หรือ Formative Education ขยายตัวจากวิชาชีพไปสู่สิ่งต่างๆ เกิดเป็นสารสนเทศด้านต่างๆ 
  • ในยุคของ Formative Education รายวิชาศึกษาทั่วไป ดูเหมือนจะเป็น "ติ่ง" ติดอยู่กับการศึกษาวิชาชีพทั้งหลาย ได้รับความสนใจให้ความสำคัญเฉพาะคนที่สนใจ แต่โดยรวมแล้ว มักถูกบังด้วยการศึกษาวิชาชีพ 
  • ขณะนี้เรากำลังเปลี่ยนเข้าสู่ Transformative Education ที่การศึกษาคือเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงแบบเปลียนรูปไปจากเดิม การศึกษาทั่วไปคืออะไรในการศึกษายุคนี้ คือสิ่งที่ต้องพิจารณากัน  

  • มีการ Transformation เกิดขึ้นหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมหาศาลของความรู้ อาจเรียกว่า Knowledge Explosion  ปริมาณองค์ความรู้เพิ่มขึ้นแบบฟังก์ชันเพิ่ม (เอ็กซโปเนนเทียล) ดังภาพ ... ในช่วง ๕ ปีหลัง ความรู้เพิ่มขึ้นมากกว่า ๒๐ ปี หรือ ๒,๐๐๐ ปี ที่ผ่านมา แบบชนิดเทียบกันไม่ได้ 

  • ความรู้เกิดขึ้นใหม่เร็ว มันเกิดขึ้นและสะสมเพิ่มพูนขึ้นบนความรู้เดิม แต่อีกด้านหนึ่ง ความรู้นั้นเปลี่ยนไปเหมือนมีชีวิต มีเกิดขึ้น ใช้งาน และดับไป 
  • ตัวอย่างเช่น นิสิตที่เรียนจบแพทย์หากหยุดเรียนรู้เพิ่ม สิ่งที่เขารู้จะใช้ไม่ได้ภายใน ๕ ปี หรือในยุคนี้อาจเพียงแค่ ๓ ปี   

  • ความรู้ในยุค Formative Education เน้นความรู้ที่มีการพิสูจน์ชัดเจน (Explicit Knowledge) แล้วให้ผู้เรียนนำไปทดลองใช้ให้เกิดความรู้ที่ไม่ได้พิสูจน์ชัดเจน ที่หลายคนเรียกว่า ความรู้ฝังลึกในตัวคน (Tacit Knowledge)  
  • ในยุค Transformative Education นี้  ความรู้ไม่เพียงเกิดจากเอารู้เดิมมาทดลองใช้ แต่เกิดขึ้นเองจากการลงมือปฏิบัติ คือเกิดจาก Tacit knowledge และกลายไปเป็นแบบ Explicit Knowledge ต่อไป  เกิดเป็นโมดูลาแห่งความรู้ ความรู้เกิดจากความรู้  ... ท่านแนะนำให้ไปศึกษาต่อเองในหนังสือ "สังคมแห่งความรู้ยุคที่ ๒" ที่ท่านเขียนขึ้น 

  • ความรู้ใหม่เกิดขึ้นจากการศึกษาว่า ความรู้เดิมนั้นใช้อย่างไร เหมาะสมอย่างไร มีประสิทธิภาพอย่างไร ความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้มีความรู้เท่านั้้น แต่เกิดขึ้นกับทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด ฯลฯ มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวเข้าไปสู่สังคมแห่งความรู้ในยุคที่ ๒  (จะหาอ่านได้ที่ไหนหนอ)
  • ในยุค Transformative Education ความหมายของคำว่า การจัดความรู้ (Knowledge Management, KM) นั้นเปลี่ยนไป  KM กลายเป็นการ "สุมหัว" ของคนต่างๆ กัน แล้วเกิดความรู้ใหม่หรือทฤษฎีใหม่ขึ้น ไม่ใช่ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว 

  • การเปลี่ยนปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงปัญญา หรือ Cognetive Transformation  จากเดิมที่ใช้ Lecture  การฟัง การอ่าน เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เป็นสำคัญแล้วทำให้เกิดปัญญา  ในทางพุทธเรียกว่า สูตมยปัญญา   

  • ปัญญาอีกระดับหนึ่ง ได้จากการคิดหาเหตุผล การพินิจพิเคราะห์ต่างๆ เรียกว่า จินตมยปัญญา ซึ่งแต่ก่อน มักเน้นในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก  แต่ในยุคนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ในระดับ ป.ตรี นั้นจำเป็นที่จะต้องมีปัญญาในระดับนี้ 

  • เมื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ลงมือปฏิบัติ จะมีปัญญาที่เกิดขึ้นจากการได้พินิจพิเคราะห์ด้วยตนเองอย่างถ่องแท้จากประสบการณ์ เกิดเป็นปัญญาปฏิบัติ ทางพุทธเรียกว่า ภาวนามยปัญญา 
  • การสะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) จะทำให้เกิดปัญญาอย่างท่องแท้ เกิดการสร้างความรู้ขึ้นในตนเอง (Internalisation) ฝังแน่นในตน   ไม่ใช่การอัดความรู้เสียจนไม่มีเวลาได้ Reflection เลย  แล้วสำรอกความรู้ออกมาในการสอบ 
  • ผู้เรียนที่เกิด Internalisation นั้น จะเกิดความกระหายที่จะเรียนรู้ เป็น Knowledge Hunger แต่หากไม่เกิด แต่หากอัดความรู้เข้าไปอย่างเดียว จะทำให้เกิดปรากฎการณ์อันหนึ่งขึ้น คือ การเรียนเพื่อไปสอบ พอสอบเสร็จก็วางเลย เกิดสิ่งที่เรียกว่า Intensional Forgetting (ตั้งใจจะลืม)  เพราะถ้าไม่ลืมจะเรียนของใหม่ไม่ได้  
  • ความอยากรู้อยากเห็น และเรียนรู้ด้วยตนเอง จะทำให้เกิดปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัย สร้างสรรค์ เกิดสิ่งที่เป็นนวัตกรรมตามมา 

  • เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technology Transformation) ซึ่งจเห็นได้ชัดเจนและเกิดการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตามลำดับ  
  • แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่า แต่ก่อนเราตัดสินใจด้วยการใช้สัญชาตญาณบ้าง คาดเดาบ้าง เพราะข้อมูลที่มีจำกัด  แต่ในยุคนี้ทุกอย่างมีการพิสูจน์ทดลอง วิจัยอย่างมาก  ทุกอย่างมีฐานของความรู้ หลายอย่างสามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ 
  • การระเบิดของความรู้ (Knowledge Explotion) ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว มีโอกาสและทางเลือกมากมาย เกิด Possibilities นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

  • การค้าเสรีในกระแสโลกาภิวัตน์ นั้น  ผู้ที่เป็นเจ้าของความรู้ สามารถที่จะตั้งราคาของสิ่งใหม่ที่คิดขึ้นได้  ผู้ที่ไม่มีความรู้จำเป็นต้องใช้สิ่งนั้น ต้องซื้อของแพงมาก  ทำให้ยากจนลงไปเรื่อยๆ  ยกตัวอย่างเช่น  หากมียาที่สามารถรักษาโรคให้หายได้  ผู้คิดค้นอาจตั้งราคาให้ผู้ซื้อหมดตัวได้เลย 
  • การดูแลทรัพย์สินทางปัญญา นั้น มีข้อดีข้อเสียในตัวมันเอง  สภาพนี้กระทบกับโลกอย่างรุนแรง นำไปสู่ความไม่เสมอภาค และเกิดการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

  • โลกจึงก้าวมาสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมอย่างรุนแรง (Social & Sustainability Transformation)  โลกยอมไม่ได้ที่จะให้โลกเกิดความเหลื่อมล้ำมากเกินไป  โลกต้องก้าวเข้าสู่ความเสมอภาคเท่าเทียม สมดุลและยั่งยืน 
  • เมื่อเกิดโลกาภวัตน์ปี ค.ศ. 2000 ทั่วโลกได้กำหนด MDGs (Milinium Development Goals) ที่จะใช้ในระยะเวลา ๑๕ ปี  แต่พอเวลาผ่านไป ๓ ปี จึงรู้ว่า  MDGs ไม่มีทางสำเร็จ จึงมีการคิดกันใหม่ขึ้น 
  • มีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย มีปรากฏการณ์โลกร้อน มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย และที่สำคัญที่สุดคือ เกิดการแตกแยกทางสังคม (Social disruption) เกิดขึ้นอย่างรุนแรง จึงต้องมีการคิดเรื่องการศึกษาต่างไปจากเดิม  การศึกษาจะต้องมีการบูรณาการเรื่องต่างๆ เข้ามา นอกเหนือการมุ่งไปสู่ GDP (Gross National Product) อย่างเดียว  
  • มีการตั้ง SDGs (Sustainable Development Goals) เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนร่วมกัน  ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเกิดขึ้น 
  • การศึกษาจำเป็นจะต้องมีสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เข้ามา สังเกตว่า การศึกษาทั่วไปจะเน้นเรื่องการบูรณาการแบบนี้ 

  • การเปลี่ยนแปลงความรู้ (Knowledge Transformation) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Technology Transformation) 
  • มุ่งไปแต่เพียงด้าน GDP  ไม่สนใจ Social Growther Index (SGI) มีเพียงประเทสภูฏานเท่านั้นที่กล้าประกาศจะใช้ Gross National Happiness (GNH) เป็นหลัก 
  • ทำให้การนำความรู้ไปใช้ไม่ไปถึงมิติของการพัฒนาสังคมไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่เกิดผลไปในทางที่ดี  
  • ส่งผลให้การศึกษาสนใจไปเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้การศึกษาทั่วไปดูด้อยลงไป เป็นเหมือนติ่งหนึ่งในระบบการศึกษา 
  • นอกจากนั้น ยังกระทบไปถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ กระทบถึงวิจารณญาณเรื่องความดีความไม่ดี  แยกไม่ออกว่าอะไรถูกอะไรผิด ความรับผิดชอบต่อสังคม ถูกกระแสปัจเจกนิยมคือการนิยมตนเองเป็นหลัก เอาตัวรอด  ความรู้สึกความยุติธรรมในสังคมถูกทำลายไปมาก  
  • อย่างไรก็ดี ความเป็นมนุษย์นี้ก็ยังคงเหลืออยู่ จะเห็นจากกรณี "ช่วยหมูป่า ๑๓ ตัวออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน"  เป็นต้น 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นตัวอย่างของค่านิยมที่คนควรจะมีในสังคม  ไม่ใช่การฟุ้มเฟ้อ 
  • ดังนั้น ๓ ศาสตร์ดังกล่าว คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ เป็นสิ่งที่ต้องผสมกันและสมดุลกันให้ดี  และนี่ก็คือบทบาทของการศึกษาทั่วไป 
  • แสดงว่า การศึกษาทั่วไป ที่ปัจจุบันห้อยไว้เป็นติ่งเดียวนั้น ไม่ใช่แล้ว 

  • ในรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย ปีที่แล้ว (๒๕๖๐) เขียนไว้ว่า  การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ  เห็นไหมว่า ผู้ร่างผู้รู้เขาเห็น .... มหาวิทยาลัยเห็นหรือยัง?  นี่คือตัวปัญหา? 
  • จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับคุณธรรม จริยธรรมมากๆ  
  • จะเห็นว่าการศึกษาทั่วไปก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น แต่ดูเหมือนจะใหญ่กว่าการศึกษาทั่วไปมาก  หรือในอีกมุมหนึ่ง มันจะทำให้การศึกษาทั่วไปใหญ่ และเป็นตัวหลักจริงๆ ในการศึกษา 
  • ตอนนี้ในต่างประเทศ มีการศึกษาเชิงพลเมืองดีกันมาก (Civic Education) แสดงว่าเขาก็เริ่มให้ความสำคัญ  และอาจจะสำคัญกว่าความเชี่ยวชาญด้วยซ้ำไป 

  • มาถึงอีกยุคหนึ่งที่โลกเปลี่ยนไปสู่โลกดิจิตอล หรือ Digital Transformation  มี AI (Artificial Intelligence) มีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) เข้ามา ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ทักษะที่ต้องการและจำเป็นในยุคใหม่ก็จะไม่เหมือนเดิม
  • ลักษณะงานหรืออาชีพของคนก็จะเปลี่ยนไป กลุ่มเป้าหมายของการศึกษาก็ต้องเปลียนไปด้วย จากเดิมที่เน้นศึกษาเฉพาะช่วงอายุหนึ่ง จะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
  • ไม่ใช่เพียงความรู้ แต่ต้องเป็นมีความรู้เพื่อดำเนินชีวิต แม้จะอายุมากแล้ว เกิน ๖๐ ก็สามารถจะเป็นผู้ผลิตได้ 
  • ซึ่งการเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนไปด้วย 
  • มหาวิทยาลัยไทยจะต้องปรับตัวเอง หลายมหาวิทยาลัยอาจจะต้องปิดตัวลง  มีคนบอกว่ามหาวิทยาลัยที่เรารู้จักกันอยู่ในขณะนี้จะกลายเป็นโบราณสถานไป 

  • มีการกำหนดทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากเดิม 
  • เรากำลังเตรียมมนุษย์สำหรับอนาคต คือคนที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกอนาคต  

    • ICT Literacy ไม่ใช่เพียงเข้าอินเตอร์เน็ตได้ ไม่ใช่ไปค้นหนังสือในอินเตอร์เน็ต แต่ในอินเตอร์เน็ตจะมีสารสนเทศทุกรูปแบบ  ไม่ใช่เพียงโลกของตัวอักษร  แต่เป็นภาพ เสียง อารมณ์ การเคลื่อนไหวต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต 

    • ดิจิตอลคอมพิวเตอร์ เป็นความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวล และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาเป็นสิ่งใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ หรือวิธีการนำเสนอแบบใหม่  ที่แตกต่างไปจากสื่อการเรียนการสอนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

    • ประเทศไทย ๔.๐ คือ สิ่งที่ประเทศไทยอยากจะไปแข่งกับเขาให้ชนะ ดังนั้นเรื่องสมรรถนะทั้งหลายที่กล่าวมาจะต้องมาอยู่ในการศึกษา 
    • หลายคนบอก ๔.๐ เป็นเศรษฐศาสตร์ เป็นอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ SDG ก็ยังถกเถียงกันมากว่า จะเอาเรื่องศาสนาเข้าไปใน SDGs  แต่ก็ไม่สามารถทำได้  ใน SDG ไม่มีเรื่องมนุษยศาสตร์  SDG จึงยังเข้าไม่ถึงเศรษฐกิจพอเพียงด้วยซ้ำ 
    • ดังนั้น จุดแข็งของเราคือเรื่องความเป็นมนุษย์ ซึ่งต่างประเทศต้องการและถวิลหาอย่างมาก  จุดนี้น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่เราสามารถส่งออกหรือเป็นต้นแบบของโลกได้ 
    • แต่สิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนของเราคือ "ความเข้มข้นของการดำเนินชีวิต" และ "ความมุมานะพยายามสู่ความสำเร็จ"  (Acuity) "ความคล่องแคล่วว่องไว (Agility) เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ฯลฯ ต้องสร้างให้เขามีความมุ่งมั่น 
    • การจะไปถึงประเทศไทย ๔.๐ ต้องไม่ใช่เพียงแต่มีนวัตกรรม แต่ต้องนำนวัตกรรมนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงสร้างสรรค์สร้างอาชีพด้วย 

    • โจทย์สำคัญของการพัฒนาคนของเรา จะต้องครบถ้วนสิ่งต่างที่แสดงในสไลด์นี้ 
    • นอกจาก Professional Excellence ซึ่งต้องทำอยู่แล้ว เราต้องสร้างเด็กให้มีมากกว่านั้น  ต้องมี 
      • Knowledge & Cognetive Excellence
      • Research & Creative Innovative Ability/ Attitude 
      • Entrepreneur Competencies 
      • Communication Fluency  
      • Management, Acuity, Agility
      • Digital Literacies
      • Social Virtues & Skills
      • Civic Responsibilities
    • คำถามคือ สิ่งที่ว่ามาเหล่านี้ ใช่การศึกษาทั่วไปหรือไม่ ถ้าใช่ แสดงว่า การศึกษาทั่วไปนั้น ไม่ใช่เป็นติ่งหนึ่งของการศึกษาแล้ว 
    • แต่การศึกษาทั่วไปนั้นเป็นฐานจริงๆ ของการศึกษาสำหรับคนที่จะมีชีวิตในอนาคต

    • ดังนั้นการศึกษาทั่วไปทีเป็น Transformative Education จะต้องเป็น Essential Education เป็นตัวหลักจริงๆ  ไม่ใช่เป็นตัวแถม แต่ต้องเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ที่ต้องมี เป็นฐานจริงๆ 
    • คำถามจึงกลับมาที่ การศึกษาทั่วไป ที่จะเป็น Essential Education ที่เป็นฐานจริงๆ นั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเชื่อมโยงบูรณาการอยู่กับด้านอื่นๆ 
    • นี่คือโจทย์สำคัญของมหาวิทยาลัยด้วยในการที่จะปรับ
    • โลกปัจจุบันนี้ไม่ใช่โลกของปัจเจกชน เป็นโลกของสังคม แต่ทิ้งปัจเจกชนไม่ได้  ดังนั้น จึงต้องจัดการให้เกิดความหลากหลาย 
    • การศึกษาจึงควรจะเป็น "การศึกษาสั่งตัด"  (ผมเข้าใจว่าท่านหมายถึง OBE) ได้ไหม  
    • คนๆ หนึ่ง เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย สามารถจะเลือกได้เลยว่า เขาจะเรียนวิชาอะไรก็ได้ ให้สอดคล้องกับความต้องการและโอกาสของตนเอง 
    • การศึกษาน่าจะเปลี่ยนเป็นดิจิตอล ข้ามระยะทาง ข้ามเวลา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ไหม? 
    • แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถทำได้ไหมที่ จบมาแล้วบัณฑิตจะมี Signature ที่ชัดเจน  เช่น จบจากมหาวิทยาลัยนี้ไป ไม่โกง เป็นต้น 
    ท่านผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดฟังเสียงสดๆ ของท่านได้ที่นี่ และดาวน์โหลดพาวเวอร์พอยท์ของท่านได้ที่นี่ครับ 

    หมายเลขบันทึก: 648903เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2018 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2019 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (1)

    เป็นวิทยาทาน จะนำไปเผยแพร่ในการอบรมครูในโรงเรียนต่อครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท