โรงเรียนมีคุณค่ามากกว่า แหล่งให้ความรู้ไปหาเงิน


public health is far more than a profession, far more than an academic discipline. Public health is also a movement.

 

คณบดีคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Michelle Williams) เกริ่นนำในสารต้อนรับนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2018  

 

เป็นสาระสำคัญเดียวกันที่เธอพูดกับ นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาของรุ่นปี 2017 ในเดือน พค  3 เดือนก่อนหน้า

 

ในฐานะคนทำงานสาธารณสุขมาจนเกษียณราชการ ยอมรับว่าตื่นเต้น ที่ได้เห็นข้อความทำนองนี้ จากปาก(กา) ผู้นำของสถาบันการศึกษา

 

ถ้านับประสบการณ์ส่วนตัวกับข้อความที่มีความหมายทำนองเดียวกัน ก็คงต้องเริ่มปีที่เข้าเป็นนักศึกษาแพทย์เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว และได้เห็นประโยคภาษาอังกฤษคู่ภาษาไทยที่สั้นแต่จับใจยิ่ง

 

 

ภาพที่เอามาประกอบข้างต้นไม่ใช่ภาพที่ผมเห็นเมื่อแรกเข้า รร แพทย์ในปี 2513 แต่ เป็นภาพในปี 2555 (ของคณะแพทย์ มช) จึงน่ายินดีที่ยังได้ยิน ได้เห็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ และครูบาอาจารย์ในหลายๆ รร แพทย์ กล่าวอ้างอิงให้ ลูกศิษย์รุ่นหลังๆได้ฟัง

 

ในฐานะที่จบแพทย์ ทำงานส่วนใหญ่ในบทนักสาธารณสุข เคยเป็นแค่อาจารย์พิเศษ ในสถาบันการศึกษา  เมื่อได้เห็นข้อความของ dean williams ที่ HSPH แอบถามในใจว่า นักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ มีโอกาส (ในระหว่างการเป็นนักศึกษา) รับฟังและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า public health is also a movement  ที่น่าจะมีความหมายมากกว่า เรียนให้มีความรู้ เรียนเพื่อให้มีงานทำ สักเพียงไร

 

คณบดีคณะสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน (Sandro Galea) ก็เขียนไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ที่มีชื่อว่า Healthier ในบทที่ 42 towards activist public health ชี้ให้เห็นบทบาทของสถาบันการศึกษาเช่น คณะสาธารณสุข ว่า นอกเหนือจากการสร้างความรู้และส่งผ่านความรู้สู่สังคม ยังมีบทบาทอย่างสำคัญที่จะต้อง “influence culture, advance a conversation towards creating positive changes”

เขาฟังธงว่า คณะสาธารณสุขที่ก้าวหน้าต้อง “closely tie activist agenda to its central function of thinking and teaching”

 

ถ้าไม่ติดกับการตีความแปลจากอังกฤษเป็นไทย แบบตรงไปตรงมา แต่ดูบริบทโโยรวม ดูเหมือน คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ด ก็กำลังบอกแบบเดียวกัน

 

ก็อดตั้งคำถามต่อไปไม่ได้ว่า นักศึกษาในสารพัด สถาบันของบ้านเรา มีโอกาสได้ซึมซับ ตีความและเรียนรู้ ค่านิยมที่ชี้ชวนให้ มองสังคม ไม่ใช่แค่ตัวเอง มากน้อยแค่ไหน

 

คงไม่ใช่แค่ในโอกาสปฐมนิเทศ หรือสำเร็จการศึกษา แต่ตลอดช่วงเวลาการเรียนในสถาบัน

 

เป็นการซึมซับ เรียนรู้ที่มากกว่า การได้ยิน ได้อ่าน ได้ฟัง ผ่านตำรา ผ่านสื่อการสอน

 

แต่ผ่านการพูดคุย กับคนตัวเป็นๆ ที่อาจไม่ไม่ใช่แค่ คณบดี แต่เป็น ครูบาอาจารย์

 

หรือที่ดีกว่านั้น คือได้เรียนจากการทำงาน กับคนทำอยู่หน้างาน ที่ต้องแก้ปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทดลองสารพัดวิธี ให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยไม่สนใจ หรือไม่มีเวลา ไม่มีโอกาส ประกาศให้ใครรู้

 

การมีโอกาสเรียนจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมของการทำงานจริง ไม่ได้มีผลเพียงทำให้ได้ความรู้ แต่ทำให้เห็นถึง “เหตุผลสำคัญ” ที่จะต้องมีความรู้

 

เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อจะได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ของชาวบ้าน สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับปัจเจก และสิ่งแวดล้อม

 

 ว่ากันว่า ถ้า start with why ก็จะมีแรงจูงใจที่มีพลังในการหาวิธีทำ หาความรู้

 

แต่การตอบตัวเองว่า why ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนที่มีนิทานว่าด้วย คน 3 คนที่กำลังก่ออิฐถือปูนแล้วถูกถามด้วยคำถามเดียวกันว่า กำลังทำอะไร

 

คนแรกบอกว่า กำลังก่ออิฐถือปูนยังไงเล่า มองไม่เห็นหรือไง

คนที่สองบอกว่า กำลังก่อกำแพงไง

คนที่สามบอกว่า กำลังสร้างวัด

 

3 คนนี้บอกตัวเองต่างกันถึงความหมายของสิ่งที่กำลังทำ

 

เชื่อแน่ว่า แรงจูงใจในการทำงานก็คงต่างกัน คนที่สามจะมองความรับผิดชอบและผลงานของตัวเองในรูปของวัด

อีกสองคนก็มองเล็กลงตามลำดับ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่น่าจะไม่แรงพอ

 

เรามักพูดถึงโลกปัจจุบันที่ความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา การทำงานก็จะมีรูปแบบใหม่ๆ จากเทคโนโลยีที่กำลัง disrupt ไปทุกวงการ

 

สถาบันการศึกษาคงต้องหาวิธีเพิ่มการกระตุ้นให้นักศึกษาเรียนรู้และหาคำตอบว่าด้วย why (ที่จะช่วยฝึกให้มองภาพใหญ่ หาโอกาสใหม่ๆ ที่นำไปสู่เป้าหมายใหญ่) ต่อด้วยความสามารถว่าด้วย how (ที่จะช่วยให้เรียนรู้สู่เป้าหมายใหม่ๆ) และใช้เวลาแต่พอสมควรในส่วนที่เกี่ยวกับ what (ที่มักพูดถึงแต่ของเดิมที่รู้แล้ว)

 

ถ้าเป้าหมายของการเรียน และการทำงานสาธารณสุขคือ การสร้างความเคลื่อนไหว สร้างการเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่กำหนดพฤติกรรม หรือสร้างปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ

 

การเรียนรู้ก็น่าจะสนุกสนาน กินความกว้างขวาง และทำให้การทำงานมีความหมายและคนทำงานมีความสุข อย่างแท้จริง          

 

ไม่มีอะไรดีกว่าการให้นักศึกษาได้เห็นและเรียนรู้จากโลกแห่งการทำงานจริงของการสร้างสุขภาพ ที่ต้องเผชิญความท้าทายมากมาย แต่มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี

 

บางที การทำให้นักศึกษา เห็นถึงคุณค่าของวิชาชีพ เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงนักวิชาการ หรือนักวิชาชีพ มีงานทำและมีรายได้ การเป็นสถาบันสร้างผู้นำ อย่างที่เขียนไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้ก็ได้ https://www.gotoknow.org/posts/647548

 

เอาแค่เรื่องการทำให้นักศึกษา จบแล้วเป็นผู้ใฝ่รู้ และเรียนรู้เป็น

 

แล้วถามตัวเองว่า เราทำอะไรกันอยู่ ระหว่าง การให้ความรู้  การทำให้เรียนรู้เป็น กับการทำให้อยากเรียนรู้ (แล้วเขาก็จะเรียนรู้เป็น และมีความรู้โดยไม่ต้องไปสอนเป็นเรื่องๆ)

 

ทุกคนคงตอบตรงกันว่า เรากำลังทำให้นักศึกษา เป็นคนอยากเรียนรู้ และเห็นตรงกันว่า “ความอยาก” (ในที่นี้คือฉันทะ ไม่ใช่กิเลส อย่างที่ท่านปยุค ปยุตโต เคยแยกแยะความอยากเป็นสองประเภทไว้ให้ชัดเจน) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

หากสร้างสิ่งแวดล้อมไม่ดี หรือจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสม อาจได้ “ใส่” ความรู้ แต่ไปลดทอนความอยากเรียนรู้

 

แต่ที่น่าถามตัวเองต่อไปอีกสักคำถามหนึ่ง คือ เราอยากให้นักศึกษา เกิดความอยากเรียนรู้ไปเพื่ออะไร

 

ถ้า “start with why” อาจทำให้เห็นชัดเจนว่า ต้องเชื่อมโยงให้ ความอยากเรียนรู้กลายเป็นความอยากทำให้ผู้คนในสังคมมีสุขภาพดีขึ้น

 

เหมือนเรื่องเล่าถึงคนงาน 3 คนที่กำลังขะมักขะเม่น ก่ออิฐถือปูน

 

 

สถาบันการศึกษาถูกมองเป็น แหล่งเรียนรู้เพื่อไปประกอบอาชีพเป็นหลัก

ทำให้มองเห็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่จำกัดอยู่รอบตัวเอง

 

อาจไม่ผิดสำหรับบางสาขา แต่อาจจะผิดพลาดมากสำหรับบางสาขา เช่นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ต้องออกไปทำงานเกี่ยวกับสุขภาพของผู้คน

 

ในขณะที่การทำงานนำไปสู่รายได้ของคนทำงาน ผลงานที่เกิดขึ้น สร้างประโยชน์ส่วนรวมไปพร้อมกัน

 

การชี้ให้นักศึกษา เห็นเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเอง น่าจะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ และการทำงานเมื่อจบไป

 

จะไม่ใช้เพียงความรู้ที่ได้ไปจากโรงเรียนที่นับวันจะล้าสมัยไปเรือยๆ

จะไม่มองความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ว่าเป็นภาระ

หรือเผ้าบอกตัวเองว่า คิดผิดที่มาเลือกทำงานที่ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดเวลา (ความรู้เกี่ยวกับชีวภาพ และสุขภาพ กับ วิทยาการด้านดิจิตอลและการสื่อสาร เป็น 2 สาขาที่ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นเร็วมาก)

  โจทย์ยากอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้ผู้บริหาร และคณาจารย์ ในสถาบันการศึกษา เห็นพันธกิจของตนเองว่ากำลัง สร้างคนไปเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่คนมีความรู้ที่จบออกไปแล้วมีงานทำ

หมายเลขบันทึก: 647847เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2018 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2018 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท